พระทำบาป กับ ฆราวาสทำบาป

 
betweenway
วันที่  17 ม.ค. 2564
หมายเลข  33590
อ่าน  847

ขอสวัสดีสมาชิกทุกท่าน

มีชายคนหนึ่งเมื่อยังเป็นฆราวาสมียุงบินมากัด ก็เกิดโทสะขึ้น จึงตบยุงตัวนั้นตาย พอได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มพระพุทธศาสนาได้บวชเป็นบรรพชิต ยุงก็บินมากัดอีก เกิดโทสะเช่นเคย แล้วก็ตบยุงตายอีกเช่นเคย ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า โทสะที่เกิดขึ้นทั้งสองสถานการณ์ให้ผลคือวิบากกรรมต่างกันหรือไม่ เข้าใจว่าเมื่อเป็นฆราวาสทำกรรมใดๆก็เหมือนปลูกพืชบนพื้นดินธรรมดา แต่พอบวชแล้วทำกรรมใดๆลงไปก็เหมือนกับปลูกพืชในพื้นที่อุมสมบูรณ์กรรมนั้นจะงอกงามใหญ่โตใช่หรือไม่ โทสะ หรือ อกุศลใดๆ เติบโตได้หรือ อย่างเช่นโตเป็นมหาโทสะ มหาอกุศล

ขอขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้า๒๐๒   

“ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อน   ในโลกทั้งสอง เขาย่อมเดือดร้อนว่า 'กรรมชั่ว เราทำแล้ว' ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น”


การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศลกรรม แม้ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ก็มีโทษ ไม่ว่าจะเป็นใครทำ ก็ไม่ดี เป็นบาป ทั้งนั้น เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี ที่จะให้ผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ เช่น เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ เป็นต้น แต่ถ้าได้บวชเป็นพระภิกษุ เป็นอีกเพศหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีความจริงใจที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสในเพศที่สูงยิ่ง ถ้ามีความประพฤติไม่เหมาะไม่ควร  ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นผู้มีโทษ แม้การฆ่าสัตว์ เช่น ฆ่ายุง ก็เป็นผู้ล่วงละเมิดพระวินัย มีอาบัติ เป็นผู้ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ ยังเป็นการกระทำอกุศลกรรม ด้วย มีโทษทั้งทางพระวินัยและเป็นอกุศลกรรม ถ้าไม่ปลงอาบัติ ด้วยการเห็นโทษของการกระทำที่ไม่ดี ก็เป็นผู้มีอาบัติติดตัว เป็นเครื่องกั้นการเกิดในสวรรค์ เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้ามรณภาพในขณะที่ยังเป็นภิกษุอยู่ ชาติหน้าต่อจากชาตินี้เลย ก็ไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น หรือ แม้จะปลงอาบัติ พ้นจากอาบัตินั้นได้ แต่ความเป็นอกุศลกรรมอันเนื่องมาจากการฆ่าสัตว์ ไม่ได้สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต สามารถเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การกระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นใครทำ ก็มีโทษทั้งนั้น  แต่ถ้าเป็นพระภิกษุแล้ว จะมีข้อที่ควรศึกษาและประพฤติตามมากกว่าคฤหัสถ์ ถ้ารักษาไม่ดี ไม่ประพฤติขัดเกลากิเลส ก็ยิ่งเป็นโทษมาก ตามข้อความใน[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๓๖ ตายนสูตร ดังนี้

"หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติ ไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น"

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ