การอยากทำดี อยากทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นตัณหาหรือไม่

 
apiwit
วันที่  30 ม.ค. 2564
หมายเลข  33644
อ่าน  851

การทำความดีนั้น เราไม่ได้ทำเพราะอยากได้บุญหรืออยากขึ้นสวรรค์ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นการแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและสิ่งมีชีวิตร่วมโลกใบนี้ แล้วทุกครั้งที่ได้ทำความดีก็จะรู้สึกถึงความปีติสุขแล้วก็ทำให้เราอยากทำดีต่อไปเรื่อย ๆ หรือเริ่มแสวงหาโอกาสที่จะทำดี ตรงนี้แหละครับ ตรงที่อยากนี่แหละ ตอนแรกผมก็คิดว่า อยากทำดีก็ดีแล้ว ดีแล้วที่ใจเราปราถนาเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น แต่ว่าพอมันเกิดทุกข์เกิดโทษกับตัวเองเลยเริ่มฉุดคิดว่า สงสัยเราจะยังมีกิเลสซ้อนความดีอยู่หรือเปล่า บางครั้งมันเป็นกิเลสขั้นละเอียด มองไม่เห็นเพราะคิดว่าเป็นกุศลก็มี ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด คือ วันนี้ผมอยู่บ้าน แม่ผมสั่งงอาหารผ่าน food panda แล้วปรากฏว่าฝนตก พนักงานที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่งกับข้าวเขาก็อุตส่าห์ขี่รถฝ่าลมฝ่าฝนมาเพื่อมาส่งกับข้าวที่บ้าน พอรถมอเตอร์ไซค์มาจอดอยู่หน้าบ้าน ผมบอกแม่ว่า แม่ครับ เราควรให้ทิปพนักงานสักยี่สิบสามสิบบาทไหม เขาอุตส่าห์ขี่รถฝ่าฝนมา ให้เขาเล็กๆน้อยๆเป็นการตอบแทนน้ำใจ แล้วอาจทำให้คนขี่รถมอเตอร์ไซค์คนนั้นเขารู้สึกดีด้วย แต่ผลลัพธ์มันกลับไม่เป็นอย่างที่ผมคาด ทำให้ผมรู้สึกผิดมาก ผมผิดหวังที่พลาดโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่นไป คำตอบของแม่ผมคือ จ่ายเงินผ่านบัตรไปหมดแล้ว ไม่ต้อง แต่ในใจผมกลับคิดว่าถ้าคว้าเงินยี่สิบบาทไปให้เขามันคงไม่เสียหาย จะทำให้ผมมีความสุขมาก แต่อีกใจหนึ่งหากเราฝ่าฝืนคำพูดของแม่ก็เท่ากับเป็นลูกอกตัญญู สุดท้ายก็เลยมารู้สึกเสียใจกับการที่พลาดโอกาสทำความดี ถ้าเป็นอย่างนี้อีกต่อไปผมจะจัดการเรื่องนี้โดยพลการ ผมจะแอบคว้าเงินไปให้ก็เท่านั้น แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ต้องขอขมาด้วยที่เอาเรื่องของแม่ผมมาเล่าแบบนี้ บางทีท่านอาจมีเหตุผลบางอย่าง แต่เรื่องหลักที่ผมอยากจะพูดก็คือ เป็นเพราะอยากทำความดีใช่ไหม เลยทำให้ใจเป็นทุกข์ ผมเพียงแต่เอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเล่าเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ต้องการจะระบายความทุกข์ส่วนตัวให้ใครฟัง เป็นเพราะเราอยากทำความดี อยากทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเพราะใจของเรายึดติดกับความดีจึงทำให้เกิดทุกข์ขึ้นเมื่อเราพลาดโอกาสนั้น แสดงว่าทุกวันนี้การที่คนเราแค่รู้สึกว่าอยากทำความดีหรืออยากทำเรื่องดีๆ มันเป็นกิเลสหรือไม่ แล้วพอทำดีเสร็จเราก็รู้สึกสุขใจปลื้มปีติ  อย่างนี้จะเป็นการติดข้องหรือหลงยึดติดอยู่ในความดีหรือไม่ แล้วก็หลงคิดว่าอารมณ์ที่เป็นสุขตรงนั้นเป็นกุศล เพราะผมเองก็คิดอย่างนั้นมาตลอด จนเมื่อเกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นมาเลยทำให้ต้องมาคิด ผมสังเกตตัวเองหลายครั้งแล้วเวลาพลาดโอกาสในการทำเรื่องดีๆ จะทำให้ผมอารมณ์เสียมาก ขอท่านอาจารย์โปรดชี้แนะด้วย บางครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พระองค์คงไม่ได้หมายถึงแต่อกุศลธรรม แต่คงรวมถึงการที่หลงยึดติดในกุศลหรือความดีทั้งหลายด้วยใช่ไหมครับ หรือว่าตัวกุศลเองจะเป็นกิเลสขั้นละเอียดหรือเป็นสังโยชน์ชั้นสูงด้วยหรือไม่ ตรงนี้ขอท่านอาจารย์ชี้แนะ เพราะพระอรหันต์ท่านคงไม่มีทั้งจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว คงมีแต่กิริยาจิตเท่านั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตประจำวันก็เป็นเครื่องพิสูจน์ธรรมจริงๆ เพราะมีจริงๆ ทุกขณะ ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน สำหรับ ธรรมฝ่ายดี คือ กุศล นั้น ควรเกิดขึ้น ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น ด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของกุศลจริงๆ เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่อกุศลจะเกิดขึ้น สะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ  และที่สำคัญ กุศล ก็ไม่ได้มีเพียงทาน อย่างเดียว ยังมีกุศลอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถเกิดขึ้นเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก

การอยากทำกุศล เพื่อหวังผลของกุศล นั่น เป็นเรื่องของความอยาก เป็นโลภะ หรือ ตัณหา ไม่ใช่กุศลเลย ขึ้นชื่อว่า ความอยากแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ใจเสียใจในภายหลังได้ แต่ถ้าเป็นความดีแล้ว จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเลย แม้มีความหวังดีต่อผู้อื่น แต่บุคคลรอบข้างไม่เห็นด้วย ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความหวังดีของเราให้เป็นอย่างอื่นไปได้เลย ความหวังดี ก็เป็นความหวังดี ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็เบาสบายไม่หนักด้วยอกุศล หรือแม้แต่ การพลาดโอกาสของกุศลประการใดประการหนึ่ง ก็สามารถเข้าใจความเป็นจริงของธรรมได้ว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าการเดือดร้อนเสียใจ

สำหรับประเด็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น นั้น มีข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้  

[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๑๕๗

จูฬตัณหาสังขยสูตร

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (ธรรม ทั้งปวง ไม่ควร เพื่อยึดมั่น) นี้ อธิบายว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ชื่อว่า ธรรมทั้งปวง ธรรมแม้ทั้งหมดเหล่านั้น ไม่ควร คือ ไม่เพียงพอ ไม่สามารถ ไม่สมควรเพื่อความยึดมั่นด้วยอำนาจแห่งตัณหา และทิฏฐิ เพราะเหตุไร เพราะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะถือเอาได้ จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายมีขันธ์ ๕ เป็นต้นนั้น แม้จะถือว่าเป็นของเที่ยง ความไม่เที่ยงเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น แม้จะถือว่าเป็นสุข ความทุกข์เท่านั้น ย่อมถึงพร้อม แม้จะถือว่าเป็นอัตตา อนัตตาเท่านั้นย่อมปรากฏ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเพื่อยึดมั่น


จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรเพื่อยึดมั่นถือมั่น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน นั้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล  และสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นสภาพธรรมที่ไม่ควรแก่การยินดี เพราะเพียงเกิดปรากฏแล้วก็ดับไปหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย แต่เมื่อไม่รู้ ไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็เห็นว่าเที่ยงยั่งยืน แล้วก็ยินดีในสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเที่ยงเหล่านั้น เมื่อมีความยึดถือ ก็เป็นที่ตั้งของความทุกข์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม พระมหากรุณาคุณที่พระองค์มีต่อสัตว์โลกนั้น  ไม่มีผู้ใดเสมอกับพระองค์ได้เลย

ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่รวบรวมเป็นพระธรรม ๓ ปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้เลย และถ้าไม่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่สามารถละคลายความไม่รู้ ความติดข้อง ความยึดมั่นถือมั่นในสภาพธรรมได้เลย สภาพธรรมเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หาความเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ ไม่ควรติดข้องยินดีไม่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น

ถ้าจะไปถึงตรงนั้นได้ ก็ต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง  ไม่ใช่ว่าจะไปมีความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสภาพธรรม ด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความเป็นตัวตน เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญาโดยตลอด ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
talaykwang
วันที่ 31 ม.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
apiwit
วันที่ 31 ม.ค. 2564

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ชี้แนะครับ จากที่อ่านก็ได้ข้อสรุปว่าการปราถนาทำความดีหรือกุศลนั้นไม่ใช่กิเลสถ้าการทำดีนั้นไม่ได้มุ่งหวังในผลของความดี แต่ว่าบางครั้งเมื่อมีโอกาสในการพลาดกุศลบางประการหรือว่าพลาดโอกาสทำความดีบางอย่าง ก็ควรที่จะมีปัญญาระลึกรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา แต่ถ้ายังมีความไม่รู้อยู่ ยังมีความเป็นเราอยู่ ก็อาจจะเดือดร้อนเสียใจได้เพราะไม่เป็นไปตามความปราถนาของตนเอง หากกระผมยังมีความเข้าใจผิดประการใดก็ขอให้ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะครับ 

ถ้ามีโอกาสยังฟังเรื่องอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือของพระอริยสาวกที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมุ่งมั่นสั่งสมคุณความดีมาตลอดกาลอันยาวนาน เคยมีบางพระชาติบ้างไหมครับที่พระองค์ท่านพลาดโอกาสในการทำความดีเพราะถูกอกุศลกรรมขัดขวาง แล้วพระองค์ท่านเดือดร้อนเสียใจหรือไม่ ถ้ามีเรื่องเล่าหรือชาดกที่ปรากฏในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาช่วยนำมาเล่ากล่าวในที่นี้ด้วยนะครับ

 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.พ. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ตราบใด ที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้หมดสิ้น อกุศล ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ตาม แม้พระโพธิสัตว์ ก็ไม่ใช่ว่าพระองค์จะมีแต่กุศล อกุศลก็มี เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเดือดร้อนใจ ความเสียใจ ทุกข์ใจก็มี เป็นธรรมดา ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม นั่นเอง อย่างเช่น พระชาติหนึ่งที่เกิดเป็นพญาช้างเผือก ได้เลี้ยงดูมารดาที่ตาบอด แต่ช่วงหนึ่ง ที่ท่านถูกจับตัวไปเพื่อไปเป็นมงคลหัตถีของพระราชา โอกาสที่จะทำกุศลในการเลี้ยงดูมารดา นั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้น จิตใจก็มีแต่ความห่วงใย เป็นทุกข์ เพราะคิดถึงมารดาซึ่งตาบอดว่าจะเป็นอยู่อย่างไร  ใครจะดูแล เป็นต้น แต่เมื่อพระราชาได้ทรงรู้ความจริง ก็ทรงมีพระบัญชาให้นำโพธิสัตว์กลับมาอยู่กับมารดาตามเดิม ท่านก็สามารถเจริญกุศลต่อไปได้อีก ได้เลี้ยงดูมารดาจนกระทั่งถึงกาลเวลาที่มารดาท่านสิ้นชีวิต ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

พญาช้างยอดกตัญญู มาตุโปสกชาดก

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
apiwit
วันที่ 1 ก.พ. 2564

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ชี้แนะและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ