สายกลางคือ สติปัฏฐาน
[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 45
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วย ปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑
ความดำริชอบ ๑
เจรจาชอบ ๑
การงานชอบ ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ ๑
พยายามชอบ ๑
ระลึกชอบ ๑
ตั้งจิตชอบ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณได้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้าที่ 44
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา
[๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญจวัคดีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพคือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑.
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้นนั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
สายกลาง มิใช่การหาความพอดีของตนเอง เช่น ทานอาหารแต่พอดี มีอะไรแต่พอดี ถ้าเป็นอย่างนั้น สายกลางของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันเลย เพราะแต่ละคนก็ทานไม่เท่ากัน มีอะไรก็ไม่เท่ากัน สายกลางแบบนั้นจึงไม่ใช่สัจจธรรมเพราะไม่เป็นหนึ่ง แต่เป็นไปตามแต่ละคนพอใจหรือพอดี
แต่ธรรมที่เป็นสัจจธรรม ย่อมไม่เป็นสอง คือเป็นหนึ่ง ไม่แปรเปลี่ยนไปตามแต่ละคน กุศลก็ต้องเป็นกุศล จะคิดว่าเป็นอกุศลตามความพอใจตัวเองก็ไม่ได้ เพราะเป็นธัมมะ เป็นสัจจธรรม
สายกลางก็เช่นกัน ในเมื่อเป็นหนทางดับกิเลสก็ต้องมีทางเดียว ไม่ขึ้นอยู่กับความพอดี หรือความพอใจของแต่ละคน ดังนั้น ทางเดียวที่เป็นสายกลาง ที่สามารถดับกิเลสได้ คือ สติปัฏฐาน หรือมรรคมีองค์ ๘ ครับ
อนุโมทนา