[คำที่ ๔๙๓] อิสฺสาสญฺโญชน

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ก.พ. 2564
หมายเลข  33653
อ่าน  644

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อิสฺสาสญฺโญชน”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อิสฺสาสญฺโญชน อ่านตามภาษาบาลีว่า อิด - สา - สัน - โย - ชะ - นะ มาจากคำว่า อิสฺสา (ความริษยา) กับคำว่า สญฺโญชน (อกุศลธรรมที่เป็นเครื่องผูก) รวมกันเป็น อิสฺสาสญฺโญชน เขียนเป็นไทยได้ว่า อิสสาสัญโญชน์ แปลว่า อกุศลธรรมที่เป็นเครื่องผูก คือ ความริษยา ความริษยาหรืออิสสานั้น เป็นธรรมคือเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีมีความสุขแล้วทนไม่ได้ เป็นธรรมที่มีสมบัติของบุคคลอื่นเป็นที่ตั้ง คือ บคคลผู้ที่มีความริษยานั้น เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เช่น ทรัพย์สมบัติ ลาภ สักการะ ความเคารพ การนับถือ การบูชา เป็นต้น ก็ทนไม่ได้ ซึ่งเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกับความไม่พอใจ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดีมีความสุข

ข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของอิสสาสัญโญชน์ไว้ ดังนี้

อิสสาสัญโญชน์ เป็นไฉน? การริษยา กิริยาที่ริษยา ความริษยา การเกียดกัน (กีดกัน) กิริยาที่เกียดกัน ความเกียดกันในลาภสักการะ การทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่น อันใด นี้เรียกว่า อิสสาสัญโญชน์ (อกุศลธรรมที่เป็นเครื่องผูก คือ ความริษยา)

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต กายสูตร แสดงความเป็นจริงของความริษยาและสภาพธรรมที่จะละความริษยาได้ ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความริษยาอันชั่วช้า เป็นไฉน?

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ทาสหรือคนเข้าไปอาศัยของคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ คฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดีนี้ ไม่พึงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง, อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ ไม่พึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความริษยาอันชั่วช้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้”


ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใด ก็ไม่พ้นไปจากธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้เลย สิ่งที่มีจริงนั่นแหละคือธรรม มีจริง เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์พระธรรมที่ ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกประการ แม้แต่ความริษยาก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ความริษยาเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ไม่ให้จิตเป็นกุศล และผูกไว้ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ก็อาจจะมีได้เหมือนกันทั้งนั้น ความริษยาจึงไม่เว้นใครเลยทั้งสิ้น ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอริยบุคคลก็ดับความริษยาอย่างเด็ดขาดไม่ได้ แต่ละบุคคลย่อมมีความริษยาตามการสะสม บางคนอาจจะมีมาก บางคนอาจจะมีน้อย จึงควรที่จะพิจารณาตนเองว่ามีความริษยาบ้างหรือไม่ในชีวิตประจำวัน? บางคนอาจจะไม่ริษยาในเมื่อผู้อื่นได้วัตถุสิ่งของต่างๆ แต่อาจจะมีความริษยาในเมื่อผู้อื่นได้ยศ ได้ตำแหน่ง ได้รับการสักการะ สรรเสริญ ก็ได้ นี้เป็นความจริงของอกุศลที่สะสมมาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ความริษยามีสมบัติของบุคคลอื่นเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เกี่ยว กับสมบัติของตนเองเลย ความรู้สึกในขณะที่มีความริษยาเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ไม่เป็นสุขเลย ความริษยาเกิดขึ้นก็มีเหตุที่เกิดพร้อมกัน คือโทสะกับความไม่รู้ แต่ในบางขณะก็มีโทสะโดยไม่มีความริษยาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เช่น รถติด อากาศร้อน ก็เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ขณะนั้นมีโทสะโดยที่ไม่ได้มีความริษยาเกิดร่วมด้วยเลย นี้คือความเป็นจริงของธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

พระอริยบุคคลขั้นต้นคือพระโสดาบัน สามารถดับความริษยาได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีความริษยาเกิดขึ้นอีกเลย, แต่ละคนควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ควรที่จะไปริษยาบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย เพราะถึงแม้ว่าจิตของผู้ริษยาจะเร่าร้อนเพราะความริษยาสักเท่าใด บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข เพราะกรรมดีที่เขาได้กระทำมาแล้ว ก็มีเหตุที่จะทำให้ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข นั้นของเขาอุดมสมบูรณ์ เป็นไปตามควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะมีจิตเป็นอกุศลที่ริษยาในบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ควรทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ที่ควรจะละให้หมดสิ้นไป และการที่จะละได้นั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กุศล ก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ทั้งกุศล และ ไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงธรรมที่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราแทรกอยู่ในธรรมเหล่านั้นเลย ถ้าไม่เห็นอกุศลว่าเป็นอกุศล ก็จะไม่มีการขัดเกลาละคลายเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ ก็จะเห็นว่า แม้ในขณะที่ความดีแม้เพียงเล็กน้อยเกิดขึ้น ขณะนั้น อกุศล เกิดไม่ได้ ความริษยาเป็นต้นก็เกิดไม่ได้ในขณะที่กุศลเกิด เพราะเป็นธรรมที่ไม่สามารถเกิดพร้อมกันได้เลยระหว่างกุศลกับอกุศล และถ้าความดีค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น แม้การฟังพระธรรม ก็เข้าใจ เพราะเหตุว่าถ้าเต็มไปด้วยอกุศล อกุศลนั้นๆ ที่มีมาก จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงได้หรือ เพราะอกุศลไม่สามารถเข้าใจความจริงได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้เรื่อยๆ ในความเป็นเหตุเป็นผล ก็จะเป็นคนดีขึ้นแล้วก็ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไปด้วย เพราะความเข้าใจพระธรรมนี้เองจะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นคนดียิ่งขึ้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นที่พึ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต นอกจากพระธรรมทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ที่ดำรงสืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ พร้อมที่จะให้ผู้เห็นประโยชน์ ได้ฟังได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเองต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
arin
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pulit
วันที่ 6 ก.พ. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ