อารธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม

 
ผู้ไม่รู้...
วันที่  7 ก.พ. 2564
หมายเลข  33679
อ่าน  1,379

อยากทราบว่าการอาราธนาแต่ละแบบมันมีความเป็นมาอย่างไร แต่ละแบบใช้กับงานประเภทใด และมีจุดประสงค์ในการใช้อย่างไรหรือคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า อาราธนา หมายถึง การเชื้อเชิญ อย่างเช่น ท้าวสหัมบดีพรหมได้อาราธนา เพื่อให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรม ตามข้อความในอายาจนสูตร ดังนี้

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๑๑

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงธรรมเถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสสดุจธุลีในดวงตาน้อยเป็นปกติ ก็มีอยู่ เพราะมิได้สดับ ย่อมเสื่อมจากธรรม สัตว์ทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี"

ในสมัยปัจจุบันนี้ ก็นำเอาเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่าง เวลาที่จะมีการแสดงธรรม ก็มีการอาราธนา (เชื้อเชิญ) แต่สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่การกล่าวภาษาบาลี (ซึ่งฟังไม่รู้เรื่อง) แม้ไม่ได้กล่าวภาษาบาลี แต่กล่าวในภาษาของตนๆ ก็ได้ ว่า ขอเชิญท่านกล่าวธรรมหรือแสดงธรรม ก็เป็นอันรู้กันว่า ถึงเวลาแล้ว พร้อมแล้ว ที่จะมีการแสดงธรรม ก็มีการเชื้อเชิญให้ท่านกล่าว เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือ ผู้กล่าวธรรม ได้กล่าวให้ผู้ฟังได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่กล่าวเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


สำหรับ เรื่อง อาราธนาศีล ควรจะได้เข้าใจว่า  

ศีล ที่ควรรักษาเป็นนิตย์ ได้แก่ ศีล ๕ หรือ สิกขาบท ๕ ได้แก่

๑. ละเว้นการฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์ทุกชีวิต ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า และที่น่าพิจารณา คือ จะต้องไม่มีการเบียดเบียนด้วย ไม่ใช่ละเว้นเพียงการฆ่าอย่างเดียว

๒. ละเว้นการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แม้เพียงความคิด ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนชอบของของคนอื่น แต่ลองคิดดู สิ่งที่ท่านชอบ เจ้าของเขาต้องชอบด้วยเช่นกัน ในเมื่อท่านยังชอบของของเขา เขาก็ต้องชอบของของเขาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้ความคิดก็ไม่ควรที่จะคิดต้องการถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของคนอื่นมาเป็นของตน

๓. ละเว้นการประพฤติผิดในกาม ไม่ประพฤติผิดในบุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น ถ้าเว้นได้ ก็เป็นการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างแท้จริง

๔. ละเว้นจากการพูดมุสาวาท คือ คำพูดที่ไม่จริง เพราะเหตุว่าคำพูดที่ไม่จริง ไม่มีใครชอบเลย แม้แต่ธรรมที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผล ก็เป็นมุสาวาท เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความจริง พูดสิ่งที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม ทุกเรื่องที่เป็นมุสาวาท คือ คำไม่จริง แม้เพียงเล็กน้อย ต้องเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ แล้วก็มีวิริยะที่จะงดเว้น ไม่พูดคำที่ไม่จริง แม้เป็นเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นว่า ไม่เป็นโทษกับคนอื่น แต่ว่าการเสพคุ้นบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้คุ้นเคยกับการกล่าวมุสาวาทได้ง่าย และยิ่งเห็นว่า ไม่เป็นโทษเป็นภัย ก็ยิ่งกล่าวไปเรื่อยๆ พอกพูนอกุศลเป็นเรื่อยๆ จนหนาแน่นขึ้น เป็นผู้ไม่ตรงต่อความจริง

๕. ละเว้นการดื่มสุรา หรือว่าของเสพติด ของมึนเมาทุกประเภท เพราะเห็นโทษว่า ผู้ที่ขาดสติ ย่อมทำสิ่งซึ่งปกติแล้วจะทำไม่ได้ แม้แต่การฆ่ามารดาบิดาก็ทำได้ เป็นต้น นั่นต้องเป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มึนเมาและไม่มีความรู้สึกตัว เพราะโดยปกติชีวิตปุถุชนหนาแน่น มากไปด้วยกิเลสอยู่แล้ว ยิ่งเติมเชื้อที่จะเป็นเหตุให้เกิดความมัวเมาขึ้น ก็ยิ่งส่งเสริมให้กระทำในสิ่งที่ผิด ได้ง่าย

นี้คือ ชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นผู้รักษาศีล ๕ เพราะเห็นโทษ ไม่ใช่เพราะคิดว่า เมื่อเป็นข้อห้ามก็จะไม่ทำ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำใดที่เป็นข้อห้ามเลย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุและผลของธรรมทุกอย่าง เพื่อจะให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น ขัดเกลากิเลสของตน เป็นผู้ที่นับถือในเหตุผล และเข้าใจในเหตุและในผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องกลับมาที่เหตุที่สำคัญ คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะอุปการะเกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ และน้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะปัญญา ไม่นำพาไปในทางที่ผิด ไม่นำพาไปสู่ความเสื่อม มีแต่จะนำพาไปสู่ความดีทั้งปวงเท่านั้น

แม้ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก แต่ถ้าเห็นโทษของทุจริต เห็นโทษของการล่วงศีล ก็สามารถเว้นได้ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นวิรัติงดเว้นจากทุจริตหรืองดเง้นจากการล่วงศีลข้อนั้นๆ จึงไม่ใช่การไปขอ หรือ ไปอาราธนา (เชื้อเชิญ) ให้ใครมาให้ศีล เพราะให้ไม่ได้ แต่เป็นการตั้งใจที่จะถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติด้วยดี นั่นเอง


ส่วน ประเด็น อาราธนาพระปริตร ควรจะได้เข้าใจว่า

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นพระปริตร ทั้งหมด กล่าวคือ เป็นเครื่องป้องกันความไม่รู้ ป้องกันภัยคือกิเลส (ปริตฺต หรือ ปริตร แปลว่า ป้องกัน) ความไม่รู้มีมาก กิเลสมีมาก จะขัดเกลาละคลายให้เบาบางลงได้อย่างไร ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

จะเห็นได้ว่าพระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต จากที่เป็นผู้มากไปด้วยกิเลส ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ก็เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมาแล้วทั้งนั้น จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระสูตร ก็ดี พระวินัย ก็ดี พระอภิธรรม ก็ดี ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกโดยตลอด ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมให้คนไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความติดข้องต้องการ

พระธรรมทุกคำเป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกโดยตลอด และที่สำคัญ พระธรรม ไม่ใช่สำหรับท่องหรือสวด แต่สำหรับศึกษา จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกจริงๆ ผู้ที่ตรง จริงใจ เท่านั้นที่จะได้สาระจากพระธรรม 

เมื่อเป็นเช่นนี้  จึงควรศึกษาพระปริตร คือ พระธรรมทั้งหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ ไปเชิญใครให้มาสวดคำที่เราไม่รู้จักแล้วเข้าใจผิดว่าจะป้องกันอะไรๆ ได้ เป็นต้น เพราะทั้งหมดเป็นการกระทำตามๆ กันไป ด้วยความไม่รู้  ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ