วิปัสนาภาวนาที่เป็นขณิกสมาธิมีหรือไม่

 
lokiya
วันที่  8 ก.พ. 2564
หมายเลข  33684
อ่าน  563

ได้อ่านคำของพระเกจิว่าต้องอบรมสมาธิให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิก่อนจึงจะเจริญวิปัสสนาได้

อยากถามท่านวิทยากรว่า การเจริญวิปัสสนาโดยมีเพียงขั้นขณิกสมาธิ เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย

โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรบให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ดังนั้นเรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

สมถะ กับ สมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส ส่วนสมถภาวนาหมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น

คำถาม จึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนา ก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌานแต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ

คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือ ไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไมใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลย ครับ

ดังนั้น ประเด็น คือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ

คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา

ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร  พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา ... สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเอง ครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน

ถามว่า มีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ .... 

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

จะเห็นนะครับว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้ง สมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่า จะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่า ธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ ครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนาในขณะี่ที่สติปัฏฐานเกิด ครับ

ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของสติและปัญญาเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ดังเช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ สำคัญ คือ เริ่มที่ สัมมาทิฏฐิก่อน คือ ปัญญา ความเห็นถูก หากมีสมาธิดี แต่ไม่ไ่ด้เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ไม่มีปัญญาที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาได้เลย

ดังนั้น การเจริญวิปัสสนาที่ดีได้ ไม่ใช่อยู่ที่สมาธิ แต่อยู่ที่ปัญญาครับ และผู้ที่ไม่ไ่ด้เจริญสมถภาวนา หรือ ไม่ได้ฌาน แต่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว และได้บรรลุธรรมมีมากมาย นับไม่ถ้วน ซึ่งขณะที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นได้ฌานไม่ได้ ต้องเป็นขณิกสมาธิเสมอ คือ สมาธิชั่วขณะ ครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่สมาธิครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 9 ก.พ. 2564

กระจ่างแจ้งมาก หายสงสัย ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญ ที่ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ถ้าหากว่าในขั้นต้น ไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไปผิดทางทั้งหมด ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องเลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นมีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก การอบรมเจริญสมถภาวนาต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้องเห็นความต่างระหว่าง กุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรมนั่นเอง

สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต จนจิตสงบเข้าถึงความสงบแนบแน่นเป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่เจริญสมถถาวนา จิตย่อมไม่มีอกุศลเลย แต่ข้อที่น่าพิจารณาคือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่ไม่ถูกต้องขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่าการอบรมเจริญสมถภาวนา เมื่อเจริญถูกต้อง ผลของสมถภาวนาย่อมทำให้เกิดในพรหมโลกตามระดับขั้นของฌาน ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ เพราะสมถภาวนาละกิเลสไม่ได้เลย เพียงแค่ข่มกิเลสไว้เท่านั้น

ส่วนวิปัสสนาภาวนาเป็นสติสัมปชัญญะ ที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ธรรมตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมสำรอกราคะ ดับอวิชชา และดับกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ