กรณีแบบนี้จะพิจารณา ไม่มีเรา หรือธรรมเป็นคำๆ อย่างไร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ก.พ. 2564
หมายเลข  33691
อ่าน  752

กระผมพยายามใคร่ครวญด้วยปัญญาอันน้อยนิด เห็นว่าจิตตัวนี่แหล่ะที่มีสภาพรับรู้คิดนึก จากเหตุปัจจัย คือความจำที่ยึดยาวนานหลากหลายเป็นตัวเอง ที่เคยคิดพูดทำไม่ดีก็มี เช่นการกระทำที่ผิดพลาด การตัดสินใจที่ผิดพลาด จิตก็เอาข้อมูลที่จำ รับรู้มาปรุงแต่ง หลากหลาย ทำให้เกิด ฟุ้งซ่าน กังวล เครียด เป็นทุกข์ นอนไม่หลับบ้าง หยุดให้ไม่คิดไม่ได้บ้าง

กรณีแบบนี้จะพิจารณา ไม่มีเรา หรือธรรมเป็นคำๆ อย่างไรบ้างครับ

โดย คุณ สงบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทั้งหมดไม่พ้นจากความเป็นไปของสภาพธรรม และ ไม่มีเราทำ มีแต่ธรรม และ ธรรมนั้นเองทำหน้าที่ แม้แต่คำว่า จิต ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะ จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ปรุงแต่ง ไม่ได้ทำหน้าที่จำ แต่ มีสภาพธรรมอีกอย่างที่ปรุงแต่งจิต ที่เกิดพร้อมกับจิต คือ เจตสิก  เช่น ความติดข้อง โลภะ ความโกรธ โทสะ เป็นต้น เมื่อเกิดพร้อมกับจิต เจตสิกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น ก็ปรุงแต่งให้ จิตนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี มี อกุศลจิต และ เจตสิกที่ดีเกิดขึ้น มีปัญญา ความเห็นถูก และ สติ สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี เกิดพร้อมกับจิต จิตนั้นก็ดี  มี กุศลจิต เป็นต้น

ดังนั้น การที่จะคิดดี หรือ ไม่ดี ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ที่จะพยายามที่จะคิด  ที่จะพยายามพิจารณา แต่เป็นหน้าที่ของธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้สักขณะเลย การจะคิดดี ไม่ดี คิดเป็นไปในทางที่ถูกต้อง หรือแม้ในทางที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต เครียด ทุกข์ใจ ก็เพราะเป็นไปตามธรรม คือ การสะสม

ปุถุชนเป็นผู้หนาด้วยกิเลส คือ สะสมกิเลสมามากมาย นับชาติไม่ถ้วน ดังนั้น ความเป็นไปของธรรม ก็เป็นไปกับอกุศลโดยมาก เมื่อได้รับสิ่งที่ดีน่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความติดข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็ว อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะสะสมความติดข้อง โลภะ มามากมายนับชาติไม่ถ้วน ลืมตาก็ติดข้องในสิ่งที่เห็นแล้ว จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม  เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็โกรธ ขุ่นใจ อย่างรวดเร็ว นี่คือความเป็นไปของธรรม ตามการสะสม ไม่มีเราจะทำอะไรได้เลย

พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของปัญญา เข้าใจความจริง  ไม่ใช่การบังคับไม่ให้เกิด เพราะเกิดแล้วเป็นปกติ ไม่ว่าจะคิดดีหรือไม่ดีก็ตาม หนทางที่ถูกต้อง ที่เป็นทางสายกลาง คือ ทางของความเป็นอนัตตาด้วยปัญญา คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วว่าคืออะไร นั่นคือเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม โดยเริ่มจากขั้นการฟัง  โกรธก็เป็นปกติเป็นเพราะเกิดแล้ว ไม่ใช่เรา เครียดก็เป็นปกติเพราะเกิดแล้ว  ไม่ใช่เรา การเริ่มคิดถูกอย่างนี้ ก็ต้องมาจากการสะสม ความเข้าใจถูกขั้นการฟังบ่อยๆเนืองๆ ยาวนาน เพราะสะสมความเป็นเรามามาก ดังนั้นจึงไม่ใช่การจะบอกว่าให้คิดพิจารณายังไง เพราะถ้ายังไม่มีเหตุปัจจัยในการสะสมความเข้าใจขั้นการฟังเพียงพอในความเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็เป็นตัวเรานั่นแหละที่นึกถึงคำ ท่องว่าไม่มีเรา แต่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ  หนทางที่ถูก คือ ฟังต่อไป ด้วยความเข้าใจถูกเป็นเบื้องต้น ว่ามีแต่ธรรม ไม่ว่าฟังเรื่อง จิต เจตสิก ก็คือ เพื่อเข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราในขณะนี้ เบาสบายที่จะไม่ทำ เพราะเป็นหน้าที่ของธรรม ไม่รู้ก็คือไม่รู้  ยิ่งเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เบาสบาย ที่จะเข้าใจถูกว่าอกุศล เครียด โกรธก็เป็นธรรม แต่เมื่อไหร่ เดือดร้อน เลือกที่จะไม่ให้อกุศลเกิด หรือ จะพยายามคิดยังไงให้ไม่ใช่เรา แสดงถึงความไม่มั่นคงในความเป็นอนัตตาของธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้  ยิ่งจะพยายามจะทำยังไง ให้คิดพิจารณาก็สะสมความไม่รู้ คือ ความเป็นเราเพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องครับ ทางเดียวคือฟังต่อไปจนกว่าจะเป็นเหตุปัจจัยให้คิดถูกเองโดยความเป็นอนัตตา

เชิญคลิกฟังคำบรรยาย ท่าน อ.สุจินต์ที่เกี่ยวกับคำถามได้ที่ลิงก์นี้ ครับ

กว่าจะถึงความเป็นอนัตตาทั่วหมดต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเริ่มฟัง เริ่มศึกษา ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่า แต่ละขณะๆ ก็คือ จิตเกิดขึ้นเป็นไป เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก เป็นต้น เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา ก่อนการศึกษาพระธรรม ไม่เคยคิดเลยว่า เหล่านี้ เป็นจิต มีแต่เป็นเราที่เห็น เป็นเรา ที่ได้ยิน เป็นต้น มีแต่เรา ทั้งนั้น แต่พอได้ฟังพระธรรม ก็เริ่มไตร่ตรองในความเป็นจริง ก็ค่อยๆ เริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ในขั้นของการฟัง เมื่อเห็นประโยชน์ ฟังต่อไป ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น

ธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถจะไปหยุดยั้งอะไรได้เลย และเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลย่อมเกิดขึ้นเป็นไปมาก ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรม จะค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นได้อย่างไร และ ที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจยังน้อย เทียบส่วนที่มีมากของกิเลสอกุศลที่สะสมมานานแสนนาน ไม่ได้เลย แล้วจะไปละกิเลสในทันทีทันใดได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่มีปัญญาในระดับที่จะละกิเลสได้ กิเลส ไม่สามารถที่จะละได้ด้วยความอยาก ความต้องการ หรือ ด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา ที่เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม เท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาจากการได้อาศัยทุกคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ