อารมณ์คืออะไร

 
wittawat
วันที่  11 ก.พ. 2564
หมายเลข  33706
อ่าน  1,382

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

อารมณ์คืออะไร

ความหมายของ อารมณ์ ในภาษาไทย ได้แก่

- ความรู้สึก เช่น อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย

- นิสัย เช่น เป็นคนอารมณ์ร้อน เป็นคนอารมณ์เย็น

คนส่วนใหญ่ก็ใช้กันโดยความหมายอย่างนี้ เช่น วันนี้อารมณ์ดีจัง วันนี้อารมณ์ไม่ดีเลย เป็นต้น

ภาษาบาลี อารมณ์ มาจากคำว่า อารมฺมณํ หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้ หรือ เครื่องยึดเหนี่ยวจิต ซึ่งก็หมายถึง "สิ่งที่ปรากฏ" นั่นเอง

ถ้าเป็นความหมายของคำนี้ ก็ไม่ใช่คำที่ทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ประโยชน์ของคำนี้ ก็เพื่อเข้าใจความจริงให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะมีข้อความแสดงว่า "ธรรมใดๆ ที่จะไม่เป็นอารัมมณปัจจัยนั้นไม่มี"

ถามว่าอารมณ์นั้น ถูกรู้ด้วยอะไร? ปรากฏกับอะไร?

ก็ควรที่จะต้องทราบถึง ความหมายของความจริง และประเภทต่างๆ ของความจริงก่อน

ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีอยู่จริง ที่มีลักษณะจริง ท่านกล่าวแสดงออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รูปธรรม และนามธรรม

- รูปธรรม เป็น ความจริงที่ไม่รู้อารมณ์ (อนารัมมณะ)

- นามธรรม คือ ความจริงที่มีอารมณ์ (สารัมมณะ)

สิ่งที่มีจริงทั้งหมดนั้นปรากฏให้รู้ได้ แต่ไม่ได้ปรากฏกับรูปธรรม จะปรากฏได้เฉพาะกับนามธรรม

แข็ง เป็นความจริงประเภทหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางกาย แข็งรู้อะไรไม่ได้ แข็งได้ยินเสียงไม่ได้ แข็งเห็นสีก็ไม่ได้ แข็งจึงเป็นรูปธรรม

คำที่คนทั่วไปใช้บ่อยๆ "ตาเห็นสี ตามองเห็นต้นไม้บ้าง หูได้ยินเสียง สมองคิดนึกบ้าง แขนเจ็บ" จากความคิดที่ว่า อวัยวะนั้นจะทำหน้าที่รู้สิ่งต่างๆ จากสิ่งที่เรียนรู้มา รวมไปถึงคิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นก็ต่างออกไป

ตานั้นไม่ได้เห็นสี เพราะตาไม่ใช่นามธรรม ตาเป็นรูปธรรม คือความจริงที่ไม่รู้อารมณ์
ไม่ได้ทรงแสดงว่า "ตาเห็นสี" แน่นอน แล้วอะไรที่เห็นสี?

ท่านกล่าวถึง นามธรรม ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ได้เจือปนอยู่ด้วยรูปใดๆ เลย คือ สิ่งที่มีจริงที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือ จิตเห็น หรือ "จักขุวิญญาณธาตุ" ในภาษาบาลีนั่นเอง ที่ทำหน้าที่เห็น หรือรับรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกระทั่งเข้าใจว่ามีสิ่งนั้นวางอยู่ที่นั่นที่นี่

แล้วตานั้น ทำหน้าที่อะไรล่ะ ถ้าไม่ได้เห็นสี ท่านแสดงว่า ตา (หรือจักขุธาตุ) เป็นรูป "ที่อาศัย" ให้จิตเห็นเกิดขึ้นได้นั่นเอง และถ้าบุคคลนั้นตาบอด ก็ไม่อาจมองเห็นอะไรได้ เพราะจักขุธาตุนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในบุคคลที่ตาบอด

จักขุธาตุนั้นไม่ใช่ลูกตา ตาดำ ตาขาวที่เห็นหรือ?

ไม่ใช่ เพราะคนตาบอดก็มี ตาดำ ตาขาว แต่สิ่งที่เป็นรูปที่อาศัยของจิตเห็น ไม่ใช่ส่วนที่เป็นตาดำ ตาขาวนั้น ทรงแสดงว่าเป็นรูปบางๆ ที่เกิดขึ้นกลางบริเวณลูกตานั้น

และโดยการประจวบกันของ "สิ่งที่ปรากฏทางตา (รูปารมณ์) " และ "ตา (จักขุธาตุ) " ทั้งสอง แล้ว "จิตที่เห็น (จักขุวิญญาณธาตุ) " จึงเกิดขึ้นได้ มีข้อความอุปมาแสดงว่า พึงเห็น จักขุธาตุ เหมือน หน้ากลอง, รูปธาตุ เหมือน ไม้กลอง และ จักขุวิญญาณธาตุ เหมือนกับ เสียงกลอง นั่นเอง (จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค3 ตอน1 หน้า 147)

และก็เป็นส่วนที่ทำให้เข้าใจว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเกิดขึ้นโดยลอยๆ ไม่ได้ จะต้องมีสิ่งที่อุดหนุน ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า "ปัจจัย" นั่นเอง หมายถึง เห็น จะเกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่ได้ ถ้า จักขุธาตุ (ตา) และ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้เกิดขึ้นก่อน

พระพุทธศาสนา จึงไม่ได้แสดง เรื่องที่ง่ายๆ อย่างที่พูดกันว่า เอาหลักธรรมนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ศีล 5 พรหมวิหาร 4 เป็นต้น ก็ดี แต่ก็ยังห่างไกล จากสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะไม่ได้เริ่มเข้าใจ โดยความรู้ว่าสิ่งที่มีจริงคืออะไร สิ่งที่มีจริงไม่ใช่เราอย่างไร และสิ่งที่มีจริงที่ทรงแสดงนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดขึ้นด้วยสิ่งที่เป็นปัจจัยอุดหนุน ซึ่งต้องอาศัยการฟังเป็นปัจจัย ความเข้าใจที่ละเอียดจึงเกิดขึ้นได้ยิ่งขึ้น ความเข้าใจถูกนั้นเองจะสะสมยิ่งขึ้น และรักษาบุคคลนั้นจากความประพฤติที่ไม่ดี พร้อมกับความดีที่เกิดขึ้น และจนกระทั่งถอนความไม่รู้ ว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ออกได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jinarugs
วันที่ 20 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาสาธุครับผม

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ