นิพพานเที่ยงคือจิตเที่ยง?

 
lokiya
วันที่  12 ก.พ. 2564
หมายเลข  33713
อ่าน  822

ให้อบรมจิตให้ดีนะ ให้จิตมีความสงบ จิตมีความสงบแล้วสบายๆ สงบเท่าไรผ่องใสเท่าไรยิ่งสบายเท่านั้น จิตถึงขั้นเต็มภูมิแล้วก็สบายตลอด ท่านว่านิพพานเที่ยงคือจิตเที่ยง นั่นละสุดท้ายของการฝึกจิต ถึงจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว เรียกว่าจิตเที่ยง นิพพานเที่ยง เอาตรงนี้ละนะ ให้พรนะ

ขอคำอธิบายธรรมะนี้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นว่า จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที

 พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๑๖

“ก็เมื่อว่าโดยลักษณะ จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ จริงอยู่ จิตที่เป็นไปในภูมิ ชื่อว่า ไม่มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ก็หาไม่ เพราะจิตทั้งหมดมีการรู้แจ้งอารมณ์ทั้งนั้น”


จิตเกิดขึ้นและดับไปทีละขณะ ดำรงเพียวชั่วขณะจิต และเมื่อยังมี ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ จุติจิตของพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุปัจจัย เช่น อนันตรปัจจัย สมนันตร ปัจจัย เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นเกิดสืบต่อ จากจิตดวงที่ดับไปแล้ว ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 44

๓. อุปเนยยสูตร

[๗]  เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อน เข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไป แล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำ ความสุขมาให้

[๘]  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อน เข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไป แล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่ง สันติเถิด

บัณฑิต พึงทราบ ความที่ชีวิตคือ อายุนั้นเป็นของน้อย โดยอาการ ๒ อย่าง คือ ชื่อว่าน้อย  เพราะความที่ชีวิตนั้นเป็นไปกับด้วยรส คือ ความเสื่อมสิ้นไป และเพราะความที่ชีวิตนั้นประกอบด้วยขณะ คือ ครู่เดียว ก็เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยมาก (เกินเปรียบ) คือสักว่าเป็นไปเพียงจิตดวงเดียวเท่านั้น (ว่าโดยปรมัตถ์ ขณะมี ๓ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ) จึงชื่อว่า น้อย เพราะความที่ชีวิตนามนั้นเป็นของเป็นไปกับด้วยขณะ อุปมาด้วยล้อแห่งรถ แม้เมื่อหมุนไป ย่อมหมุนไปโดยส่วนแห่งกงรถหนึ่งเท่านั้น แม้เมื่อหยุดอยู่ ก็ย่อมหยุดโดยส่วนแห่งกงรถหนึ่งนั่นแหละ ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในขณะแห่งจิตดวงหนึ่ง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ความคิดเห็นจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อเข้าใจผิด ก็พูดผิด ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ได้เลย แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ จิต ก็เช่นเดียวกัน ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย จิตมีอายุที่สั้นแสนสั้น เพียงแค่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีจิตแม้แต่ขณะเดียวที่เที่ยง หรือ ยั่งยืนไปตลอด เมื่อจิตขณะหนึ่งดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และเป็นมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ และยังจะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส

และเมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็ต้องกล่าวถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ด้วย ซึ่งได้แก่ เจตสิก ประเภทต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ทั้งจิตและเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ หาความเที่ยง ความยั่งยืน ในสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ได้เลย

ส่วนพระนิพพาน เที่ยง เพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จึงเป็นสภาพที่เที่ยง และ เป็นสุข แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระนิพพาน ก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นอนัตตา ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Tuangporn
วันที่ 15 ก.พ. 2564

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ