อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  12 ก.พ. 2564
หมายเลข  33714
อ่าน  1,181

[อวิชชาเป็นปัจจัยหลายประการแก่สังขาร]

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 3 ตอน 1 หน้า 285

ในปัจจัย ๒๔ ที่กล่าวมานี้ อวิชชานับเป็นปัจจัยแก่อภิสังขาร คือบุญทั้งหลาย โดยประการ ๒, แต่เป็นปัจจัยแก่อภิสังขารข้อถัดไป (คืออปุญญาภิสังสาร) โดยหลายประการ. เป็นปัจจัยแก่อภิสังขารข้อสุดท้าย (คืออเนญชาภิสังขาร) โดยประการเดียวแล

ในคําเหล่านั้น คําว่า 'เป็นปัจจัยแก่อภิสังขารคือบุญทั้งหลาย โดยประการ ๒ ความว่า อวิชชาเป็นปัจจัย (แก่บุญญาภิสังขาร) โดยประการ ๒ คือโดยเป็นอารัมมณปัจจัย ๑ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย ๑ อธิบายว่า อวิชชานั้นเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัยแก่บุญญาภิสังขารทั้งหลายฝ่ายกามาวจร ในกาลที่พิจารณาอวิชชาโดยความสิ้นไป ความเสื่อมไป. เป็นอารัมมณปัจจัยแก่บุญญาภิสังขารฝ่ายรูปาวจร ในกาลที่รู้จิตอันเป็นไปกับโมหะ (ทั้งของตนและคนอื่น) ด้วยอภิญญาจิต (มีเจโตปริยญาณเป็นต้น) แต่ว่าเมื่อบุคคลบําเพ็ญบุญกิริยาวัตถุฝ่ายกามาวจรทั้งหลายมีทานเป็นต้นก็ดี ยังรูปาวจรฌานทั้งหลายให้เกิดขึ้นก็ดี เพื่อประโยชน์แก่การก้าวล่วงเสียซึ่งอวิชชา ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่บุญญาภิสังขารทั้งสองนั้น เมื่อบุคคลปรารถนาสมบัติในกามภพและรูปภพแล้วทําบุญ (ทั้งสอง) นั้นแหละอยู่ เพราะหลงไปด้วยความไม่รู้ ก็อย่างนั้น (คืออวิชชานั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัย แก่บุญญาภิสังขารทั้งสองนั้นเช่นเดียวกัน) . คําว่า "แต่เป็นปัจจัยแก่อภิสังขารข้อถัดไป (อบุญญาภิสังขาร) โดยหลายประการ" ความว่า อวิชชาย่อมเป็นปัจจัยแก่อบุญญาภิสังขารทั้งหลายโดยหลายประการ ปุจฉาว่า เป็นอย่างไร? วิสัชนาว่า ก็อวิชชานั่นย่อมเป็นปัจจัย (แก่อบุญญาภิสังขาร) โดยหลายประการคือ ในกาลปรารภอวิชชา กิเลสมีราคะเป็นต้นเกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัย, ในกาลที่ฝักใฝ่หนักแน่นยินดีพอใจ ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณาธิบดีและอารัมณูปนิสสยะ, เมื่อบุคคลผู้หลงไปด้วยความไม่รู้ไม่เห็นโทษ (ในบาป) ทําบาปทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้นเข้า ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย, เป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อนันตรูปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย นัตถิปัจจัย และวิคตปัจจัย แก่ชวนะมีชวนะดวงที่สองเป็นต้นไป, เมื่อบุคคลทำอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยโดยเหตุปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย และ อวิคตปัจจัย

คําว่า "เป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อสุดท้ายโดยประการเดียว" คือ อวิชชานับว่าเป็นปัจจัยโดยประการเดียว คือโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแก่อาเนญชาภิสังขารทั้งหลาย ก็แลความที่อวิชชาเป็นอุปนิสสยปัจจัยนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในบุญญาภิสังขารนั่นเถิด

[โดยสรุป]

>>ปัจจัยธรรม

อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือ ธรรมที่ปิดบังความจริง

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 245 แสดงความหมายของอวิชชาไว้ดังนี้

1. ธรรมย่อมได้ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรบำเพ็ญ (อวินทยะ มีกายทุจริต เป็นต้น)

2. ธรรมย่อมไม่ได้ซึ่งสิ่งที่ควรบำเพ็ญ (อวินทยะ มีกายสุจริต เป็นต้น)

3. ธรรมชาติที่ทำอรรถะแห่งกองขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ ไม่ให้ปรากฏ

4. ธรรมชาติที่ทำอรรถะแห่งอริยสัจ ๔ ไม่ให้ปรากฏ

5. ธรรมชาติที่ยังสัตว์ทั้งหลายให้แล่นไปในสังสารอันไม่มีที่สุด คือ ในกำเนิด คติ ภพ วิญญาณฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง

6. ธรรมชาติที่แล่นไปในบัญญัติธรรมทั้งหลาย มีหญิง มีชาย เป็นต้น อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่แล่นไปในขันธ์เป็นอาทิ

7. ธรรมชาติที่ปกปิดเสียซึ่งวัตถุและอารมณ์แห่งวิญญาณ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น และซึ่งธรรมท้้งหลายทั้งที่เป็นปัจจัย (ปฏิจสมุบาท) และผล (ปฏิจสมุบัน)

(วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 256)

>>> ความหมายของอวิชชาโดยนัยของพระสูตร

ความไม่รู้ในฐานะ ๔ ได้แก่ ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

>>> ความหมายของอวิชชาโดยนัยของพระอภิธรรม

ความไม่รู้ในฐานะ ๘ กับทั้งฐานะมีปุพพันตะ เป็นต้น ได้แก่

1. ความไม่รู้ในทุกข์

2. ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย

3. ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ

4. ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

5. ความไม่รู้ในเงื่อนต้น (ปุพพันตะ หมายถึงขันธ์ ๕ ที่เป็นอดีต)

6. ความไม่รู้ในเงื่อนปลาย (อปรันตะ หมายถึงขันธ์ ๕ ในอนาคต)

7. ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่เป็นกลุ่มของเหตุ (อิทัปปัจจยตา)

8. ความไม่รู้ในกลุ่มของผล (ปฏิจสมุบัน)

- ท่านแสดงว่า ธรรมทั้งหมด (ยกเว้น สัจจะ ๒ ประเภท คือ มรรคสัจจะ (กุศลเจตสิก ๘) และ นิโรธ (นิพพาน)) ย่อมเป็นอารมณ์แก่อวิชชาได้ อวิชชาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว

- ในที่นี้ อวิชชา คือ เครื่องปิดบัง เมื่ออวิชชาเกิดขึ้นย่อมปิดบัง รสลักษณะ คือ สภาวะของธรรมนั้นๆ ไม่ให้รู้ตามความเป็นจริง มีการปิดบังทุกขสัจจะ ฯลฯ ตามที่กล่าวมาแล้วเป็นต้น

- ความหมายของปัจจัย (ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 246) หมายถึง ผลอันอาศัยธรรมใดไป ธรรมนั้นชื่อปัจจัย อีกความหมายหนึ่งคือ ผู้อุปการะ ผู้อุดหนุน

>>ปัจจยุปบันธรรม

สังขาร หมายถึง ธรรมที่มุ่งแต่ปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น (ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 247) ได้แก่

1. บุญญาภิสังขาร

2. อบุญญาภิสังขาร

3. อเนญชาภิสังขาร

4. กายสังขาร

5. วจีสังขาร

6. จิตตสังขาร

- โดยสรุป ได้แก่ กุศลเจตนา และอกุศลเจตนาฝ่ายโลกิยะนั่นเอง

>>สรุปความเป็นปัจจัย

ท่านแสดงว่า อวิชชา (โมหเจตสิก) เป็น ปัจจัยแก่ อภิสังขาร (หมายถึง กุศลกรรม และอกุศลกรรม) ทั้ง ๓ ได้แก่

- ปุญญาภิสังขาร ๒ ปัจจัย ได้แก่

1. อารัมณปัจจัย

2. อุปนิสสยปัจจัย (กล่าวเฉพาะ ปกตูปนิสสยปัจจัย)

- อปุญญาภิสังขาร ๑๕ ปัจจัย ได้แก่

1. อารัมณปัจจัย

2. อธิปติปัจจัย (กล่าวเฉพาะ อารัมณาธิปติปัจจัย - กล่าวกรณีที่โมหเจตสิกเกิดพร้อมกับโลภมูลจิตที่เป็นปัจจัยทั้งกรรมดีและบาปกรรม)

3. อุปนิสสยปัจจัย (๓ ประเภท ได้แก่ อารัมณูปนิสสยปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัย)

4. อนันตรปัจจัย (๔ ถึง ๘ กรณีโมหเจตสิกเป็นปัจจัยแก่เจตนาเจตสิกดวงถัดไป)

5. สมนันตรปัจจัย

6. อาเสวนปัจจัย

7. นัตถิปัจจัย

8. วิคตปัจจัย

9. เหตุปัจจัย (๙ ถึง ๑๕ กล่าวกรณีเกิดพร้อมกันของโมหะและเจตนา)

10. สหชาตปัจจัย

11. อัญญมัญญปัจจัย

12. นิสสยปัจจัย

13. สัมปยุตตปัจจัย

14. อัตถิปัจจัย

15. อวิคตปัจจัย

ท่าน ไม่ได้กล่าวถึง ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย (ซึ่งเป็นเรื่องรูปที่ยังไม่ดับไปเป็นปัจจัยแก่นาม และนามที่ไม่ดับที่เกิดเพราะรูป) กัมมปัจจัย (อวิชชา ไม่ใช่เจตนา) วิปากปัจจัย (โมหเจตสิก ไม่เกิดกับวิบากจิต) อาหารปัจจัย (อวิชชา ไม่ใช่องค์ธรรมที่เป็นอาหาร) อินทรียปัจจัย (อวิชชาไม่เป็นอินทรีย์) ฌานปัจจัย (อวิชชาไม่ใช่องค์ฌาน) มัคคปัจจัย (อวิชชาไม่ใช่องค์มรรค) วิปปยุตตปัจจัย (อวิชชาไม่ใช่รูป)

- อเนญชาภิสังขาร ๑ ปัจจัย ได้แก่

1. อุปนิสสยปัจจัย (กล่าวเฉพาะ ปกตูปนิสสยปัจจัย)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
thidajoy
วันที่ 17 พ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ