คำที่คุ้นหูแต่เข้าใจจริงๆ หรือไม่

 
khampan.a
วันที่  12 ก.พ. 2564
หมายเลข  33716
อ่าน  501

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๓๖๔]

คำที่คุ้นหูแต่เข้าใจจริงๆ หรือไม่


คำที่คุ้นหูก็คือ ศรัทธา เพราะว่าคนไทยใช้คำนี้บ่อย แต่ว่าเวลาที่ใช้คำภาษาบาลี ไม่ได้เข้าใจตามความหมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นศรัทธาก็คือเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) ที่เป็นโสภณะ (ดีงาม) หนึ่งในโสภณเจตสิกทั้งหมด ๒๕ ประเภท เพราะฉะนั้นเราพูดว่าเขามีศรัทธา แต่ต้องดูว่าเขาศรัทธาอะไร ถ้าศรัทธานั้นผิด หมายความว่าเขาไม่เข้าใจคำว่าศรัทธา แต่เป็นความเห็นที่ผิด มีความเชื่อที่ผิดแล้วก็มีความมั่นคงขึ้น ถ้าศรัทธามากๆ ในความเห็นผิด ก็แสดงว่าความเห็นผิดนั้นต้องมากขึ้น ที่เราเห็นกันอยู่มีตั้งแต่เห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ เขาก็กล่าวว่าเขามีศรัทธา แต่ความจริงไม่ใช่ศรัทธา พอมีความเห็นผิดมากขึ้น เขาก็บอกว่าเขาศรัทธามากๆ แต่ก็ยังคงเป็นในความเห็นผิดซึ่งไม่ใช่ศรัทธาจริงๆ เพราะฉะนั้นสัทธาเจตสิก (ศรัทธา) เป็นสภาพที่ผ่องใส สะอาด เพราะขณะนั้น ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เป็นปัจจัยให้เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยใสสะอาด ผ่องใส เพราะเหตุว่า ไม่มีลักษณะของสภาพของอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้นศรัทธาไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นบางครั้งบางขณะมีศรัทธาที่จะให้ทาน แต่ว่าไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในขณะนั้นว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นศรัทธาก็คือศรัทธา ปัญญาก็คือปัญญา เพราะฉะนั้นบางครั้งศรัทธาเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ปัญญาเกิด ต้องมีศรัทธาเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นความต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นศรัทธากับสภาพธรรมที่เป็นปัญญา แต่เพียงคำพูดทั่วๆ ไปของคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม พูดผิดเข้าใจผิด แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้วก็จะรู้ได้ว่าคำพูดใดถูก เช่น มีศรัทธาที่จะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นความเห็นที่ถูกต้อง รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร และคำแต่ละคำเป็นประโยชน์อย่างไร? เป็นประโยชน์คือทำให้สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้นในขณะนั้นมีศรัทธา จิตที่สะอาดไม่มีโลภะที่จะไปต้องการผลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีโทสะไม่มีความเห็นผิด แต่รู้ประโยชน์ที่ว่าคำใดที่สามารถที่จะทำให้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตผ่องใสในขณะนั้นเป็นลักษณะของศรัทธา แต่เวลาที่มีความเห็นที่ถูกต้องเกิดร่วมด้วย ความเห็นถูกก็เป็นลักษณะของปัญญา เพราะฉะนั้นคนไทยใช้ศรัทธากับอกุศลด้วยและกุศลด้วย แต่ตามความเป็นจริง ขณะใดที่เป็นอกุศล จิตไม่สะอาดไม่ผ่องใสไม่ใช่ศรัทธา เพราะฉะนั้นศรัทธาจึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ซึ่งก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่า เจตสิกแต่ละหนึ่ง ก็ละเอียดมากและแตกต่างกันตามสภาพของเจตสิกนั้นๆ


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ