สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  14 ก.พ. 2564
หมายเลข  33726
อ่าน  834

สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ

[วิสุทธิมรรค]

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 324

[ขยายความ]

ความในคาถานั้นว่า แหล่งเกิดเหล่านี้ คือ ภพ ๓ กําเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ชื่อว่าแหล่งเกิดมีภพเป็นต้น สังขารทั้งหลายนั้นย่อมเป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไรใน (ตอน) ปฏิสนธิและในปวัตติกาล ในแหล่งเกิดทั้งหลายมีภพเป็นต้นเหล่านั้น แลมันเป็นปัจจัยด้วยประการใด บัณฑิตพึงทราบด้วยประการนั้นเถิด

[พรรณนาความ]

ในสังขารทั้งหลายนั้น พรรณนาในบุญญาภิสังขารก่อน บุญญาภิสังขารประเภท (กุศล) เจตนา ๘ ฝ่ายกามาวจร (ว่า) โดยไม่แยก (ประเภท) กัน (๑) ย่อมเป็นปัจจัยโดยส่วนสอง คือโดยเป็นกรรมปัจจัยในขณะต่างๆ ด้วย โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยด้วย แห่งวิบากวิญญาณ ๙ ในสุคติกามภพ ในปฏิสนธิ (กาล) . บุญญาภิสังขาร ประเภทกุศลเจตนา ๕ ฝ่ายรูปาวจร เป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณ ๕ แม้ในรูปภพ เฉพาะในปฏิสนธิ. อนึ่ง บุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจรมี ประเภทดังกล่าว เป็นปัจจัยโดยส่วนสองตามนัยที่กล่าวนั่นแล แห่งวิบากวิญญาณกามภูมิ ๗ เว้นอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่สหรคตกับอุเบกขา ในสุคติกามภพ ในปวัตติกาล (๒) ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ. บุญญาภิสังขารประเภทที่กล่าวนั้นแหละ เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกันแห่งวิบากวิญญาณ ๕ ในรูปภพ ในปวัตติกาล ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ. ส่วนในทุคติกามภพ บุญญาภิสังขารกามาจรที่กล่าวนั้น เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิบากวิญญาณกามภูมิทั้ง ๘ ในปวัตติกาล ได้ (แต่) ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ ในทุคติกามภพนั้น ในนรก บุญญาภิสังขารกามาวจรนั้นก็เป็นปัจจัยในการประสบอิฏฐารมณ์ได้ ในคราวต่างๆ เช่น คราวจาริกไป (เยี่ยม) นรกแห่งพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นต้น. อนึ่ง อิฏฐารมณ์ย่อมมีได้ในพวกสัตว์ดิรัจฉาน และในพวกเปรตที่มีฤทธิมากด้วยเหมือนกัน บุญญาภิสังขารกามาวจรนั้นแหละ เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิญญาณที่ เป็นกุศลวิบากทั้ง ๑๖ ในสุคติกามภพ ทั้งในปวัตติกาล ทั้งในปฏิสนธิ แต่ (ว่า) โดยไม่แยกกัน (คือ รวมกามาวจรและรูปาวจรเข้าด้วยกัน) บุญญาภิสังขารเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิบากวิญญาณ ๑๐ ในรูปภพ ทั้งในปวัตติกาล และในปฏิสนธิ ด้วย. อบุญญาภิสังขารประเภทอกุศลเจตนา ๑๒ เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้น นั่นแล แห่งวิญญาณดวง ๑ ในทุคติกามภพ ในปฏิสนธิ ไม่เป็นในปวัตติกาล เป็นปัจจัยแห่งอกุศลวิบากวิญญาณ ๖ ในปวัตติกาล ไม่เป็นในปฏิสนธิ เป็นปัจจัยแห่งอกุศลวิบากวิญญาณทั้ง ๗ ทั้งในปวัตติกาลและในปฏิสนธิ ส่วนในสุคติกามภพ อบุญญาภิสังขารก็เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นนั่นแหละ แก่อกุศลวิบากวิญญาณทั้ง ๗ นั้นในปวัตติกาลได้ เหมือนกัน (แต่) ไม่เป็นในปฏิสนธิ ในรูปภพมันก็เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นแหละ แห่งวิบากวิญญาณ ๔ ในปวัตติกาล (แต่) ไม่เป็นในปฏิสนธิ ก็แต่ว่าความที่อบุญญาภิสังขารเป็นปัจจัยในรูปภพนั้น เป็นโดยได้เห็นรูปที่ ไม่น่าปรารถนาและได้ยินเสียงที่ไม่น่าปรารถนาในกามาวจรภพ เพราะว่าในพรหมโลก อันสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลายมีรูปที่ไม่น่าปรารถนา เป็นต้นหามีไม่ แม้ในกามาจรเทวโลกก็อย่างนั้น. ส่วนอเนญชาภิสังขาร เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิบากวิญญาณ ๔ ในอรูปภพ ทั้งในปวัตติกาลและในปฏิสนธิ สังขารเหล่านั้นเป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไร ด้วยอํานาจแห่งปฏิสนธิและปวัตติในภพทั้งหลาย และมันเป็นปัจจัยด้วยประการใด พึงทราบด้วยประการนั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน …เพราะเหตุนั้น บุญญาภิสังขารนั้นจึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้ว (คือเป็นนานาขณิกกรรมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย) นั่นแล แห่งวิบากวิญญาณ ๒๑ ในภพ ๒ กําเนิด ๔ คติ ๒ วิญญาณฐิติ ๔ และสัตตวาส ๔ เหล่านั้น ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตติกาล ตามที่มันเป็น ส่วนอบุญญาภิสังขาร ย่อมให้ผลโดย (ให้) ปฏิสนธิในกามภพๆ เดียวเท่านั้น ในกําเนิด ๔ นอกนั้นก็ในคติ ๓ ในวิญญาณฐิติเดียว (คือนานัตตกายเอกัตตสัญญี) และในสัตตวาสก็ (เดียว) เช่นนั้นเหมือนกัน เหตุใด เพราะเหตุนั้น อบุญญาภิสังขารนั่น จึงเป็นปัจจัย โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเหมือนกัน แห่งวิบากวิญญาณ ๗ ในภพเดียว ในกําเนิด ๔ ในคติ ๓ ในวิญญาณฐิติเดียว และในสัตตาวาสเดียว ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตติกาล ส่วนอเนญชาภิสังขาร ให้ผลโดย (ให้) ปฏิสนธิในอรูปภพๆ เดียวเท่านั้น ในกําเนิดโอปปาติกะกําเนิดเดียว ในเทวคติๆ เดียว ในวิญญาณฐิติ ๓ มีชั้นอากาสนัญจายตนะ เป็นต้น เหตุใด เพราะเหตุนั้น อเนญชาภิสังขารนั่น จึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน แห่งวิญญาณ ๔ ในภพเดียว กําเนิดเดียว คติเดียว วิญญาณฐิติ ๓ สัตตาวาส ๔ ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตตกาล แล

บัณฑิตพึงเข้าใจสังขารทั้งหลายนั่น (ว่า) เป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไรและอย่างไร ในแหล่งเกิดทั้งหลายมีภพเป็นต้น ด้วยอํานาจ (คือ หลักบังคับ) แห่งปฏิสนธิและปวัตติ โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เทอญ

นี่เป็นกถาอย่างพิศดารในบทว่า สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ

[โดยสรุป]

>>ปัจยธรรม

สังขาร หมายถึง ธรรมชาติที่มุ่งปรุงแต่งให้มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ได้แก่ บุญญาภิสังขาร อบุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ซึ่งตัวธรรมได้แก่ กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ฝ่ายโลกิยะ

>>ปัจจยุบันธรรม

วิญญาณ หมายถึง ธรรมที่รู้อารมณ์ ซึ่งในบทนี้ท่านกล่าวแสดงถึง วิบากวิญญาณ ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ ดวง

>>สรุปความเป็นปัจจัย

สังขาร (หมายถึง ธรรมชาติที่มุ่งปรุงแต่งให้มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ได้แก่ กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา) เป็นปัจจัย ๒ ประเภท แก่ วิญญาณ (หมายถึง วิบากจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ๓๒ ดวง เว้นผลจิต ๔ ดวง) ได้แก่

1. กัมมปัจจัย (โดยเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เท่านั้น)

2. อุปนิสสยปัจจัย (โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เท่านั้น)

ท่านกล่าวจำแนกวิญญาณโดยพิสดารโดยนัย ภพ ๓ เป็นต้น ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ดังต่อไปนี้

-> ปุญญาภิสังขาร เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่ วิญญาณ (วิบากจิต ๒๑ ดวง) ดังนี้

1. ฝ่าย (สุคติ) กามภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับกุศลกามาวจรจิต ๘ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต ๙ ดวงในปฏิสนธิกาล (ได้แก่ สเหตุกมหาวิบากจิต ๘ ดวง และอุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายกุศลวิบาก ๑)

- วิบากจิต ๗ ดวงในปวัตติกาล (ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาฆานวิญญาณ ๑ อุเบกขาชิวหาวิญญาณ ๑ สุขกายวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑ โสมนัสสันตีรณจิต ๑)

>> รวมเป็น วิบากจิต ๑๖ ดวง (ได้แก่ สเหตุกมหาวิบากจิต ๘ ดวง และ อเหตุกวิบากจิต ฝ่ายกุศล ๘ ดวง) ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล

2. ฝ่ายรูปภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับรูปฌานจิต ๕ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต ๕ ดวงในปฏิสนธิกาล (ได้แก่ สเหตุกรูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง)

- วิบากจิต ๕ ดวงในปวัตติกาล (ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑ อุเบกขาสันตีรณจิต ๑ โสมนัสสันตีรณจิต ๑)

>> รวมเป็น วิบากจิต ๑๐ ดวง (ได้แก่ สเหตุกรูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง และ อเหตุกวิบากจิต ฝ่ายกุศล ๕ ดวง ตัดการได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบกายออก) ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล

3. ฝ่าย (ทุคติ) กามภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับกุศลกามาวจรจิต ๘ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต ๘ ดวงในปวัตติกาล (ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาฆานวิญญาณ ๑ อุเบกขาชิวหาวิญญาณ ๑ สุขกายวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑ อุเบกขาสันตีรณจิต ๑ โสมนัสสันตีรณจิต ๑)

>>> รวมปัจยุบันธรรมทั้งหมดที่เกิดจากปุญญาภิสังขารเป็น กุศลวิบากจิต ๒๑ ดวง

- ๑๔ ดวง เกิดทั้งในปวัตติกาลและปฏิสนธิกาล หมายถึง สามารถเกิดเป็นปฏิสนธิจิต หรือภวังคจิตได้ ได้แก่ มหาวิบากจิต ๘ รูปาวจรวิบากจิต ๕ และโสมนัสสันตีรณจิต ๑

- ๗ ดวง เกิดเฉพาะในปวัตติกาล หมายถึง เกิดเป็นวิบากจิตในปัญจทวาร ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาฆานวิญญาณ ๑ อุเบกขาชิวหาวิญญาณ ๑ สุขกายวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑ โสมนัสสันตีรณจิต ๑

-> อปุญญาภิสังขาร เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่ วิญญาณ (วิบากจิต ๗ ดวง) ดังนี้

1. ฝ่าย (ทุคติ) กามภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต ๑ ดวงในปฏิสนธิกาล (ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑)

- วิบากจิต ๖ ดวงในปวัตติกาล (ได้แก่ อกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาฆานวิญญาณ ๑ อุเบกขาชิวหาวิญญาณ ๑ ทุกขกายวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑)

>> รวมเป็น วิบากจิต ๗ ดวง (ได้แก่ อเหตุกวิบากจิต ฝ่ายอกุศล ๗ ดวง) ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล

2. ฝ่าย (สุคติ) กามภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต ๗ ดวงในปวัตติกาล (ได้แก่ อกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาฆานวิญญาณ ๑ อุเบกขาชิวหาวิญญาณ ๑ ทุกขกายวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑ อุเบกขาสันตีรณจิต ๑)

3. ฝ่ายรูปภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต ๔ ดวงในปวัตติกาล (ได้แก่ อกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑ อุเบกขาโสตวิญญาณ ๑ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๑ อุเบกขาสันตีรณจิต ๑) เช่น สมัยที่พรหมบุคคลมาที่มนุษยโลก เป็นต้น

>>> รวมปัจยุบันธรรมทั้งหมดที่เกิดจากอปุญญาภิสังขารเป็น อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง

-> อเนญชาภิสังขาร เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่ วิญญาณ (วิบากจิต ๔ ดวง) ดังนี้

1. ฝ่ายอรูปภพ ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอรูปฌานจิต ๔ ดวง เป็นปัจจัย (๒ ประเภทข้างต้น) แก่

- วิบากจิต 4 ดวงในปฏิสนธิกาล (ได้แก่ สเหตุกะอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง) ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล (ซึ่งปวัตติกาล ก็หมายถึง ภวังคจิต ของอรูปพรหมนั่นเอง เพราะอรูปพรหม ไม่มีปัญจทวารวิถีจิต)

>>> รวมปัจยุบันธรรมทั้งหมดที่เกิดจากอเนญชาภิสังขารเป็น อรูปวิบากจิต ๔ ดวง

>>>> รวมปัจยุบันธรรมทั้งหมดที่เกิดจากอภิสังขารเป็น วิบากจิต ๓๒ ดวง (เว้น ๔ ดวง ที่เป็น ผลจิต ๔)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
thidajoy
วันที่ 16 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ