วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  15 ก.พ. 2564
หมายเลข  33734
อ่าน  1,016

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป [วิสุทธิมรรค]

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 336

วินิจฉัยในบท วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นี้ โดยสงเคราะห์ เข้า บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑ [โดยปัจจยนัย]

ส่วนในข้อว่า "โดยปัจจัยนัย" นั้น มีวินิจฉัยว่า

[คาถาสังเขป]

วิบากวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนาม ๙ อย่าง แห่ง วัตถุรูป (คือ หทัย) ก็ ๙ อย่าง แห่งรูปที่ เหลือ ๘ อย่าง อภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งรูปอย่างเดียว ส่วนวิญญาณนอกนั้น เป็นปัจจัยแห่งนามรูปนั้นๆ ตามควร

[ขยายความ]

จริงอยู่ นามที่นับว่าเป็นวิบาก ในปฏิสนธิกาลหรือในปวัตติกาล ก็ดีนั้นใด วิบากวิญญาณที่เป็นไปในปฏิสนธิกาลบ้าง อื่นบ้าง ย่อมเป็นปัจจัย ๙ อย่างโดยเป็นสหชาตปัจจัย อัญญมญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทรียปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งนามนั้น อันผสมกับรูปหรือมิได้ผสมก็ตาม เป็นปัจจัย ๙ อย่าง โดยเป็นสหชาต --- อัญญมัญญ ---- นิสสย ---- วิปาก ---- อาหาร ---- อินทรีย ---- วิปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย แห่งวัตถุรูปในปฏิสนธิกาล แต่เป็นปัจจัยโดยปัจจัยใน ๙ นี้ ชักอัญญมัญญปัจจัยออกเสีย เหลือ ๘ แห่งรูปที่เหลือเว้นวัตถุรูป ส่วนอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย อย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่งรูปอสัญญีสัตว์บ้าง แห่งกรรมชรูปในปัญจโวการภพบ้าง (ทั้งนี้) โดยปริยายทางพระสูตร วิญญาณที่เหลือทั้งหมดนับแต่ภวังค์ ดวงแรก พึงทราบว่าย่อมเป็นปัจจัย แห่งนามรูปนั้นๆ ตามควร อันจะแสดงปัจจัยนัยแห่งนามรูปนั้นโดย พิสดาร ก็จําต้องขยายปัฏฐานกถาทั้งหมด (คัมภีร์) เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ริวิตถารนัยนั้น ในความที่วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนามรูปนั้น หากมีคําถามว่า ก็ข้อที่ว่านามรูปในปฏิสนธิย่อมมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ นั่นจะพึง ทราบได้ อย่างไร? " ดังนี้ พึงแก้ว่า "ทราบได้โดยพระสูตรและโดย ยุติ (คือข้ออนุมานที่ ชอบด้วยเหตุ) จริงอยู่ ในพระสูตร ความที่ นามธรรมทั้งหลายมีเวทนา เป็นต้น มีวิญญาณเป็นปัจจัยเป็นส่วนมาก เป็นอันสําเร็จได้โดยนัยในพระสูตร เช่นว่า "จิตฺตานุปริวตฺติโน ธมฺมา - ธรรมทั้งหลายย่อมหมุนเวียน ไปตามจิต" ดังนี้ เป็นอาทิ ส่วนว่าโดยยุติ

[คาถาสังเขป]

ก็ข้อว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งรูปแม้ที่ (มอง) ไม่เห็น ย่อมสําเร็จได้โดยจิตตชรูปที่ (มอง) เห็น ได้ในโลกนี้

[ขยายความ]

ความว่า โดยนัยที่ว่า "เมื่อจิตผ่องใสหรือไม่ผ่องใส รูปอันเป็น ไปตามจิตนั้น เมื่อเกิดขึ้นเป็นรูปที่ (มอง) เห็นได้ และการอนุมานถึง รูปที่ (มอง) ไม่เห็น ก็มีได้โดยรูปที่ (มอง) เห็น" (ดัง) นี้ ข้อว่า "วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิรูปที่แม้ (มอง) ไม่เห็น" นั่นจึงทราบ ได้โดยจิตตชรูปที่ (มอง) เห็นได้ในโลกนี้ จริงอยู่ ความที่ แม้รูปที่มี กรรมเป็นสมุฏฐาน ก็มีวิญญาณเป็นปัจจัยได้ดังรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน มาในคัมภีร์ปัฏฐานแล วินิจฉัยในบทวิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นี้ โดยปัจจยนัย บัณฑิต พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑ แล นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามรูป ๓

[โดยสรุป]

>>ปัจจัยธรรม

วิญญาณ หมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่ที่รู้อารมณ์ ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ ดวง (ที่เป็นวิบากวิญญาณ) และท่านกล่าวถึงอวิบากวิญญาณ (ท่านกล่าวว่าเป็น อภิสังขารวิญญาณ ซี่งน่าจะหมายถึง วิญญาณที่ไม่ใช่วิบากจิต ที่ทำให้รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานของอสัญญีสัตว์เกิดขึ้น จากวิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 335)

>>ปัจจยุบันธรรม

นามรูป ได้แก่ รูป และ เจตสิก ประเภทต่าง โดยแบ่งเป็น ๒ คำ (จากวิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 329) ได้แก่

- นาม (ความจริงที่น้อมไปมุ่งหน้าต่ออารมณ์) นั้นได้แก่ “ขันธ์ ๓ (คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ หมายถึง เจตสิกใดๆ ใน ๕๐ ประเภทนั้น) ”

- รูป (ความจริงที่ไม่รู้อารมณ์) นั้นได้แก่ “มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้น)

ท่านยังจำแนกนามรูปในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล จำแนกตามกำเนิต ๔

>> ปฏิสนธิกาล

นามรูปในปฏิสนธิกาล คือ เจตสิก และกัมมัชรูปที่เกิดพร้อมกันกับปฏิสนธิจิต ท่านกล่าวยกตัวอย่างการกำเนิดมา ๓ ประเภท มีสัตว์ที่เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ และโอปปาติกะคือผุดเกิดทั้งตัว ไม่ได้พูดถึงพวกที่เกิดในเถ้าไคล แต่ก็พิจารณาตามได้จากหัวข้อที่แสดงเช่นเดียวกัน ดังนี้ ได้แก่

1. สัตว์ที่เกิดในครรภ์และสัตว์ที่เกิดในไข่ที่ขณะที่เกิดที่ยังไม่ได้มีเพศ หรือ ภาวรูป นามรูปในปฏิสนธิกาลจะประกอบไปด้วย

- ธรรม ๒๓ โดยนับธรรมตาม นัยของรูปกลาปที่เป็นมูลแห่งการสืบต่อ (สันตตีสีสะ) ได้แก่ วัตถุทสกะ ๑๐ กายทสกะ ๑๐ (รวมเป็นธรรม ๒๐ โดยรูปรูป หรือรูปที่สำเร็จแล้ว) และ นามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑

- ธรรม ๑๔ นับแบบละเอียด (เอารูปที่ซ้ำกันออก) ได้แก่ อวินิพโภครูป (รูปที่แยกกันไม่ได้ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา) ๘ ชีวิตรูป ๑ หทยรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ และ นามขันธ์ ๓

2. สัตว์ที่เกิดในครรภ์และสัตว์ที่เกิดในไข่ที่มีเพศแล้ว หรือ มีภาวรูปเกิดแล้ว นามรูปในปฏิสนธิกาลจะประกอบไปด้วย

- ธรรม ๓๓ โดยนับธรรมตาม นัยของสันตตีสีสะ ได้แก่ วัตถุทสกะ ๑๐ กายทสกะ ๑๐ ภาวทสกะ ๑๐ (รวมเป็นรูป ๓๐) และ นาม ๓ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑

- ธรรม ๑๕ โดยนับแบบละเอียด ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ชีวิตรูป ๑ หทยรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ ภาวรูป ๑ (แล้วแต่ว่าเป็นชายหรือหญิง) และ นามขันธ์ ๓

3. สัตว์ที่เกิดที่ผุดเป็นตัว พวกรูปพรหม นามรูปในปฏิสนธิกาลจะประกอบไปด้วย

- ธรรม ๔๒ โดยนับธรรมตาม นัยของสันตตีสีสะ ได้แก่ จักขุทสกะ ๑๐ โสตทสกะ ๑๐ วัตถุทสกะ ๑๐ ชีวิตินทริยนวกะ ๙ (เพราะพรหมไม่มีเพศ) (รวมเป็นรูป ๓๙) และ นาม ๓ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑

- ธรรม ๑๕ โดยนับแบบละเอียด ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ จักขุรูป ๑ โสตรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ หทยรูป ๑ (แล้วแต่ว่าเป็นชายหรือหญิง) และ นามขันธ์ ๓

4. สัตว์ที่เกิดที่ผุดเป็นตัว พวกเทวดา นามรูปในปฏิสนธิกาลจะประกอบไปด้วย

- ธรรม ๗๓ โดยนับธรรมตาม นัยของสันตตีสีสะ ได้แก่ จักขุทสกะ ๑๐ โสตทสกะ ๑๐ ฆานทสกะ ๑๐ ชิวหาทสกะ ๑๐ กายะทสกะ ๑๐ วัตถุทสกะ ๑๐ ภาวทสกะ ๑๐ (รวมเป็นรูป ๗๐) และ นาม ๓ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑

- ธรรม ๑๙ โดยนับแบบละเอียด ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ จักขุรูป ๑ โสตรูป ๑ ฆานะรูป ๑ ชิวหารูป ๑ กายรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ หทยรูป ๑ ภาวรูป ๑ (แล้วแต่ว่าเป็นชายหรือหญิง) และ นามขันธ์ ๓

5. สัตว์ที่เกิดที่เป็น อรูปพรหม มีแต่นาม ไม่มีรูป และนามรูปในปฏิสนธิกาลจะประกอบไปด้วย

- ธรรม ๓ คือ นามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑

6. สัตว์ที่เกิดที่เป็น อสัญญีพรหม มีแต่รูป ไม่มีนาม และนามรูปในปฏิสนธิกาลจะประกอบไปด้วย

- ธรรม ๙ คือ นับแบบสันตตีสีสะ คือ ชีวิตินทริยนวกะ ๙

- นับโดยละเอียด ได้รูป ๙ คือ อวินิพโภครูป ๘ ชีวิตรูป ๑

ส่วนผู้พิการประเภทใด นามรูปนั้นก็จะนับลดไปแล้วแต่กรณีนั้นๆ

>> ปวัตติกาล

- นาม ๓ ย่อมเกิดพร้อมดับพร้อมกับจิตต่างๆ ต่อมาจากปฏิสนธิจิต มีวิบากนาม และอวิบากนาม เป็นต้น

- อุตุชรูป (รูปอันเกิดแต่ธาตุไฟ คือ ร้อน หรือเย็น) ได้แก่ สุทธัฏฐกรูป (กลุ่มรูปที่มีเพียง อวินิพโภครูป ๘ เท่านั้น) เกิดขึ้นครั้งแรกในฐีติขณะของปฏิสนธิจิต และเกิดขึ้นทุกๆ อนุขณะของจิตต่อจากนั้น

- อุตุชรูปและจิตตชรูป ได้แก่ กลุ่มรูปเสียง หรือ สัททนวกะ ๙ (หมายถึง เสียงดิ้น ไม่ใช่เสียงพูด) เกิดขึ้นพร้อมกับ ภวังคจิตดวงแรก (เป็นครั้งแรกที่ จิตตชรูปเกิด) เกิดขึ้นต่อๆ มา แต่เกิดไม่ได้ในทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปวิบากจิต ๔ จุติจิตของพระอรหันต์ ๑

- อาหารรูป ได้แก่ สุทธัฏฐกรูป (อวินิพโภครูป ๘) เกิดขึ้นเมื่อ สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ และมารดากลืนกินอาหารซึมซาบเข้าไป อาหารก็จะไปปรากฏในร่างกายของสัตว์เหล่านั้น ส่วนสัตว์ที่ผุดเกิดเป็นโอปปาติกะ อาหารรูปเกิดขึ้นเมื่อมีการกลืนน้ำลายในปากตนครั้งแรก

>>> โดยรวมนามรูป (ที่เป็นปัจยุบันธรรมที่เกิดขึ้นจากวิบากจิต ๓๒) ทั้งปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลนั้น ได้แก่

- ธรรม ๙๙ (นับตามกลุ่มของรูป) ได้แก่ รูปเกิดแต่กรรม ๗๐ (ซึ่งเกิดขึ้นในทุกอนุขณะของจิต ๓ ขณะ) สัททนวก ๙ จากจิต สัททนวก ๙ จากอุตุ สุทธัฏฐกรูป ๘ จากอาหาร และ นาม ๓

- หรือ ธรรม ๙๗ กรณีที่บางครั้งเสียงไม่เกิดขึ้น (เอาสัททรูปออก ๒ จาก ธรรม ๙๙)

- ถ้านับแบบละเอียด ก็คือ ธรรม ๒๐ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ หทยวัตถุ ๑ ภาวะรูป ๑ จักขุ ๑ โสตะ ๑ ฆานะ ๑ ชิวหา ๑ กาย ๑ ชีวิต ๑ สัททะ ๑ นาม ๓

- โดยรูปเกิดแต่กรรมเกิดก่อน รูปที่เกิดแต่ฤดู (อุตุ) เกิดตามมา และจึงมีรูปที่เกิดจากจิต และอาหารตามมา หากไม่มีรูปทั้ง ๓ ที่เกิดจาก ฤดู จิต อาหาร อุปถัมภ์แล้ว กรรมชรูปก็ตั้งทนอยู่ไม่ได้นาน และหากรูปทั้ง ๓ ไม่มีกรรมชรูปอุปถัมภ์แล้ว ก็ตั้งอยู่ไม่ได้นานเหมือนกัน เพราะรูปทั้ง ๔ สมุฏฐานต่างอุปถัมภ์กันและกัน สัตว์นั้นจึงตั้งอยู่ได้นานตราบชั่วอายุ จนกระทั่งสิ้นบุญของสัตว์นั้น

>> สรุปความเป็นปัจจัย

-วิญญาณ เป็นปัจจัยแก่ นามรูป โดยจำแนกตามกาล (คือ ปฏิสนธิกาล และ ปวัตติกาล) และตามกำเนิดสัตว์บ้าง

- วิบากวิญญาณ (ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ ประเภท ทั้งสเหตุกวิบาก และอเหตุกวิบาก) เป็นปัจจัย ๙ ประเภท แก่ นาม (นามขันธ์ ๓) ทั้งในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล ในสัตว์ทุกประเภทเว้นอสัญญีสัตว์ ได้แก่

1. สหชาตปัจจัย (วิบากจิตเป็นปัจจัยเกิดพร้อมกันกับเจตสิก)

2. อัญญมัญญปัจจัย (จิตและเจตสิกอาศัยกันและกันเกิด)

3. นิสสยปัจจัย (เป็นที่อาศัย เจตสิกเกิดต้องอาศัยวิบากจิตเกิด)

4. สัมปยุตปัจจัย (เป็นธรรมที่ประกอบกัน เจตสิก เกิดพร้อมดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต)

5. วิปากปัจจัย (วิบากจิต เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากเจตสิก)

6. อาหารปัจจัย (จิตเป็นวิญญาณาหาร แก่เจตสิก)

7. อินทรียปัจจัย (จิตเป็นมนินทรีย์ ให้เจตสิกเกิด เพราะมีวิบากจิตเป็นใหญ่ เจตสิกจึงเกิดได้)

8. อัตถิปัจจัย (วิบากจิตนั้น เพราะมีอยู่จึงอุดหนุดให้เจตสิกเกิดขึ้นได้)

9. อวิคตปัจจัย (วิบากจิตนั้น เพราะยังไม่ได้ดับไปจึงอุดหนุดให้เจตสิกเกิดขึ้นได้)

- วิบากวิญญาณ (ได้แก่ วิบากจิต ๑๙ ดวง ดวงใดที่ทำให้ปฏิสนธิ ได้แก่ สันตีรณจิต ๒ มหาวิบากจิต ๘ รูปฌานวิบากจิต ๕ อรูปฌานวิบากจิต ๔) เป็นปัจจัย ๘ ประเภท แก่ รูป (กล่าวตามหมวดของรูปที่เกิดเพราะกรรม มีรูป ๒๐, ๓๐, ๓๙, ๗๐ เป็นต้น ตามกำเนิดของสัตว์แต่ละประเภท ถ้าเป็นมนุษย์เกิดในครรภ์มีเพศแล้ว ก็เป็น รูป ๓๐ ได้แก่ วัตถุทสกะ ๑๐ กายทสกะ ๑๐ ภาวทสกะ ๑๐ เป็นต้น) ในปฏิสนธิกาล ได้แก่

1. สหชาตปัจจัย (วิบากจิตเป็นปัจจัยเกิดพร้อมกันกับรูปที่ปฏิสนธิ)

2. นิสสยปัจจัย (เป็นที่อาศัย รูปที่ปฏิสนธิต้องอาศัยวิบากจิตเกิด)

3. วิปยุตปัจจัย (รูปที่ปฏิสนธิเกิดเพราะวิบากจิตเป็นปัจจัยโดยวิปยุตปัจจัย)

4. วิปากปัจจัย (วิบากจิต เป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่ปฏิสนธิ)

5. อาหารปัจจัย (จิตเป็นวิญญาณาหาร แก่รูปที่ปฏิสนธิ)

6. อินทรียปัจจัย (จิตเป็นมนินทรีย์ ให้รูปที่ปฏิสนธิ)

7. อัตถิปัจจัย (วิบากจิตนั้น เพราะมีอยู่จึงอุดหนุดให้รูปที่ปฏิสนธิเกิดขึ้นได้)

8. อวิคตปัจจัย (วิบากจิตนั้น เพราะยังไม่ได้ดับไปจึงอุดหนุดให้รูปที่ปฏิสนธิเกิดขึ้นได้)

- เฉพาะ หทยรูป ๑ ในปฏิสนธิกาล ที่มี ๙ ปัจจัย เพิ่ม อัญญมัญญปัจจัย (ทั้งวิบากปฏิสนธิจิต และ หทยรูป ต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดได้) ด้วย

- อวิบากวิญญาณ หรือ อภิสังขารวิญญาณ (ซึ่งจะเป็น เจตนาที่เกิดกับรูปฌานจิต ๑ หรือ เป็นรูปฌานจิตที่สัมปยุตต์ด้วยเจตนานั้น ขอให้ท่านได้พิจารณาดู) เป็น ปัจจัย ๑ ประเภท แก่ รูปของอสัญญีพรหม (ชีวิตนวกะ ๙) หรือ กรรมชรูป ในบุคคลที่มีขันธ์ ๕ บ้าง ได้แก่

1. อุปนิสสยปัจจัย (ฉบับแปลไทยและอังกฤษ แปลตรงกันว่าเป็นอุปนิสสยปัจจัย แต่ก็ขอให้พิจารณาดูว่าปัจจัยนี้ให้ผลเป็นรูปได้ไหม โดยส่วนตัว เข้าใจว่าถ้าอภิสังขารวิญญาณหมายถึง เจตนา ก็ควรจะเป็นนานาขนิกกรรมปัจจัย แก่กรรมชรูป ถูกผิดประการใด ขอให้ผู้อ่านพิจารณาด้วย)

- ท่านกล่าวว่าถ้าจะอธิบายเรื่องวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูปโดยพิสดารตั้งแต่ ภวังคจิต เป็นต้นไป จำเป็นต้องอธิบายคัมภีร์ปัฏฐาน ทั้งหมด (ซึ่งยาวเกินขอบเขตจึงไม่ยกมา)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ