สฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  18 ก.พ. 2564
หมายเลข  33749
อ่าน  1,969

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 348

สฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ

[คาถาสังเขป]

โดยสังเขป ผัสสะก็มี ๖ เท่านั้น มี จักขุสัมผัสเป็นต้น (แต่) โดยพิสดาร มันมีถึง ๓๒ ดุจวิญญาณ

[ขยายความ]

ความว่า โดยสังเขป ผัสสะ ในบทว่าสฬายตนปจฺจยา ผสฺโส ก็มี ๖ เท่านั้นมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเหล่านี้ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส แต่ว่าโดยพิสดาร ผัสสะ มีจักขุสัมผัสเป็นต้นทั้งหมด มีถึง ๓๒ ดุจวิญญาณที่กล่าวแล้ว ซึ่งมีเพราะสังขารปัจจัย ดังนี้ คือ ผัสสะ ๑๐ คือเป็นกุศลวิบาก ๕ อกุศลวิบาก ๕ และผัสสะ ๒๒ อันสัมปยุตกับวิบากวิญญาณฝ่ายโลกิยะ ๒๒ ที่เหลือ

ก็แลสฬายตนะอันเป็นปัจจัยแห่งผัสสะทั้ง ๓๒ อย่างนั้นใด ใน สฬายตนะนั้น

[คาถาสังเขปวาทะของอาจารย์]

อาจารย์ผู้มีปัญญาทั้งหลายปรารถนาเอา สฬายตนะภายในมีจักษุเป็นต้นกับฉัฏฐายตนะ บ้าง ปรารถนาเอาสฬายตนะกับอายตนะ ภายนอก ๖ บ้าง

[ขยายความ]

ในอาจารย์ทั้งหลายนั้น อันดับแรก อาจารย์ เหล่าใดชี้ เอาธรรมที่เนื่องด้วยสิ่งที่มีสันตติประจําตัว ที่เป็นทั้งปัจจัยธรรม และเปนปัจจยุบันธรรมด้วยทีเดียว ด้วยหมายว่า นี่เป็นการกล่าวถึงความเป็นไปแห่งสิ่ง ที่เป็นอุปาทินนกะ อาจารย์ เหล่านั้นย่อมปรารถนาเอาว่า สฬายตนะ ภายในมีจักขุเป็นต้น กับฉัฏฐายตนะ โดยทําเอกเทศสรูปเปกเศษว่า "ฉัฏฐายตนะในอรูปภพโดยทํานองบาลีว่า 'ฉัฏฐายตนะปจฺจยา ผสฺโส๑ – ผัสสะมีเพราะปัจจัยคือฉัฏฐายตนะ" กระนี้ด้วย สฬายตนะในภพอื่น โดยสรรพสังคหะ (รวมเข้าด้วยกันหมด) ด้วย เป็นปัจจัยแห่งผัสสะ" ดังนี้ อันที่จริง คําดังว่านั้น ก็เท่ากับ (วิเคราะห์ เอกเศษ) ว่า "ฉัฏฐายตนฺจ สฬายตนญฺจ สฬายตนํ - ฉัฏฐายตนะ (อายตนะที่ ๖) ด้วย สฬายตนะ (อายตนะ ๖) ด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" นั่นเอง

ส่วนอาจารย เหล่าใด ชี้เอาธรรมที่ เนื่องด้วยสิ่งที่เป็นเอกสันตติ (สันตติอันเดียว) ซึ่งเป็นปัจจยุบันธรรมเท่านั้น แต่แสดงปัจจยธรรม เป็นพวกภินนสันดาน (คือมีสันตติแตกต่างกันไม่เนื่องกัน) ๒ อาจารย์ เหล่านั้น อายตนะใดๆ เป็นปัจจัยแห่งผัสสะได้ จะแสดงเอาอายตนะ นั้น (ๆ) ทั้งหมด จึงกําหนดเอาอายตนะภายนอกด้วย ปรารถนาเอา ว่า อายตนะภายในกับฉัฏฐายตนะนั้นแหละ พร้อมทั้งอาตนะภายนอกมีรูปายตนะ เป็นต้นด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" ดังนี้ ที่จริงแม้คํา ที่ว่านั้น เมื่อทํามันให้เป็นเอกเศษเสียว่า "ฉัฏฐายตนญฺจ สฬายตนญฺจ สฬายตนํ – ฉัฏฐายตนะด้วย สฬายตนะด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" ฉะนี้แล้ว ก็เรียกได้ว่า 'สฬายตนะ' เหมือนกัน๑

ในข้อนี้ (มี) ผู้ท้วงกล่าวว่า "ผัสสะอันเดียวหาเกิดแต่อายตนะ ทุกอย่างได้ไม่ ทั้งผัสสะทุกอย่างก็ หาเกิดแต่อายตนะอันเดียวได้ไม่ แต่ ผัสสะในปาฐะว่า 'สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส' นี้ ตรัสไว้ แต่อันเดียว ไฉนจึงตรัสผัสสะนั้นแต่อันเดียวเล่า?

นี่เป็นคําแก้ ในข้อนั้น คือที่ว่าผัสสะอันเดียวเกิดแต่อายตนะทุก อย่างไม่ได้ หรือว่าผัสสะทุกอย่างเกิดแต่อายตนะอันเดียวก็ไม่ได้ นั่น จริง แต่ว่าผัสสะอันเดียวย่อมเกิดแต่อายตนะหลายอย่างได้ เช่นจักขุ สัมผัสย่อมเกิดแต่จักขายตนะ (กับ) แต่รูปายตนะ แต่มนายตนะกล่าว คือจักขุวิญญาณ และแต่ธรรมายตนะอันเป็นสัมปยุตธรรมที่ เหลือ (ร่วม กัน) เป็นอาทิ บัณฑิตพึงประกอบความตามควรในผัสสะ (ข้ออื่น) ทุกข้อดังนิทัศนะที่ กล่าวนี้ เถิด ก็เพราะเหตุนั้นแหละ

ผัสสะนี้ในบท สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส นี่ พระตาทีเจ้าจึงทรงแสดง โดยเอกวจนนิเทศเพื่อส่องความว่า ผัสสะแม้อันเดียว มีอายตนะหลายอย่างเป็นแดนเกิดได้

คําว่า "โดยเอกวจนะนิเทศ" เป็นต้น ความว่า พระตาทีเจ้าทรง แสดงพระพุทธาธิบายว่า 'ผัสสะอันเดียวย่อมมีเพราะอายตนะหลายอย่าง ได้' โดยแสดงออกด้วยคําเป็นเอกพจน์นี้ว่า 'สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส'

ส่วนว่า ในอายตนะทั้งหลาย

บัณฑิตพึงชี้ แจงอายตนะ ๕ ในความเป็น ปัจจัยแห่งผัสสะนั้น ๖ อย่าง พึงชี้แจงอายตนะ ๑ ถัดอายตนะ ๕ นั้นไป ในความเป็น ปัจจัยแห่งผัสสะนั้น ๙ อย่าง พึงชี้แจง อายตนะภายนอก ๖ ในความเป็นปัจจัย แห่งผัสสะนั้นตามที่มันเป็น

(ต่อไป) นี้เป็นคําชี้แจงในความที่อายตนะเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้น อันดับแรก อายตนะ (ภายใน) ๕ มีจักขายตนะเป็นต้น เป็น ปัจจัย ๖ อย่าง โดยเป็นนิสสย ---- ปุเรชาต ---- อินทริย ---- วิปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัยแห่งผัสสะ ๕ อย่าง โดยแยกเป็นจักขุสัมผัสเป็นต้น อายตนะ ๑ ถัดอายตนะ ๕ นั้นไปคือมนายตนะอันเป็นวิบาก เป็นปัจจัย ๙ อย่างโดยเป็นสหชาต ---- อัญญมัญญ ---- นิสสย ---- วิปาก ---- อาหาร ---- อินทริย ----สัมปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย แห่งมโนสัมผัสที่เป็นวิบากหลายประเภท ส่วนในอายตนะภายนอกทั้งหลาย รูปายตนะเป็นปัจจัย ๔ อย่าง โดยเป็นอารัมมณะ ---- ปุเรชาต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัยแห่งจักขุสัมผัส อายตนะที่เหลือมีสัททายตนะเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแห่งผัสสะที่เหลือมี โสตสัมผัสเป็นอาทิโดยนัยเดียวกันนั้น แต่สําหรับมโนสัมผัส มีอายตนะ เหล่านั้นด้วย ธรรมารมณ์ด้วยเป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจัยนัยเดียวกันนั้น และโดยเพียงแต่เป็นอารัมมณปัจจัยเท่านั้นด้วย บัณฑิตพึงชี้แจง อายตนะภายนอก ๖ ในความเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้นตามที่มันเป็น (มี เป็นอารัมมณปัจจัยเป็นต้น) โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ และนี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส

[สรุปความ]

>>ปัจจัยธรรม

- สฬายตนะ หมายถึง อายตนะ ๖ เป็นสภาพธรรม ซึ่งประชุมกัน เพื่อรู้ในอารมณ์ ที่เกิดขึ้นจากทวารทั้ง ๖ ท่านจำแนกตามกำลังที่ ตัณหาและทิฏฐิเข้าไปติดข้อง และยึดถือมาก เป็นอายตนะภายใน และ อายตนะภายนอก ดังนี้

1. อายตนะภายใน ๖ เป็นทั้งรูปธรรม และอรูปธรรมที่ตัณหาเข้าไปยึดถือมาก ได้แก่

-จักขายตนะ ๑ (จักขุปสาทรูป ๑)

-โสตายตนะ ๑ (โสตปสาทรูป ๑)

-ฆานายตนะ ๑ (ฆานปสาทรูป ๑)

-ชิวหายตนะ ๑ (ชิวหาปสาทรูป ๑)

-กายายตนะ ๑ (กายปสาทรูป ๑)

-มนายตนะ ๑ (จิต ๘๙ แต่ ณ ที่นี้และนัยของปฏิจสมุปบาทที่แสดงอยู่นี้เข้าใจว่า หมายถึง วิบากจิต ๓๒)

สามารถพิจารณาได้ว่าสิ่งใดรักมากติดข้องมาก ระหว่างสมบัติภายนอก หรืออวัยวะร่างกายภายใน และ ส่วนของนามธรรมที่เกิดขึ้นทุกครั้ง แม้เจตสิกเกิดกี่ประเภท ก็ขาดจิตไม่ได้เลย

2. อายตนะภายนอก ๖ เป็นทั้งรูปธรรม และอรูปธรรม ได้แก่

-รูปายตนะ (รูป ๑)

-สัททายตนะ (เสียง ๑)

-คันธายตนะ (กลิ่น ๑)

-รสายตนะ (รส ๑)

-โผฏฐัพายตนะ (ดิน ๑ ไฟ ๑ ลม ๑)

-ธรรมายตนะ (สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน ๑ แต่ ณ ที่แสดงอยู่นี้ เข้าใจว่าท่านหมายถึง เจตสิกที่สัมปยุตต์กับวิบากจิต ๓๒ เว้นผัสสะ ๑ ที่เป็นปัจจยุบันธรรม) ซึ่งอาจารย์บางพวกท่านแสดงว่า อายตนะที่เป็นปัจจยุบันธรรมอันเกิดจากนามรูปเป็นปัจจัย จะมีเพียงอายตนะภายในเท่านั้น ส่วนที่เป็นปัจจัยท่านจึงแสดงเฉพาะอายตนะภายใน และท่านไม่นำอายตนะภายนอกมาแสดง แต่อาจารย์บางพวกเมื่อพิจารณาโดยความที่อายตนะเป็นปัจจัยแก่ ผัสสะ แล้ว ก็ไม่ได้มีเพียงเฉพาะอายตนะภายในเท่านั้น ก็ควรที่จะยกมาแสดงให้หมดด้วยทั้งอายตนะภายในและภายนอกด้วย

- อายตนะหลายๆ ประเภทประชุมกัน เป็นปัจจัยแก่ ผัสสะได้เพียง ๑ ประเภท โดยผัสสะ ๒ ประเภทเกิดพร้อมกันไม่ได้ หมายถึง เห็นเกิดพร้อมได้ยินไม่ได้ ท่านแสดงว่า จักขุสัมผัส (ผัสสเจตสิกที่เกิดพร้อมกับการเห็น หรือจักขุวิญญาณจิต) จะเกิดขึ้นโดยมี การประชุมกันของ จักขายตนะ ๑ (ตา) รูปายตนะ ๑ (สิ่งที่ปรากฏทางตา) มนายตนะ ๑ (คือ จักขุวิญญาณ) และ ธรรมายตนะ (เจตสิกที่สัมปยุตต์กับจักขุวิญญาณนั้น) และนัยอื่นๆ เช่น โสตสัมผัส ก็เช่นเดียวกัน

>> ปัจจยุบันธรรม

- ผัสสะ หมายถึง สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ที่เกิดขึ้นจากทวารทั้ง ๖ (ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ) จำแนกความละเอียดได้ดังนี้

1. ผัสสะ ๖ หมายถึง ผัสสเจตสิก ชาติวิบาก ที่จำแนกทางทวารทั้ง ๖ ได้แก่

-จักขุสัมผัส (ผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ ๒ ดวง วิบากฝ่ายดี และไม่ดี)

-โสตสัมผัส (ผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสตวิญญาณ ๒ ดวง)

-ฆานสัมผัส (ผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับฆานวิญญาณ ๒ ดวง)

-ชิวหาสัมผัส (ผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง)

-กายสัมผัส (ผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณ ๒ ดวง)

-มโนสัมผัส (ผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโลกียวิบากจิตที่เหลือ ๒๒ ดวง)

2. ผัสสเจตสิก ๓๒ หมายถึง ผัสสเจตสิก ชาติวิบาก ที่เกิดกับ วิบากจิตทั้ง ๓๒ ประเภท ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และโลกียวิบากจิตที่เหลืออีก ๒๒ ดวง เว้น ผลจิต ๔ ดวง

>> สรุปโดยความเป็นปัจจัย

- อายตนะภายใน ๕ (จักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฯลฯ กายปสาทรูป ๑) เป็นปัจจัย ๖ ประเภท แก่ ผัสสะ ๕ (จักขุสัมผัส ๑ โสตสัมผัส ๑ ฯลฯ กายสัมผัส ๑) ได้แก่

1. นิสสยปัจจัย เช่น จักขุปสาทรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เป็นต้น

2. ปุเรชาตปัจจัย เช่น จักขุปสาทรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เป็นต้น

3. อินทรียปัจจัย เช่น จักขุปสาทรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นปุเรชาตอินทรียปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เป็นต้น

4. วิปยุตปัจจัย เช่น จักขุปสาทรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตวิปยุตปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เป็นต้น

5. อัตถิปัจจัย เช่น จักขุปสาทรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตตัตถิปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เป็นต้น

6. อวิคตปัจจัย เช่น จักขุปสาทรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เป็นต้น

- อายตนะภายในที่ ๖ (เข้าใจว่า เป็น วิบากจิต ๒๒ เว้น ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐) เป็นปัจจัย ๖ ประเภท แก่ ผัสสะที่ ๖ (มโนสัมผัส ๑ ที่เกิดร่วมกับวิบากจิต ๒๒) ได้แก่

1. สหชาตปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมให้แก่มโนสัมผัส

2. อัญญมัญญปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตและมโนสัมผัสอาศัยกันและกันเกิดพร้อมกัน

3. นิสสยปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นสหชาตนิสสยปัจจัยแก่มโนสัมผัส

4. วิปากปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นวิปากปัจจัยแก่มโนสัมผัส

5. อาหารปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นวิญญาณาหารแก่มโนสัมผัส

6. อินทรียปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นสหชาตินทรีย์แก่มโนสัมผัส

7. สัมปยุตปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันรู้อารมณ์เดียวกันกับมโนสัมผัส

8. อัตถิปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่มโนสัมผัส

9. อวิคตปัจจัย เช่น สัณตีรณจิตเป็นสหชาตอวิคตปัจจัยแก่มโนสัมผัส

- อายตนะภายนอก ๕ (รูปายตนะ ๑ สัททายตนะ ๑ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะ ๑ ซึ่งอาจเป็นรูปดิน หรือรูปไฟ หรือรูปลม ซึ่งรู้ได้ครั้งละรูปเท่านั้น) เป็นปัจจัย ๔ ประเภท แก่ ผัสสะ ๕ (จักขุสัมผัส ๑ โสตสัมผัส ๑ ฯลฯ กายสัมผัส ๑) ตามลำดับแต่ละทวาร ปะปนกันไม่ได้ เช่น โสตสัมผัสรู้โผฏฐัพพายตนะไม่ได้ เป็นต้น ได้แก่

1. อารัมณปัจจัย เช่น รูปายตนะ หรือวัณณรูปทางตาเป็นอารมณปัจจัยแก่จักขุสัมผัส

2.ปุเรชาตปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นรูปที่สำเร็จแล้ว (นิปผันนรูป) เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัยแก่จักขุสัมผัส

3. อัตถิปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นอารัมณปุเรชาตัตถิปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เมื่อวัณณรูปนั้นยังมี

4. อวิคตปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นอารัมณปุเรชาตอวิคตปัจจัยแก่จักขุสัมผัส เมื่อวัณณรูปนั้นยังไม่ดับไป

- อายตนะภายนอก ๕ (รูปายตนะ ๑ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะ ๑) เป็นปัจจัยข้างต้น ๔ ประเภท แก่ ผัสสะที่ ๖ (มโนสัมผัส ต่างๆ) ได้แก่

1. อารัมณปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นอารมณปัจจัยแก่มโนสัมผัสทางจักขุทวารและมโนทวารแรกที่ต่อจากจักขุทวารนั้น เป็นต้น

2. ปุเรชาตปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นรูปที่สำเร็จแล้ว (นิปผันนรูป) เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัยแก่มโนสัมผัสทางจักขุทวาร เป็นต้น

3. อัตถิปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นอารัมณปุเรชาตัตถิปัจจัยแก่มโนสัมผัสทางจักขุทวาร เป็นต้น

4. อวิคตปัจจัย เช่น วัณณรูปทางตาเป็นอารัมณปุเรชาตอวิคตปัจจัยแก่มโนสัมผัสทางจักขุทวาร เป็นต้น

- ธรรมารมณ์ทั้งหลาย (อารมณ์ทุกอย่างที่ไม่ใช่ รูปายตนะ ๑ สัททายตนะ ๑ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะ ๑) เป็นปัจจัย ๑ ประเภท แก่ ผัสสะที่ ๖ (มโนสัมผัส ต่างๆ) ได้แก่

1. อารัมณปัจจัย เช่น ธรรมารมณ์นั้นเป็นอารมณปัจจัยแก่มโนสัมผัส เป็นต้น ในพระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ ข้อ ๔๘๙ แสดงว่า "พระเสขบุคคลหรือปุถุชนก็ตาม พิจารณาเห็นแจ้งซึ่งกุศล โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อกุศลดับไปแล้วตทารัมมณจิตอันเป็นวิบากย่อมเกิดขึ้น" มีกรณีเช่นนี้ เป็นต้น (ท่านผู้สนใจกรณีอื่นๆ สามารถศึกษาคัมภีร์ปัฏฐานได้)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ