[คำที่ ๔๙๗] วฑฺเฒตพฺพ

 
Sudhipong.U
วันที่  27 ก.พ. 2564
หมายเลข  33795
อ่าน  1,017

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "วฑฺเฒตพฺพ"

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

วฑฺเฒตพฺพ อ่านตามภาษาบาลีว่า วัด - เด - ตับ - พะ แปลว่า สิ่งที่ควรให้เจริญขึ้น เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น ให้เพิ่มพูนขึ้นนั้น ต้องไม่ใช่ความชั่วหรืออกุศลทั้งหลายทั้งปวงเป็นแน่ แต่ต้องเป็นความดีเท่านั้น เพราะเหตุว่า ชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรพอได้แล้วสำหรับอกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรสะสม แต่ทั้งหมด เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของความดีก็จะไม่ละเลยโอกาสของความดี ไม่ว่าจะเป็นความดีประเภทใดก็ตาม เพราะเมื่อสะสมความดี หรือ กุศล บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งสกปรกคืออกุศล ออกไปทีละเล็กทีละน้อยได้ ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

“ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย ทำกุศลอยู่คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ ย่อมนำมลทิน คือ อกุศล ของตน ออกโดยลำดับทีเดียว”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจของตนเอง การขัดเกลากิเลสนั้น ต่างกับการทำความสะอาดวัตถุสิ่งของ เพราะเหตุว่าการขัดเกลากิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ต้องอาศัยการเจริญกุศลคือทำดีทุกประการบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นความดีประเภทใดก็ตาม ทั้งทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ศีล การเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ พร้อมทั้งประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และ ภาวนา การอบรมเจริญปัญญา ตราบใดที่ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสทั้งปวงถึงความเป็นพระอรหันต์ได้นั้น จะขาดการสะสมความดีประการต่างๆ และการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้เลย เพราะดีแค่ไหนก็ยังไม่พอจนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตทุกระดับขั้นที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เพราะได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานทั้งนั้น

พระธรรมย่อมเกื้อกูลให้เข้าใจว่า ไม่ควรที่จะประมาทในทุกขณะจิต เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิดว่าตนเองได้ทำกุศลมากแล้ว แต่ระยะเวลาที่กำลังทำกุศลนั้น เป็นเพราะศรัทธา (ความผ่องใส) ก็ดี หิริ (ความละอายต่ออกุศล) ก็ดี โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) ก็ดี เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีทั้งหมด ยังไม่เสื่อมไป ยังไม่หายไป แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสของอกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นเลย เนื่อง จากว่าเมื่อใดที่ศรัทธา เป็นต้น เสื่อมไปหายไป ไม่เกิดขึ้น ความไม่มีศรัทธา ความไม่มีหิริ ความไม่มีโอตตัปปะ ซึ่งเป็นอกุศลธรรม ย่อมกลุ้มรุมจิต เมื่อนั้นก็เป็นการถึงพร้อมด้วยอกุศล อกุศลย่อมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด สังเกตเห็นความไม่มีศรัทธา ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวต่ออกุศลได้เลย ในทางตรงกันข้าม ขณะที่เป็นกุศล ก็ย่อมมีธรรมฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามความเป็นจริงของธรรมที่ใครๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

นี่แสดงให้เห็นถึงขณะจิตที่สลับกันอย่างรวดเร็วมาก แม้แต่ในเรื่องของปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก บางขณะก็เกิดขึ้น แต่ว่าหลังจากนั้นไปแล้ว หลายขณะที่อกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่มี เนื่องจากว่าขณะนั้นเป็นไปกับความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือ มีความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจในบุคคลต่างๆ ก็กั้นไม่ให้ปัญญาเกิดในขณะนั้น แม้แต่การฟังพระธรรมหรือการแสวงหาความเข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ในขณะนั้นก็หายไปหมดในขณะที่อกุศลกลุ้มรุม เมื่อเป็นเช่นนี้ ในชีวิตประจำวันจึงไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ กุศลเท่านั้นที่ควรให้เกิดขึ้นให้เจริญขึ้น เพราะเหตุว่า เมื่ออกุศลเกิดขึ้น เติบโตขึ้น ครอบงำจิตใจมากขึ้นจนมิดชิด ก็ยากที่จะละคลายลงได้ แต่ว่าถ้าได้เจริญกุศลทุกประการไปเรื่อยๆ และมีความเข้าใจพระธรรม ก็จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายอกุศล เป็นผู้มีที่พึ่ง มีเครื่องป้องกันต้านทานไม่ให้ตกไปในทางฝ่ายชั่วโดยประการทั้งปวง

ควรอย่างยิ่งที่แต่ละบุคคลจะเจริญกุศลคือทำดีทุกทาง ทุกโอกาส เท่าที่จะเป็นไปได้ตามกำลังของตนเอง โดยไม่รีรอด้วย เพราะเมื่อเป็นโอกาสของกุศลแล้วไม่ทำกุศล โอกาสของกุศลก็จะผ่านไป ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง โอกาสที่จะได้เจริญกุศลหรือทำดีนั้นเป็นโอกาสที่หาได้ยาก เมื่อเทียบกับอกุศลแล้วเทียบไม่ได้เลย เพราะในวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากกว่ากุศล

เกิดมาแล้วต้องตายทุกคน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ความตายจะมาถึงเมื่อใด ไม่มีใครทราบได้เลยจริงๆ ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่มั่นใจได้ว่าตายแน่นอน เด็กอาจจะตายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่อาจจะตายก่อนเด็ก จะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือด้วยโรคระบาดต่างๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น สิ่งใดๆ ก็ติดตามไปไม่ได้เลย ร่างกายของตนตลอดจนถึงบุคคลผู้เป็นที่รักและทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายทั้งปวงก็ติดตามไปไม่ได้ เว้นแต่ความดีและความชั่วที่สะสมอยู่ในจิตจะติดตามไป ความดี เป็นธรรมที่มีประโยชน์ นำมาซึ่งผลที่ดี ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใดๆ

เลย ส่วนความชั่วทั้งหลาย เป็นสิ่งที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์แก่ใครๆ เลยทั้งสิ้น ให้ผลที่เป็นทุกข์เท่านั้น

โอกาสของชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อการสะสมกุศลและอบรมเจริญปัญญาให้เจริญขึ้น ในท่ามกลางคลื่นของอกุศลซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิดแล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสเกิดขึ้นของอกุศล และที่สำคัญ ไม่ควรลืม คือ ปัญญา จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่า พระธรรมลึกซึ้ง แต่ก็เป็นบุญแล้วที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังได้สะสมความเข้าใจถูกความเห็นถูก จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ด้วยความเคารพในทุกคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์จากการที่ทรงอบรมพระบารมีนานกว่าบุคคลอื่นใดทั้งสิ้นเพื่อให้คนอื่นสามารถเกิดปัญญาเป็นของตนเองรู้ความจริงในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 2 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เฉลิมพร
วันที่ 29 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ