อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ [วิสุทธิมรรค]
อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ
วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 365
[แก้บท อุปาทานปจฺจยา ภโว]
ในบท อุปาทานปจฺจยา ภโว
พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ (คือความแห่งคํา) ๑ โดยธรรม (คือ ความหมายของข้อธรรม) ๑ โดย สาตะถะ [คือ ข้อที่ยังมีประโยชน์ที่จะกล่าวซ้ำ] ๑ โดยเภทะ (คือ แบ่งออก) และโดยสังคหะ (คือ รวมเข้า) ๑ โดยสิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไร ๑
[วินิจฉัยโดยอรรถ]
วินิจฉัยโดยอรรถในบทนั้นว่า ธรรมใดย่อมเป็น เหตุนี้ ธรรมนั้น จึงชื่อว่า ภพ (แปลว่าธรรมที่เป็นขึ้น) ภพนั้นมี ๒ ประเภท คือ กรรมภพ ๑ อุปบัติภพ ๑ ดังบาลีว่า “ภพมีโดยส่วน ๒ คือ กรรมภพ ก็มี อุปบัติภพก็มี ดังนี้”
ในภพ ๒ นั้น ภพ คือกรรม ชื่อว่า กรรมภพ นัยเดียวกัน ภพคือความเข้าถึง ชื่อว่า อุปบัติภพ ก็แลในกรรมแลอัปบัตินี้ อุปบัติจัดเป็นภพ เพราะเป็น (คือเกิด) ขึ้น ส่วนกรรม พึงทราบว่า จัดเป็นภพโดยผลโวหาร (คือกล่าวเล็งถึงผล) เพราะกรรมนั้น เป็นเหตุแห่งภพ ดังความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธทั้งหลาย ตรัสว่าเป็นสุข เพราะเป็นเหตุแห่งความสุขฉะนั้น
วินิจฉัยโดยอรรถในบทนี้ พึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้เป็นอันดับแรก
[วินิจฉัยโดยธรรม]
[กรรมภพ]
ส่วนวินิจฉัยโดยธรรม พึงทราบว่า อันดับแรก กรรมภพ โดย สังเขป ก็ได้แก่ เจตนา และธรรมทั้งหลายที่นับเป็นกรรมมีอภิชฌา เป็นต้น อันสัมปยุตกับเจตนานั่นเอง ดังบาลีว่า "ในภพ ๒ นั้น กรรมภพเป็นไฉน บุญญาภิสังหาร อบุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นปริตตภูม (คือภูมิกาม) ก็ดี เป็นมหาภูม (คือ ภูมิมหรคต) ก็ดี นี่เรียกว่า กรรมภพ อนึ่ง กรรมที่เป็นภวคามี (ยังสัตว์ให้ไปสู่ภพ) ทั้งปวง ก็เรียกกรรมภพ "
ก็แลในกรรมภพนี้ เจตนา ๑๓ ดวง ชื่อว่า บุญญาภิสังขาร เจตนา ๑๒ ดวง ชื่ออบุญญาภิสังขาร เจตนา ๔ ดวงชื่อ อเนญชาภิสังขาร โดยประการดังนี้ ความที่เจตนาเหล่านั้นแหละมีวิบากน้อยและมาก เป็นอันกล่าวด้วยคําว่า "เป็นปริตตภูม ก็ดี เป็นมหาภูม ก็ดี" นั่น ส่วนธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นที่สัมปยุตกับเจตนา เป็นอันกล่าว ด้วยคําว่า "อนึ่ง กรรมที่เป็นภวคามีทั้งปวง" นี่
[อุปบัติภพ]
ส่วนอุปบัติภพ โดยสังเขปก็ได้แก่ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรม โดยเฉพาะ (ว่า) โดยประเภทมี ๙ อย่าง ดังบาลีว่า "ในภพ ๒ นั้น อุปบัติภพเป็นไฉน กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ นี่เรียกว่า อุปบัติภพ"
ในภพเหล่านั้น ภพที่นับว่ากาม ชื่อกามภพ (ความหมาย) ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้ (คือว่า รูปภพ ก็แปลว่า ภพที่นับว่ารูป อรูปภพ แปลว่า ภพที่นับว่าอรูป)
ภพของสัตว์ทั้งหลายผู้มีสัญญา ชื่อสัญญาภพ นัยหนึ่ง สัญญา มีอยู่ในภพนั้น เหตุนี้ ภพนั้นจึงชื่อ สัญญาภพ (แปลว่า ภพที่มีสัญญา) อสัญญาภพ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม
ธรรมชาติที่เป็นเนวสัญญานาสัญญา (มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่) เพราะไม่มีสัญญาหยาบและเพราะมีแต่สัญญาละเอียด มีอยู่ในภพนั้น เหตุนี้ ภพนั้นจึงชื่อ เนวสัญญานาสัญญาภพ
ภพที่เต็มไปด้วยรูปขันธ์อย่างเดียว ชื่อเอกโวการภพ นัยหนึ่ง โวการ (คือขันธ์) ของภพนั้นมีอย่างเดียว เหตุนี้ ภพนั้น จึงชื่อ เอกโวการภพ (แปลว่าภพมีโวการเดียว) (ความหมาย) ในจตุโวการภพแลปัญจโวการภพ ก็นัยนี้ (คือจตุโวการภพ ก็แปลว่า ภพ มีโวการ ๔ ปัญจโวการภพ แปลว่า ภพมีโวการ ๕)
ในภพเหล่านั้น กามภพ ได้แก่ อุปาทินขันธ์ (ขันธ์มีใจครอง) ๕ รูปภพก็อย่างนั้น อรูปภพ ได้แก่ อุปาทินขันธ์ ๔ สัญญาภพ ได้แก่ อุปาทินขันธ์ ๕ อสัญญาภพ ได้แก่ อุปาทินขันธ์ ๑ เนวสัญญานาสัญญาภพ ได้แก่ อุปาทินขันธ์ ๔ ภพ ๓ มีเอกโวการภพ เป็นต้น ก็ได้แก่ ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๔ โดยเป็นอุปาทินขันธ์
วินิจฉัยโดยธรรมในบทนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑
[วินิจฉัยโดยสาตถะ]
ข้อว่า 'โดยสาตถะ' มีวินิจฉัยว่า ก็แลอภิสังขารทั้งหลายมี บุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแหละ แม้กล่าวมาแล้วในตอนแก้สังขาร เช่น ดังที่ กล่าวในตอนแก้ ภพ (นี้) เหมือนกันก็จริง แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น อภิสังขารตอนก่อน ท่านกล่าวโดยเป็นอดีตกรรม เพราะเป็นปัจจัย แห่งปฏิสนธิในภพนี้ (แต่) อภิสังขารตอนนี้กล่าวโดยเป็นปัจจุบันกรรม เพราะเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในภพต่อไป เพราะฉะนั้น การกล่าว (ถึงอภิสังขาร) ซ้ำจึงยังมีประโยชน์แท้ หรือ (อีกตัวอย่างหนึ่ง) ในตอนก่อน เจตนาเท่านั้นท่านกล่าวว่าเป็นสังขาร โดยนัยว่า 'ใน อภิสังขาร ๓ นั้น บุญญาภิสังขารเป็นไฉน เจตนาเป็นกุศลกามาวจร. . . (นี้เรียกว่าบุญญาภิสังขาร) ดังนี้เป็นต้น แต่ในตอนนี้ แม้ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับเจตนา ท่านก็กล่าวด้วย โดยคําว่า "แม้กรรมที่เป็นภวคามีทั้งปวง (ก็ชื่อว่ากรรมภพ) " ดังนี้ อนึ่ง ทีก่อน กรรมที่เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณเท่านั้น ท่านกล่าวว่าเป็นสังขาร มาทีนี้แม้กรรมที่ยังสัตว์ให้เกิดในอสัญญาณภพ ท่านก็กล่าวด้วย จะกล่าวมากไปทําไมมี ในบทว่า 'อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา' นั่น ก็บุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแหละ ท่านกล่าวแต่ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ส่วนในบทว่า 'อุปาทานปจฺจยา ภโว' นี้ ท่านกล่าวธรรมทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล ทั้งที่เป็นอัพยากฤต ก็เพราะ (ในตอนนี้) สงเคราะห์ เอาอุปบัติภพเข้าด้วย เพราะฉะนั้น การกล่าวซ้ำนี้ จึงยังมีประโยชน์แท้
วินิจฉัยโดยสาตถะในบทนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ อีกประการหนึ่ง
[วินิจฉัยโดยแบ่งออกและรวมเข้า]
ข้อว่า 'โดยเภทะ และสังคหะ' คือโดยแบ่งออกและโดยรวมเข้า ซึ่งภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน
[โดยแบ่งออก]
ความว่า กรรมที่ยังสัตว์ให้เกิดในกามภพ ซึ่งมีเพราะปัจจัย คือ กามุปาทานใด อันสัตว์ทําเข้า ธรรมคือกรรมนั้น ๑ ชื่อกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นโดยเฉพาะ ชื่ออุปบัติภพ ในรูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้
โดยนัยดังนี้ กามภพ ทั้งสัญญาภพ และปัญจโวการภพที่อยู่ภายใน (คือรวมอยู่ในกามภพ) เป็น ๒ รูปภพทั้งสัญญาภพ อสัญญาภพ เอกโวการภพ และปัญจโวการภพที่อยู่ภายใน เป็น ๒ อรูปภพทั้งสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ และจตุโวการภพ ที่อยู่ภายใน เป็น ๒๔ ดังนี้ ภพจึงเป็น ๖ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน อันมีเพราะปัจจัยคือกามุปาทาน ก็แล ภพที่มีเพราะปัจจัยคือกามุปาทาน เป็น ๖ พร้อมทั้งภพที่ อยู่ภายในฉันใด แม้ภพที่มีเพราะปัจจัยคืออุปาทานที่เหลือ ก็เป็น ๖ๆ ฉันนั้นแล
ด้วยประการดังนี้ โดยแบ่งออก ภพที่มีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน จึงเป็น ๒๔ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน
[โดยรวบเข้า]
ส่วนว่าโดยรวมเข้า มีวินิจฉัยว่า รวมกามภพและอุปบัติภพเข้าด้วยกันเสีย กามภพก็เป็น ๑ กับทั้งภพที่ อยู่ภายใน รูปภพและอรูปภพ ก็รวมเข้าอย่างนั้น ดังนี้จึงเป็นภพ ๓ อันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน แม้ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทานที่เหลือก็อย่างนั้น (คือคงเป็น ๓ๆ) ด้วยประการดังนี้ โดยรวมเข้า ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน จึงเป็น ๑๒ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน
อีกนัยหนึ่ง กรรมที่มีผลเป็นกามภพ จัดเป็นกรรมภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน โดยไม่แปลกกัน (คือไม่แยกประเภทอุปาทาน) ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นโดยเฉพาะ จัดเป็นอุปบัติภพ ในรูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้ ด้วยประการนี้ โดยรวมเข้าอีกปริยาย หนึ่ง. . . ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทานจึงเป็น ๖ คือ กามภพ ๒ รูปภพ ๒ อรูปภพ ๒ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน
หรือว่าไม่แตะต้องการแยกเป็นกรรมภพและอุปบัติภพ เสีย ภพก็คงเป็น ๓ โดยเป็นกามภพเป็นต้น พร้อมทั้งภพที่ อยู่ภายใน
อนึ่งเล่า ไม่แตะต้องการแยกเป็นภพ ๓ มีกามภพเป็นต้นเสีย ภพก็เป็น ๒ โดยเป็นกรรมภพและอุปบัติภพ
ไม่แตะต้องการแยกแยกเป็นกรรมภพและอุปบัติภพเสียอีกเล่า ภพ ก็คงเป็น ๑ เท่านั้น โดยเป็นภพ (เอกพจน์) ตามบทว่า อุปาทานปจฺจยา ภโว แล
วินิจฉัยโดยแยกออกและรวมเข้า ซึ่งภพอันมีอุปาทานเป็นปัจจัย ในบทนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑
[วินิจฉัยโดยสิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไร]
ข้อว่า "ยํ ยสฺส ปจฺจโย จ" ความว่า อนึ่ง ในบท อุปาทานปจฺจยา ภโว นี้ อุปาทานไร เป็นปัจจัยของภพไร บัณฑิตพึงทราบ วินิจฉัยโดยประการที่สิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไรนั้นด้วย
ถามว่า ก็ในบทนี้ สิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไรเล่า
ตอบว่า ทุกสิ่งเป็นปัจจัยของทุกสิ่งแหละ
จริงอยู่ บุถุชนเปรียบเหมือนคนบ้า เขาหาวิจารว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควรไม่ ปรารถนาภพทุกภพด้วยอํานาจอุปาทานทุกข้อแล้ว ก็ทํากรรมทุกอย่างทีเดียว เพราะฉะนั้น อาจารย์บางเหล่ากล่าวคําใดว่า "รูปภพอรูปภพย่อมไม่มีเพราะสีลัพพตุปาทาน" ดังนี้ คํานั้น จึงไม่ควรถือเอา ๑ แต่ควรถือว่า "ภพทั้งปวงย่อมมีได้ เพราะอุปาทานทั้งปวง" ข้อนี้มีอย่างไร?
[กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งกามภพ]
บุคคลบางคนในโลกนี้ คิดไปด้วยอํานาจการได้ยินสืบกันมาบ้าง ตามแบบอย่างที่ได้ เห็นบ้าง ว่า "อันกามทั้งหลายนั้น ก็สมบรณ์แต่ ในตะกูลมหาสาลมีตระกูลขัตติมหาสาลเป็นต้น ในมนุษยโลก และ ในกามาวจรเทวโลก ๖ ชั้นเท่านั้น" ดังนี้ แล้ว ถูกอสัปปุริสธรรมมีการ ฟังเรื่องอสัทธรรมเป็นต้น กล่อมใจเข้า สําคัญไปว่า กามทั้งหลายจะ สําเร็จได้ด้วยการกระทํา (อย่าง) นี้ (คืออย่างที่ได้ยิน) เลยกระทํา ทุจริต มีกายทุจริตเป็นต้น ไปตามอํานาจแห่งกามุปาทานเข้าก็ได้ เพื่อ (ให้) ได้กามทั้งหลายนั้น เพราะทุจริตเต็มเข้า เขาก็ไปเกิดใน อบาย หรือมิฉะนั้น เมื่อปรารถนากามทั้งหลายที่ประสบพบเข้า หรือ จะคุ้มครองกามทั้งหลายที่ได้ มาแล้วก็ตาม ทําทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้น เข้าด้วยอํานาจแห่งกามุปาทาน (ก็ได้) เพราะทุจริตเต็มเข้า เขาก็ไปเกิดในอบาย
กรรมที่เป็นเหตุแห่งความอุบัติในอบายนั้น เป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้น ก็เป็นอุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วน สัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในนั้นนั่นเอง
ฝ่ายบุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นผู้มีความรู้เพิ่มพูนขึ้นด้วยสัปปุริสธรรม ทั้งหลายมีการได้ฟังสัทธรรมเป็นต้นแล้ว สําคัญเอาว่า กามทั้งหลายจะสําเร็จได้ด้วยการกระทํา (อย่าง) นี้ ก็กระทําสุจริตมีกายสุจริตเป็นต้น ด้วยอํานาจกามุปาทาน เพราะสุจริตเปี่ยมเข้า เขาก็ไปเกิดในหมู่เทพ บ้าง ในหมู่มนุษย์บ้าง
กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุบัติในหมู่เทพและมนุษย์นั้น เป็น กรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นอุปบัติภพ ของ บุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในนั้นเหมือนกัน
กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งกามภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท เช่น สุคติ ทุคติ) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน ดังนี้
[กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งรูปภพอรูปภพ]
บุคคลอีกคนหนึ่ง ได้ฟังหรือคาดคะเนเอาก็ตาม ว่า กามทั้งหลาย ในรูปภพและอรูปภพสมบูรณ์ กว่ากามในกามภพนั้น ก็ทํารูปสมาบัติ และอรูปสมาบัติให้ เกิดขึ้นด้วยอํานาจกามุปาทานนั่นเอง แลว้ก็ไปเกิด ในโลกรูปพรหม และอรูปพรหม ด้วยกําลังแห่งสมาบัติ
กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุบัติในพรหมโลกนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้น เป็นอุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วน สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ และ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ก็รวมอยู่ในนั้นแหละ
กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งรูปภพอรูปภพอันมีแตกต่างกัน (หลาย ประเภท) พร้อมทั้งภพที่ อยู่ในก็ได้ดังนี้
[ทิฏฐูปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม]
บุคคลอีกผู้หนึ่งเห็นไปว่า "อันอัตตานี่ เมื่อภพแห่งกามาวจรสมบัติ หรือรูปภพอรูปภพอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามขาดแล้ว ก็เป็นอัน ขาดสูญ" ดังนี้ แล้วยึดถืออุจเฉททิฏฐิ แล้วก็ทํากรรมที่ไปกันได้กับทิฏฐินั้น
กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็น อุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้น ก็รวม อยู่ในนั้ นแหละ
ทิฏฐูปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้ง ๓ คือทั้งกามภพและรูปภพอรูป ภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่ อยู่ภายในก็ได้ดังนี้
[อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม]
บุคคลอีกผู้หนึ่งเห็นว่า "อันอัตตานี่ ย่อมจะมีความสุขปราศจาก ความเร่าร้อนอยู่ในภพแห่งกามาวจรสมบัติ หรือในรูปภพและอรูปภพ แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้" ดังนี้ แล้วก็ทํากรรมที่ไปกันได้กับความเห็นนั้น ด้วย (อํานาจ) อัตตวาทุปาทาน
กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็น อุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้ นแหละ
อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสามอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่ อยู่ภายใน ดังนี้
[สีลัพพตุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม]
บุคคลอีกผู้หนึ่งเห็นว่า "อันความสุขย่อมถึงซึ่งความเต็มเปี่ยมแก่ บุคคลผู้ทําศีลพรตนี้ให้บริบูรณ์ ในภพแห่งกามาวจรสมบัติก็ตาม ใน รูปภพและอรูปภพแห่งใดแห่งหนึ่งก็ตาม" ดังนี้ แล้วก็ทํากรรมที่ไปกัน ได้กับความเห็นนั้น ด้วยอํานาจสีลัพพตุปาทาน
กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่ เกิดเพราะกรรมนั้นก็ เป็นอุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้น เหมือนกัน
แม้สีลัพพตุปาทาน ก็เป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสามอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในได้ ดังนี้ แล
วินิจฉัยโดยประการที่สิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไร ในบทนี้ พึงทราบ ดังกล่าวมาฉะนี้
[อะไรเป็นปัจจัยของอะไรอย่างไร]
หากถามว่า "ก็ในบทนี้ อุปาทานอะไรเป็นปัจจัยของภพอะไร อย่างไร" ดังนี้ไซร้ คําแก้พึงมีว่า
[คาถาสังเขปปัจจยนัย]
บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า อุปาทานเป็นอุปนิสสยปัจจัย แห่งรูปภพและอรูปภพ อนึ่ง มันเป็นปัจจัยแห่ง กามภพโดยปัจจัยทั้งหลายมีสหชาตปัจจัยเป็นอาทิ
[ขยายความปัจจยนัย]
ขยายความว่า อุปาทานทั้ง ๔ อย่างนั่น เป็นปัจจัยประเภทเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น ของรูปภพอรูปภพ คือของกรรมเฉพาะ ที่เป็นกุศลในกรรมภพ อันนับเนื่องในกามภพ และของอุปบัติภพด้วย๑ (ส่วน) ในกามภพ มันเป็นปัจจัยโดยสหชาตปัจจัยเป็นต้นซึ่งแยกออกเป็น สหชาต----อัญญมัญญ----นิสสย----สัมปยุตต----อัตถิ----อวิคต----และเหตุ ปัจจัย ของอกุศลกรรมภพอันสัมปยุตกับตน แต่เป็นปัจจัยโดย อุปนิสสยปัจจัยอย่างเดียว ของกรรมภพที่เป็นวิปยุต
นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า อุปาทานปจฺจยา ภโว
[สรุปความ]
>> ปัจจัยธรรม
-อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่น หรือความถือมั่น (จากเนื้อหาของบทที่แล้ว) ท่านจำแนกตามลำดับของการแสดง เป็น ๔ ประเภท ได้แก่
1. กามุปาทาน หมายถึง ความติดข้องเหนียวแน่วมีกำลัง ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับโลภมูลจิต ๘ ประเภท
2. ทิฏฐูปาทาน หมายถึง ความยึดถือความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น โลกเที่ยง โลกสูญ เป็นต้น ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับโลภมูลจิต ๔ ประเภทที่สัมปยุตต์กับทิฏฐิเจตสิกเท่านั้น
3. สีลัพพตุปาทาน หมายถึง ความยึดถือข้อประพฤติปฏิบัตที่คลาดเคลื่อนจากข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง (มรรคมีองค์ ๘) เช่น โคพรต สุนัขพรต เป็นต้น ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับโลภมูลจิต ๔ ประเภทที่สัมปยุตต์กับทิฏฐิเจตสิกเท่านั้น
4. อัตตวาทุปาทาน หมายถึง การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เช่น สักกายทิฏฐิ ๒๐ ยึดถือว่ารูปเป็นเรา เป็นต้น ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับโลภมูลจิต ๔ ประเภทที่สัมปยุตต์กับทิฏฐิเจตสิกเท่านั้น
>> ปัจจยุบันธรรม
>>> ภพ หมายถึง ธรรมที่เกิดขึ้น (ธรรมใดย่อมเป็น เหตุนี้ ธรรมชื่อว่า “ภพ”) ท่านจำแนกโดยหัวข้อธรรมเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
1. กรรมภพ หมายถึง ภพคือกรรม, กรรมที่ทำให้สัตว์ไปสู่ภูมิใหญ่น้อย (ภูมิน้อย ได้แก่ ภูมิที่เป็นไปในกาม ภูมิใหญ่ได้แก่ ภูมิที่เป็นไปกับฌานจิตขั้นต่างๆ คือ รูปภูมิ และอรูปภูมิ) , กรรมที่ยังให้สัตว์ไปสู่ภพ ซึ่ง สภาพธรรม คือ เจตนาเจตสิก รวมไปถึงจิต และ เจตสิกที่สัมปยุต (เกิดพร้อมกัน) กับเจตนาเจตสิกนั้น ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดภพ ได้แก่
-บุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ๑๓ ดวง (เจตนาเจตสิก รวมถึงจิตและเจตสิกที่สัมปยุตต์ ที่เกิดเป็น มหาวิบากจิต ๘ ดวง และรูปฌานจิต ๕ ดวง)
-อบุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ๑๒ ดวง (เจตนาเจตสิก รวมถึงจิตและเจตสิกที่สัมปยุตต์ ที่เกิดเป็น อกุศลจิต ๑๒ ดวง)
-อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ๔ ดวง (เจตนาเจตสิก รวมถึงจิตและเจตสิกที่สัมปยุตต์ ที่เกิดเป็น อรูปฌานจิต ๔ ดวง)
2. อุปบัติภพ หมายถึง ภพคือการเข้าถึง ได้แก่ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นๆ มี ๙ ประเภท ได้แก่
-กามภพ หมายถึง ภพที่นับว่ากาม หรือ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ที่เป็นไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งบุคคลนั้นเกิดใน กามภูมิ ๑๑ คือ อบาย ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖
-รูปภพ หมายถึง ภพที่นับว่ารูป หรือ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ที่เป็นไปกับ รูปฌานแต่ละประเภท ซึ่งบุคคลนั้น เกิดขึ้นใน รูปภูมิ ๑๖
-อรูปภพ หมายถึง ภพที่นับว่าอรูป หรือ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ที่เป็นไปกับ อรูปฌานแต่ละประเภท ซึ่งบุคคลนั้น เกิดขึ้นใน อรูปภูมิ ๔
-สัญญาภพ หมายถึง สัญญามีอยู่ในภพนั้น หรือ ขันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นมีสัญญา ซึ่งเข้าใจว่าบุคคลประเภทนั้นเกิดขึ้นใน กามภูมิ ๑๑ (คือ อบาย ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖) รูปพรหม ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตาพรหมภูมิ) และ อรูปพรหม ๓ (เว้นเนวสัญญานาสัญญาพรหมภูมิ)
-อสัญญาภพ หมายถึง สัญญาไม่มีอยู่ในภพนั้น หรือ ขันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นไม่มีสัญญา ซึ่งเข้าใจว่าบุคคลประเภทนั้นเกิดขึ้นใน รูปภูมิ ๑ (หมายถึง อสัญญสัตตาพรหมภูมิ)
-เนวสัญญานาสัญญาภพ หมายถึง ภพที่ไม่มีสัญญาหยาบมีแต่สัญญาละเอียด หรือ ขันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ซึ่งเข้าใจว่าบุคคลประเภทนั้นเกิดขึ้นใน อรูปภูมิ ๑ (หมายถึง เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมภูมิ)
<< เรื่องภพที่ท่านจำแนกโดยสัญญาทั้ง ๓ ข้างต้น ที่จำแนกเป็นภูมิต่างๆ เป็นความเข้าใจของผู้เขียน เพราะท่านไม่ได้จำแนกไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ ถูกผิดประการใดขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาด้วยเถิด >>
-เอกโวการภพ (โวการะ หมายถึง ขันธ์) หมายถึง ขันธ์ในภพนั้นมีประเภทเดียว คือ รูปขันธ์ เท่านั้น ซึ่งบุคคลนั้น เกิดขึ้นใน รูปภูมิ ๑ (หมายถึง อสัญญสัตตาพรหมภูมิ)
-จตุโวการภพ หมายถึง ขันธ์ในภพนั้นมี ๔ ประเภท คือ นามขันธ์ ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ซึ่งบุคคลนั้น เกิดขึ้นใน อรูปภูมิ ๔
-ปัญจโวการภพ หมายถึง ขันธ์ในภพนั้นมี ๕ ประเภทครบ คือ อุปาทินขันธ์ ๕ (ขันธ์ที่มีใจครอง) ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ ซึ่งบุคคลนั้น เกิดขึ้นในกามภูมิ ๑๑ (อบาย ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖) และรูปพรหม ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตาพรหมภูมิ)
>>> การพิจารณาเรื่องของ “อภิสังขาร” ในหัวข้อที่ควรต้องกล่าวซ้ำ (สาตะถะ)
-คำว่า “อภิสังขาร” เช่น บุญญาภิสังขาร เป็นต้น ที่กล่าวไว้แล้วในส่วนที่เป็นสังขาร และในส่วนที่เป็นภพ เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร
>>>> อภิสังขารโดยนัยของสังขาร (อภิสังขารที่กล่าวไว้ในบทของ “อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร”)
-เป็นอดีตกรรม (กรรมที่เกิดก่อนชาตินี้) หมายถึง เป็นเจตนาซึ่งเป็นปัจจัยแก่การปฏิสนธิในภพนี้
-เป็นเจตนาเจตสิกเท่านั้น
-เป็นได้เพียงกุศล และอกุศล (เพราะเจตนาที่ทำให้เกิด เป็นกุศลเจตสิก และอกุศลเจตสิกได้เท่านั้น)
-เป็นกรรมที่เป็นปัจจัยให้แก่วิญญาณเท่านั้น (ไม่รวมถึงกรรมที่เป็นปัจจัยให้แก่รูปปฏิสนธิ ที่เป็นอสัญญีสัตว์)
>>>> อภิสังขารโดยนัยของภพ (อภิสังขารที่กล่าวไว้ในบทของ “อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ”)
-เป็นปัจจุบันกรรม (กรรมที่เป็นไปในชาติปัจจุบัน) หมายถึง เป็นเจตนาซึ่งเป็นปัจจัยแก่การปฏิสนธิในภพต่อๆ ไป
-เป็นเจตนาเจตสิก รวมถึงจิตและเจตสิกที่สัมปยุตกับ เจตนาด้วย
-เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล และอัพยากฤต ที่เป็นกุศลและอกุศลได้ เนื่องจาก เจตนา (รวมไปถึงจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ที่เป็นกรรมภพนั้นเป็นชาติกุศล และเป็นชาติอกุศล ที่เป็นอัพยากฤตได้ เนื่องจาก ขันธ์ที่เกิดเพราะกรรม ที่เป็นอุปบัติภพ มีชาติวิบากบ้าง หรือเป็นรูปที่ไม่มีใจครองบ้าง (ชีวิตนวกะของอสัญญีพรหมบุคคล)
-เป็นกรรมทั้งหมดที่ทำให้สัตว์เกิดขึ้น รวมไปถึงสัตว์ที่เกิดเป็นอสัญญีสัตว์ด้วย
>>> แสดงภพ โดยความแบ่งออก
-ท่านแสดง “ภพ” โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ กรรมภพ และอุปบัติภพ
-โดยภพทั้ง ๙ นั้นที่แสดงมาก่อนหน้านั้น ท่านรวมเหลือ ๓ ภพ ได้แก่
1. “สัญญาภพ ปัญจโวการภพ” รวมอยู่ใน “กามภพ”
2. “สัญญาภพ อสัญญาภพ เอกโวการภพ ปัญจโวการภพ” รวมอยู่ใน “รูปภพ”
3. “สัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภ จตุโวการภพ” รวมอยู่ใน “อรูปภพ”
-เมื่อจำแนก ทั้ง ๓ ภพนั้น ออกตามความหมายทั้ง ๒ ของ ภพ คือ กรรม ๑ และการอุปบัติ ๑ ก็จะได้ ๖ ภพ และเมื่อจำแนกทั้ง ๖ภพ ออกตาม ๔ ปัจจัยที่เกิดขึ้น คือ กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ก็จะได้ภพทั้งสิ้น ๒๔ ประเภท ได้แก่
1. กามกรรมภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
2. กามุปบัติภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
3. รูปกรรมภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
4. รูปุปบัติภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
5. อรูปกรรมภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
6. อรูปุปบัติภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
>>> แสดงภพ โดยการรวบเข้า
-ท่านแสดง “ภพ” โดยพิจารณารวม กรรมภพ และอุปบัติภพเข้าด้วยกัน ก็จะได้ภพทั้งสิ้น ๑๒ ประเภท ได้แก่
1. กามภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
2. รูปภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
3. อรูปภพ ๔ ที่เกิดจากอุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
>> สรุปความเป็นปัจจัย
- อุปาทานทั้ง ๔ ทุกประเภท ทั้งโลภะ และทิฏฐิ สามารถเป็นปัจจัยแก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ได้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่า บุถุชนเปรียบเหมือนคนบ้า ปรารถนาภพทุกภพ โดยไม่พิจารณาว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ก็ทำกรรมทุกประการ ดังนี้
>>> กามุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง ๓
- ถ้าบุคคลนั้นคิดก็ดี การฟังมาก็ดี ถึงกามที่สมบูรณ์ ได้แก่ สมบัติมหาศาล เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลนั้นหาวิธีได้สิ่งนั้น ผู้ที่ฟังอสัทธรรม ก็ประพฤติทุจริตเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา เมื่อทุจริตเต็มเปี่ยม ผู้นั้นก็ไปเกิดในอบายภูมิ ผู้ที่ฟังสัทธรรม ก็ประพฤติสุจริต เมื่อสุจริตเต็มเปี่ยม ผู้นั้นก็ไปเกิดในหมู่เทพบ้าง ได้สมบัติของหมู่เทพบ้าง ถ้าผู้นั้นคิดว่าสมบัติในรูปภพและอรูปภพสมบูรณ์กว่า ผู้นั้นก็อบรมภาวนา ที่เป็นรูปฌาน และอรูปฌาน แล้วไปเกิดในพรหมโลกบ้าง
>>> ทิฏฐูปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง ๓
- ถ้าบุคคลนั้นเห็นผิดว่า เมื่อสิ้นชีวิตลงไปในภพหนึ่งภพใด คือ กามภพ หรือรูปภพ หรืออรูปภพ แล้วก็จะไม่เกิดอีก ด้วยทิฏฐิว่าสูญ เป็นต้น ผู้นั้นก็ทำกรรมที่เกิดจากความเห็นประเภทนั้น ก็ไปเกิดในภพตามกรรมต่างๆ ที่ตนทำไว้
>>> อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง ๓
- ถ้าบุคคลนั้นเห็นผิดว่า เป็นเราที่มีความสุขอยู่ในภพที่ดี ไม่ว่าจะเป็น กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นต้น ผู้นั้นก็ทำกรรมที่เกิดจากความเห็นประเภทนั้น ก็ไปเกิดในภพตามกรรมต่างๆ ที่ตนทำไว้
>>> สีลัพพตุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง ๓
-ถ้าบุคคลนั้นเห็นผิดว่า ทำตามข้อประพฤติประเภทนี้แล้วจะทำให้ได้สมบัติมหาศาล เป็นต้น หรือไปเกิดในภพที่ดีเป็นต้น ผู้นั้นก็ทำกรรมที่เกิดจากความเห็นประเภทนั้น ก็ไปเกิดในภพตามกรรมต่างๆ ที่ตนทำไว้
>>> กรรมที่ทำให้สัตว์เกิดในภพนั้นๆ ตามอุปาทานใดอุปาทาน ๑ ใน ๔ ข้างต้น ได้แก่ กรรมภพ
>>> ส่วนขันธ์ที่เกิดขึ้นในภพนั้นๆ ได้แก่ อุปบัติภพ
- อุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง // ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๔ ดวง) เป็นปัจจัย ๗ ประเภท แก่ ภพ ๔ โดยนัยของการแบ่งออก (อกุศลกรรมภพ ซึ่งเกิดจากอุปาทานประเภทใดใน ๔ ประเภท หมายถึง อกุศลเจตนารวมทั้งสัมปยุตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกนั้น ซึ่งเกิดได้กับอกุศลจิต ๑๒) ได้แก่
1. สหชาตปัจจัย เช่น โลภเจตสิกที่เป็นกามุปาทานนั้นเป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกับโลภมูลจิต (รวมไปถึงเจตสิกอื่นที่สัมปยุตกับโลภเจตสิกนั้น) ที่ทำทุจริตกรรมประเภทนั้น เช่น ฆ่าบ้าง ขโมยบ้าง ประพฤติผิดในภรรยาบุคคลอื่นบ้าง เป็นต้น
2. อัญญมัญญปัจจัย เช่น โลภเจตสิกนั้นอาศัยโลภมูลจิตเกิดขึ้นพร้อมกันได้ เป็นต้น
3. นิสสยปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นสหชาตนิสสยปัจจัยแก่โลภมูลจิต เป็นต้น
4. สัมปยุตปัจจัย เช่น โลภเจตสิกและโลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เป็นต้น
5. อัตถิปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่โลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกัน เมื่อโลภเจตสิกนั้นยังอยู่ เป็นต้น
6. อวิคตปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นสหชาตาวิคตปัจจัยแก่โลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกัน เมื่อโลภเจตสิกนั้นยังไม่ดับไป เป็นต้น
7. เหตุปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัยแก่โลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกัน เป็นต้น
- อุปาทาน ๔ (กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน) เป็นปัจจัย ๑ ประเภท แก่ ภพ ๒๔ โดยนัยของการแบ่งออก (กามกรรมภพทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ได้แก่ อกุศลจิต๑๒ และมหากุศลจิต ๘, กามอุปบัติภพ ได้แก่ขันธ์ที่เป็นไปในกามภูมิ ๑๑, รูปกรรมภพ ได้แก่ รูปวจรกุศลจิต ๕, รูปุบัติภพ ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นไปในรูปภูมิ ๑๖, อรูปกรรมภพ ได้แก่ อรูปวจรกุศลจิต ๔, อรูปุบัติภพ ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นไปในอรูปภูมิ ๔) ได้แก่
1. อุปนิสสยปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่โทสมูลจิตที่ทำทุจริตกรรม (ประเภทใดประเภทหนึ่งใน อกุศลจิต ๑๒) มีการฆ่า เป็นต้น
ข้อความจากคัมภีร์ปัฏฐาน ภาค๑ เล่ม ๑ หน้า 371 แสดงอกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลว่า “บุคคลอาศัยราคะ (โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย) แล้วฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ … ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา … ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน”
ข้อความจากคัมภีร์ปัฏฐาน ภาค๑ เล่ม ๑ หน้า 376 แสดงอกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากฤตว่า
“บุคคลอาศัยราคะ (รวมไปถึง โทสะ มานะ ทิฏฐิ ความปรารถนา) แล้ว ทำตนให้เดือดร้อน ทำตนให้เร่าร้อน ย่อมเสวยทุกข์ อันมีการแสวงหาเป็นมูล” (ซึ่งหมายถึงโลภเจตสิกเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่ขันธ์ที่เกิดในอบายภูมิ)
“อกุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่วิบาก โดยอุปนิสสยปัจจัย” (ซึ่งหมายถึง อกุศลกรรม ซึ่งในกรณีที่โลภเจตสิกที่เป็นกามุปาทานนั้นเป็นสหชาตปัจจัยกับอกุศลกรรมนั้นด้วย ตัวกามุปาทานที่เกิดพร้อมกับเจตนาที่ทำกรรม ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่วิบากจิตในชาติต่อไปด้วย)