ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ [วิสุทธิมรรค]
ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ
วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 377
[แก้บท ภวปจฺจยา ชาติ]
ในบททั้งหลายมีบทว่า ภวปจฺจยา ชาติ เป็นอาทิ การวินิจฉัยคํา มีคําว่าชาติเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสัจจนิเทศเถิด ส่วน คําว่า ภโว ในบทนี้ หมายเอากรรมภพอย่างเดียว เพราะกรรมภพนั้น เป็นปัจจัยแห่งชาติ อุปบัติภพหาเป็นปัจจัยไม่ ก็แลกรรมภพนั้นเป็นปัจจัยสองอย่าง โดยเป็นกัมมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแล
หากคําถามจะพึงมีว่า "ก็ข้อที่ว่า 'ภพเป็นปัจจัยของชาติ' นั่นจะพึงทราบได้อย่างไร?" ดังนี้ไซร้ คําตอบพึงมีว่า "พึงทราบได้โดย ที่แม้ในเมื่อปัจจัยภายนอกมีเสมอกัน ก็ปรากฏความแปลกกันมีความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้นได้ จริงอยู่ แม้ความเสมอกันแห่ง ปัจจัยภายนอกทั้งหลายมีสุกกโสณิต (เลือดขาว) ของชนกชนนี และ อาหารเป็นต้นมีอยู่ ความแปลกกันมีความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีต เป็นต้นของสัตว์ทั้งหลายแม้เป็นลูกแฝดก็ เห็นได้ อยู่ อันความแปลก กันแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้นมิใช่ไม่มีเหตุ เพราะไม่มีไปทุกเมื่อและทุกคน มิใช่มีเหตุอื่นไปจากกรรมภพ เพราะไม่มีเหตุอย่างอื่นในสันดานเฉพาะ ตัวของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาเพราะกรรมภพนั้น เหตุฉะนั้นมันจึงมี กรรมภพเป็นเหตุแท้ เพราะกรรมเป็นเหตุแห่งความแปลกกันมีความ เป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า "กรรมย่อมจําแนกสัตว์ทั้งหลาย ... คือย่อม จําแนกโดยความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีต" ดังนี้ เหตุนั้นข้อที่ว่า 'ภพเป็นปัจจัยของชาติ' นั่นจึงควรทราบได้ (โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้)
[สรุปความ]
>> ปัจจัยธรรม
- ภพ หมายถึง ธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งจำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ
1. กรรมภพ (ธรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นกรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกและสัมปยุตธรรม ที่เป็นชาติกุศลและชาติอกุศล)
2. อุปบัติภพ (ธรรมที่เกิดขึ้นคือ การเกิดขึ้นของขันธ์ที่เกิดจากกรรม ได้แก่ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดจากกรรมนั้นๆ มี กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นต้น ดังแสดงในบทก่อนหน้านี้)
- แต่ อุปบัติภพเอง ไม่สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดชาติได้ เพราะอุปบัติภพคือการเกิดขึ้นของขันธ์ที่เกิดเพราะกรรม
- เฉพาะกรรมภพเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
>> ปัจจยุบันธรรม
-ความหมายของชาติ (วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 171)
ชาติ แสดงไว้หลายความหมาย ได้แก่
1. ภพต่างๆ เช่น การระลึกชาติต่างๆ (ภพต่างๆ)
2. นิกายของนักบวชประเภทต่างๆ เช่น ชาติ (นิกาย) ของนักบวชผู้นั้นชื่อว่านิครนถ์
3. สังขตลักษณะ (หมายถึง ธรรมที่เกิดดับ)
4. ปฏิสนธิ (หมายถึง การเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิต รวมไปถึงเจตสิกและรูปที่เกิดพร้อมกัน)
5. คลอดออกจากครรภ์ ซึ่งเป็นคำกริยา เช่น ทันทีที่พระโพธิสัตว์ชาตะ (คลอดออกมา)
6. ตระกูล เช่น คนนี้มีชาติเป็นกษัตริย์บ้าง มีชาติเป็นพราหมณ์บ้าง เป็นต้น
7. อริยศีล หมายถึง การที่ภิกษุนั้นบวชแล้วปฏิญาณตนที่จะประพฤติตามศีลของพระอริยเจ้า มีศีล ๒๒๗ เป็นต้น เช่น เราเกิดแล้วในอริยชาติ เป็นต้น (แสดงในมัชฌิมนิกาย มัชฌมิปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้า 149)
- ความหมายของชาติโดยอ้อม
ชาติ หมายถึง ขันธ์ที่เป็นไปตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงออกจากท้องมารดา (บุคคลเกิดด้วยครรภ์) หรือฟักออกจากไข่ (บุคคลเกิดจากไข่) และปฏิสนธิขันธ์ สำหรับบุคคลนอกจากนี้ (สำหรับบุคคลที่เกิดในเหงื่อไคล หรือบุคคลที่ผุดเกิดขึ้น)
- ความหมายของชาติโดยตรง
ชาติ หมายถึง ขันธ์ทั้งหลายใดๆ ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดอยู่ในภพนั้นๆ ความปรากฏขึ้นครั้งแรกของขันธ์นั้นๆ คือ ชาติ (ก็คือ รูปธรรม และนามธรรมที่เกิดขึ้นขณะแรกของความเป็นบุคคลนั้นนั่นเอง)
- ลักขณาธิจตุกกะ ๓ ประเภท ของชาติ (วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 172)
มีความเกิดทีแรกในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ มีการมอบให้เป็นรส มีความผุดขึ้นในภพนี้จากอดีตภาพเป็นปัจจุปัฏฐาน อีกนัยหนึ่ง มีความวิจิตรไปด้วยทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน
>>สรุปความเป็นปัจจัย
ภพ ๑๒ โดยนัยของการแบ่งออก (หมายถึง เจตนา รวมถึงจิตและเจตสิกที่สัมปยุตกับเจตนานั้น ในปัจจุบันชาติ ได้แก่ กรรมกามภพ ๔ กรรมรูปภพ ๔ กรรมอรูปภพ ๔ อันเกิดจากอุปาทานอย่างละ ๔ มีกามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน เป็นต้น) เป็นปัจจัย ๒ ประเภท แก่ ชาติ (หมายถึง รูปธรรมและนามธรรมที่เกิดขึ้นขณะแรกของความเป็นบุคคลนั้น ในชาติต่อไป เป็นต้น) ได้แก่
1. กัมมปัจจัย เช่น อกุศลเจตนาเจตสิกของปัจจุบันชาติเป็นนานาขณิกกัมมปัจจัยให้วิบากขันธ์ และกฏัตตารูป (อุเบกขาสันตีรณจิตและเจตสิก รวมไปถึงรูปที่เกิดเพราะกรรม มีอวินิพโภครูป ๘ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ ที่เกิดขึ้นในอบายภูมิ ตามกำเนิดประเภทนั้นๆ) เป็นต้น
2. อุปนิสสยปัจจัย เช่น อกุศลกรรม เช่นการฆ่า เป็นต้น เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิบากจิตและเจตสิก ในอบายภูมิ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น
กุศลกรรม เช่น การฟังธรรม เป็นต้น เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิบากจิตและเจตสิก ในกามสุขคติภูมิ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น
ปัฏฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า 370 แสดงว่า
“กุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่วิบาก โดยอุปนิสสยปัจจัย (ปกตูปนิสสยปัจจัย) ”
ปัฏฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า 376 แสดงว่า
“อกุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่วิบาก โดยอุปนิสสยปัจจัย (ปกตูปนิสสยปัจจัย) ”
ปัฏฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า 396 แสดงว่า
ทั้งอกุศลกรรม และกุศลกรรม เป็นนานาขณิกกัมมปัจจัยแก่ วิบากขันธ์และกฏัตตารูป