[คำที่ ๔๙๙] อนิจฺจธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  11 มี.ค. 2564
หมายเลข  33857
อ่าน  1,037

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนิจฺจธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อนิจฺจธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นิด - จะ - ดำ - มะ มาจาก บทหน้า (แปลว่า ไม่) นิจฺจ (แปลว่า เที่ยง) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, ธรรม, สภาพที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน) รวมกันเป็น อนิจฺจธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า อนิจจธรรม แปลว่า สิ่งที่มีจริงที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขาร (สิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง) แม้ทั้งปวงในภพทั้งหลาย มีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่า มีแล้ว ไม่มี”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค อนิจจธรรมสูตร ได้แสดงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนิจจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่ไม่เที่ยง ดังนี้

ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อนิจจธรรม อนิจจธรรม ดังนี้ อะไรหนอ เป็นอนิจจธรรม?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า รูปเป็นอนิจจธรรม เวทนาเป็นอนิจจธรรม สัญญาเป็นอนิจจธรรม สังขารเป็นอนิจจธรรม วิญญาณเป็นอนิจจธรรม


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ คือรู้อย่างแจ่มแจ้งซึ่งสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมาก มายนับไม่ถ้วน ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงให้ประโยชน์กับคนอื่นจากแต่ละคำของพระองค์ ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่แสนไกล หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่พระองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาต่อไปในสังสารวัฏฏ์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมาจากการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกขณะ ทุกกาลสมัยด้วย

พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีล้าสมัย เป็นประโยชน์ทุกเมื่อ ประโยชน์ที่พระองค์ทรงมอบให้กับพุทธบริษัทก็คือ ความเข้าใจซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ถ้าหากกล่าวถึงการที่จะให้อะไรแก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้า และอาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง และไม่ได้ติดตามไปในภพหน้าได้เลย แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้คนเกิดความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจนั้น ไม่หมด เพราะเหตุว่า สะสมสืบต่อไปจนกระทั่งสามารถรู้ความจริงจนถึงความเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขึ้นได้ จึงแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ประเสริฐที่สุด มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์

สำหรับคำว่า อนิจจธรรม หรือ สิ่งที่มีจริงที่ไม่เที่ยงนั้น ก็ต้องฟังให้เข้าใจว่า มีในขณะนี้จริงๆ ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทุกขณะไม่พ้นไปจากอนิจจธรรมเลย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แม้จะไม่เรียกชื่อ แต่ความเป็นจิรงของสภาพธรรมก็ไม่เปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น โดยประมวลแล้ว ธรรมที่มีจริงๆ ที่ไม่เที่ยงนั้น ก็คือ ขันธ์ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) ทั้ง ๕ นั่นเอง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างสิ้นเชิง

ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ๕๐ ประเภท มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑ แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เกื้อกูลให้เริ่มเข้าใจ ว่า ต้องมีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด เป็นขันธ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย ไม่เที่ยง เพราะต้องดับไป ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ

เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และ เห็น ก็มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงประมวลได้ว่า ในขณะที่เห็น มีอะไรบ้างที่เป็นขันธ์ กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปขันธ์ และ เห็น ซึ่งเป็นจิตประเภทหนึ่ง ก็เป็นวิญญาณขันธ์ และในขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๕ ที่เกิดร่วมกับจิตเห็น คือ ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เจตนา (สภาพที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจหน้าที่) เอกัคคตา (สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพที่เกิดขึ้นทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ (สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์) ก็เป็นสังขารขันธ์ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน นี้คือ การยกตัวอย่างให้เข้าใจถึงความเป็นขันธ์ ซึ่งเป็นอนิจจธรรม ทั้งหมด ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตนไม่ได้เลย

ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่ธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้ จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ควรหรือที่จะหลงติดข้องหลงยึดถือในสิ่งที่ไม่มี เพราะเพียงเกิดแล้วก็ดับไป? ธรรมเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความเข้าใจถูก ว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา

ไม่มีใครรู้ว่าชาติก่อนเกิดเป็นอะไร และชาติต่อไปจะเกิดเป็นอะไร แม้แต่ขณะต่อไปจะเกิดอะไร ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ จะมีชีวิตอยู่อีกนานเท่าใด ไม่มีใครรู้ได้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในแต่ละชาติ คือความเข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าทรัพย์สินเงินทองก็นำไปไม่ได้ ร่างกายของตนก็ติดตามไปไม่ได้เลย แต่ว่าความเข้าใจธรรมที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ทำให้ค่อยๆ มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เป็นที่พึ่งได้ในกาลทุกเมื่อ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 13 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Wisaka
วันที่ 13 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ