สนทนาพิเศษ จะให้ภิกษุ ลงสมัคร สสร. กระนั้นหรือ

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  14 มี.ค. 2564
หมายเลข  33876
อ่าน  707

สนทนาพิเศษ จะให้ภิกษุ ลงสมัครสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) กระนั้นหรือ

ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล คอลัมนิสต์ คอลัมน์ "ว่ายทวนน้ำ" นสพ.เดลินิวส์ออนไลน์ ในรายการสนทนาพิเศษ "จะให้ภิกษุ ลงสมัคร สสร. กระนั้นหรือ" กับ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรณพ หอมจันทร์ และ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ วิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ 

ขอเชิญคลิกชมและฟังการสนทนาได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

ข้อความบางตอนจากการสนทนา : 

ท่านอาจารย์  ได้ยินคำว่าภิกษุ ไม่มีใครไม่รู้จัก ใช่ไหม? แต่ว่า เข้าใจความเป็นภิกษุในธรรมวินัยหรือเปล่า? เพราะเหตุว่า การที่เพียงแต่แต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้านธรรมดา คนธรรมดา ครองจีวร แล้วก็มีบาตร แล้วก็ไปที่ต่างๆ หรือว่า อาจจะไปแสดงธรรม โดยไม่ต้องมีบาตรไปก็ได้ เพราะไม่ใช่เวลาที่จะบิณฑบาต เท่านั้นหรือคือภิกษุ? ไม่รู้อะไรมากกว่านั้นหรือ? ถ้าอย่างนั้น จะเข้าใจความหมายของภิกษุในธรรมวินัย ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากพระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร?

เวลาเราเห็นใครก็ตาม เรายกมือไหว้หรือเปล่า? ไม่ว่าจะไปตลาด หรือว่าไปที่ศูนย์การค้าใดๆ แต่ถ้าเห็นภิกษุ ต่างกันแล้วใช่ไหม? คนส่วนใหญ่ก็ยกมือประนมขึ้นไหว้ เพราะอะไร? เพียงแต่จีวร เท่านั้นก็ไหว้ เพราะเขารู้ว่า คนอื่นที่จะสวมใส่จีวรไม่ได้ นอกจากภิกษุในธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น เขาเคารพในความเป็นภิกษุ ซึ่งละอาคารบ้านเรือน คนที่ไปศูนย์การค้า ไปตลาด หรือไปที่ไหนๆ ก็เป็นผู้ที่ครองเรือน ไม่มีเพศที่แสดงออกว่าเป็นผู้ที่ "ละอาคารบ้านเรือน" ไม่ใช่เท่านั้น "ละทุกอย่างที่เป็นกิจของคฤหัสถ์" สู่เพศของการสละ ละทั่ว เพื่ออะไร? ทำไมจึงทำอย่างนั้น? เพื่อที่จะศึกษาพระธรรมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็อบรมเจริญปัญญา ที่จะถึงความรู้ที่ได้เข้าใจถูกต้องแล้ว

เพราะเหตุว่า "ความรู้มีหลายขั้น" ความรู้ขั้นฟังเฉยๆ แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะ ตรงตามที่ได้ฟัง นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษา มีใครรู้จักภิกษุไหม? ว่าภิกษุ เป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม และต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งผู้ที่ทรงบัญญัติ มีพระองค์เดียว คนอื่นบัญญัติพระวินัยไม่ได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้วยเหตุใด? เพราะเหตุว่า พระองค์ทรงตรัสรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง แม้แต่สิ่งที่คนไม่เห็น ว่าการที่จะสละจริงๆ ถึงการดับกิเลสหมด เป็นพระอรหันต์ ต้องเป็นเพศบรรพชิต เพราะเหตุว่า คฤหัสถ์ สามารถที่จะศึกษาธรรมะ อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ท่านวิสาขามิคารมารดา ท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านจิตตคฤหบดี หมอชีวกโกมารภัจจ์ ทั้งหมด เป็นสาวกที่เป็นพระอริยเจ้า เป็นสังฆรัตนะ ในอดีต ในสมัยพุทธกาล ไม่ได้บวช

เพราะฉะนั้น เพศบรรพชิต เป็นเพศที่สูงมาก เป็นเพศของพระอรหันต์ ใครก็ตาม ที่สวมใส่จีวรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตว่าให้อุปสมบท ต้องประพฤติตามที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติว่า อะไรเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า กิเลสมีมาก ถ้า "กิเลสอย่างหยาบ" ยังมีอยู่ แล้วไม่รู้ แล้วจะขัดเกลาให้ถึงดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลย ได้อย่างไร?

ด้วยเหตุนี้ ต้องรู้จักว่า ความเป็นเพศบรรพชิต เป็นเพศที่สูงมาก เป็นเพศที่ยากมาก เพราะเหตุว่า ละเพศคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง จากคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิต ยากไหม? แม้พระภิกษุในพระธรรมวินัยในครั้งพุทธกาล ก็ได้แสดงความจริงว่า เพศภิกษุ ผู้รักษาพรหมจรรย์ เป็นเพศที่ยากอย่างยิ่ง ในการที่จะประพฤติด้วยความเห็นโทษของกิเลส จึงละกิเลสทุกอย่าง แต่ถ้าไม่เห็นโทษ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกิเลส ก็ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่ละกิเลส (แต่)ทำทุกอย่าง อย่างคฤหัสถ์ ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย 

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เพียงเห็นภิกษุเดินมา และตอนเช้าก็มีบาตรด้วย เดินบิณฑบาต แต่พอเปิดฝาบาตร ข้างในนั้นเต็มไปด้วยเงิน นี่เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยหรือเปล่า? ทุกอย่างเป็นจริง ต้องตรงต่อความเป็นจริงว่า ผู้นั้น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย

เมื่อผิดต้องแก้ ถ้าปล่อยไป ก็ไม่มีวันที่จะถูกได้ และอีกประการหนึ่ง ก็คือว่า คำว่าสายเกินไป หมายความว่า เดี๋ยวนี้ไม่ทำ

เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มทำเดี๋ยวนี้ ก็จะไม่สายเกินไป ถ้าทุกคนเห็นประโยชน์จริงๆ และร่วมแรงร่วมใจ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ในการที่เราบอกว่า เราเป็นชาวพุทธ หมายความว่า ต้องศึกษาให้เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คิดเอง แล้วก็ทำลายคำสอนของพระองค์

ติดตามการสนทนาต้นฉบับ ของ มศพ. ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง : 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ