[คำที่ ๕๐๐] คหการ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “คหการ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คหการ ตามภาษาบาลีว่า คะ - หะ - กา – ระ มาจากคำว่า คห (เรือน) กับคำว่า การ (ผู้กระทำ) รวมกันเป็น คหการ แปลว่า ผู้ทำเรือน, ผู้สร้างเรือน, นายช่างผู้สร้างเรือน คำนี้มีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะแสดงความเป็นจริงของโลภะหรือตัณหา ซึ่งเป็นความติดข้องต้องการ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้หมดสิ้น ก็ยังต้องมีการเกิด ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ แต่เมื่อใดที่ปัญญาเห็นโลภะหรือตัณหาตามความเป็นจริงแล้วสามารถละได้หมดสิ้น ก็จะไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพบนายช่างผู้สร้างเรือนแล้วและดับได้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานคือเปล่งคำที่ประกอบด้วยโสมนัส ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้
“เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิด บ่อยๆ เป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่านแล้ว ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้ ซี่โครงทุกซี่ (กล่าวคือ กิเลสทั้งหมดที่เหลือ) ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือน (คือ อวิชชา) เราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เพราะเรา บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่โลภะหรือตัณหาซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวันยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ โลภะมีมากจริงๆ
โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจของตน คือ ติดข้อง ไม่สละ ไม่ปล่อยให้จิตเป็นกุศล และลึกไปกว่านั้น ไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ เพราะผู้ที่สิ้นโลภะอย่างเด็ดขาดก็คือ พระอรหันต์ ซึ่งเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความเป็นจริงก็เป็นจริงอย่างนี้ แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า อกุศลเกิดขึ้นตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในวัตถุต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วยโลภะ ย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิดขึ้นเป็นไป
เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ ซึ่งในขณะที่กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรม เนื่องจากว่าอกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย
บุคคลผู้มีโลภะมากๆ ติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ ติดข้องไม่มีที่สิ้นสุดตามกำลังของโลภะของผู้นั้น ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้อย่างเด็ดขาด การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไป
เมื่อกล่าวถึงโลภะแล้ว ยังเป็นนายช่างผู้สร้างเรือนอีกด้วย กล่าวคือ ทำให้มีการเกิด ทำให้มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป เพราะเหตุว่า เรือน คือ สังสารวัฏฏ์ สังสารวัฏฏ์ ก็คือ ขณะนี้เอง ทุกขณะที่สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับโลภะได้หมดสิ้น ก็ยังต้องมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไม่สิ้นสุด แม้เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ก็ยังไม่ทรงเปล่งอุทานว่าเราได้พบนายช่างผู้สร้างเรือน จนกระทั่งเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้ จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความโสมนัสที่ทรงทอดพระเนตรเห็นนายช่างผู้สร้างเรือน ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาเท่านั้นจึงจะเห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงละเอียดลึกซึ้งและต้องพิจารณา ไตร่ตรอง ให้เข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าผู้ที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำของพระองค์เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย
บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง เห็นโทษเห็นภัย แล้วมีการขัดเกลา และกุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้น การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ