สุญญตา นี้เป็นชื่อของโลกุตรมรรค
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 615
คำว่า สุญญตา นี้เป็นชื่อของโลกุตรมรรค จริงอยู่ โลกุตรมรรคนั้น ย่อมได้ชื่อเพราะเหตุ ๓ อย่าง คือ
เพราะการบรรลุ ๑
เพราะคุณของตน ๑
เพราะอารมณ์ ๑
ถามว่า ข้อนี้ เป็นอย่างไร
ตอบว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยอยู่โดยความเป็นอนัตตาย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นอนัตตา แต่ธรรมดาว่า การออกจากสังขตธรรมด้วยมรรค (มรรควุฏฐานะ) ย่อมไม่มีโดยเพียงเห็นโดยความเป็นอนัตตาเท่านั้น การเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงบ้าง โดยความเป็นทุกข์บ้าง จึงสมควรเพราะฉะนั้น เธอจึงยกขึ้นสู่อนุปัสสนา ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา แล้วพิจารณาอยู่ ท่องเที่ยวไป ก็วิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินีของภิกษุนั้น ย่อมเห็นสังขารทั้งหลายแม้อันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยความเป็นของสูญ (ว่างเปล่า) ทีเดียว
วิปัสสนานี้ชื่อว่า สุญญตา วิปัสสนานั้นดำรงอยู่ในฐานะที่ควรบรรลุ จึงให้ชื่อมรรคของตนว่า สุญญตะ
มรรคย่อมได้ชื่อว่า สุญญตะ เพราะการบรรลุด้วยประการฉะนี้ แต่เพราะมรรคนั้นสูญจากราคะ เป็นต้นฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า สุญญตะ ด้วยคุณของตน.
แม้พระนิพพาน ท่านก็เรียกชื่อว่า สุญญตะ เพราะเป็นสภาวะสูญจากราคะเป็นต้น มรรคย่อมได้ชื่อ สุญญตะ โดยอารมณ์เพราะความที่มรรคนั้นทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น
บุคคลเห็นอยู่ซึ่งสิ่งใด สิ่งนั้น ชื่อว่า อันเขาเห็นแล้วก็หาไม่ สิ่งใด อันเขาเห็นแล้ว เขาชื่อว่าย่อมไม่เห็นซึ่งสิ่งนั้น บุคคลผู้หลง เมื่อไม่เห็นย่อมติด เมื่อติด ก็ย่อมไม่หลุดพ้น