ปฏิบัติสมาธิให้จิตว่าง ทำให้พิจารณาสิ่งที่มากระทบได้ไวขึ้น จริงหรือ?

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 มี.ค. 2564
หมายเลข  33951
อ่าน  512

วิชชุดา : ขอเรียนถามด้วยความเคารพค่ะ

เมื่อดิฉันเข้าใจความจริงของการเกิดดับ ของจิต เจตสิก รูป ดังที่อาจารย์ได้ถ่ายทอดธรรมของสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พิจารณาไต่ตรองได้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง มีข้อเรียนถามท่านเพื่อเป็นไปเพื่อความถูกต้องดังนี้

ในชีวิตประจำวันต้องคลุกคลีกับผู้คนในทุกที่ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยอารมณ์ต่างไปกัน ส่งผลให้เผลอจิตออกไปทางกิเลสตามที่ได้กระทบ จึงหาทางออกโดยปลีกตัวเพื่อปฏิบัติสมาธิ พิจารณาสิ่งที่เกิดดับของความคิดที่เกิดดับในจิตด้วยสติสัมปชัญญะ จิตว่างเกิดขึ้นจิตสงบเย็น เมื่อออกจากความสงบ การกลับมาคลุกคลีกับผู้คนอีก สติเข้มแข็งขึ้นเมื่อกระทบทางตา ทางเสียง จิตเริ่มเบรคอารมณ์ด้วยสติ จิตว่างและกลับมาพิจารณาได้ไวขึ้นค่ะ

เมื่อนึกถึงคำสอนของอาจารย์สุจินต์เมื่อรู้ความเป็นจริงจะทำสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงใคร่ขอคำอธิบายเพื่อเป็นแนวทางธรรมในความจริงแท้ค่ะ

กราบด้วยความเคารพค่ะ

อ.ณภัทร :

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจความจริงที่กำลังมีอยู่ทุกขณะ ซึ่งไม่สามารถจะรู้เองได้เลย ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นพระมหากรุณาคุณที่พระองค์ได้ทรงแสดงหนทางเพื่อที่จะรู้ความจริงจนถึงที่สุด โดยเริ่มจาการฟังพระธรรม พิจารณา ไตร่ตรอง ในแต่ละคำที่ได้ฟัง เพื่อที่จะได้มีความเห็นที่ถูกต้อง และเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคงในที่สุด

จากคำถามของคุณ วิชชุดา พอจะสรุปความดังนี้ว่า ในชีวิตประจำวันจะพบกับความวุ่นวายต่างๆ ที่มากระทบทำให้จิตเป็นไปตามกิเลส จึงหาทางออกปลีกตัวไปปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้จิตว่าง สงบเย็น จะได้พิจารณาอะไรๆ ที่มากระทบได้ไวขึ้น จากที่คุณวิชชุดากล่าวมาดูเหมือนว่า สมาธิจะช่วยให้มีการพิจารณาอะไรที่มากระทบได้ไวขึ้น ดูเป็นเรื่องราวและมีหลายคำ เช่น สมาธิ จิตว่าง จิตเบรคอารมณ์ด้วยสติ

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นๆ และ ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้องในแต่ละคำครับ อย่างคำว่า สมาธิ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง แล้วมีลักษณะ คือตั้งมั่นในอารมณ์ (อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่ถูกจิตรู้) ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นมิจฉาสมาธิ ฉะนั้นสมาธิจึงต้องเกิดกับจิตทุกขณะโดยไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น

ดังนั้นควรศึกษาเรื่อง จิต เจตสิก รูป ให้เข้าใจโดยละเอียดก่อนครับ มิเช่นนั้นก็จะมีแต่ตัวเราไปทำทั้งหมดเลย แต่ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงเลยว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เป็นจิต เจตสิก และรูป ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดก็จะทำให้หลงเข้าใจผิดได้และเป็นไปตามความคิดของเราเองซึ่งไม่ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคแสดงครับ

ส่วนคำว่า จิตว่าง เราก็คิดเองว่า ขณะที่ไม่คิดอะไรนั้นคือจิตว่าง แต่ตามความเป็นจริง จิตนั้นเป็นสภาพรู้เท่านั้นครับ ไม่ได้ว่างอย่างที่เข้าใจ แต่ถ้าจะพูดในความหมายที่ถูกต้องคือจิตนั้นสามารถเป็นจิตที่สงบได้ เพราะสงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่าจิตในขณะที่สงบนั้นมีเจตสิกที่เป็นเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยจึงเป็นกุศลจิต เป็นความละเอียดอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้เข้าใจผิด ว่ามีตัวเรา มีแต่ธรรมที่เกิดแล้วก็ทำหน้าที่ของตนๆ เช่น จิตก็ทำหน้าที่รู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้นก็ทำหน้าที่ของตนๆ เช่น ถ้าจิตขณะนั้นมีความชอบ ให้ทราบว่าโลภเจตสิกที่เกิดกับจิตในขณะนั้นก็ทำหน้าที่ติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏแล้ว แล้วยังมีเจตสิกอื่นๆ อีกที่เกิดกับจิตที่ชอบในขณะนั้นก็ทำหน้าที่ของตนๆ เช่น เวทนาเจตสิก ที่เกิดกับจิตขณะที่ชอบนั้นอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ถึงกับโสมนัส (ชอบมาก) ก็ได้ เป็นต้น ซึ่งเวทนาเจตสิกก็ทำหน้าที่ของเค้า ไม่มีตัวเรา ไม่มีเวทนาของเรา แต่มีสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เช่น เวทนา สมาธิ เป็นต้นครับ ค่อยๆ เข้าใจถูกว่าไม่มีเราครับ

ส่วนคำพูดที่ว่าจิตจะไปเบรคอารมณ์ด้วยสติ จิตจะไปเบรคอะไรไม่ได้เลยครับ นอกจากทำหน้าที่รู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏครับ ส่วนการที่จะระลึกในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ไม่มีตัวเราที่จะไปจงใจให้ระลึกในสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เป็นกิจของเจตสิกหนึ่ง ที่เรียกว่า สติเจตสิก ที่มีกิจหน้าที่คือ ระลึก ซึ่งสติก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ สติขั้นทาน ที่ระลึกเป็นไปในการให้ สติขั้นศีล ที่ระลึกเป็นไปในการงดเว้นการกระทำที่ไม่ดี ทางกาย วาจา ใจ และสติปัฏฐาน ที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และที่สำคัญ สติไม่สามารถจะเกิดได้ตามความต้องการ แต่สติจะเกิดขึ้นก็โดยความเป็นอนัตตา เพราะเหตุคือได้มีการฟังพระธรรมเริ่มต้นตั้งแต่ ธรรมคืออะไร จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร รูปคืออะไร สติคืออย่างไร เป็นต้น

ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก จนเป็นความเข้าใจที่มั่นคง ก็จะเข้าใจในความเห็นอนัตตา ตั้งต้นอย่างนี้ จึงเรียกว่าตั้งตนไว้ชอบครับ เพราะหนทางที่จะนำไปสู่การเป็นพระอริยะบุคคล ต้องเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ตั้งแต่ขั้นการฟังครับ แล้วเจตสิกธรรมฝ่ายดีทั้งหลาย เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ และสุดท้าย ปัญญาเจตสิก ก็จะทำหน้าที่ของปัญญา คือละอกุศลธรรมทั้งหลายไปตามลำดับ ไม่มีตัวเราที่จะไปทำหน้าที่ละอกุศลแทนปัญญา และปัญญาก็ไม่ใช่ปัญญาของเรา เพราะปัญญาเพียงเกิดแล้วก็ดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว จะเป็นของเรา หรือของใครไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างนี้

ศึกษาความละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง จิต เจตสิก รูป ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้ครับ

จิตปรมัตถ์ แผ่นที่ ๑

เจตสิกปรมัตถ์

เรื่อง รูปปรมัตถ์

จิต เจตสิก รูป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ