เป็นผู้นำสงฆ์ แต่ไม่รู้ธรรมะ มีประโยชน์ไหม?

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  1 เม.ย. 2564
หมายเลข  33973
อ่าน  822

อ.จริยา เจียมวิจิตร : ประเด็นที่บอกว่า ไม่สามารถจะแก้ไขได้ในขณะนี้ ไม่ใช่เพราะตัวกฏหมาย ในตัว กฏหมายคณะสงฆ์ มาตรา ๑๕ ตรี เขียนไว้ให้ชัดเลย ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องทำ ใน ๑๕ ตรี นี้ เป็นอำนาจมหาเถรสมาคม อำนาจของมหาเถรสมาคมมีข้อหนึ่ง ซึ่งเราเคยสนทนากันหลายครั้งแล้ว "..รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา.." หลังจากนั้น ก็บอกให้ มหาเถรสมาคม มีอำนาจออกกฏมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบคำสั่ง กติกา มติ อะไรต่างๆ แต่ต้องออกให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียนตอนต้นว่า ไม่มีทาง เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ไม่มีทาง เพราะองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ มหาเถรสมาคม ไม่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองมีหน้าที่ หน้าที่ของท่านคือ รักษาพระธรรมวินัย แต่กลับไปออกกฏ อย่างกฏเร็วๆ นี้ที่เราเห็น เรื่องที่มีหนังสือบอกกับกรมการขนส่งฯ ว่า ถ้าพระมาขอใบขับขี่ ให้แจ้งพระว่า ถ้าทำผิดแล้ว จะถูกจับเหมือนกับประชาชน อย่างนี้แปลว่าอะไร? แปลว่ายอมให้ทำได้ ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ขัดพระธรรมวินัยไหม? ก็แปลว่า ท่านไม่รักษาหลักพระธรรมวินัย ตามที่กฏหมายเขียนไว้ เพราะฉะนั้น ที่กราบเรียนตอนต้นว่า ไม่มีทาง ไม่มีทางเพราะเหตุที่ว่า องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลพระพุทธศาสนาในขณะนี้ ไม่กระทำตามพระธรรมวินัยที่ท่านมีอำนาจ ที่จะดูแลพระทั้งหลาย ให้รักษาพระธรรมวินัย

อ.สุจินต์ : ก็ขอกล่าวถึงต้นเหตุ ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่า เถระ คือ อะไร? ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ต้น ไม่อย่างนั้น ดูเหมือนว่าเรามีเถรสมาคม แต่เข้าใจคำว่าเถระหรือความเป็นเถระหรือเปล่า? ถ้าไม่เป็นเถระ แล้วจะเป็นเถระสมาคมได้หรือ? เพราะฉะนั้น เถระคืออะไรคะ?

อ.คำปั่น อักษรวิลัย : โดยความหมายของเถระ ก็คือ ผู้ที่มั่นคง แต่ว่า ในอรรถกถา สังคีติสูตร จะมีคำอธิบายถึงเถระไว้ ๓ ประเภท คือ เป็นเถระโดยการบวชนาน ก็มี เป็นเถระโดยการบวชเมื่อแก่ ก็มี แต่ว่า ถ้าจะเป็นเถระจริงๆ ผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ เรียกว่า "ธรรมเถระ" เป็นผู้ที่ทรงธรรมะ มีความเข้าใจธรรมะและพระวินัย

อ.สุจินต์ : เพราะฉะนั้น ความเป็นเถระ ใครเปลี่ยนไม่ได้ ว่าจะเป็นเถระประเภทไหน บวชเมื่อแก่ ก็เถระแก่ ก็เรียกกันว่าเถระ หรือว่าบวชนาน แต่ไม่เข้าใจธรรมะ แต่อาศัยพรรษาว่าบวชนานเท่าไหร่ ความนานนั้นคือเถระ แต่ไม่ใช่เถระจริงๆ ในพระธรรมวินัย ถ้าเป็นเถระที่แท้จริง ต้องเป็น "ธรรมเถระ"

ด้วยเหตุนี้ไม่มีเถรสมาคม แต่มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา เมื่อมีการประพฤติผิดธรรมะ ไม่ใช่มีใครตัดสิน แต่พระธรรมวินัยที่ตรัสไว้นั้น เป็นผู้ที่จะรู้ว่า ผิดอย่างไร ถูกอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้ไม่รู้ธรรมะ แต่เรียกว่าเถรสมาคม จะมีประโยชน์ไหม? ในเมื่อไม่รู้ธรรมะเลย ว่าผิดอย่างไร ถูกอย่างไร พระน่ะหรือ จะขับรถยนต์ได้ มีข้อไหนในพระธรรมวินัยบอกไว้? ว่าอนุญาตให้พระภิกษุมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์

เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องสำนึกแล้วตั้งแต่ความเป็นพระ บวชนานหรือไม่นาน แต่มีความเข้าใจธรรมะไหม? เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทรงสุตตะ คือพระธรรม คือผู้ที่ถึงความเป็นพระโสดาบันแน่นอน แต่ถึงแม้ยังไม่ถึงพระโสดาบัน ความเข้าใจธรรมะถูกต้อง ซึ่งจะนำทางไปสู่การขัดเกลากิเลส ขณะนั้น ก็เป็นภิกษุในธรรมวินัย เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงภิกษุในธรรมวินัย เป็นหรือเปล่า? ถ้าไม่เป็น จะเป็นเถระ แล้วก็มีสมาคมได้อย่างไร

ติดตามชมการสนทนาฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้ : 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kullawat
วันที่ 2 เม.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ