วินัยของฆราวาสมีหรือไม่

 
pdharma
วันที่  15 เม.ย. 2564
หมายเลข  34062
อ่าน  798

วินัยของฆราวาส คือ ศีล 5 ใช่หรือไม่ครับ หรือ มีคำสอนอื่น ๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อาจถือได้ว่าเป็น วินัยของฆราวาส

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงทุกประการและการใช้ชีวิตที่ถูกต้องของบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยการแสดงความดีประการต่างๆ และ เว้นชั่วประการต่างๆ ที่เหมาะสมกับเพศแต่ละเพศคือ เพศบรรพชิต หรือ เพศคฤหัสถ์ (ฆราวาส) .

ซึ่งวินัยของฆราวาสหรือของคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ใน สิงคาลกสูตร ในเรื่อง การประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมและข้อควรเว้น และ หน้าที่ของฆราวาสตามบทบาทฐานะในแต่ละท่านครับ

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 96

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุแม้ในตอนเช้าตรู่ ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตรนั้น กำลังนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ ทรงดำริว่า วันนี้เราจักกล่าวสิงคาลกสูตรอันเป็นวินัยของคฤหัสถ์แก่สิงคาลกคฤหบดีบุตร


เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ [สิงคาลกสูตร]

อบายมุข ๖ ทิศ ๖ [สิงคาลกสูตร]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คฤหัสถ์ เป็นบุคคลผู้อยู่ครองเรือน มีชีวิตเป็นไปตามปกติตามเพศของตน ซึ่งจะแตกต่างจากเพศบรรพชิตอย่างสิ้นเชิง พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาแสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตของคฤหัสถ์ ที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ได้นั้น ก็เพราะเป็นไปกับด้วยกุศลธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม เว้นไม่กระทำในสิ่งที่ผิด ตามข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๒๒

ก็อุบาสกใดยึด เวร ๕ (ล่วงศีล ๕) อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประพฤติไว้แนบแน่น อุบาสกนี้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม. ส่วนอุบาสกปฏิบัติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ รักษาอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง ถวายทาน บูชาด้วยของหอมบูชาด้วยมาลา บำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ อุบาสกผู้นี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แม้ในอุบาสิกา ก็นัยนี้เหมือนกัน
(อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร)


[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ หน้าที่ ๓๑

“บุคคล ผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกายอยู่ครองเรือนอันมีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยนจำแนกแจกทาน รู้ความประสงค์ (ของผู้ขอ) ชอบสงเคราะห์ มีถ้อยคำกลมกล่อมอ่อนหวาน ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ดังกล่าวมานี้ ไม่พึงกลัวปรโลก (โลกหน้า) "
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก อุทยชาดก)


[เล่มที่ 64] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๐๖

“ผู้ครองเรือน พึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าว น้ำ ทุกเมื่อ
ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถแห่งธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยเคารพ
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก วิธุรชาดก)


ศีล ๕ เป็นศีลของคฤหัสถ์โดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ควรจะได้รักษา ไม่ก้าวล่วง ซึ่งไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่ต้องด้วยความเข้าใจ ว่า การกระทำในสิ่งที่ผิด ไม่ดีเหล่านั้น มีโทษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น ก็งดเว้น ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นี้เอง ที่จะอุปการะเกื้อกูลให้ความดีทั้งหลาย เจริญขึ้น รวมถึงการรักษาศีล ๕ ด้วย

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๐๑ (สังคีติสูตร) แสดงไว้ว่า ศีล ๕ ได้แก่

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)

๒. อทินนาทานา เวรมณี (การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

๔. มุสาวาทา เวรมณี (การงดเว้นจากการพูดเท็จ)

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)


ชีวิตของคฤหัสถ์ เป็นชีวิตที่ครองเรือน ยังมีเรือน ยังมีกิจหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามสมควรแก่ฐานะของตนๆ ไม่ใช่ว่าเป็นคฤหัสถ์แล้วจะกระทำตัวเหมือนอย่างเพศบรรพชิตทุกอย่าง ซึ่งมีอัธยาศัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากว่าเพศบรรพชิตเป็นเพศที่สละอาคารบ้านเรือน สละกองแห่งทรัพย์สมบัติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง เพื่อเข้าสู่พระธรรมวินัยอบรมเจริญปัญญาและขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ ด้วยความจริงใจ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ย่อมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามระดับขั้นของปัญญาของแต่ละบุคคล เพศจึงไม่เป็นเครื่องกั้นในการได้รับประโยชน์จากพระธรรมเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมหรือไม่? ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ไม่ฟังพระธรรม เมื่อไม่ฟังพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเจริญขึ้นได้เลย ก็เป็นผู้มากไปด้วยความไม่รู้ต่อไป ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก

คฤหัสถ์ที่ดำรงชีวิตอย่างพอเหมาะ ขยันในการประกอบอาชีพการงานที่สุจริตถูกต้องตรงตามพระธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ อันจะเป็นเครื่องประคับประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน เมื่อได้ทรัพย์มาด้วยความสุจริตแล้ว ก็รู้จักใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น อีกทั้งไม่เป็นหนี้ใครๆ และ ประกอบการงานอันปราศจากโทษ ซึ่งได้แก่ ความดีทุกประการ สะสมเป็นเหตุที่ดี นั้น ย่อมเป็นชีวิตที่มีความสุขตามสมควรแก่เพศของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นความสุขที่คฤหัสถ์พึงได้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล ความดีทั้งหลายทั้งปวง คล้อยไปตามความเข้าใจที่เจริญขึ้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 16 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ