บวชแล้วไม่ศึกษาธรรมะ บวชแล้วเป็นพระรับเงิน ไม่ใช่เนื้อนาบุญ

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  17 เม.ย. 2564
หมายเลข  34069
อ่าน  564

อ.สุจินต์  : ภิกษุ คือ ผู้ที่สละเพศคฤหัสถ์ สละทั่วทุกประการที่เคยทำในเพศคฤหัสถ์ สู่การได้เข้าใจพระธรรม ฟังพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปฏิบัติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เท่านั้น จึงจะเป็นภิกษุ

เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาวิชาอื่นทางโลก ผู้นั้นที่ว่าเป็นภิกษุ ที่ไปศึกษาวิชาต่างๆ ทางโลก จะสนทนากันเรื่องอะไร? ไม่ได้สนทนาธรรมกันเลยใช่ไหม? เพราะศึกษาสิ่งใด ก็สนทนาสิ่งนั้น ศึกษาเรื่องนั้นเรื่องนี้ พยายามขวนขวายที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ศึกษามากขึ้น ไม่ได้กระทำกิจใดๆ ของภิกษุในพระธรรมวินัยเลย อาบัติ เป็นการประพฤติผิดต่อพระธรรมวินัย เป็นโทษด้วย

เพราะฉะนั้น มีการสวดพระปาฏิโมกข์ ทบทวนให้รู้ว่า สิ่งที่ภิกษุจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยคืออะไร เพื่อให้รู้ ให้สำนึก ให้ทบทวนว่า ได้ปฏิบัติผิดจากพระธรรมวินัยบ้างไหม? เมื่อสำนึกแล้วเห็นว่าเป็นโทษ ก็มีการที่จะปลงอาบัติ อนุญาตให้ปลงอาบัติ สำนึกถึงความผิด แล้วก็แสดงความประสงค์ที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป  มิฉะนั้นจะมีประโยชน์อะไรกับการที่จะมีการสวดปาฏิโมกข์ ในวันอุโบสถ บ่อยๆ ไหม? วันอุโบสถ ไม่ใช่มีครั้งเดียว 

เพราะฉะนั้น ชีวิตของพระภิกษุ มีโอกาสที่จะพลาดพลั้งได้ โดยความไม่รู้สึกตัว ไม่สำนึกในขณะนั้น แต่เมื่อทำแล้ว ต้องรู้ ว่าสิ่งที่ทำนั้น ผิดจากพระธรรมวินัย ผิดแล้วจะทำอย่างไร? ปลงอาบัติ ด้วยความสำนึกว่าจะไม่ทำอีก ไม่ใช่ปลงแล้วทำอีก ปลงแล้ว ทำอีก ปลงแล้ว ทำอีก 

เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ก็สมควรที่จะรู้ด้วย ว่าพระภิกษุ เป็นพระภิกษุที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ตามสมควรที่คฤหัสถ์สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น พระภิกษุ ไม่รับ และไม่ยินดี ในเงินและทอง เพราะฉะนั้น เห็นภิกษุใดรับเงิน เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยหรือเปล่า? บวชเพื่อรับเงิน หรือว่าบวชเพื่อขัดเกลากิเลส  โดยการศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ และประพฤติตามพระวินัยบัญญัติ นั่นจึงเป็นภิกษุในธรรมวินัย ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญ

เพราะเหตุว่า เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็แสดงธรรมะ ตามที่ตนได้ศึกษาแก่คฤหัสถ์ ซึ่งไม่ได้สละเพศเป็นภิกษุ แต่ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมะได้ อบรมเจริญปัญญาได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่สะสมมาที่จะเป็นคฤหัสถ์ จึงไม่สามารถที่จะกระทำสิ่งที่ยากยิ่งคือการบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย

มีเสรีภาพไหม? ต้องบวชตามสมัครใจ และต้องประพฤติตามพระธรรมวินัย บวชแล้วจะมีเสรีภาพอย่างคฤหัสถ์ได้ไหม ในเมื่อสมัครใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครไปชักชวนหรือว่าบังคับ หรือฝืนใจ ที่จะต้องเป็นพระภิกษุ

เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่รู้ว่าไม่สามารถที่จะดำรงเพศภิกษุได้ สามารถที่จะลาสิกขาทันที ทันทีด้วย ตามพระธรรมวินัย ประกาศ บอก ให้คนอื่นได้รู้ ว่าต่อไปนี้ ไม่เป็นภิกษุอีกต่อไป ถ้าพุทธบริษัทไม่เข้าใจว่าภิกษุคือใคร พุทธบริษัทส่งเสริม ทำลาย ให้ภิกษุประพฤติผิด เป็นโทษอย่างยิ่ง

เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทด้วยพระองค์เองใช่ไหม? ไม่ใช่เราพูดเอง เถรวาทะ(เถรวาท)มั่นคง ในคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ เพราะผู้บัญญัติ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ติดตามบันทึกการสนทนาฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ด้านล่าง : 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ