การจะศึกษาสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ให้เข้าใจ จำเป็นต้องเพิกถอนสมมติบัญญัติทิ้งให้หมดหรือไม่

 
apiwit
วันที่  17 เม.ย. 2564
หมายเลข  34074
อ่าน  654

คือ การศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตัวสภาพธรรมจริง ๆ แล้ว มันไม่มีชื่อ แต่ชื่อเป็นเพียงสมมติบัญญัติที่เรานำไปสวมทับเพื่อจะได้รู้ว่ากำลังกล่าวถึงสิ่งใด หรือกำลังพูดถึงสภาพธรรมอะไร เช่น พูดถึงแข็ง สภาพแข็งจริง ๆ มันไม่ได้มีชื่อเรียกว่าแข็ง แต่คำว่า แข็ง เป็นเพียงสมมติบัญญัติ บัญญัติว่าสภาพธรรมลักษณะอาการอย่างนี้เรียกว่าแข็ง แต่ในความเป็นจริง แม้จะไม่ได้บัญญัติอะไร แต่แข็งก็ปรากฏอยู่แล้วทุกขณะโดยที่ไม่มีชื่อเรียก ดังนั้น แม้จะเรียกเป็นอย่างอื่น จะเรียกเป็นอ่อนหรืออะไรก็ตาม แต่ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ยังคงปรากฏเป็นไปอย่างนั้น เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย สภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มีจริงเมื่อปรากฏ เรียกว่า ปรมัตถ์ ก็คือ สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้นี่เอง แต่ไม่ได้มีชื่อเรียก ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นอะไรอยู่แล้วแต่แรก ความหมายก็เป็นเพียงชื่อสมมติที่เราเอาไปสวมทับมันเพื่อที่จะเอ่ยถึงมันเท่านั้นเอง อย่างวันนี้ผมคุยกับคนในบ้านว่าฤดูนี้เป็นฤดูอะไร มีบางคนตอบว่าหน้าฝน มีบางคนตอบว่าน่าร้อนเพราะยึดตามหลักการในปฏิทินอย่างแม่นยำ คนที่ตอบว่าหน้าฝนเพราะเห็นว่าช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวัน ส่วนคนที่ตอบว่าหน้าร้อนก็ยึดหลักการปฏิทินอย่างแม่นยำ ผมเลยกล่าวไปว่า ไม่ว่าจะตอบว่าฤดูอะไร ก็เป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงสมมติบัญญัติ เป็นเพียงสิ่งสมมติ แต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้ แต่คนในบ้านฟังแล้วก็งง เขาก็ตอบว่า แต่มันมักจะเป็นจริงอย่างนั้นนะ ฤดูกาลตามหลักปฏิทินไม่มีผิดเพี้ยน ไม่ได้สมมติเอาไปเรื่อย คือเหมือนเขาไม่ได้เข้าใจความหมายของผม อย่างเราบอกว่าฤดูนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ฤดูร้อนไม่มีจริง เพราะขณะนั้นเพียงคิดถึงชื่อ คิดถึงคำสมมติ ดังนั้น ฤดูร้อนไม่มีจริง แต่มีเพราะคิด แสดงว่า คิดต่างหากที่มีจริง แล้วขณะนี้ สภาพร้อนก็มีจริง เป็นธรรมะ แต่ฤดูร้อนเป็นเพียงสมมติ จะเรียกว่าฤดูอะไรก็ได้ จะเรียกว่าฤดูใบไม้ร่วงก็ได้ ไม่ถูกไม่ผิด เพราะไม่ว่าเรียกว่าอะไรก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ไม่ได้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้นั่นแหละที่จริงแท้แน่นอน เป็นปรมัตถ์ เมื่อเกิดปรากฏก็มีลักษณะเฉพาะของตน เกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับไป เป็นอย่างนี้ทุกขณะ ดังนั้น ผมจึงมองว่า ทุกวันนี้คนเราไปหลงยึดติดอยู่กับสิ่งสมมติ เพราะเชื่อในความหมายของคำหรือภาษาที่เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็หลงเชื่อในสมมติ ไปยึดถือเอาว่าเป็นจริงอย่างนั้น ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงสภาพธรรม แม้จะไม่มีชื่อเรียกแต่ก็ปรากฏอยู่ทุกขณะ อย่างคำว่าโต๊ะ เก้าอี้ มันก็เป็นสมมติ แต่เราก็เชื่อว่าเป็นโต๊ะจริงๆ เป็นเก้าอี้จริงๆ เพราะเราถูกสอนให้เชื่อในความหมายของมัน แต่เดี๋ยวนี้มีเพียงเห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอันนี้จริงแน่นอน เป็นธรรมะที่กำลังปรากฏ ส่วนโต๊ะ เก้าอี้ เป็นเพียงสิ่งสมมติ หรือถ้าถามว่าวันนี้วันอะไร ก็ต้องตอบว่าเป็นวันเสาร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว วันเสาร์ก็ไม่ได้มีอยู่จริง ก็แค่ตอบไปตามสมมติที่คนเขาเรียกกัน ไม่ว่าวันไหนๆมันก็ไม่มีจริงทั้งนั้น ถ้าไม่คิดจะเอ่ยชื่อเสียอย่าง แต่ที่มีจริงแน่ ๆ คือ สภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ดังนั้น ผมจึงอยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การที่สติจะระลึกศึกษาตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จำเป็นต้องถอนสมมติบัญญัติทิ้งไปให้หมดหรือไม่ บางสำนักก็สอนว่า เวลารับรู้อะไรก็สักแต่ว่าไป อย่าให้มีความหมายว่าเป็นอะไรเด็ดขาด คล้ายๆกับหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพระพาหิยะ จะได้ไม่ไปหลงอยู่กับสมมติ จะได้มุ่งศึกษาแต่ปรมัตถ์อย่างเดียว ก้าวข้ามสมมติบัญญัติไป ตรงนี้ขอท่านอาจารย์โปรดชี้แนะด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แม้พระพุทธเจ้าก็เห็นเป็นท่านพระอานนท์ เห็นเป็นท่านพระสารีบุตร เห็นจีวร บาตร เป็นบัญญัติเรื่องราว นี่คือความจริงของ จิตนิยาม ธรรมชาติของจิต และ วิถีจิต คือ เมื่อเห็นแล้วก็เกิดวิถีจิตทางใจ ต้องคิดนึกต่อเป็นเรื่องราว ไม่ว่าใคร แต่ปัญญาของพระอริยสาวก ย่อมรู้ความจริงในขณะที่เป็นเพียงปรมัตเกิดก่อน เช่น สี ปรากฎกับการเห็น ก็รู้ความจริงว่าไม่ได้เห็นใคร สีเป็นสี ไม่มีใคร และเข้าใจถูกว่าหลังเห็นคิดนึกต่อ จิตที่คิดมีจริง เรื่องราวไม่มีจริง

จึงไม่มีใครห้ามการคิดเป็นเรื่องราวได้ แต่หนทางที่ถูกคือเข้าใจปรมัตที่กำลังว่าไม่ใช่เราเป็นธรรม ครับ

เห็นสักแต่ว่าเห็น ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นเฉยๆ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของปัญญาครับ เห็นแล้วก็รู้ว่าเห็นเป็นธรรมหรือเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่เห็นเฉยๆ ไม่รู้อะไร ดังคำที่นิยมพูดกันว่าเห็นแล้วก็อย่าปรุงแต่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่ถูก เป็นไปไม่ได้เมื่อเห็นแล้วจะไม่ปรุงแต่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขณะที่เห็นปัญญาสามารถเกิดต่อรู้ว่าเป็นธรรม รู้ด้วยปัญญาจึงเป็นเห็นสักแต่ว่าเห็น เปรียบเหมือนจิตเห็นที่เห็นรูปแล้วก็ไม่ติดข้องเพราะเป็นเพียงการเห็นฉันใด การเห็นสักแต่ว่าเห็นด้วยปัญญาก็ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น สักแต่ว่าเห็นฉันนั้น ส่วนคำว่าเห็นไม่รู้ว่าเห็น ก็ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม เป็นเรื่องของความไม่รู้ครับ

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 127

ความบางตอนจาก

พาหิยสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มีในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์. ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพาหิยทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม พาหิยสูตร และ อรรถกถาพาหิยสูตร ...

พาหิยสูตร - การตรัสถึงที่สุดทุกข์ - ๒๙ ก.ย. ๒๕๕o

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่ธรรมเท่านั้น เมื่อเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ เป็นใครได้อย่างไร เพราะเป็นธรรม ธรรมที่เป็นสภาพรู้ธาตุรู้นั้น มี ๒ ประะภท คือ จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น (พร้อมด้วยเจตสิก) ก็ย่อมรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ โดยที่จิตเท่านั้นที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป ชีวิตประจำวัน จิต (และเจตสิก) จึงรู้ได้ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ ซึ่งเมื่อศึกษาไปตามลำดับก็จะเข้าใจได้ว่า ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ เช่น สี เสียง เสียง กลิ่น รส กุศล อกุศล เป็นต้น ส่วนสมมติบัญญัติ ไม่มีมีจริง จิตรู้บัญญัติได้โดยจิตคิดถึง ชื่อสัณฐาน เรื่องราวของปรมัตถ์ เพราะมีปรมัตถ์ บัญญัติจึงมีได้ เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม  จึงไม่ใช่การทิ้งสมมติบัญญัติ แต่เข้าใจความเป็นจริง ในความเป็นสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงๆ เพราะมีสภาพธรรม เท่านั้น จึงมีสมมติบัญญัติ ไม่ปะปนกัน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mana.amo
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ