ปฏิบัติ คืออะไรคะ

 
Kidza_eiei
วันที่  20 เม.ย. 2564
หมายเลข  34093
อ่าน  771

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

เท่าที่ฟังท่านอาจารย์สอนให้ฟังให้เข้าใจ ให้มั่นคง พออธิบายเรื่องปฏิบัติ ก็จะสอนให้ไปฟังธรรมให้เข้าใจตามลำดับ

ปฏิบัติ คือ อะไรคะ เป็นอย่างไร ตามด้านบน ก็ไม่อธิบายว่าปฏิบัติ เป็นอย่างไร ชัดเจนบอกเพียงว่า

1. เข้าใจธรรมะ

2. ตามลำดับ

รบกวนอธิบายเรื่องององ ปฏิบัติ ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนสนทนาคุณสุกัญญาครับ

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า“ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิด ให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม  และรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่เป็นปกติ สมกับคำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีเราที่จะไปบังคับสภาพธรรม ไม่มีเราที่จะให้เป็นคนดี หรือ ให้ไม่ทำไม่ดี เพราะธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยและไม่ใช่เรา เมื่อไม่ใช่เรา ก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ หนทางที่ถูกต้อง คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป โดยเข้าใจถูกเสมอว่าเป็นแต่เพียงธรรม แม้ในขั้นการฟัง อกุศลเกิดขึ้นก็เป็นปกติธรรมดา เพราะเป็นปกติที่เป็นธรรม กุศลเกิดขึ้น จะน้อยมากก็เป็นธรรมดา ธรรมดาเพราะเป็นธรรม เมื่อเข้าใจถูกเช่นนี้ก็จะไม่เดือดร้อนที่เมื่ออกุศลเกิด หรือไม่ไปพยายามที่จะฝืน จะทำไม่ให้อกุศลเกิด แต่อบรมเหตุต่อไป คือ ฟังในหนทางที่ถูก ที่เข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การเข้าใจเช่นนี้เป็นสัจจญาณที่จะทำให้มั่นคงจนถึงที่สุด ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งกุศล อกุศลว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม ย่อมค่อยๆ ละคลายความยึดถือว่าเป็นเราเป็นสัตว์บุคคลได้ในที่สุด อันเป็นกิเลสที่จะต้องละอันดับแรก คือ ความยึดถือว่าเป็นเราเป็นสัตว์ บุคคล ครับ

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ.

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การนั่งสมาธิ แต่ เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ได้แยกจากชีวิตประจำวัน เพราะ ปฏิบัติ คือ การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในขณะที่นั่ง ในห้องปฏิบัติ ขณะนี้มีธรรมให้รู้ เห็น ได้ยิน คิดนึก โกรธ โลภ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่ควรู้ ควรรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ใช่การนั่งสมาธิแต่อย่างใดเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะที่มีความคิดนึกในเรื่องอดีต ขณะนั้นอะไรมีจริง คิดมีจริง ปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง จึงไม่ทำให้ใจเดือดร้อนว่า ยังคิดเรื่องอดีตอยู่ เพราะอยากให้ใจเป็นสมาธิ แต่ การปฏิบัติที่ถูกต้องที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน คือ การรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิด แม้แต่การคิดเรื่องอดีต คิดมีจริง ขณะที่คิด ไม่ใช่เราที่คิด แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือ จิตที่คิดนึก การรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียง จิตไม่ใช่เราที่คิด ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแล้ว เพราะมีปัญญาเกิดรู้ความจริง

ดังนั้น กล่าวได้ว่า ที่ใด เมื่อไหร่ที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นเป็นการปฏฺบัติธรรม เพราะหากไม่มีปัญญา มีแต่ความสงบนิ่ง โดยที่ไม่รู้อะไร ก็ไม่ใช่ พุทธ ผู้รู้ ที่เป็น เรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ เพราะ ปัญญานั่นเองที่จะเป็นธรรมที่สามารถดับกิเลสได้ ความไม่รู้ ความนิ่ง ความสงสัย ไม่สามารถดับกิเลสได้ ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ไม่ใช่ด้วยการนั่งสมาธิ แต่ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเมื่อใดปัญญาเจริญขึ้นมากจากการฟังพระธรรม สติและปัญญาก็จะเกิดรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องไปนั่ง หรือ อยู่ในห้อง เพราะ ธรรมมีอยู่ในชีวิตประจำวัน ขณะที่รู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ด้วยสติและปัญญาที่เกิดขึ้น อันเกิดจากากรฟังพระธรรม ขณะนั้นปฏิบัติธรรมแล้ว แม้จะไม่เรียก ไม่กล่าวว่า ปฏิบัติธรรม เพราะ สติและปัญญา ปฏิบัติหน้าที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ครับ ดังนั้นแทนที่จะพัฒนาการนั่งสมาธิ ก็มาพัฒนาความเข้าใจพระธรรมในขั้นการฟัง จะเป็นหนทางที่ถูกต้อง

ควรเริ่มจากความเข้าใจขั้นการฟัง เป็นสำคัญก่อน ไม่ใช่การไปนั่งปฏิบัติโดยยังไม่รู้เลยว่า ปฏิบัติธรรม คือ อะไร ธรรม คือ อะไร เพราะ การแสวงหาธรรม แสวงหาทางสงบ หากไม่รู้จัก แม้คำว่า สงบ ในทางธรรม ก็ไปแสวงหา สิ่งที่ไม่สงบ สำคัญว่า สงบ อันจะทำให้เกิด อกุศล คือ ความสงสัย และ ความฟุ้งซ่าน ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้คิดด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก จนเกิด อาการทางจิตได้ในอนาคต ครับ

ชาตินี้ได้มีโอกาสพบพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และ ทรงประกาศไว้ อย่าปล่อยทิ้งมรดกอันล้ำค้า คือ พระธรรม ด้วยการเป็นทายาท คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปนั่งปฏิบัติสมาธิ เพราะ ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง มรดกอันล้ำค่า จึงมีค่า และ จะได้รับมรดก ต่อเมื่อผู้นั้นมีปัญญา อันเกิดจากการฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

ผู้ร่วมสนทนา  องค์ของ การเป็นพระโสดาบัน นี่จะเป็นได้ ต้อง ประพฤติปฏิบัติ อย่างไร บ้าง ครับ

ท่านอาจารย์สุจินต์  ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ศึกษาให้เข้าใจ คบสัปบุรุษ แต่ก็ยากที่จะรู้ว่า ใครเป็นสัปบุรุษ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา จึงจะรู้ได้ ฟังธัมมะของท่าน พิจารณาด้วยความแยบคาย ประพฤติธัมมะสมควรแก่ธัมมะ เพราะเป็นเพียงหัวข้อๆ แต่หัวข้อทั้งหมดนี่ ต้องเข้าใจ มิฉะนั้น เพียงแต่อ่านเฉยๆ เราจะทำอย่างไรได้ เราต้องมีความรู้ธัมมะก่อน แล้วเรา ถึงจะ สามารถเข้าใจได้ อย่าง การที่จะรู้ว่า ใคร เป็น สัปบุรุษ หรือ ผู้ที่ประพฤติดี ตามธัมมะ ผู้ที่ประพฤติถูกต้อง ก็ต้อง ศึกษาธัมมะ แล้ว ถึงจะรู้ได้

ผู้ร่วมสนทนา  ขอขยาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แค่ไหน จึงจะเรียกว่า สมควร ล่ะครับ

ท่านอาจารย์สุจินต์  ขณะนี้เป็นธัมมะ ถูกต้องไหมคะ ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ การที่จะ รู้ว่า เป็นธัมมะ ถ้ารู้ว่า เป็นธัมมะ แล้วก็ ไม่ได้ ปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา ที่จะ รู้ ถูกต้อง ให้ยิ่งขึ้น ก็ไม่ชื่อว่า ปฏิบัติธัมมะ สมควรแก่ การที่จะ รู้แจ้ง ธัมมะ สิ่งที่ได้เรียนแล้วนี่ค่ะ อย่าคิดว่า เป็นแต่ เพียงแค่นี้ แต่ สิ่งที่ เริ่มเห็นว่า เป็นจริง จะมี ความจริง ถึงขั้น ที่ประจักษ์แจ้ง ใน ทุกคำที่ได้ยิน เช่น สภาพธัมมะ เกิดแล้วดับ

ขณะนี้ มีสภาพธัมมะ กำลังปรากฏ ให้รู้จริงๆ เป็นธัมมะจริงๆ แต่ยังไม่ประจักษ์ การเกิดแล้วดับ แต่ว่า โดยการฟัง เนี่ย พิจารณาแล้ว ต้องรู้ว่า สิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิด ไม่เกิด ก็ปรากฏไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อ การเกิดของธัมมะมีจริง การดับของธัมมะมีจริง ปัญญา ก็ย่อมสามารถ ที่จะ ประจักษ์แจ้งได้ มิฉะนั้น การฟังของเรา ก็เป็น โมฆะ ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธัมมะ สมควรแก่ ธัมมะ จริงๆ ก็คือ ปฏิบัติธัมมะ ที่จะ ทำให้ รู้แจ้ง สภาพธัมมะ ที่สมควร ที่จะรู้แจ้งได้ การอบรมนั้น หนทางนั้น เป็นหนทาง ที่สมควร จะรู้แจ้ง สภาพธัมมะได้ ก็เป็น การปฏิบัติธัมมะสมควรแก่ธัมมะ

เพียงขั้นฟัง เป็น การปฏิบัติธัมมะสมควรแก่ธัมมะ หรือยัง หรือ เป็นเพียง เบื้องต้น ที่จะทำให้ ถึง การปฏิบัติธัมมะสมควรแก่ธัมมะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Kidza_eiei
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ทำไมถึง อธิบายว่า การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน

กรรมฐาน 40 เป็นคำสอนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เหรอคะ เช่น ฝึกอานาปานสติ (นั่งสมาธิ) เพื่อให้เกิดความสงบ (จิตตปัสสัทธิ เป็นเจตสิกที่ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยสงบ)

การที่จิตฟุ้งซ่าน หรือไม่สงบ จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ปรากฏได้ชัด เหมือนจิตสงบได้อย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2564

เรียนคุณสุกัญญาครับ

สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี สัมมาสมาธิ เป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต คือจิตที่ดีงาม สัมมาสมาธิไม่ได้อยู่ที่คำที่ใช้ เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ อยู่ที่ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นกุศล แม้ไม่ใช้คำอะไรเลย ก็เป็นสัมมาสมาธิ

ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว สัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็น ขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะที่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นสัมมาสมาธิโดยตรงอยู่แล้ว และการอบรมเจริญสมถภาวนาก็เป็นสัมมาสมาธิ

ที่น่าพิจารณาคือ ถ้ามีความติดข้องในมิจฉาสมาธิ ติดข้องในความรู้สึกที่เป็นสุข มีการไปนั่งไปทำอย่างนั้น ไม่ใช่หนทางที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรม และปัญญาเลย ถ้าไม่ถอยกลับมาตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ตั้งแต่ในขณะนี้แล้ว ก็ยากที่จะพ้นไปจากมิจฉาสมาธิดังกล่าวนั้น เพราะการปฏิบัติผิด มีแต่จะทำให้ความเห็นผิด ความไม่รู้ เพิ่มมากขึ้น ครับ ในสมัยพุทธกาลพระอริยสาวกบางท่าน ก่อนที่จะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็เคยปฏิบัติผิดมาก่อน แต่เพราะเหตุที่ดีที่ท่านได้สะสมมา จึงเป็นเหตุให้ท่านได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรมจากพระองค์ ผลจากการฟังพระธรรมซึ่งเป็นความจริง นั้น ทำให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งหลับตาทำสมาธิ

ท่าน อ.สุจินต์..แม้แต่คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วบอกว่า ปฏิบัติธรรม แล้วเราจะบอกว่า ปฏิบัติธรรม ใครๆ ก็บอกว่า ปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจเลยว่า ปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้นคืออะไร ต่อเมื่อใดเข้าใจแล้วจึงรู้ว่า ปฏิบัติหรือไม่ใช่ปฏิบัติ แล้วปฏิบัตินั้นเป็นธรรมะหรือไม่เป็นธรรมะ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ

ขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ปฏิบัติธรรมะหรือเปล่าคะ ท่านพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาต แล้วท่านพระสารีบุตรเห็นว่าพระภิกษุรูปนี้มีกิริยาที่เป็นสมณะจริงๆ ธรรมะของท่านต้องเป็นธรรมะที่น่าเลื่อมใส เพราะเหตุว่าท่านจึงได้ติดตามท่านพระอัสสชิไป และขอให้ท่านพระอัสสชิแสดงธรรม ในขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่าคะ เพราะเมื่อจบคำสั้นๆ ท่านพระสารีบุตรรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังนั้น ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติ ไม่ใช่เรานั่งหลับตา ไม่ใช่เราเดินทำอาการที่ผิดปกติ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะด้วยความเข้าใจจนประจักษ์แจ้งในการเกิดดับ

เพราะฉะนั้น ขณะนี้หรือขณะไหน ทุกขณะ สติปัญญาเกิดขณะใด สติปัญญาปฏิบัติกิจของสติปัญญา คือระลึกแล้วค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ สะสมไป จนกว่าจะถึงเวลารู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะเป็นขณะไหนก็ได้ ขณะที่วัวขวิดก็ได้ ขณะไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะในขณะนี้สภาพธรรมะก็เป็นของจริงซึ่งกำลังเกิดดับ เป็นอริยสัจธรรม คือบุคคลในประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมะนี้ บุคคลนั้นก็เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้เจริญจริงๆ เพราะเหตุว่าเจริญจากอวิชชาสู่วิชชา สามารถรู้สภาพธรรมะได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจผิดว่า ปฏิบัติธรรมะจะเป็นอย่างอื่น


ส่วนประเด็นเรื่งอานาปานสติ

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด ประณีต จึงเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าใครทำ? เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่มีปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ? ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

[เล่มที่ 2] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 364

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติ มีความรู้ตัวเท่านั้น แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น กรรมฐานอย่างอื่น นอกจากอานาปานสติกรรมฐานนี้ ย่อมปรากฏได้แก่ผู้ที่มนสิการอยู่. แต่อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นภาระหนัก เจริญสำเร็จได้ยาก ทั้งเป็นภูมิแห่งมนสิการ ของมหาบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรเท่านั้น, ไม่ใช่เป็นกรรมฐานต่ำต้อย, ทั้งมิได้เป็นกรรมฐานที่สัตว์ผู้ต่ำต้อยซ่องเสพ, เป็นกรรมฐานสงบและละเอียด โดยประการที่มหาบุรุษทั้งหลายย่อมทำไว้ในใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Kidza_eiei
วันที่ 20 เม.ย. 2564

เวลาพระสอนนั่งสมาธิ ก็สอนดูลมหายใจเข้าออก มีสติรู้ลมเข้า รู้ลมออก ทำไมท่านอาจารย์กล่าว เหมือนว่า อานาปานสติ กับ นั่งสมาธิ คนละอย่างกัน ถ้าต่างกัน นั่งสมาธิ ตามความหมายท่านคืออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2564

เรียนคุณสุกัญญาครับ เข้าใจสมาธิให้ถูกต้องจะเข้าใจ นั่งสมาธิครับ

"สมาธิ" เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต เป็นสัมมาสมาธิ การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้น เป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่น แน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว

ขออนุญาตยกคำอธิบาย จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในเรื่อง สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ

ท่านผู้ฟัง โลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ก็มีโลภะกันมากๆ

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลบางรูป ได้ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยวทีเดียว ก็แสดงว่าท่านอยากพ้นทุกข์ อันนี้ตรงกับที่อาตมากำลังกล่าวอยู่หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ โลภะ เป็นสภาพที่ ติดข้อง ฉันทะ เป็นสภาพที่ พอใจจะกระทำ โลภะเกิดกับกุศลจิตไม่ได้เลย ฉันทะ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลทำความเพียรนั้น เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ

ท่านอาจารย์ เป็นกุศลเจ้าค่ะ ท่านไม่ได้เพียรอกุศล

ท่านผู้ฟัง การที่โยมผู้หญิงท่านนั้นกล่าวว่า การนั่งสมาธินั้น จิตใจเพลิดเพลิน ยินดี รู้สึกติดข้อง การกระทำอย่างนั้น เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ

ท่านอาจารย์ ขณะนั้น มีปัญญาหรือเปล่า เจ้าคะ

ท่านผู้ฟัง ก็การกระทำนั้น เป็นไปเพื่ออริยมรรค

ท่านอาจารย์ การกระทำอย่างนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่ออริยมรรค แต่เป็นความพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น คนที่ทำสมาธิตั้งหลายคน เขาบอกว่า เขาต้องการทำสมาธิ เพราะไม่อยากให้จิตใจฟุ้งซ่าน อยากให้จิตใจ จดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด และเข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ ขณะใดที่เป็นโลภะคือความติดข้อง แม้ต้องการจะจดจ้อง ขณะนั้น เป็นลักษณะของมิจฉาสมาธิ เพราะว่า ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

ท่านผู้ฟัง สมาธินั้น แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ

ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก มีสภาพที่มีอารมณ์เดียว ขณะที่เป็นสมาธิก็มีเอกัคคตาเจตสิก ที่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ปรากฏ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เพราะเอกัคคตาเจติก เป็น "สัพพจิตตสาธารณเจตสิก"

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ เพราะมีอยู่แล้วกับจิตที่เกิดทุกดวง เพียงแต่ว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น (ปกติ) ลักษณะของเอกกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะจิตที่เกิดก็สั้นมาก และสิ่งที่ปรากฏ วาระหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏตั้งมั่น ถึงระดับที่เราใช้คำว่า "สมาธิ" แต่ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนาน ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ขณะนั้น ไม่ใช่กุศลจิต ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิตขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" แต่เป็น "อกุศลสมาธิ" หรือ "มิจฉาสมาธิ" ขณะที่เอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ" ต่อเมื่อใดที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ทานก็เกิดน้อย การวิรัติทุจริต ก็เกิดน้อย และจิตส่วนใหญ่ จะตกไปเป็นอกุศล เมื่ออารมณ์ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิต จะคล้อยไปเป็นอกุศล เป็นส่วนใหญ่ ยากนักหนาที่เมื่อเห็นแล้ว เป็นกุศล แล้วแต่ว่า สะสมกุศลจิตระดับใดมามาก ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา เมื่อคิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังมีจิตที่เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอุปนิสัย แต่ขณะนั้นก็สั้นนิดเดียว เดี๋ยวเสียงก็ปรากฏ เดี๋ยวสีก็ปรากฏ

ฉะนั้น ลักษณะของสมาธิก็ไม่มั่นคง ถึงแม้จะเป็นกุศลก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาในครั้งโน้น คือผู้ที่เห็นโทษของอกุศล โดยเฉพาะโลภะ รู้ว่าจิตจะคล้อยตามสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยความติดข้อง อย่างไม่รู้สึกตัวเลย รู้ว่าติดข้องในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และ การกระทบสัมผัส ท่านเหล่านั้นพยายามที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส เมื่อรู้ว่าทั้งหมดนี้ เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลจิต

ที่สำคัญ ท่านเหล่านี้ รู้ว่าสำคัญที่ "วิตกเจตสิก" หมายความว่า เมื่อนึกถึงอะไร แล้วเป็นเหตุให้จิตเป็นกุศล เช่น นึกถึงศีล นึกถึงสิ่งที่เป็นเหตุให้จิตสงบจากอกุศล เป็นเหตุให้ลักษณะของกุศลจิตเกิดบ่อย และความสงบก็จะปรากฏ ลักษณะของสมาธิ ก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ" สัมมาสมาธิ ระดับที่เป็นอุปจารสมาธิ และอัปนาสมาธิ จึงเป็นฌานจิต เป็นปฐมฌาน และรู้ต่อไปอีกว่า ขณะนั้นถ้ายังมีวิตก คือ มีการตรึกอยู่ ก็ใกล้ต่อการตรึกถึง รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส

ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงละสภาพธรรมที่เป็นวิตก หรือการตรึก และประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น โดย ไม่ให้มีวิตกหรือการตรึก เป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

ฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า อย่าไปพอใจกับคำว่า "สมาธิ" โดยไม่มีการศึกษาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนว่า มิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ต่างกันอย่างไร

ท่านผู้ฟัง อย่างสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เป็น "สัมมาสมาธิ" ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ เพราะว่า เป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับ "สัมมาทิฏฐิ

ส่วนข้อความในพระไตรปิฎกที่ผู้ถามต้องการ ดังนี้ครับ

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 366

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิตความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไปความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น

เชิญคลิกฟังธรรมที่นี่ ครับ

สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร

สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

นั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติธรรมไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติ ด้วยความไม่รู้ ผลคือไม่รู้ เมื่อไม่รู้ตั้งแต่ต้น ต่อไปจะรู้ได้อย่างไร

ถ้าหากว่าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นแล้วไม่มีทางที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นในขั้นต่อไปที่เป็นขั้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนถึงขั้นประจักษ์แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้น ได้เลย ถ้าหากว่าไม่ต้องเรียนปริยัติ ให้ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาเพื่อที่จะได้รู้ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงไม่ต้องมีก็ได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วทรงแสดงให้ผู้อื่นได้รู้ตามความเป็นจริง ทรงแสดงพระธรรมตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ก็เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะธรรมไม่ง่ายและไม่สามารถคิดธรรมเอาเองได้

พระอริยสงฆ์สาวกในอดีตเริ่มตั้งแต่พระอัญญาโกญฑัญญะ เป็นต้น ล้วนเป็นผู้ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วทั้งนั้น

ถ้ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว ก็จะไม่ว่างเว้นจากการศึกษาพระธรรมอรมเจริญปัญญาเลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ดำเนินตามหนทางที่พระอริยสงฆ์สาวกดำเนินแล้ว ซึ่งเป็นหนทางเดียวและเป็นหนทางเดิม คือหนทางแห่งการอรมเจริญปัญญา เพระมีปริยัติที่ถูกต้อง ปฏิปตติ คือ การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติและปัญญา จึงมีได้ และเพราะมีปฏิปัตติที่ถูกต้อง ปฏิเวธ จึงมีได้ ซึ่งจะต้องมีรากฐานสำคัญตั้งแต่ในขั้นปริยัติ คือ การรอบรู้ในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

ขอเชิญรับชมรับฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ

ปฏิบัติคืออะไร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Kidza_eiei
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ถ้าความหมายของท่านอาจารย์ นั่งสมาธิ คือ "สมาธิ" เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพียงเท่านี้

นั่งสมาธิของอาจารย์กับของหนูน่าจะคนละความหมายกับหนูค่ะ

นั่งสมาธิ จริงมีหลากหลาย แต่ที่หนูเข้าใจเป็นการทำตามคำสอนพระพุทธเจ้าตามอานาปานสต เกิดเอกัคคตาเจตสิต ปัสสัทธิเจตสิก สติเจตสิก เกิดด้วย มีผลให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2564

สมาธิ ตามคำสอนพระพุทธเจ้า คือ ความตั้งมั่น ไม่เปลี่ยน แต่หลากหลายเพราะสมาธิ ที่เกิดกับ อกุศลก็มี กุศลก็มีครับ ซึ่ง ลืมคำว่า มิจฉาสมาธิ ว่าสมาธิที่ผิดก็มี เชิญอ่านครับ

ผู้ฟัง  คำว่า “สมาธิ” มีหลายอย่าง ในลักขณาทิจตุกะหรือลักษณะของปัญญามี ๔ อย่างว่า ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาไม่เกิด ใช่ไหมครับ

ส.  สมาธิที่เป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ฟัง  สมาธิมีหลายอย่างหรือครับ

ส.  มีมิจฉาสมาธิ และ มีสัมมาสมาธิ

ผู้ฟัง  สมาธิให้เกิดปัญญามีใช่ไหมครับ ขณิกสมาธิทำให้เกิดปัญญา

ส.  เวลานี้สมาธิเกิดอยู่แล้วทุกขณะ เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยังคะ

ผู้ฟัง  ตามลักขณาทิจตุกะของปัญญา เอาสมาธิเป็นที่ตั้ง

ส.  ก็เวลานี้มีสมาธิแล้วทุกขณะ เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยัง

ผู้ฟัง  ถ้าสมาธิเป็นขณิกะ ผมว่าเป็นบาท

ส.  สมาธิต้องเป็นขณิกะ เพราะเกิดกับจิตทุกดวง เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยัง

ผู้ฟัง  ที่ว่าเป็นอัปปนาแนบแน่น เป็นฌาน ผมว่าไม่ทำให้เกิดปัญญา

ส.  ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่เกิดกับจิตที่สงบเป็นสมถภาวนา ต่างกับปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏแล้วรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นั่นเป็นวิปัสสนาภาวนา นั่นวิปัสสนาปัญญา

เพราะฉะนั้น อย่าปนปัญญาของสมถะกับปัญญาของวิปัสสนา อย่างเช่นการระลึกถึงปฐวีเพื่อให้จิตสงบ ขณะนั้นเป็นโดยนัยของสมถะ แต่ขณะที่กระทบสัมผัสทางกายแล้วระลึกในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นวิปัสสนา นั่นเป็นสมาธิทั้งสอง เพราะเหตุว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาที่เกิดพร้อมสมาธินั้นต่างกัน โดยนัยของสมถภาวนาเพียงสามารถสงบพร้อมปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ในความที่ไม่มีสาระแก่นสารของปฐวี ของสภาพของรูปทั้งหลาย

ผู้ฟัง  แต่ที่ผมเรียนถามเรื่องปัญญา

ส.  ปัญญารู้อะไร และปัญญามีหลายขั้น

ผู้ฟัง  ถามว่า สมาธิทำให้เกิดปัญญา

ส.  สมาธิทำให้เกิดปัญญาอะไร ปัญญามีหลายอย่าง สมาธิมีหลายอย่าง สมาธิอะไรทำให้เกิดปัญญาอะไร ปัญญาอะไรทำให้เกิดสมาธิอะไร

ผู้ฟัง  ผมว่าขณิกสมาธิทำให้เกิดปัญญา

ส.  ขณิกสมาธิเป็นคำธรรมดา หมายความถึงสมาธิชั่วขณะๆ ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลาในขณะนี้

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะต้องตรงตามความเป็นจริง ขณะนี้มีสมาธิเกิดกับจิตเพราะเป็นเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงในขณะนี้จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นอกุศล เอกัคคตาเจตสิกนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในทานเป็นขณิกสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในศีลเป็นสัมมาสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในขณะที่ฟังธรรม เข้าใจ เวลานี้กำลังเข้าใจธรรมะที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ได้ศึกษาในปรมัตถธรรม ในปรมัตถธรรมปริจเฉทที่ ๑ เป็นเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย ในขณะที่กำลังฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตมีโยนิโสมนสิการ โดยอาศัยการที่เคยฟัง เคยจำได้ แล้วก็พิจารณาโดยแยบคายดับไป กุศลจิตกำลังรู้เรื่อง กำลังเข้าใจในธรรมะ แม้แต่ในบัญญัติ คือ คำที่หมายถึงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นกุศลจิต เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิที่เป็นขณิกสมาธิ

เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่า ปัญญาอะไร สมาธิอะไร อย่าปนกัน ปนกันไม่ได้ ถ้าปนกันก็ยุ่งเหยิงหมด แล้วก็ไม่สามารถจะเจริญกุศลขั้นต่อๆ ไปด้วย

ผู้ฟัง  กัมมัสสกตาปัญญา

ส.  เวลานี้ถ้ากำลังเข้าใจเรื่องกรรม เรื่องผล คือ กรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยัให้เกิดวิบาก เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจเป็นผล นี่คือปัญญาที่เข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดด้วยเป็นสัมมาสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ

ผู้ฟัง  ย่อๆ ๓ อย่าง แล้วก็วิปัสสนาปัญญา รู้รูปนามเป็นไตรลักษณ์ เป็นวิปัสสนาปัญญาใช่ไหมครับ

ส.  รู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง  ส่วนโลกุตตรปัญญานั้นหมายความถึงอริยสัจ

ส.  รู้แจ้งนิพพาน

ผู้ฟัง  เป็นโลกุตตรปัญญา

ส.  ปัญญามีมาก สมาธิก็ต้องมีมากตามลำดับ เพราะฉะนั้น อย่าพิจารณาเพียงชื่อ พิจารณาสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้สอดคล้องกับพระธรรมที่ได้ศึกษาแล้วเข้าใจแล้ว ถ้าศึกษาเรื่องมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ต้องรู้ด้วยว่า ขณะไหน ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นจิตอะไรที่ได้ศึกษาแล้ว มหากุศลญาณสัมปยุตต์มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และถ้าสติเกิด วิตกเจตสิกจรดในลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ไม่ได้มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

นั่งสมาธิ ตามความหมายที่หนูอธิบายไป ผิดอย่างไรค่ะ นั่งสมาธิมีสติระลึกรู้ลมหายใจ ก็ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เหรอค่ะ

นั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านทรงห้ามไว้ เช่นเดียวกับ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือค่ะ

สติเจตสิก เป็นโสภณจิต ไม่ใช่เหรอค่ะ ทำไมถึงห้ามคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ก่อนอื่นก็เข้าใจครับว่า สติ ก่อนนะครับ เพราะ จะทำให้เข้าใจ คิดว่า ตนเอง ทำถูก เพราะ ความจริง ตามที่ได้กล่าวแล้ว สมาธิ มี 2 อย่าง ที่ผิดก็มี และที่ถูกก็มี และ มิจฉาสติก็มี สัมมาสติก็มีครับ เชิญอ่านเรื่องสติ ครับ ค่อยๆ เข้าใจไปทีละคำครับ

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี ๔ ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี และไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ

สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้นขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิดครับ

ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขันธ์ ทั้งหมด มี ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (ได้แก่เจตสิก ๕๐ มี ผัสสะ เจตนา เป็นต้น) และวิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด ดังนั้น ขันธ์ มี ๕ ไม่ขาด และ ไม่เกิน

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

สติเป็นเจตสิก เป็นเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

่ -จริงๆ เรื่องความเข้าใจ เรื่องสมาธิ กับสติ ก็เข้าใจตรงกัน

-ทำไม ถึงมองว่าการนั่งสมาธิ เป็นสิ่งที่ผิดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

เรียน คุณสุกัญญา ครับ

ขอยกข้อความจากความเห็นที่ 7 มา ครับ ที่คุณสุกัญญากล่าวว่า

ถ้าความหมายของท่านอาจารย์ นั่งสมาธิ คือ "สมาธิ" เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพียงเท่านี้

นั่งสมาธิของอาจารย์กับของหนูน่าจะคนละความหมายกับหนูค่ะ


ดังนั้น ไม่ได้เข้าใจสมาธิที่ถูกต้องตามพระพุทธศาสนา เข้าใจคนละความหมาย ไม่ใช่เข้าใจอย่างเดียวกัน การนั่งสมาธิด้วยการเข้าใจผิดเรื่องสมาธิ ตั้งแต่ต้น การนั่งสมาธินั้นจึงผิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ประเด็นคือ ทำไมถึงห้าม ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ ห้ามไว้ค่ะ เช่น ฆ่าสัตว์ เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

เรียน คุณสุกัญญาครับ

ในความเห็นที่ 11 และ 13

ขอยกข้อความจากความเห็นที่ 7 มา ครับ ที่คุณสุกัญญากล่าวว่า

ถ้าความหมายของท่านอาจารย์ นั่งสมาธิ คือ "สมาธิ" เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพียงเท่านี้

นั่งสมาธิของอาจารย์กับของหนูน่าจะคนละความหมายกับหนูค่ะ


ดังนั้น ไม่ได้เข้าใจสมาธิที่ถูกต้องตามพระพุทธศาสนา เข้าใจคนละความหมาย ไม่ใช่เข้าใจอย่างเดียวกัน การนั่งสมาธิด้วยการเข้าใจผิดเรื่องสมาธิ ตั้งแต่ต้น การนั่งสมาธินั้นจึงผิดครับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า อกุศลไม่ควรเจริญ กุศลควรเจริญ การกระทำ การนั่งสมาธิด้วยความเข้าใจผิด ไม่เข้าใจตั้งแต่คำว่าสมาธิ ไม่ควรเจริญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

นั่งสมาธิ ไม่ได้หมายความว่า สมาธิ 

นั่งสมาธิ เป็นสมมติบัญญัติ อธิบายการนั่งหลับตาดูลมหายใจ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ตามอนุสติ 10 เป็นต้น

นั่งสมาธิ เกิดได้เพียงอกุศล เท่านั้นเหรอคะ?

นั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้าม ?

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

เพราะฉะนั้น ยังไม่เข้าใจคำว่า สมาธิ ครับ จึงทำให้มีการสับสน ที่ขัดแย้งกันเอง คือ ในความเห็นที่ 7 และ 11 ว่า เข้าใจสมาธิตรงกัน กับอีกความเห็นกล่าวว่า ไม่เข้าใจสมาธิตรงกัน นั่นก็แสดงถึงความไม่เข้าใจสมาธิที่ถูกต้อง สับสนอยู่ จึงเป็นกากรระทำสิ่งที่ผิดตั้งแต่ต้น คือ นั่งสมาธิด้วยความเข้าใจผิดใน คำว่าสมาธิผิด จึงเรียนผู้ร่วมสนทนาให้กลับมาที่คำว่า สมาธิก่อน เสมอ ว่าคืออะไร ปูพื้นฐานคำว่า ธรรมคืออะไร ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าใจผิดในคำอื่นๆ และก็แตกประเด็นถามเรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยที่ยังเข้าใจผิดแม้คำว่า สมาธิอยู่ เพราะกล่าวความเห็นที่ขัดแย้งกันเอง ค่อยๆ อ่านทวนในสิ่งที่สนทนาแต่ละความเห็นครับ ต่อไปนะครับ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ถ้าถามแตกประเด็นไปเรื่อยๆ ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรครับ เพราะยังเข้าใจผิด สับสนแม้คำว่าสมาธิอยู่ อนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

สมาธิ เข้าใจตามอาจารย์ค่ะ  

นั่งสมาธิ ไม่ตรงกันค่ะ 

 

 

 

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

นั่งสมาธิ ไม่ได้หมายความว่า สมาธิ

นั่งสมาธิ เป็นสมมติบัญญัติ อธิบายการนั่งหลับตาดูลมหายใจ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ตามอนุสติ 10 เป็นต้น

นั่งสมาธิ เกิดได้เพียงอกุศล เท่านั้นเหรอคะ?

นั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้าม?

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

จริงๆ ถ้า ค่อยๆ ย้อนอ่าน ในความคิดเห็นอย่างละเอียด ถ้าเข้าใจสมาธิถูกต้อง จะเข้าใจการนั่งสมาธิถูกด้วย และ ถ้าเข้าใจคำว่า สติถูกต้อง ก็จะเข้าใจ การนั่งสมาธิถูกต้องด้วย และ ที่สำคัญถ้าเข้าใจธรรมคืออะไร ก็จะเข้าใจการนั่งสมาธิที่ถูกต้องด้วย อย่างไรก็ดี จะขอ ส่งธรรม ที่เกี่ยวกับว่า ธรรมคืออะไร เป็นเบื้องต้นให้ค่อยๆ กลับไปศึกษาใหม่ ค่อยๆ ปูพื้นฐานให้ถูกก่อนนะครับ จะเป็นประโยชน์อย่างมากเลย ในชีวิตที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา และเดินกลับมาสู่ความเห็นถูกครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง

ธรรมะแท้จริง เป็น อย่างไร

อ่านหนังสือเล่มนี้ครับ

ธรรมคืออะไร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

"ถ้าเข้าใจสมาธิถูกต้อง จะเข้าใจการนั่งสมาธิถูกด้วย และ ถ้าเข้าใจคำว่า สติถูกต้อง ก็จะเข้าใจ การนั่งสมาธิถูกต้องด้วย"

ขอบคุณค่ะ

ตอนแรกหนูเข้าใจว่า ห้ามนั่งสมาธิค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

คำว่า จะเข้าใจการนั่งสมาธิถูกด้วย ควาหมาย คือ ที่ทำ นั่งสมาธิอยู่ นั่นผิด และไม่ได้หมายถึง ให้ไปทำนั่งสมาธิเลย นั่นผิด เพราะ ยังไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร ธรรมเป็นอนัตตา เลือกบังคับสติไม่ได้ ว่า การปฏิบัติ คือ ไม่ใช่การไปนั่งสมาธิโดยเลือกที่จะไปรู้ที่ลมหายใจ อานาปานสติ นั่นคือ ปฏิบัติผิด ครับ เพราะ ปฏิบัติ ตามที่กลาวแล้ว คือ การระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ค่อยๆ เริ่มจากคำว่า ธรรม คำว่า อนัตตา ก็จะกลับมาปฏิบัติถูก และไม่คิดว่า จะเลือกทำ โดยการนั่งสมาธิ เลือก อานาปานสติ ด้วยความเป็นเรา เพราะจะทำ ลืมว่า สติเป็นอนัตตา ธรรมเป็นอัตตา ปัญญาเป็นอนัตตา ครับ ยากลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ แนะนำ กลับไปฟัง ทบทวนใหม่ ตามที่ลิงก์ส่งไปนะครับ เพราะยังเข้าใจผิด เรื่อง สมาธิและการนั่งสมาธิอยู่ครับ ค่อยๆ ปูเบื้องต้นก่อนครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง

ธรรมะแท้จริง เป็น อย่างไร

เลือกอารมณ์ให้ปัญญารู้ไม่ได้

อ่านหนังสือเล่มนี้ครับ

ธรรมคืออะไร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Kidza_eiei
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
chatchai.k
วันที่ 23 เม.ย. 2564

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก 

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ