การบวช ในพุทธศาสนา จำเป็นต้องโกนคิ้วหรือไม่

 
panaporn.a
วันที่  20 เม.ย. 2564
หมายเลข  34095
อ่าน  1,498

ผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุ ตามธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้าโคดม นอกจากปลงผมและหนวดแล้ว จำเป็นต้องโกนคิ้วด้วยหรือไม่ และพระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงการโกนคิ้วหรือไม่ครับ และถ้าโกนหรือไม่โกนจะถูกต้องหรือผิดอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยไม่มีบัญญัติว่าพระภิกษุต้องโกนคิ้ว หรือ ไม่โกนคิ้ว ซึ่งก็เป็นไปตามพระวินัย อย่างไรก็ดี เพศบรรพชิต เป็นเพศที่ขัดเกลายิ่งดุจสังข์ขัด ดังนั้น การกระทำต่างๆ ก็คล้อยตาม อนุโลม ตามพระวินัย เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษที่สำคัญต้องรู้ว่า บวช คืออะไร เป็นสำคัญ บวช เป็นการเว้นจากความติดข้อง เว้นจากอกุศลทุกอย่าง เว้นจากความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตจริงๆ ซึ่งต้องสละอาคารบ้านเรือน ญาติสนิทมิตรสหายวงศาคณาญาติ รวมถึงสละทรัพย์สินต่างๆ ที่เคยมีอยู่ด้วย และไม่คิดที่จะหวนกลับมาสู่ความเป็นคฤหัสถ์อีก นี้คือ ความจริงใจของผู้ที่บวช และที่สำคัญ ท่านเหล่านั้น ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม ไม่ใช่การทำตามๆ กันด้วยความไม่รู้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
panaporn.a
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ขอบคุณพี่ผเดิมครับ พอดีเมื่อนานมาแล้วผมเคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับการโกนคิ้ว ว่ามีความอันตราย ต่อเส้นประสาทครับเลยเกิดข้อสงสัยครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๗๓

...ด้วยวิธีอย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต


ในพระวินัยบัญญัติ ไม่มีพระบัญญัติเกี่ยวกับการโกนคิ้วไว้ ซึ่งข้อที่น่าพิจารณา คือ คิ้ว ไม่เหมือนกับผมและหนวด เพราะผมและหนวด ถ้าไม่ปลง ก็จะยาวขึ้นเรื่อยๆ ย่อมไม่เหมาะกับเพศบรรพชิต ส่วนคิ้ว ยาวแค่ไหนก็อยู่แค่ไหน จะไม่ยาวไปกว่านั้น การโกนคิ้วหรือไม่โกนคิ้ว จึงไม่มีอาบัติสำหรับพระภิกษุ แต่ต้องปลงผมและหนวด ซึ่งการปลงผมและหนวด เป็นเครื่องหมายของบรรพชิตอย่างหนึ่ง จุดประสงค์เพื่อการตัดความกังวลในเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันการแต่งผมแต่งหนวดอันไม่ใช่สิ่งที่พระภิกษุจะกระทำได้เลย

พระภิกษุ ไม่พึงไว้ผมยาวและไม่พึงปล่อยให้หนวดเครายาว ตามพระวินัยบัญญัติดังนี้

พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๖

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ... รับสั่งว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไว้ผมได้สองเดือนหรือยาวสององคุลี

พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ หน้า ๕๗

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงตัดหนวด ไม่พึงปล่อยหนวดไว้ให้ยาว ไม่พึงไว้เครา ไม่พึงแต่งหนวดเป็นสี่เหลี่ยม ไม่พึงขมวดกลุ่มขนหน้าอก ไม่พึงไว้กลุ่มขนท้อง ไม่พึงไว้หนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ไม่พึงโกนขนในที่แคบ รูปใดโกน ต้องอาบัติทุกกฎ

* หมายเหตุ

-อาบัติ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้

-ทุกกฏ หมายถึง การกระทำที่ผิด การกระทำที่ไม่ดี เนื่องจากไม่ได้ประพฤติตามพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นการกระทำที่แย้งต่อกุศลธรรม เป็นการกระทำที่พลาด เพราะไม่สามารถนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงการรู้แจ้งความจริงได้


ที่สำคัญที่สุด คือ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการบวช คือ อะไร? ถ้าไม่ใช่เพื่อขัดเกลากิเลสแล้ว การบวชนั้นไม่มีประโยชน์เลย มีแต่โทษเท่านั้น เพราะจุดประสงค์ของการบวช คือ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเอง ประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ