พระพุทธเจ้าทรงตรัสได้รวดเร็วกว่าผู้อื่น

 
Sati
วันที่  25 เม.ย. 2564
หมายเลข  34131
อ่าน  586

ไม่ทราบว่าอยู่ในพระสูตรไหนครับ 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุรเสียง กล่าวคือ คำพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสละสลวย ไพเราะ เป็นต้น เป็นผลมาจากบุญกุศลของพระองค์ เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้กล่าวคำที่ไพเราะ กล่าวคำที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น มานับชาติไม่ถ้วน นั่นเองจึงไม่มีใครที่จะมีเสียงเพราะยิ่งไปกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังข้อความที่ปรากฏในหลายๆ พระสูตร เช่น ใน

[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๓๙

พรหมายุสูตร

...ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑ ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ มีกังวาล ๑ บริษัท จะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท ชนทั้งหลายที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา เมื่อลุกจากที่นั่งไป ยังเหลียวดูโดยไม่อยากจะละไป ต่างรำพึงว่า เราได้เห็นท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสด็จดำเนิน ประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน ประทับนั่งนิ่งในละแวกบ้าน กำลังเสวยภัตตาหารในละแวกบ้านเสวยเสด็จแล้วประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา เมื่อเสด็จกลับมายังพระอาราม เมื่อเสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่งนิ่งอยู่ เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม กำลังทรงแสดงธรรมในบริษัท ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงพระคุณเช่นนี้ๆ และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น


ข้อความใน[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๓๘ มีข้อความที่แสดงว่า พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาได้เร็ว ดังนี้

จริงอยู่ ในกาลอันเป็นส่วนอื่น พระตถาคตเจ้าประทับนั่งท่ามกลางเหล่าเทพหมื่นจักรวาลเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริชาต ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อทรงแสดงธรรมทรงทำพระพุทธมารดาให้เป็นกายสักขีก็ทรงย่อแล้วๆ ซึ่งลำดับธรรมจากระหว่างธรรมแล้วแสดงโดยส่วนแห่งร้อยโดยส่วนแห่งพัน โดยส่วนแห่งแสน เทศนาที่พระองค์ให้เป็นไป ติดต่อกันสามเดือน เป็นอนันตเทศนาประมาณมิได้ ประดุจคงคาในอากาศที่ไหลลงมา อย่างเร็ว และประดุจสายน้ำที่ไหลออกจากหม้อน้ำที่คว่ำปาก ฉะนั้น

จริงอยู่ แม้ในกาลเป็นที่อนุโมทนาภัตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงอนุโมทนาอยู่ขยายออกหน่อยหนึ่ง ก็จะได้ประมาณเท่ากับทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย อนึ่ง เมื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกันภายหลังแห่งภัต เทศนาก็มีประมาณเท่านิกายใหญ่ทั้งสอง คือ สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย. เพราะเหตุไร? เพราะภวังคปริวาส (การอยู่อาศัยภวังคจิต) ของพระพุทธเจ้า ทั้งหลายเร็ว ริมพระโอษฐ์เรียบสนิทดี พระชิวหาอ่อนคล่องพระโอษฐ์ พระสุรเสียงไพเราะ พระวาจาเปล่งได้เร็ว เพราะฉะนั้น แม้ธรรมอันพระองค์แสดงแล้วเพียงครู่หนึ่งนั้น จึงได้มีประมาณเท่านี้ ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วตลอดไตรมาสจึงประมาณไม่ได้เลย

จริงอยู่ พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎกยืนอยู่แล้วโดยท่าที่ยืนนั่นแหละ ย่อมเรียน ย่อมบอก ย่อมแสดงคาถา ๑๕,๐๐๐ คาถา บทธรรม ๖๐,๐๐๐ บท เหมือนชนผู้ดึงดอกไม้ทั้งกิ่ง ธรรมมีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอุเทศมรรค (ทางแห่งอุเทศ) หนึ่งของพระเถระ เพราะว่า บุคคลอื่นเมื่อให้อุเทศตามลำดับบทแก่พระเถระ ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ คือบอกให้ไม่ทัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พึงให้สมบูรณ์ พระสาวกผู้มีสติมากยิ่ง มีคติมากยิ่ง มีธิติมากยิ่งอย่างนี้ แม้เรียนเทศนาที่พระศาสดาแสดงแล้วตลอดไตรมาส โดยทำนองนี้ สิ้นพันปีก็ไม่อาจให้ถึงที่สุดได้


ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา คือ ได้ฟังคำของพระองค์ด้วยความเคารพ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นับประมาณไม่ได้ แต่ละคำ ล้วนเป็นประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 26 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sati
วันที่ 27 เม.ย. 2564

ขอบคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ