เราเป็นมิตรที่ดีหรือเปล่า? หวังดีหรือเปล่า? เพื่อประโยชน์ของเขาหรือเปล่า?

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  28 เม.ย. 2564
หมายเลข  34145
อ่าน  638

คลิกชมและฟังการสนทนาได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

ข้อความบางตอนจากการสนทนา :

อ.สุจินต์  :  เป็นชาวพุทธหรือเปล่า? เป็นพุทธมามกะหรือเปล่า? เป็นคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? เป็นธรรมมามกะหรือเปล่า? เป็นสังฆมามกะหรือเปล่า? คนของพระรัตนตรัย จะพูดคำของคนอื่นได้อย่างไร และ พูดความจริงให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้อง เป็นประโยชน์ไหม?

หมอกันย์  : เป็นประโยชน์

อ.สุจินต์  : ควรพูดไหม?

หมอกันย์  : ควร

อ.สุจินต์  : แล้วทำไมไม่พูด?

หมอกันย์ : พูด

อ.สุจินต์  : ค่ะ ต่อไปนี้ พูดนะคะ พูดไหม?

หมอกันย์  : พูด

อ.สุจินต์  : ค่ะ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ก็พูด หวังดีใช่ไหม ตัวเองจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเลย เกิดแล้วต้องตายเหมือนกันหมด อะไรจะเกิดขึ้น มีเหตุจะให้เป็นอย่างนั้น เหตุที่ดี นำมาซึ่งผลที่ดี เหตุที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้น มาจากผลของกรรมที่ไม่ดีต่างหาก ไม่ได้มาจากคำพูดที่ถูกต้อง ถึงไม่พูดอย่างนี้ ผลของกรรมที่ไม่ดีก็มี แล้วจะไปกลัวอะไร ต่อไปนี้ คุณหมอพูดใช่ไหม? รักษาโรคทางใจของคนอื่นด้วย

ไม่เคยพบคุณพัชรกันย์มาก่อน แต่จากการที่ได้พบ พอรู้และเข้าใจว่า คุณพัชรกันย์ เป็นคนที่มีเหตุผล จึงได้สนทนาด้วยอย่างนี้

เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่า คนที่เราสนทนาด้วย เป็นคนประเภทไหน? เป็นประเภทที่ไม่ฟังเหตุผลเลย อันนั้น ไม่สมควรพูดแน่นอน พูดไปก็ไร้ประโยชน์ และอีกอย่างหนึ่ง ใครก็ตามที่ไม่เห็นประโยชน์ พูดไปก็เสียเวลา เราจะไม่ทำสิ่งที่ไร้ค่า เสียเวลา เพราะทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค่าสำหรับคนที่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น เราก็พูดสำหรับคนที่เขาสนใจ นี่ประการหนึ่ง ถ้าเป็นส่วนตัว

แต่ถ้าเป็นประการกว้างๆ เราจะไม่รู้เลยว่า ใครสนใจมากน้อยแค่ไหน ใครสะสมมาที่จะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อย่างคุณเชษฐ์สุดา เป็นต้น ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่พอฟังธรรมะ(ที่มูลนิธิฯ ได้เผยแพร่ออกไป) ก็รู้ว่านี่เป็นคำจริง เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่พูดเลย(ไม่เผยแพร่ออกไปเลย) คุณเชษฐ์สุดามีโอกาสจะได้ฟังไหม?

เพราะฉะนั้น ก็ผ่านไปในสังสารวัฏฏ์ อีกนานเท่าไหร่ ชาติหน้าเป็นใคร มีโอกาสจะได้ฟังไหม? อยู่ในอเวจีได้ไหม? เป็นสัตว์เดรัจฉานได้ไหม? หมดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ อีกนานเท่าไหร่ และระหว่างนั้น กิเลสสะสมมากขึ้นอีกเท่าไหร่ ยากที่จะไตร่ตรองเท่าไหร่ ก็เป็นโอกาสดีที่สุด ที่เห็นค่าจริงๆ ว่า รอไม่ได้ 

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่จะทำในชาตินี้ ไม่คำนึงว่า ผู้พูดจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อะไร เพราะเป็นคำจริง ด้วยความหวังดี ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกระทำแล้ว

เพราะฉะนั้น พุทธบริษัท เป็นบริษัทที่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพสูงสุด แล้วจะไปพูดคำอื่นที่ไม่จริงได้อย่างไร เพราะว่าพระองค์กล่าวธรรมะท่ามกลางความเห็นผิดมากมาย แต่เพราะเหตุว่า ประโยชน์ของคำของพระองค์มหาศาล เปรียบไม่ได้อีกแล้วในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีใครยับยั้งพระมหากรุณาได้เลย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน คำจริงนั้นยังมีอยู่ สำหรับคนที่สามารถที่จะเห็นคุณค่า ไตร่ตรอง และร่วมกันรักษา ดำรงคำสอนไว้ ไม่คล้อยตามความผิด เพราะเหตุว่า จะมีประโยชน์อะไร นั่นเป็นเพื่อนหรือ? นั่นเป็นคนหวังดีหรือ? คนนั้นกำลังจะไปไหน? จะจากโลกนี้เดี๋ยวนี้ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ ไปไหน? ไปอบายภูมิ 

แล้วถ้าเขามีโอกาสที่จะได้ฟัง ไตร่ตรองบ้าง ละทิ้งความเห็นผิด เราเป็นมิตรที่ดีหรือเปล่า? เราเป็นคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? ที่จะกล่าวคำของพระองค์ เพื่อคนอื่นที่พระองค์มีพระมหากรุณาให้เขาได้เข้าใจคำของพระองค์ แม้ว่าจะปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมวินัย เป็นศาสดาแทนพระองค์

เพราะฉะนั้น จะคำนึงถึงชีวิตของเราหรือ? จะกลัวคนอื่นเขารังเกียจ จะกลัวคนอื่นเขาว่า เขาต่อว่าอย่างไร นั่นเรื่องไม่รู้ ว่าเราทำไมพูด หวังดีหรือเปล่า? เพื่อประโยชน์ของเขาหรือเปล่า? ถึงเขาไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่เราไม่ได้หวังร้ายเลย แล้วไม่ห่วงใยด้วยว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องเกิดแน่นอนเพราะเป็นอนัตตา มีเหตุที่จะให้เกิดก็เกิด และเหตุดี จะไม่นำสิ่งที่ไม่ดีมาให้

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗-๘

อุปัฑฒสูตร

ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์

[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสักยะชื่อ สักกระ ในแคว้นสักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์เทียวนะ พระเจ้าข้า.

[๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูก่อนอานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.

[๖] ดูก่อนอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญ สัมมาสังกัปปะ. . . สัมมาวาจา. . . สัมมากัมมันตะ. . .สัมมาอาชีวะ. . . สัมมาวายามะ . . . สัมมาสติ. . . สัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูก่อนอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำได้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.

[๗] ดูก่อนอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชราผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจาก โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสเพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูก่อนอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล.

........................จบอุปัฑฒสูตรที่ ๒........................

ติดตามชมบันทึกการสนทนาฉบับเต็ม ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง : 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ