[คำที่ ๕๐๖] อติตฺต

 
Sudhipong.U
วันที่  30 เม.ย. 2564
หมายเลข  34156
อ่าน  699

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อติตฺต”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อติตฺต อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - ติด - ตะ แปลว่า ไม่อิ่ม ในที่นี้จะนำเสนอในความหมายที่แสดงถึงความเป็นจริงของอกุศลธรรมประการหนึ่ง คือ โลภะ หรือ ตัณหา ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจ ความอยากความต้องการ ไม่มีวันพอ ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจหน้าที่ติดข้องต้องการ มีการแสวงหาในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความติดข้อง มี รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ดังนั้น เมื่อโลภะหรือตัณหาเกิดครอบงำจิตของผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นไปในอำนาจของตัณหา ยากที่จะพ้นไปได้ ยิ่งเพิ่มความติดข้องต้องการให้มากยิ่งขึ้น ไม่อิ่มจริงๆ ตามข้อความในสัทธรรมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ได้อธิบายความหมายของคำว่า อติตฺต ไว้ดังนี้

“บทว่า อติตฺต (ผู้ไม่รู้จักอิ่ม) คือ เป็นผู้ไม่อิ่ม เพราะมีความปรารถนา ยิ่งๆ ขึ้นไป”

ในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงความเป็นจริงของโลภะหรือตัณหาไว้ว่า เป็นสภาพที่ไม่อิ่ม ไม่มีวันเต็ม ปรากฏแต่ความพร่องอยู่เป็นนิตย์ ดังนี้

บทว่า ตณฺหาสมา ความว่า เวลาเต็มก็ดี เวลาพร่องก็ดี เวลาแห้งก็ดี ของแม่น้ำทั้งหลาย มีแม่น้ำคงคาเป็นต้น ย่อมปรากฏ, แต่เวลาเต็มหรือเวลาแห้งแห่งตัณหา ย่อมไม่มี, ความพร่องอย่างเดียว ย่อมปรากฏเป็นนิตย์ เพราะฉะนั้น ชื่อว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาย่อมไม่มี เพราะอรรถว่า ให้เต็มได้โดยยาก

ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก กามชาดก มีข้อความที่แสดงถึงโทษของโลภะหรือตัณหา ดังนี้

“ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้น (เกิดมากขึ้น) ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอบายทั้งสี่ (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน) ไปได้


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะโดยนัยใดก็ตาม ย่อมเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อยู่อย่างแท้จริง เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองเต็มไปด้วยกิเลสมากมายแค่ไหน เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละคนที่เกิดมา ล้วนเต็มไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะโลภะหรือตัณหา ความติดข้องยินดีพอใจ ทั้งภายใน คือ ในตนเอง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ได้แก่รักตัวเองทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปด้วยความรักตัวเอง และทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเอง ติดข้องภายในยังไม่พอ ยังติดข้องภายนอกอีก ไม่ว่าจะเป็นรูป ก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็ดี ที่ประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความอยาก มีความปรารถนา มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกเกี่ยวโยง ยึด ผูกพันอย่างแน่นหนากับรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทำให้เห็นได้ว่าเป็นผู้ถูกความติดข้องยินดีพอใจรึงรัด ผูกพันไว้ เกี่ยวประสานไว้ไม่ให้พ้นไปได้เลย และไม่ยอมปล่อยให้เป็นกุศลด้วย เพราะเหตุว่าขณะที่อกุศลเกิด นั้น กุศลจะเกิดไม่ได้เลย

ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลเกิดมากกว่า อาจจะสำคัญผิดด้วยซ้ำไปว่ามีกุศลมาก, อกุศลเกิดขึ้นตามการสะสมของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะหรือตัณหา ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วได้แก่ โลภเจตสิก เป็นความติดข้องยินพอใจในสิ่งต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน โลภะหรือตัณหาย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุมีปัจจัยพร้อม ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ลักขโมยสิ่งของของผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ ซึ่งในขณะที่กระทำอกุศลกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล กระทำอกุศลกรรมซึ่งเป็นการสร้างเหตุที่ไม่ดี และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ มีการเกิดในอบายภูมิเป็นต้น อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย จะไปโทษใครไม่ได้อย่างเด็ดขาด กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและทั้งในขณะที่ได้รับผล เนื่องจากว่าอกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ถ้าถูกโลภะหรือตัณหาครอบงำแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเองที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจของโลภะหรือตัณหาโดยตลอด แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับบุคคลผู้มีโลภะหรือตัณหามากๆ ติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ มีแต่จะปรารถนาต้องการยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับโลภะหรือตัณหา ย่อมต้องการอยู่ตลอดและเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วน บุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีความติดข้องต้องการอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของอกุศลธรรม สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะหรือตัณหาว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะหรือตัณหาได้อย่างเด็ดขาด เพราะที่ใดมีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ หรือ ขณะที่เข้าใจถูกเห็นถูก โลภะจะอยู่ตรงนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่า ความดี กับ ความชั่ว เกิดร่วมกันไม่ได้

การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ไม่คิดต่อเติมเอง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ถ้าในชีวิตประจำวันไม่มีการฟังพระธรรม ไม่สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเลย ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลธรรมทั้งหลาย มีความติดข้อง ความไม่รู้ เป็นต้น เพิ่มมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาให้เบาบางลงได้ ดังนั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น ที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละกิเลสทั้งหลายอย่างแท้จริง และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ