ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๐๗

 
khampan.a
วันที่  9 พ.ค. 2564
หมายเลข  34200
อ่าน  1,736

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๐๗
* *



~
ถ้าพระภิกษุถามโยม (คฤหัสถ์) ว่า ทำไมไม่ถวายเงินท่าน? เราก็น่าจะถาม ว่า พระคุณเจ้าสละเงินแล้วไม่ใช่หรือ จึงบวช? จะตอบว่าอย่างไร?

~ ทุกอย่างต้องลึกซึ้งและละเอียด ลองพิจารณาดีๆ ใครก็ตามที่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย จะประพฤติผิดจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ไหม? เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม โดยเฉพาะพระภิกษุ ประพฤติผิดพระวินัย แสดงว่า ภิกษุนั้นเข้าใจธรรมหรือเปล่า เพราะถ้าเข้าใจธรรมแล้วมีหรือที่จะล่วงสิกขาบท (สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ศึกษาและประพฤติตาม) เพราะทุกสิกขาบท อนุเคราะห์ภิกษุให้เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสแม้เพียงเล็กน้อย

~ ถ้าคนอยากให้มีพระภิกษุ แม้ว่าพระภิกษุจะประพฤติผิด แสดงว่า เขาเห็นแก่ตัว แค่นี้คิดหรือเปล่าว่าลึกลงไปแล้วเขาเห็นแก่ตัวที่เขาต้องการให้มีพระภิกษุสำหรับใส่บาตรสำหรับทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าโทษมากมายกับคนนั้นทำไมเขาไม่คิดบ้างว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเพื่อนที่ดี เขาจะปล่อยให้เพื่อนตกนรกไหม?

~ คนที่บวชโดยที่ว่าไม่เข้าใจพระธรรม บวชเพื่อที่จะเป็นพระภิกษุแล้วก็ไม่ศึกษาธรรม ไม่ขัดเกลากิเลส ก็เหมือนบริโภคแบบอย่างขโมย เพราะว่า (ผู้ถวาย) เขาให้แก่ผู้ที่มีศีลผู้ที่มีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสที่จะศึกษาธรรมและประพฤติตามพระวินัย แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็คือว่า เหมือนลักขโมยอาหารที่คนอื่นเขาให้แก่ผู้มีศีล มาเป็นของตน

~ ถ้ามีการประพฤติที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย พุทธบริษัททำอะไร? ไม่ใช่ว่าเชื่อว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ที่จะตัดสิน หรือว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ตัดสินว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้นไม่ได้, คฤหัสถ์ที่เคารพในพระธรรมวินัย ศึกษาเพื่อที่จะดำรงรักษาพระธรรมวินัย ก็ต้องยกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมากล่าวว่าพระองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไร ไม่ใช่ว่าท่านผู้นี้มีอำนาจที่เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้วจะถูกหรือองค์กรนั้นเป็นผู้ตัดสิน ไม่ได้เลย เพราะว่า ถ้าเป็นผู้ที่เคารพในพระธรรมวินัย พุทธบริษัทต้องศึกษาพระธรรมเพื่อพร้อมเพรียงกันที่จะดำรงพระศาสนา เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น พระธรรมวินัยเป็นศาสดา เหมือนไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไร คำของพระองค์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทจะเมินเฉยไม่ได้เลย เพราะว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสดา ทุกเรื่องต้องยกพระธรรมวินัยขึ้นกล่าวหรือแสดงเพื่อที่จะได้รู้ ว่า อะไรถูก อะไรผิด

~ พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขัดแย้งกับอะไรหรือเปล่า? พระธรรมวินัยกล่าวไว้ว่าอย่างนี้ แต่ผู้นั้นเห็นเป็นอย่างอื่น ผู้นั้น ก็ต้องขัดแย้งกับพระธรรมวินัย

~ เพศบรรพชิตไม่มีกิจอื่นเลย (นอกจากศึกษาพระธรรมวินัย ประพฤติขัดเกลากิเลส) แม้จะหุงหาอาหารเพื่อบริโภคเอง ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีชีวิต เพื่อเข้าใจพระธรรมและขัดเกลากิเลส

~ พูดธรรมตลก อย่างนั้นไม่ใช่พระภิกษุ ไม่ใช่กิจของพระภิกษุที่จะไปคลายเครียดใคร กิจของพระภิกษุ ก็คือ ศึกษาพระธรรมวินัย ถ้าพระภิกษุไม่ศึกษาพระธรรมวินัยแล้วจะให้ใครศึกษา เพราะว่า ชาวบ้านก็มีกิจธุระของชาวบ้าน มีหน้าที่การงานต่างๆ มากมาย แต่ผู้ที่สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตแล้ว ย่อมสละชีวิตและเวลาทั้งหมดเพื่อศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมีการศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้วก็อนุเคราะห์ผู้ที่ไม่มีเวลาพอที่จะได้ศึกษามากอย่างพระภิกษุ ให้มีความเข้าใจพระธรรม ละเอียดขึ้น ถูกต้องขึ้น นั่นคือ ภิกษุในธรรมวินัย

~ พระภิกษุที่พูดธรรมตลก แสดงความเป็นบาปในใจ จึงล่วงออกมาเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาให้โอกาสเสมอ ให้ได้ฟังคำซึ่งจะเตือนใจให้เขาสามารถที่จะพิจารณาว่าเขาทำผิดหรือเปล่า? สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล เพื่อการที่จะได้ทำใหม่ หมายความว่า เปลี่ยนจากความไม่รู้ เป็นการค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะว่า เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง การพูด การทำ และความเข้าใจ ก็ถูกด้วย

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรักษาโรคที่กำลังเป็น คือ โรคความไม่รู้ โรคกิเลส โรคอกุศลทุกประเภท ด้วยยา คือ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงมอบหมายให้พุทธบริษัทหนึ่งพุทธบริษัทใดเป็นผู้ที่รักษาคำสอนของพระองค์ แต่ต้องเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน

~ ชาวบ้านคฤหัสถ์ในครั้งพุทธกาล รู้พระธรรมวินัย (เมื่อ) ภิกษุทำผิด เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะเพ่งโทษให้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ สิ่งนั้นทำไม่ได้ ติเตียน ว่า ไม่ควรทำ ไม่เหมาะควรแก่การที่จะเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย และโพนทะนาให้รู้ทั่วกันว่ามีการประพฤติที่ผิดอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้น พุทธบริษัททั้งหมด ก็พร้อมเพรียงกันที่จะศึกษาธรรมแล้วก็อนุเคราะห์พระพุทธศาสนาโดยการที่เมื่อบริษัทใดทำไม่ถูกต้อง ก็กล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่ออนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจถูกต้องแล้วก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง

~ ความกตัญญูต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออย่างไร? คือ ประกาศ กล่าวคำของพระองค์ให้เป็นที่เข้าใจกัน เพราะพระพุทธประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่ออย่างเดียว คือ อนุเคราะห์ให้คนอื่นได้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ทางที่จะกตัญญูต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ ประกาศ กล่าวพระธรรมวินัยตามที่พระองค์ได้ทรงแสดงให้คนอื่นได้เข้าใจ ว่า นี่คือ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ คนที่เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนั้น ไปเพื่ออะไร เพื่อฟังพระธรรม ฟังคำแต่ละคำให้เกิดปัญญาความเข้าใจถูกของตนเอง เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องของตนเองในคำแต่ละคำที่ได้ฟัง

~ ถ้าเราสามารถที่จะกล่าวพระธรรมวินัยให้ใครได้เข้าใจถูก ก็เป็นการให้เขาได้พ้นจากความเห็นผิด ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ แต่ในสังสารวัฏฏ์ด้วย เพราะเมื่อมีความเห็นผิดในชาตินี้ ชาติต่อไปก็เห็นผิด แม้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรม ผู้ที่มีความเห็นผิด ก็ไม่มาเฝ้า

~ คนเราเกิดมา แสนสั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะจากโลกนี้ไปวันไหน ที่ไหน ด้วยอาการอย่างไร แต่ก่อนจากไป เป็นคนดีหรือเปล่า? สามารถที่จะดีกว่านี้ได้ไหม? เพราะเหตุว่าเป็นมนุษย์มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมได้คิดได้ไตร่ตรอง เพราะฉะนั้น ถ้าจะจากโลกนี้ไป ก็ให้สมกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็คือ ได้มีความเข้าใจถูกซึ่งสามารถที่จะได้ยินได้ฟังคำจริงที่ทำให้เข้าใจต่อไป

~ ชีวิตก็มีแค่นี้ ไม่มากมายมหาศาล เดี๋ยวก็จบแล้ว จะจบวันไหนก็ไม่รู้ แต่ก่อนจะจบก่อนจะจาก ขอให้เป็นผู้ที่ได้ขัดเกลากิเลสแล้วก็สามารถที่จะมีเมล็ดพืชของความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อที่จะมีการเจริญเติบโต ทุกชาติๆ ไป

~ ถ้าใครก็ตาม จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ก็ตาม สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ นั่น เป็นประโยชน์สูงสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า

~ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์แล้ว จะกลัวอะไรหรือจะเกิดโทษอะไร ถ้าเกิดโทษ นั่น ไม่ใช่เพราะความดีที่เราทำ แต่ต้องเป็นผลของความไม่ดีที่ได้กระทำแล้วเท่านั้นเอง

~ ต้องรู้จริงๆ ว่า ความไม่รู้ เป็นเหตุของความไม่ดีและความทุกข์ทั้งหลาย และความรู้ความเข้าใจถูกต่างหากที่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล เพราะฉะนั้น ความรู้นั่นแหละก็เลือกทางที่ถูกต้อง เห็นโทษของความไม่ดี ก็จะไม่ประพฤติไม่ดี ไม่ว่ากาย วาจา ทุจริตใดๆ ทั้งหมด ก็จะค่อยๆ เบาบางลง

~ เมื่อความเข้าใจ น้อย อวิชชา (ความไม่รู้) มีมาก ก็มีหน้าที่เดียว คือ ตั้งจิตไว้ชอบ ซึ่งไม่ใช่เราตั้ง แต่ว่าสะสมความเห็นถูกว่า อวิชชาจะหมดไปไม่ได้ ด้วยความหวัง ด้วยความไม่รู้ แต่ต้องด้วยความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

~ ที่พึ่งจริงๆ คือ ปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มีคนอื่นใดที่สามารถจะทำให้ใครได้เข้าใจความจริงนี้ได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรม


* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๐๖





...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 9 พ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kukeart
วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Khemsai
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขอกราบอนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Dechachot
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
meenalovechoompoo
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
มังกรทอง
วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาให้โอกาสเสมอ ให้ได้ฟังคำซึ่งจะเตือนใจให้เขาสามารถที่จะพิจารณาว่าเขาทำผิดหรือเปล่า? สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล เพื่อการที่จะได้ทำใหม่ หมายความว่า เปลี่ยนจากความไม่รู้ เป็นการค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะว่า เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง การพูด การทำ และความเข้าใจ ก็ถูกด้วย น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ