เป็นมิตรกับภิกษุหรือเปล่า

 
khampan.a
วันที่  10 พ.ค. 2564
หมายเลข  34203
อ่าน  748

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๔๓๘]

เป็นมิตรกับภิกษุหรือเปล่า


เพียงแค่ไม่ให้เงินพระทำได้ไหมชาวพุทธ ตามพระธรรมวินัยไม่ให้โทษกับผู้รับ เพราะถ้า (ภิกษุ ผู้รับเงิน) ไม่ทันได้ปลงอาบัติ * แล้วสิ้นชีวิตไปสู่อบายภูมิ ไม่มีใครห้ามได้เลย ไม่มีใครช่วยได้เลย เพราะฉะนั้นเป็นคนที่เป็นมิตรกับภิกษุหรือเปล่าที่จะให้สิ่งที่ให้โทษถึงกับทำให้ไปสู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้นหนทางป้องกันก็คือโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น ชีวิตของพระภิกษุต้องต่างกับคฤหัสถ์ ไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นอยู่ เพียงแค่อาหารทุกชีวิตก็อยู่ได้ แม้สัตว์ในป่าไม่มีอะไรเลยยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็มีคุณธรรมที่ได้ศึกษาเข้าใจธรรม มีหรือที่ใครจะไม่อนุเคราะห์ที่จะให้ชีวิตเป็นไปด้วยความสะดวก แต่ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย ให้สิ่งที่เหมาะควรเพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพิ่มกิเลส

เพราะฉะนั้นต้องไตร่ตรอง ต้องคิด ต้องพิจารณา ต้องรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์อะไรเป็นโทษ ไม่ใช่ทำตามๆ กันแล้วก็มีข้ออ้างต่างๆ ซึ่งคิดถึงพระภิกษุในครั้งพุทธกาล ท่านพระอานนท์ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านอยู่กันได้ ไม่เห็นท่านต้องเดือดร้อนเมื่อไม่รับเงินและทอง ถ้ารับเงินรับทองเมื่อไหร่ก็เป็นคฤหัสถ์

คนที่บวชโดยที่ว่าไม่เข้าใจพระธรรม บวชเพื่อที่จะเป็นพระภิกษุแล้วก็ไม่ศึกษาธรรมไม่ขัดเกลากิเลส ก็เหมือนบริโภคแบบอย่างขโมย เพราะว่า (ผู้ถวาย) เขาให้แก่ผู้ที่มีศีลผู้ที่มีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสที่จะศึกษาธรรมและประพฤติตามพระวินัย แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็คือว่าเหมือนลักขโมยอาหารที่คนอื่นเขาให้แก่ผู้มีศีลมาเป็นของตน


* หมายเหตุ

- อาบัติ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ มีโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

- คำว่า ปลงอาบัติ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้อธิบายตามพระธรรมวินัยดังนี้ “การปลงอาบัติ คือเมื่อได้สำนึกแล้วว่าได้ประพฤติผิดจากพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ก็จะต้องประพฤติตามพระวินัยให้ถูกต้องเพื่อให้พ้นจากโทษที่ได้กระทำผิดแล้วนั้น และจะไม่ประพฤติผิดอย่างนั้นอีก นั่นคือการปลงอาบัติ ไม่ใช่ทำผิดแล้วก็ทำผิดซ้ำๆ อีก แล้วก็ปลงอาบัติอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นผู้ไม่ตรงไม่จริงใจ ไม่ใช่ผู้สำนึกผิด และไม่ใช่ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์และไม่ใช่ผู้ขัดเกลากิเลส”


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ