รู้ว่ามีโมหมูลจิตมาก การคิดถึงโมหะจะช่วยสติเจริญได้หรือไม่

 
lokiya
วันที่  11 พ.ค. 2564
หมายเลข  34209
อ่าน  654

เมื่อนั่งอยู่เฉยๆโดยที่ไม่ได้ทำกิจการงาน การคิดถึงว่าจิตขณะนี้เป็นโมหมูลจิต เพราะรู้ชัดว่าขณะนั้นไม่ได้มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด และไม่ได้มีความหงุดหงิดลำคาญใจเกิด ขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องลักษณะของโมหมูลจิตนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐานหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องครับว่า เหตุให้เกิดสติปัฏฐานคืออย่างไร คือ ความจำ (สัญญา) ที่มั่นคง หรือ ถิรสัญญาเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

ความจำ หรือ สัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล สัญญา ความจำ ต้องเกิดด้วยเสมอ ดังนั้นตามปกติ ในชีวิตประจำวัน กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นมาก ก็ต้องเป็นอกุศล ดังนั้น สัญญาความจำตามปกติในวันๆ หนึ่ง ก็จำผิด จำด้วยความเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นความจำที่มั่นคงในทางที่ผิด ซึ่งไม่ใช่เหตุให้เกิดสติปัฏฐานแน่นอน ครับ แต่การจำที่มั่นคงที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดนั้น คือขณะที่ฟังเข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะ ว่า ธรรมคืออะไร อยู่ในขณะไหน ขณะที่เข้าใจ ขณะที่ฟัง ก็มีสัญญาความจำเกิดด้วย ขณะที่เข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะที่กำลังฟังขณะนั้นก็เริ่มสะสม การจำถูก (เพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย) จำว่าเป็นธรรมเท่านั้นในขณะนี้ (แม้ขั้นการฟัง) ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่น ฟังจนเข้าใจ จนเหตุปัจจัยพร้อม ความจำที่มั่นคง อันเนื่องมาจากการฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น (สติขั้นสติปัฏฐาน) ระลึกสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ตรงตามสภาพธัมมะที่กำลังปรากฏโดยไม่ใช่ขั้นคิดนึกและขั้นการฟังครับ แต่ที่สำคัญ ความจำหรือสัญญาที่มั่นคง ที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ต้องจำถูกในเรื่องสภาพธัมมะ โดยมีปัญญาเกิดร่วมด้วยกับสํญญานั้น จึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ครับ

ดังนั้น การคิดชื่อว่าขณะนี้เป็นโมหมูลจิต เพราะ เพราะรู้ชัดว่าขณะนั้นไม่ได้มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด และไม่ได้มีความหงุดหงิดลำคาญใจเกิด

การคิดแบบนี้ไม่ใช่การรู้ชัดของโมหะ เพราะคิดถึงสภาพธรรมที่ดับไปรวดเร็วผ่านไปแล้ว เหมือนบอกว่า เห็นดอกไม้สวย ก็มีโลภะ แต่ถามว่าขณะไหนและปัญญาเกิดรู้ตรงลักษณะหรือเปล่า หรือ คิดเอา ในสิ่งที่ดับไปแล้ว ก็เป็นการคิดนึกถึงตัวธรรมที่ดับไปนานแล้ว ก็คิดเดาเอาว่าเป็นธรรมนั้น ธรรมนี้ การคิดแบบนี้ จึงไม่ใช่เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน เพราะเป็นเราที่เดาเอาว่าคือแบบนี้ ตามที่เรียนมา แท้ที่จริง การคิดถูก คือ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด ก็เข้าใจถูกว่า ในขณะนั้นเป็นธรรม คิดถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราในขณะนี้ การคิดบ่อยๆ แม้เป็นเพียงขั้นคิดก็จะทำให้ค่อยๆ มั่นคงในความเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เราเป็นธรรม ก็จะสะสมปัญญาไปทีละน้อยมากๆ ต้องอบรมปัญญาอีกนับชาติไม่ถ้วนก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้สติเกิด แต่ถ้ามีตัวเราที่จะเลือกว่าตอนนี้ว่าง ก็คิดตัวธรรมดีกว่า นั่นตัวเราเต็มๆ ลืมความเป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ โดยตลอด และสิ่งที่มีจริงๆ นั้น ไม่ได้พ้นจากชีวิตประจำวันเลย ไม่พ้นจากขณะนี้ด้วย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปโดยตลอด แม้แต่อกุศลจิต ก็มีจริงๆ มากมายหลากหลายมากตามการสะสมของแต่ละบุคคล เป็นสิ่งที่เห็นได้โดยยาก ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น ที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิตได้ เพราะสิ่งที่มีจริง สามารถเป็นที่ตั้งให้ปัญญา ที่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตรงลักษณะที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ การรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่การคิดนึกถึงเรื่องของสภาพธรรม

ดังนั้น จึงสำคัญที่การตั้งต้นจริงๆ คือ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความหวังความต้องการ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมซึ่งมีรากฐานที่มั่นคงด้วยความเข้าใจตั้งแต่ขั้นการฟัง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

ขอเชิญศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

โมหมูลจิต

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lokiya
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ