ทำไมเสพอารมณ์ที่พอใจทางตา/หูมากๆ แล้วรู้สึกเบื่อหน่าย

 
lokiya
วันที่  11 พ.ค. 2564
หมายเลข  34210
อ่าน  512

จะทราบได้อย่างไรครับว่าเป็นการเบื่อหน่ายเพราะปัญญา หรือ เพราะหงุดหงิดลำคาญใจ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเบื่อหน่าย องค์ธรรม คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายที่เป็นโทสะ ไมชอบใจในความไม่สบาย ป่วยของร่างกาย หรือเห็นอะไรก็เบื่อ แต่ปัญญาไม่เกิดในขณะที่เห็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ ความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา คือ เห็นตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาญาณ เบื่อหน่ายในขันธ์ เพราะเห็นถึงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยปัญญา ระดับสูง จึงเบื่อหน่ายด้วยปัญญาและถึงการดับกิเลสด้วยวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ เกิดขึ้น ครับ เพราะฉะนั้น จึงไม่พ้นไปจากเรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ หากไม่มีปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ก็สำคัญ เบื่อหน่าย ด้วยความเป็นเราไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป

การสะสมปัญญาที่จะถึงความเบื่อหน่ายที่เป็นปัญญาระดับสูง จึงต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ปัญญาที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปตามลำดับไม่ข้ามขั้น ไม่มีตัวตนที่จะทำให้เบือ่หน่าย แต่เมื่อปัญญาถึงพร้อม ความเบื่อหน่ายย่อมเกิดขึ้น ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะหากเบื่อหน่ายตัวเอง เบื่อหน่ายร่างกายที่สำคัญว่ามีร่างกายอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจาก กรง คือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่ามีเรา มีร่างกายที่สมมติบัญญัติได้เลย

ดังนั้น เบื่อหน่ายแล้วไม่ได้เกิดปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็เป็นความเบื่อหน่ายที่เกิดพร้อมกับความไม่รู้ และ ก็ไม่รู้ต่อไป จนกว่าจะเข้าใจว่าเดินหนทางผิดอยู่ ที่ไม่เข้าใจความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องของปัญญา หนทางที่ถูก คือ ฟังพระธรรมต่อไป แล้วเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แม้ความเบื่อหน่ายด้วยความไม่รู้นั้นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แม้แต่ความเบื่อหน่าย ก็ต้องตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างไร ถ้าเป็นความเบื่อหน่ายด้วยความไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เบื่อสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนี้ แล้ว เป็นต้น นั่น ไม่ใช่ปัญญาอย่างแน่นอน แต่เป็นโทสะ ความไม่พอใจ ซึ่งจะต่างกันห่างไกลแสนไกลจากความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง เป็นปัญญาในระดับสูง ซึ่งก็จะต้องมีการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาทำกิจของปัญญา ตรงตามความเป็นจริง

สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ควรศึกษา ควรเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ละหนึ่งๆ เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลย จะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องได้อาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เป็นการตั้งต้นที่ถูกต้อง ที่จะเกื้อกูลให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เจริญขึ้น
เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อความไม่รู้ ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้นจึงจะเข้าใจไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาเลย ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lokiya
วันที่ 12 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ