ภิกษุกล่าวโฆษณาสินค้า ต้องอาบัติข้อใด

 
wittawat
วันที่  12 พ.ค. 2564
หมายเลข  34213
อ่าน  650

ปัจจุบัน มีภิกษุบางรูป กล่าวพรรณาข้อดีต่างๆ ของสินค้า ด้วยอ้างว่าเป็นการสนับสนุนลูกศิษย์ของตน ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์วิทยากร มีความเห็นอย่างไร และภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติประเภทใด หรือผิดวินัยประเภทใด

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๖๘๒

กุหนาสูตร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้หลอกลวง มีใจกระด้าง ประจบประแจง ประกอบด้วยกิเลสอันปรากฏดุจเขาสัตว์ มีกิเลสดุจไม้อ้อสูงขึ้น มีใจไม่ตั้งมั่น
ภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่คนของเราตถาคต ภิกษุเหล่านั้น ปราศไปแล้วจากธรรมวินัยนี้


[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๓๖

ตายนสูตร

หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ อัน
บุคคลปฏิบัติ ไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้า ๓๒๗

อปายสูตร

คนเป็นอันมาก อันผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมอันลามก ไม่สำรวม คนลามกเหล่านั้น ย่อมเข่าถึงนรก เพราะกรรมอันลามกทั้งหลาย ก้อนเหล็กร้อน เปรียบด้วยเปลวไฟ อันผู้ทุศีลบริโภคแล้ว ยังประเสริฐกว่า ผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร


ภิกษุ ไม่ใช่คฤหัสถ์ ภิกษุจะทำกิจของคฤหัสถ์ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ได้สละชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์ทั้งหมดแล้ว ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง เพราะฉะนั้นก็จะต้องศึกษาพระธรรมและประพฤติตามพระวินัยขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ถ้าภิกษุใด ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ขัดเกลากิเลส แต่จะทำกิจเหมือนอย่างคฤหัสถ์ นั่น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่ใช่คนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การขายสินค้าประเภทต่างๆ การโฆษณาพรรณาคุณประโยชน์ของสินค้า นั่น เป็นกิจของคฤหัสถ์ ไม่ใช่กิจของภิกษุเลยแม้แต่น้อย ภิกษุที่ยอมตนทำอย่างนั้น ก็เท่ากับว่ารับใช้คฤหัสถ์ ประจบคฤหัสถ์ ไม่มีเหตุใดๆ ที่จะมาอ้างเพื่อให้ตนเองกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรในเพศที่สูงยิ่งนี้ได้เลย ถ้าประพฤติผิดไม่เหมาะไม่ควรอย่างนี้ เป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สามารถเป็นเหตุนำไปสู่การต้องอาบัติที่หนักได้ คือ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒ ในข้อ "ความเป็นภิกษุผู้ว่ายาก"

ภิกษุใดก็ตาม ประพฤติผิด กระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร แล้วมีภิกษุรูปอื่นว่ากล่าวตักเตือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ควรทำอย่างนี้ แต่ภิกษุนั้น ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับในคำเตือนนั้น ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๔ แห่งสุราปานวรรค ในข้อไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ไม่มีความเคารพในพระวินัย แต่ถ้าเป็นกรณีที่คฤหัสถ์ ยกพระวินัยหรือพระธรรม ขึ้นกล่าวเพื่อเกื้อกูล เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุนั้น แต่ภิกษุนั้น คัดค้าน ไม่เห็นด้วย ไม่รับฟัง ก็เป็นอาบัติทุกกฏ ซึ่งเบากว่าปาจิตตีย์ แต่ก็เป็นโทษ ทั้งนั้น

ถ้ามีการรับเงิน ก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ในข้อรับเงินและทอง สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค

เมื่อภิกษุพูดไม่ตรงตามความเป็นจริง พูดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ในข้อกล่าวเท็จ สิกขาบทที่ ๑ แห่งมุสาวาทวรรค

แม้แต่คำพูด ที่ตลกคะนอง ไม่สำรวมวาจา นั่นก็เป็นอาบัติที่เกี่ยวกับคำพูด เป็นอาบัติทุพภาษิต แม้จะเป็นอาบัติเบาที่สุด แต่เมื่อจงใจล่วงละเมิด แล้วไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษไม่แก้ไขด้วยการปลงอาบัติที่สำนึกผิดจริงๆ ที่จะไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีก ถ้ามรณภาพไปในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุอยู่ ชาติหน้าต่อจากชาตินี้เลย ต้องไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ครับ

ขอเชิญศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้

ภิกษุไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยได้หรือ?

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ภิกษุมีกิจธุระในพระศาสนา ๒ อย่าง คือ คันถธุระ ๑ (การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย) วิปัสสนาธุระ ๑ (การอบรมเจริญปัญญาประพฤติตามพระธรรมวินัยเพื่อดับกิเลส)

การประกาศพรรณาคำจริงอันประเสริฐสุด คือ การประกาศพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังได้พิจารณาไตร่ตรองเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นการเปิดเผยคำจริงยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง และการกระทำหน้าที่ที่พระภิกษุอนุเคราะห์เกื้อกูลประโยชน์แก่ผู้อื่น

การโฆษณาเป็นการประกาศเผยแพร่เรื่องราวที่ต้องการให้ผู้อื่นทราบถึงสิ่งนั้น ภิกษุโฆษณาสินค้าก็เหมือนกับนำเพศที่สูงยิ่งประเสริฐมาเป็นครื่องรับรองให้ผู้อื่นเกิดความเชื่อถือ และถ้าโดยสิ่งที่โฆษณานั้นไม่ตรงตามความจริงก็ต้องเป็นอาบัติ(โทษที่ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ)ข้อมุสาวาทเป็นอาบัติปาจิตตีย์ และถึงกับล่วงอาบัติข้ออื่นๆที่เกี่ยวกับวาจาได้อีก การโฆษณาก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ไม่ได้มุ่งขัดเกลากิเลสและเป็นการเพิ่มกิเลสให้แก่ผู้อื่นติดข้องต้องการ และเป็นการเลี้ยงชีพที่ผิดเพราะอาหารที่ชาวบ้านถวายภิกษุมาผู้เพื่อประพฤติตามพระธรรมวินัย มิได้ให้มาเพื่อโฆษณาสินค้า แทนที่จะแสดงคำจริงจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ดีแล้วเพื่อให้สัตว์โลกพ้นจากทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Dechachot
วันที่ 22 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ