ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๐๘

 
khampan.a
วันที่  16 พ.ค. 2564
หมายเลข  34230
อ่าน  1,453

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๐๘
* *



~ พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนเรื่องของปัญญา เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งทุกคนเกิดมาด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ทุกคนก็ยังคงไม่รู้ แม้ว่าเห็นก็ไม่รู้ ได้ยินก็ไม่รู้ ได้กลิ่น คิดนึก สุขทุกข์ในวันหนึ่งๆ เหมือนกันทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยความไม่รู้

~
ความยากของพระธรรม ก็เป็นเครื่องส่องถึงความอดทน ความเพียรความตั้งใจมั่นของแต่ละคนว่า มีมากแค่ไหนในการที่จะฟังที่จะศึกษาให้เข้าใจต่อไป

~ ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่สะสมมายังไม่มากพอที่จะเท่ากับทางฝ่ายอกุศล ถ้าเห็นอย่างนี้จริงๆ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเพียรทางฝ่ายกุศลขึ้น ความเพียรขั้นต้นของการเจริญกุศล ก็คือ ต้องเพียรฟังพระธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่วันนี้วันเดียว แต่ว่าวันอื่นๆ ต่อไปด้วย

~ ขณะแต่ละหนึ่งขณะที่เป็นชีวิตที่มีอยู่ ประโยชน์สูงสุด ก็คือ เป็นจิตที่ดี ไม่ใช่จิตที่เป็นอกุศล

~ ถ้าบุคคลนั้นกระทำกายทุจริต หรือ วจีทุจริตก็ตาม ทำไมเราจะต้องโกรธ ในเมื่อที่จริงแล้วบุคคลนั้นน่าสงสารที่สุด ที่ว่า เขาจะต้องได้รับผลของกรรม ถ้านึกถึงภาพของบุคคลนั้นที่จะต้องอยู่ในนรก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จะเกิดความกรุณาในผู้กระทำกายทุจริตและวจีทุจริต ในขณะนั้นท่านก็จะไม่โกรธเหมือนกัน เพราะรู้สึกเห็นใจสงสารจริงๆ ในผู้กระทำอกุศลกรรม

~
เมื่อความไม่ดีเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว จะห้าม จะกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม? ไม่ได้ เขาก็มีปัจจัยที่จะให้กระทำกรรมนั้น ใครจะทำอะไรได้ ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้นที่เกิดขึ้นกระทำอย่างนั้น เพราะเหตุปัจจัย

~ การที่จะเป็นคนดีได้จริงๆ ก็คือ ต้องดีถึงกับหมดกิเลส แต่ว่าเมื่อไม่สามารถจะดับกิเลสหรือหมดกิเลสได้ ก็จะต้องอบรมเจริญเหตุ คือความดี ที่จะให้หมดกิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า การจะเป็นคนดีจริงๆ ก็คือ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาและดับกิเลส

~ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลจริงๆ ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย วันต่อๆ ไป อกุศล ก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น

~ ขณะที่กำลังคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ขณะนั้นก็เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นคิด เราไม่รู้ตรงนี้เลย มีแต่ความเป็นเรื่องคนไม่ดี คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วเมื่อไหร่จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีเราและไม่มีเขา มีแต่สภาพธรรม ซึ่งจะต้องอบรมขัดเกลาการไม่รู้ที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะประจักษ์จริงๆ เป็นสภาพรู้ธาตุรู้ที่กำลังคิด เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ของการศึกษาบ่อยๆ เรื่องนั้นเรื่องนี้ในพระไตรปิฎก ก็ให้ถึงความเข้าใจที่ถูกต้องว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เป็นเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) เป็นรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้)

~ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ถ้าธรรมทั้งปวงแล้ว ก็ไม่เว้นเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็น เป็นอนัตตา ทางหูที่กำลังได้ยิน เป็นอนัตตา ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น เป็นอนัตตา ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรสเป็นอนัตตา ทางกายที่กระทบสัมผัส เป็นอนัตตา ทางใจที่คิดนึก เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

~ ถ้าเราทำความดี กลัวอะไร คนอื่นจะติเตียนเรื่องของเขา คนอื่นไม่ชอบ ก็เรื่องของเขา คนอื่นจะคิดอย่างไร เรื่องของเขา แต่สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเป็นประโยชน์ควรทำไหม? ถ้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ ก็ควรทำ

~ ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นโทษ โลภะ เป็นโทษไหม โทสะ ชัง เป็นโทษไหม โมหะ ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมีตามความเป็นจริง เป็นโทษไหม ก็ไม่รู้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่ดี ต้องไม่ดี ไม่ว่าใครทั้งสิ้น

~ ลองคิดดู ใครก็ตามที่มีความไม่รู้และก็ไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมดาเหลือเกินที่บุคคลนั้นจะต้องทำสิ่งที่ผิดๆ หรือว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร หรือทำสิ่งที่เสียหายแม้กับตัวท่าน แต่ถ้าท่านพิจารณาว่า เพราะบุคคลนั้นไม่รู้จึงทำ แต่เมื่อท่านเองศึกษาแล้ว พิจารณาธรรมเข้าใจแล้ว รู้แล้ว ยังจะโกรธคนที่ไม่รู้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลย

~
๔๕ พรรษาแห่งการประกาศพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม (สิ่งที่มีจริง)

~
ฟังพระธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วใครก็เปลี่ยนความเข้าใจถูกให้ผิดไปก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนว่าธรรมไม่ใช่อย่างนี้ ธรรม เที่ยง ธรรมบังคับบัญชาได้ ก็ไม่ได้ เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และความเข้าใจ ก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น

~
เมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเองก็ต้องเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตน ซึ่งคนอื่นจะทำโทษให้กับบุคคลนั้นไม่ได้เลย นอกจากกิเลสของตนเอง

~ เวลาที่กุศลจิตเกิด สภาพของจิตผ่องใส ไม่มีความเดือดร้อนด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่มีการที่จะขาดความเมตตาในบุคคลอื่น จะเห็นได้ว่า จิตที่ผ่องใส เป็นกุศลนั้น ไม่เป็นโทษเป็นภัย เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ด้วยจิตที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยเป็นเหตุ ย่อมจะไม่ทำให้เกิดผลที่เป็นโทษภัย เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายมีวิบากที่เป็นสุข ไม่ใช่นำมาซึ่งวิบากที่เป็นทุกข์

~
การศึกษาธรรม ก็ให้รู้จักธรรม เพื่อละความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าปัญญาเหมือนแสงสว่างที่เข้าใจถูกเห็นถูก ถ้าเป็นความมืดจะมองเห็นไหมว่า ขณะที่กำลังโกรธ ขุ่นเคืองใคร คนนั้นไม่ดี ความจริงธาตุที่กำลังโกรธนั้นเป็นธาตุเลว (อกุศลธรรม) ถ้าไม่ใช่ปัญญา ไม่สามารถรู้ได้เลย

~ ต้องรู้ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นธาตุเลว แล้วก็หมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับธาตุเลวๆ ทั้งนั้นเลย เป็นไปด้วยโลภะ โทสะ เป็นต้น ไม่พ้นไปจากธาตุเลวเมื่อเป็นอกุศล แต่วันหนึ่งๆ ก็มีอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่มีแต่อกุศลเท่านั้น

~ ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน อย่างการเห็นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง การได้ยินก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง การได้กลิ่น ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เอาความเป็นสัตว์ เป็นตัวตน เป็นบุคคลออก ก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า แต่ละขณะนี้ก็เป็นเพียงแต่ละธาตุ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป

~
ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ต้องกล้าออกจากอกุศลอย่างเร็วที่สุดด้วยความไม่ประมาท เพราะว่าถ้าช้า ก็จะทำให้ออกจากอกุศลนั้นยากขึ้น จนในที่สุดก็อาจจะสายเกินไปที่จะออกจากอกุศลนั้นได้ และอาจจะเป็นอย่างนี้ทุกๆ ชาติ

~ ถ้ารู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีเขา เป็นธรรมฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว และก็ให้ผลต่างกันด้วย ปัญญาที่เข้าใจอย่างนี้ จะเลือกทำอกุศลไหม?

~ คนพาลเห็นถูกหรือเปล่า คนพาลเห็นผิดไหม เข้าใจผิดไหม ถ้าคบกับความเห็นผิดความเข้าใจผิดไปเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกได้ไหม ก็ไม่ได้ แล้วพาลจริงๆ ก็คืออกุศลธรรมทั้งหมด

~ ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างเป็นธรรม (สิ่งที่มีจริง) ความถูกต้องเป็นความถูกต้อง เปลี่ยนไม่ได้ ธรรม ตรง คือ กุศลธรรมเป็นกุศลธรรมและอกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูก ถ้ามีความเข้าใจถูกแล้ว ความเข้าใจถูก ไม่เป็นโทษ ไม่ว่าที่ไหนกับใคร

~ ทำความดีหรือเป็นคนดี ไม่ยากถ้าเข้าใจ พูดก็พูดอยู่แล้ว ก็พูดดีเท่านั้นเอง ใช่ไหม? ก็ไม่ยาก ใช่ไหม? หรือแม้แต่กาย วาจา ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น

~ ขออนุโมทนาทุกท่านที่กุศลกรรมทำให้ได้มีโอกาสเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม เพราะว่า พรุ่งนี้อาจจะตายก็ได้ นานไปหรือเปล่าพรุ่งนี้? เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าจะตายเมื่อไหร่


* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๐๗





...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 16 พ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kukeart
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Khemsai
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 16 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และยินดีในกุศลจิตด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 17 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ