ห่วงพระภิกษุในพระพุทธศาสนา.. ควรกระทำอย่างไรบ้าง?

 
Thanapolb
วันที่  27 พ.ค. 2564
หมายเลข  34292
อ่าน  504

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์

เหมือนได้ยินคำถามลอยๆ​ แต่คงเป็นคำที่

ถามให้คิด....

มีใครห่วงพระภิกษุในพระพุทธศาสนาบ้าง?

ถ้าผมตอบ​ ก็ตอบว่า เป็นห่วง แต่ว่าถ้า ห่วงพระภิกษุ​ แล้วควรกระทำสิ่งที่ถูกต้องแก่พระภิกษุตามพระธรรมวินัยอย่างไรบ้าง?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุดีอยู่ได้แม้ไม่รับเงินทอง

ท่านอาจารย์สุจินต์  ไม่ต้องห่วงใย ว่าพระภิกษุจะอยู่กันไม่ได้ ถ้าไม่มีเงินทอง ท่านอยู่กันมานานแล้วด้วยคุณความดี และถ้าห่วงใยนะคะว่า จะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีเงินทอง คนนั้นไม่เหมาะเลยที่จะบวชเป็นบรรพชิต ที่จะเป็นพระภิกษุให้รู้ตัวไว้ด้วย และถ้าภิกษุใดประพฤติปฏิบัติตาม มีหรือที่คฤหัสถ์จะไม่นอบน้อมต่อคุณความดีนั้น

ขออนุโมทนา


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

พระบัญญัติ

๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

ขออนุโมทนา

เพราะฉะนั้น กระทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย คือ ไม่ให้เงินพระภิกษุ เป็นต้น แต่ถวายในสิ่งที่เหมาะสมตามพระวินัยบัญญัติ ก็จะเป็นการเกื้อกูลพระภิกษุและเกื้อกูลตนเองและดำรงรักษาพระพุทธศาสนาด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดี ไม่ได้จำกัดเลย แม้คฤหัสถ์ซึ่งเป็นเพศที่ต่ำกว่าเพศบรรชิต ก็สามารถทำประโยชน์เกื้อกูลได้ หวังดีได้ ห่วงใยได้ ไม่ได้ห้ามเลย โดยเฉพาะเมื่อพุทธบริษัทหนึ่งบริษัทใด พลาดพลั้ง ทำไม่ถูกต้อง ผู้ที่เข้าใจถูกเห็นถูกก็เกื้อกูลด้วยพระธรรมวินัย กล่าวแสดงเปิดเผยคำจริง ตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว และ สำหรับคฤหัสถ์แล้วการทนุบำรุงเพศบรรพชิตด้วยปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ก็สามารถที่จะกระทำได้ เพื่อให้ท่านได้มีชีวิตเป็นไปอย่างไม่เดือดร้อน ในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป

ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงความเป็นจริงของการเกื้อกูลกันระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้า ๖๗๗ (พหุการสูตร)

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้เธอทั้งหลายก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยซึ่งกันและกันด้วยอำนาจอามิสทานและธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อต้องการสลัดโอฆะ (กิเลสที่เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่ทำให้หมู่สัตว์จมลงในสังสารวัฏฏ์) เพื่อจะทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ด้วยประการอย่างนี้”


[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้า ๙๑ (สิงคาลกสูตร)

ดูกร คฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕
คือ ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑ ด้วยให้อามิสทาน เนืองๆ ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ อนุเคราะห์ด้วยใจงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑


ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาตามพระธรรมวินัย

บวชเพื่อรับเงินหรือบวชเพื่อขัดเกลากิเลส?

จะให้เงินภิกษุไหม

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Thanapolb
วันที่ 27 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่ง​ในคำตอบอาจารย์เผดิมและอาจารย์คำปั่น​ ครับ

บำรุงพระภิกษุด้วยความเป็นมิตรจริงๆ​  ได้ก็ต่อเมื่อได้เข้าใจพระธรรมวินัย​ รู้อะไรที่จะไม่เป็นโทษแก่ท่าน​น้อ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ