จิต จำสภาวธรรมได้ หมายถึงอะไรครับ ไม่เข้าใจ

 
cathen
วันที่  14 เม.ย. 2550
หมายเลข  3436
อ่าน  2,393

เคยอ่านเกี่ยวกับ วิธีการดูการเกิดดับของจิต ดูไปเพื่อให้จิตจำสภาวธรรมได้ พอจำสภาวธรรมได้มากได้หลากหลายเข้า เราจะพบว่า จริงๆ แล้ว ตัวตนเราไม่มีอยู่จริง การที่จิตจำสภาวธรรมได้ หมายถึงอะไร ตัวเรา เป็นเพียงการเกิดดับ เกิด ดับของรูปนาม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 14 เม.ย. 2550

ควรจะหมายถึงว่า เมื่อเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง จึงพบว่าอัตตาตัวตนไม่มีมีเพียงรูปธรรมและนามธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatdarth
วันที่ 14 เม.ย. 2550

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
devout
วันที่ 14 เม.ย. 2550

จิตไม่ได้จำ แต่สัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตทำหน้าที่จำ ซึ่งเจตสิกตัวนี้จะต้องเกิดกับจิตทุกดวงทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่ภวังคจิต สัญญาจึงจำทุกอย่างที่จิตรู้ สุข ทุกข์ ดี เลว บัญญัติ ปรมัตถ์ เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกที่ รูป/นาม สัญญาก็จะจำสภาวธรรมนั้นๆ ด้วย แต่ตามความเป็นจริงแล้วในวันหนึางๆ สติปัฏฐานเกิดบ่อยมั้ยคะ หรือไม่เกิดเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะให้สัญญาจำสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็ยังคงยึดถือสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นอัตตา ตัวตน คน สัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
cathen
วันที่ 14 เม.ย. 2550

ขออภัยที่เขียนกระทู้ผิดหลายจุด ทำให้อ่านแล้วงง เวลาเดินภาวนาสักสองชั่วโมง พอพ้นชั่วโมงที่สอง การสังเกตอาการเกิดดับของความคิด มักจะเกิดขึ้นเล็กน้อย คือเห็นความคิดเกิดขี้น แล้วเห็นมันดับไปเอง อาการอย่างนี้ ไปกระตุ้นให้เกิด อาการจำสภาวธรรมที่เกิดขี้นบ้างไหมครับ คุณ devout ถามว่า สติปัฏฐานเกิดขี้นบ่อยไหม ผมแปลไม่ออกครับ อาการสติปัฏฐานเกิด คืออะไร รบกวนคุณ devout อธิบายเพิ่มเติมหน่อยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 14 เม.ย. 2550

คำว่า สังเกต ที่กล่าวถึงสภาพธัมมะนั้น คือ สติ นั่นเอง ขณะที่สติเกิดระลึกสภาพธัมมะขณะนั้นเป็น สติปัฏฐาน อาการสังเกตก็คือ สติ ครับ สติเกิดรู้ว่าไม่ใช่เรา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสติเจตสิกเกิดด้วย รวมทั้ง สัญญาเจตสิก ที่จำ ปกติเราก็จะจำด้วยความเป็นตัวตน (อัตตสัญญา) ตราบใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เมื่อ สติปัฏฐานเกิดสัญญา ความจำที่เกิดกับสติ ก็จะจำโดยความไม่ใช่สัตว์ บุคคล แต่เป็นธัมมะ (อนัตตสัญญา) ดังนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธัมมะ โดยเป็นสติที่ระลึก (สังเกต) สภาพธัมมะว่าไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็จำด้วยว่าไม่ใช่เรา แต่ข้อที่น่าพิจารณาก็คือว่า สติ ที่จะทำหน้าที่ระลึกสังเกต สภาพธัมมะที่ปรากฏ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ และที่สำคัญก็เป็นเราที่สังเกต ขณะนั้น มีความต้องการที่จะจดจ้อง สภาพธัมมะ ซึ่งเป็นโลภะ ไม่ใช่สติครับ

ดังนั้น ควรอบรมฟังให้เข้าใจก่อนว่า ธรรมคืออะไร อยู่ขณะไหน บังคับธัมมะได้ไหมครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
devout
วันที่ 15 เม.ย. 2550

สวัสดีค่ะคุณ cathen,

ยินดีที่ได้ร่วมสนทนาด้วย และขออนุโมทนาที่เป็นผู้สนใจในธรรม ก่อนอื่น ต้องขอเรียนให้ทราบว่า การจะประจักษ์ลักษณะของสภาวธรรมตามความเป็นจริงนั้น ต้องเป็นไปตามลำดับค่ะ ก่อนจะเห็นการเกิดดับ (ซึ่งเป็นวิปัสสนาญานขั้นที่ ๓) ได้นั้น จะต้องเริ่มอบรมด้วยการเจริญสติปัฏฐานก่อนจนกว่าสติจะเกิดบ่อยขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้นจนกระทั่งเห็นความแยกขาดจากกันของรูปนาม ซึ่งเป็นวิปัสสนาญานขั้นที่ ๑

เพราะฉะนั้น การเกิดดับ ตามที่คุณกล่าวมา จึงเป็นเรื่องของ ความคิดนึก เท่านั้นนะคะ ถ้าเป็นการประจักษ์สภาวลักษณะที่แท้จริงแล้ว จะไม่มีความสงสัยใดๆ เลยเป็นโอกาสอันดีที่คุณ cathen ได้มาพบเว็บไซท์แห่งนี้ ขอให้เริ่มศึกษาจากที่นี่ด้วยการ ฟังธรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกระดานสนทนานะคะ ส่วนเรื่องรายละเอียดของการเจริญสติปัฏฐานนั้น คงต้องฝากเป็นการบ้านให้คุณ cathen ลองค้นหาอ่านดูจากในเวบนี้ ไม่ควรรีบร้อนนะคะ ศึกษาจนกว่าจะเข้าใจ แล้วจะรู้เองว่าควรปฏิบัติอย่างไร การทำตามคนนั้นบอก คนนี้บอก นั่นไม่ใช่ปัญญาของเรา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกต้องค่ะ ถ้าเริ่มจากการปฏิบัติผิด ความเข้าใจผิดนั้นก็จะมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ น่ากลัวนะคะ

ลองกลับไปที่หน้าแรก คลิกที่ฟังธรรม (ซ้ายมือ) แล้วเลือกหัวข้อที่สนใจ ลองฟังดูนะคะ แล้วกลับมาร่วมสนทนากันอีก

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
cathen
วันที่ 15 เม.ย. 2550

ขอบคุณทุกท่านที่แนะนำครับ อ่านคำแนะนำแล้ว คล้ายๆ กับถูกรวบรัดตีความว่า ผมถามว่า อาการที่เกิดขึ้น หลังการเดินภาวนานั้น คือ การหมดกิเลสตัวตนหรือไม่ ผมไม่ได้มีความประสงค์จะถามอย่างนั้น เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นคนมีกิเลสมาก คือ ต้องการถามว่า การที่จิตจำสภาวธรรมได้ หมายถึงอะไร เหมือนการจำหน้าดารา จำสูตรคูณไหมครับ ขออภัยอีกครั้ง ที่ตั้งกระทู้แล้วอธิบายไม่ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
study
วันที่ 16 เม.ย. 2550

ลักษณะที่จำสิ่งต่างๆ ได้ เป็นกิจของสัญญาเจตสิก การตรึกนึกถึงชื่อต่างๆ ที่เคยรับรู้มาก่อน เป็นกิจของวิตกเจตสิก ทั้งสัญญาและวิตกเกิดร่วมกับจิต บางนัยเมื่อจะกล่าวในฐานะที่รู้กันแล้ว อาจพูดว่าจิตหรือใจเป็นสภาพจำ ก็เข้าใจกันได้

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 18 เม.ย. 2550

จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง สัญญาเจตสิกทำหน้าที่จำ ทันทีที่เห็น สัญญาเจตสิกก็จำแล้ว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เพราะสัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต เกิดดับพร้อมกับจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 มิ.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ