การหยิบของผิดกับพระรูปอื่นเป็นอาบัติหรือไม่

 
kane koonlapat
วันที่  10 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34386
อ่าน  651

เรียนถามสมาชิกทุกท่าน กระผม หยิบจีวรที่อยู่บนกุฏิของตนเอง มีความไม่แน่ใจว่าเป็นจีวรของตนหรือไม่ แต่ได้หยิบขึ้นมาจากฐานของทรัพย์(ที่ๆจีวรว่างไว้อยู่) อย่างนี้ต้องอาบัติหรือไม่ครับ 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ได้เรียนถาม อ.วิชัยในประเด็นนี้ครับ คือ ถ้าไม่มีไถยจิต จิตคิดจะขโมย ก็ไม่เป็นอาบัติ ครับ เพราะสำคัญว่าเป็นของตนเอง

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kane koonlapat
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

รู้สึกไม่สบายใจเลยครับกลัวมีอาบัติปาราซิกติดตัวไป แล้วทำมาหากินไม่กินไม่ขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอให้สบายใจได้เลย ไม่ใช่อาบัติปาราชิก สามารถพิจารณาเทียบเคียงองค์ของอทินนาทาน ได้ ดังนี้

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๐
อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ

๑. ของที่เจ้าของหวงแหน

๒. รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน

๓. มีจิตคิดจะลัก

๔. พยายามที่จะลัก

๕. ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น

..ยินดีในความีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kane koonlapat
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

แล้วถ้าต้องซึ่งอาบัติปาราชิกจริงจะมีวิบากกรรมอื่นนอกจาก ปิดนิพพานไหมครับ สามารถสึกไปเป็นฆราวาสได้อย่างสบายใจไหมครับ ถ้าถือศีล 5 และ ศีล 8 เมื่อมีโอกาสจะลดโทษได้ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๕ ครับ

ขอเชิญพิจารณาความละเอียดของพระธรรม ดังนี้

๑. เมื่อต้องอาบัติปาราชิก ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่สามารถจะเป็นภิกษุได้อีกในชาตินั้น ถ้ายังไม่สละเพศไป ก็เท่ากับว่ายังปฏิญาณว่าตนเองเป็นภิกษุ และ หลอกลวงผู้อื่น ด้วยเพศบรรพชิต โทษก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น ต่อเมื่อใด สละเพศ ไปดำรงอยู่ในภูมิสามเณร หรือ เป็นคฤหัสถ์ ยังมีโอกาสที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ อบรมเจริญปัญญา จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลได้ แต่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๑๑๙ ดังนี้

ก็ว่า ก็ภิกษุ แม้เหล่านั้น (ที่ต้องอาบัติปาราชิก) ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเทศนากัณฑ์นี้ (อัคคิขันโธปมสูตร * ) ไซร้ เป็นผู้ประมาท ไม่พึงอาจละฐานะ (ไม่สละเพศ) ได้ แต่นั้น บาปของภิกษุเหล่านั้น กำเริบขึ้น จะพึงทำเธอให้จมลงในอบายถ่ายเดียว แต่ฟังเทศนากัณฑ์นี้แล้ว เกิดความสังเวช ละฐานะ ตั้งอยู่ในภูมิแห่งสามเณร บำเพ็ญศีล ๑๐ ประกอบขวนขวายในโยนิโสมนสิการ บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลก พระธรรมเทศนาได้มีผลแม้แก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ด้วยอาการอย่างนี้

* * ดังนั้น อาบัติ ทั้ง ๗ กอง เป็นโทษ ตราบใดที่ยังไม่แก้ไขให้ถูกต้อง (อาบัติสังฆาทิเสส ลงมา จนถึงทุพภาษิต ที่เกี่ยวกับเรื่องคำพูด) และ ไม่สละเพศไป (เมื่อต้องอาบัติปาราชิก)

๒. เมื่อภิกษุได้ต้องอาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสส ลงมาจนถึงทุพภาษิต แล้วไม่ได้แก้ไข ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้อง เมื่อลาสิกขาแล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่ได้เป็นพระภิกษุอีกต่อไป เพราะได้เป็นคฤหัสถ์แล้ว คฤหัสถ์ไม่มีอาบัติแต่อย่างใด ไม่มีอาบัติ เป็นเครื่องกั้นใดๆ ทั้งสิ้น สามารถเป็นคฤหัสถ์ที่ดี พร้อมกับอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ได้ แต่ถ้าได้กลับมาบวชใหม่ อาบัติที่ต้องไว้ทั้งหมด ก็กลับมามีเหมือนเดิม เป็นโทษอีกเหมือนเดิม

อนึ่ง อาบัติใด ที่เป็นอกุศลกรรมบถ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น แม้จะลาสิกขาแล้ว แต่อกุศลกรรม ไม่ได้สูญหายไปไหน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สามารถให้ผลได้


หมายเหตุ * พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอัคคิขันโธปมสูตร ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลทั้งภิกษุผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ ทั้งภิกษุผู้ต้องอาบัติหนักคือปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ ทั้งภิกษุที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ไม่ถึงกับเป็นโทษหนัก โดยที่ภิกษุที่มีศีลที่บริสุทธิ์ได้รู้แจ้งธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ภิกษุที่ปาราชิกก็กระอักเลือดแล้วสละเพศภิกษุไป ส่วนภิกษุที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ไม่ถึงกับเป็นโทษหนัก เห็นว่าตนเองไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย ไม่สมควรอยู่ในเพศที่สูงยิ่งนี้อีกต่อไป ก็ลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ ยังสามารถทำประโยชน์ในฐานะของความเป็นคฤหัสถ์ได้ ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๑๑๙ ดังนี้

“ฝ่ายภิกษุนอกนี้ ถ้าไม่พึงได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ไซร้ เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็จะพึงต้องอาบัติสังฆาทิเสสบ้าง ปาราชิกบ้าง ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว คิดว่า พระพุทธศาสนา ช่างขัดเกลาจริงหนอ พวกเราไม่สามารถจะบำเพ็ญข้อปฏิบัตินี้ตลอดชีวิตได้ จำเราจักลาสิกขา บำเพ็ญอุบาสกธรรม จักพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้แล้ว จึงพากันสึกไปเป็นคฤหัสถ์ ชนเหล่านั้น ตั้งอยู่ในสรณะ ๓ รักษาศีล ๕ บำเพ็ญอุบาสกธรรม บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลก พระธรรมเทศนาได้มีผลแม้แก่ภิกษุเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง หมู่เทพได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว ได้เที่ยวไปบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่ได้ฟังทุกรูปทีเดียว ภิกษุทั้งหลายฟังแล้ว คิดว่า ท่านผู้เจริญ การประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิต ในพระพุทธศาสนาทำได้ยาก ภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง ๑๐๐ รูปบ้าง บอกลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ไปทันที”

ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัคคิขันโธปมสูตร มีเนื้อความโดยสรุปได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมด้วยข้ออุปมา ๗ ประการ มีข้ออุปมาด้วยการกอดกองไฟใหญ่ เป็นต้น ซึ่งเปรียบเทียบกับความเป็นภิกษุผู้ทุศีล ดังนี้

-ภิกษุทุศีลเข้าไปกอดสตรี กับ การเข้าไปกอดกองไฟใหญ่

-ภิกษุทุศีลยินดีการกราบไหว้ กับ การถูกใช้เชือกหนังชักถูที่แข้งทั้งสองบาดผิวหนังไปจนถึงเยื่อในกระดูก

-ภิกษุทุศีลยินดีการกระทำอัญชลี กับ การถูกหอกที่ชโลมด้วยน้ำมันทิ่มแทงที่กลางอก

-ภิกษุทุศีลใช้จีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา กับ การถูกใช้แผ่นเหล็กร้อนมีไฟลุกโชนนาบกาย

-ภิกษุทุศีลฉันอาหารบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา กับ การถูกใช้ขอเหล็กร้อนมีไฟลุกโชนง้างปากแล้วใส่ก้อนเหล็กร้อนเข้าไปให้ไหม้ลำคอลงไปจนถึงลำไส้แล้วออกทางทวารเบื้องต่ำ

-ภิกษุทุศีลใช้สอยเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา กับ การถูกคนผู้มีกำลังจับที่ศีรษะและคอให้นั่งทับเตียงหรือตั่งเหล็กร้อนที่มีไฟลุกโชน

-ภิกษุทุศีลใช้สอยวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา กับ การที่ถูกคนผู้มีกำลังจับเท้าให้ศีรษะห้อยลงแล้วโยนลงไปในหม้อเหล็กร้อนมีไฟลุกโชน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า อุปมาทั้ง ๗ ประการ ยังดีกว่าความเป็นภิกษุทุศีล แม้จะได้รับความเจ็บปวดก็เพียงชาตินี้ชาติเดียว แต่ความเป็นภิกษุทุศีลทำให้ตนเองต้องไปเกิดในอบายภูมิ จึงควรทำกิจที่ควรทำในฐานะที่ได้บวชแล้วด้วยความไม่ประมาทให้สมกับที่ได้ใช้สอยปัจจัย ๔ ที่คฤหัสถ์ถวายด้วยศรัทธา พระธรรมเทศนา คือ อัคคิขันโธปมสูตร นี้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ภิกษุทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้น

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เฉลิมพร
วันที่ 11 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Witt
วันที่ 16 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ