อ.สุจินต์/บ้านธัมมะ ไม่แนะนำให้ทำบุญกับพระใช่ไหมคะ

 
ดาว นพรัตน์
วันที่  14 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34412
อ่าน  1,092

อ.สุจินต์/บ้านธัมมะ ไม่แนะนำให้ทำบุญกับพระใช่ไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา บ้านธัมมะ ไม่มีการสอนอย่างนั้น (ตามที่ปรากฏในคำถาม) แต่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแสดงความจริงว่า บุญคืออะไร พระคือใคร อะไรที่ควรถวายแก่พระภิกษุ อะไรที่พระภิกษุรับไม่ได้ และทำไม่ได้ เป็นต้น การเจริญกุศลหรือการทำบุญ นั้น ก็เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล

บุญ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ขณะใดที่จิตปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจากกิเลสทั้งหลาย ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยเครื่องเศร้าหมองของจิต คือ กิเลสประการต่างๆ มากมาย) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศล เป็นบุญ ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ย่อมไม่ใช่บุญเลยแม้แต่น้อย

บุญ ย่อมเกิดขึ้น เจริญขึ้นในขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล หรือตรึกไปด้วยอกุศลวิตกประการต่างๆ เป็นไปกับความติดข้องต้องการหรือเป็นไปกับความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ รวมไปถึงในขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นบุญไม่เจริญ และไม่ใช่บุญด้วย (ในขณะที่นอนหลับ ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล เกิดขึ้น โลกนี้ไม่ปรากฏ เพียงแต่เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นทำกิจรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้เท่านั้น บุญจึงไม่เจริญในขณะที่นอนหลับ) แต่เมื่อใดที่สติเกิดระลึกได้เป็นไปในความดีประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรม และการน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ในเรื่องความสงบของจิต คือสงบจากอกุศลและในการอบรมเจริญปัญญา เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ ซึ่งไม่จำกัดเลย เพราะการกระทำบุญไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีถึง ๑๐ ประการด้วยกัน คือ

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

๒. ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบจากอกุศล (สมถภาวนา) และการอบรมให้เกิดปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก (วิปัสสนาภาวนา)

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แสดงถึงความอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง

๕. เวยยาวัจจะ การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนาด้วย

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาพลอยชื่นชมยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแม้ตนเองจะไม่ได้กระทำบุญนั้นก็ตาม เป็นการชื่นชมในความดี เป็นความจริงที่ว่าผู้ชื่นชมในความดี จึงทำดี

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรม กล่าวธรรม กล่าวในสิ่งที่มีจริงตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ผู้ต้องการฟัง

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมฟังในสิ่งที่มีจริงที่เป็นวาจาสัจจะ (คำจริง) ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ

สำหรับบุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์บุญ ซึ่งเป็นความดีประการต่างๆ อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเองนั้น ก็จะไม่ละเลยโอกาสในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ


ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จะไม่รู้เลยว่าภิกษุคือใคร

ความเป็นภิกษุนั้นลึกซึ้งมาก ภิกษุคือผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่รู้ว่าสังสารวัฏฏ์คืออะไร จะเห็นสังสารวัฏฏ์เป็นภัยไหม? ถ้าไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นสังสารวัฏฏ์ จะเห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ได้ไหม ใครรู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอะไรและเดี๋ยวนี้เป็นสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดจะไม่เห็นภัยขณะนี้เลย ถ้าไม่เห็นภัยจะสละความสะดวกสบายในชีวิตของคฤหัสถ์เพื่อศึกษาความละเอียดเพื่อเห็นภัยแล้วละภัยในสังสารวัฏฏ์หรือ เพราะฉะนั้น ภิกษุทุกรูปที่จะเป็นภิกษุได้ด้วยการเห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ จึงต้องได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเห็นโทษของความไม่รู้ซึ่งเป็นหัวหน้าของกิเลสทั้งหลายและสามารถดำรงเพศภิกษุตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเป็นศากยบุตรผู้ดำเนินตามรอยพระบาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินแล้ว ด้วยเหตุนี้ พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จึงควรรู้ว่าชีวิตของภิกษุกับคฤหัสถ์ต่างกันอย่างไรบ้างตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ตามที่ปรากฏทั้งในส่วนของพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก เป็นต้นว่า ภิกษุรับเงินรับทองไม่ได้ เพราะเหตุว่าเงินทอง เป็นชีวิตของคฤหัสถ์ ถ้าภิกษุจะขัดเกลากิเลสจริงๆ แล้วจะเอาเงินทองไปทำไม? ภิกษุศึกษาเล่าเรียนวิชาการทางโลก ไม่ได้ ภิกษุดำรงชีพในทางที่ผิด เช่น ทำเดรัจฉานวิชา ทำเครื่องรางของขลัง ไม่ได้ ภิกษุจะพูดตลกคะนอง ไม่ได้ ภิกษุจะพูดกระทบกระเทียบเพื่อหยอกล้อผู้อื่นเล่น ไม่ได้ หรือแม้แต่ภิกษุจะไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ก็ไม่ได้ เป็นต้น


ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

บุญคือกุศลจิต

ใครคือพระภิกษุ

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ดาว นพรัตน์
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

ขอบคุณค่ะสาธุ.. เพราะหนูรู้สึกว่าทางบ้านธัมมะจะแสดงธรรมโจมตีพระมากเกินไปโดยไม่มีตัวอย่างของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาแสดงให้เห็นหนูจึงมีความเห็นต่างว่าแม้พระสมัยนี้จะรับเงินรับทองก็ยังเป็นพระอยู่ใช่ไหมคะและท่านต้องมีศีลมากกว่าฆราวาสแน่นอน เพราะฆราวาสมีศีลอย่างมากก็แค่ 8 ข้อ แม้บ้านธัมมะจะแสดงความจริงจากพระไตรปิฎก แต่หนูก็เห็นว่า เป็นการมิบังควรอย่างยิ่งที่เพศต่ำกว่าคือฆราวาสจะไปติเตียนเพศที่สูงกว่าคือพระภิกษุนะค่ะหนูเข้าใจอย่างนี้เข้าใจถูกไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

เรียนความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

พระธรรมวินัย ละเอียดลึกซึ้งมาก ก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา เพราะเหตุว่า ความจริง เป็นความจริง ไม่มีทางที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จะหยุดกล่าวคำจริง พระธรรมวินัย ยิ่งกล่าว ยิ่งเปิดเผย ยิ่งแสดง ก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

แม้คฤหัสถ์ ก็สามารถกล่าวพระธรรมวินัยเกื้อกูลแก่พระภิกษุที่เป็นเพศที่สูงกว่าได้ เพราะเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำของบุคคลหนึ่งบุคคลใด และที่สำคัญ คำจริง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดกล่าว ก็เป็นคำจริง มิใช่หรือ และ ควรที่ทุกคนจะได้ฟังคำจริง มิใช่หรือ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาตามพระธรรมวินัย

ภิกษุรับเงินและทองเหตุใดจึงไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย

อุบาสกอุบาสิกาก็เป็นพุทธบริษัท

ปัญหา...เรื่องพระรับเงิน-ทอง

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ดาว นพรัตน์
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

แต่พุทธองค์ก็ทรงแสดงไว้ไม่ใช่หรือคะว่าคำที่ดีมีประโยชน์ก็ต้องรู้กาละที่จะกล่าวต้องกราบขอโทษด้วยนะคะที่หนูไม่รู้ธรรมะที่ลึกซึ้งและมีความเห็นขัดแย้งกับมูลนิธิที่ว่าสมัยนี้ไม่ใช่กาละและโอกาสที่จะไปต่อต้านพระรับเงิน เพราะหนูเห็นว่านอกจากจะเป็นการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ยังทำให้พระหลายรูปปิดกั้นตัวเองจากคำสอนในแนวทางของมูลนิธิค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ก็ขอให้คุณดาวฯ ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป นะครับ แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง คนที่ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ไม่เห็น ใครจะไปทำอะไรได้ แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ยังมี และพระธรรม ก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า ขณะนี้ มีผู้ที่เข้าใจเพิ่มขึ้น จากการที่ได้ฟังคำจริง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Witt
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

"แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง คนที่ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ไม่เห็น ใครจะไปทำอะไรได้ แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ยังมี และพระธรรม ก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลเหล่านี้"

ขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ดาว นพรัตน์
วันที่ 15 มิ.ย. 2564

จากกระทู้หมายเลข 34253 ของคุณ sumitta วันที่ 21 พ.ค. 64 อ.คำปั่น ให้ความเห็นว่า

"... แม้การยกสิกขาบทขึ้นแสดง ซึ่งกระทำทุกกึ่งเดือน เพื่อทบทวนความประพฤติของภิกษุแต่ละรูปๆ ว่า ได้มีการล่วงละเมิดในสิกขาบทใดๆ บ้าง ยังบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาต่อไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระภิกษุโดยตรง ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่นเลย ไม่เกี่ยวกับคฤหัสถ์เลยแม้แต่น้อย คฤหัสถ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนนี้"

ทำให้หนูเห็นตาม อ.คำปั่นว่า เรื่องการปรับอาบัติแต่ละข้อของพระภิกษุ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ก็ควรปล่อยให้พระภิกษุท่านดูแลกันเองค่ะ หนูเข้าใจถูกไหมคะ เพราะแม้จะเป็นเวลาหลังพุทธปรินิพพานมานานแล้วมีฆราวาสที่เป็นพระอริยบุคคลอยู่มากมายแต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับวินัยของพระภิกษุเลยใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 15 มิ.ย. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๗ ครับ

การล่วงละเมิดพระวินัยของพระภิกษุ ก็เป็นโทษสำหรับผู้ล่วงละเมิด แต่ถ้ามีใครที่หวังดี กล่าวแสดงเปิดเผยให้ได้รู้ความจริง ย่อมเป็นประโยชน์ตรงที่ว่าทำให้รู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เมื่อท่านสำนึกได้ ก็ย่อมเป็นประโยชน์ที่สุด

สำหรับการที่พระภิกษุท่านยกสิกขาบทขึ้นแสดง ทุกกึ่งเดือนนั้น เป็นกิจของสงฆ์ เป็นสังฆกรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับคฤหัสถ์ที่จะต้องเข้าไปร่วม เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนั่น เป็นสังฆกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์ศึกษาพระวินัยไม่ได้ กล่าวพระวินัยไม่ได้ และการกล่าวพระวินัย เป็นการเปิดเผยแสดงความจริงตรงตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่การปรับอาบัติพระภิกษุ เพราะเหตุว่าภิกษุใด ล่วงละเมิดพระวินัย ก็เป็นอาบัติสำหรับผู้ล่วงละเมิดอยู่แล้ว มีโทษมาก ถ้าหากว่าไม่แก้ไข ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ มรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุอยู่ ชาติหน้าต่อจากชาตินี้เลย ต้องเกิดในอบายภูมิ เท่านั้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 15 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lokiya
วันที่ 17 มิ.ย. 2564

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ก.ไก่
วันที่ 19 มี.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ก.ไก่
วันที่ 19 มี.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
offline
วันที่ 22 มี.ค. 2565

เรื่องพระอุทายี กับนางวิสาขา มิคารมาตา

[๖๔๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีดำริว่า พระผู้มีพระภาค ทรงห้ามการสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง พอจะการทำได้กับมาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่ง จึงสำเร็จการนั่งในที่ลับ กับสาวน้อยคนนั้นแล หนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่ ควรแก่เวลา

แม้ครั้งที่สองแล นางวิสาขา มิคารมาตา ก็ได้ถูกเชิญไปสู่สกุลนั้น นางได้เห็นท่าน พระอุทายีนั่งในที่ลับ กับสาวน้อยนั้นแล หนึ่งต่อหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอุทายี ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า การที่พระคุณเจ้านั่งในที่ลับ กับมาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่งเช่นนี้ ไม่เหมาะ ไม่ควร พระคุณเจ้าแม้ไม่ต้องการ ด้วยธรรมนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น พวกชาวบ้านผู้ที่ไม่เลื่อมใส จะบอกให้เชื่อได้โดยยาก

ท่านพระอุทายี แม้ถูกนางวิสาขา มิคารมาตา ว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ก็มิได้เชื่อฟัง เมื่อนางวิสาขา มิคารมาตากลับไปแล้ว ได้แจ้งนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายี จึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับ กับมาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
nattanagrit
วันที่ 1 ส.ค. 2566

"แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง คนที่ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ไม่เห็น ใครจะไปทำอะไรได้ แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ยังมี และพระธรรม ก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลเหล่านี้"

ขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ