ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๔

 
khampan.a
วันที่  27 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34507
อ่าน  1,467

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๔
* *


~ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็จะไม่ละเลยในการฟังพระธรรม เพราะรู้ว่าหนทางเดียวที่จะรู้จักพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ ฟังแล้วก็มีความเข้าใจว่า ทั้งหมดจากการที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งลึกซึ้งละเอียดอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม ก็พูดคำที่ไม่รู้จักตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคำอะไรทั้งสิ้น

~ แต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แล้วก็สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มากน้อยต่างๆ กันไป แต่ว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้โดยสิ้นเชิงในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะติดตัวไป ก็ควรจะเป็นการเจริญกุศลและการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

~ บางท่านทำกุศล เพราะเหตุว่าหวังผลของกุศล และบางท่านเพราะกลัวผลของอกุศล จึงทำกุศล เพื่อที่จะได้ผลของบุญนั้นๆ แต่ว่าผู้ที่มีปัญญา ต้องเห็นแม้โทษของผลของกุศลด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่เห็นโทษของผลของกุศล ก็ไม่สามารถจะละความติด ความพอใจในผลของบุญนั้นๆ ได้

~ ทำไมต้องหวังร้ายกับคนร้ายๆ เพราะว่าคนร้ายๆ ทำสิ่งร้ายๆ เขาก็ต้องได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว ทำไมให้อกุศลจิตของเราไปเกิด ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่จะทำให้กรรมของเขาได้รับผลมากขึ้นหรือน้อยลง แต่ขณะนั้นจิตของผู้ที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า ทำให้เกิดสภาพธรรมที่ไม่ดีงามเพิ่มขึ้นกับตนเอง

~ การที่จะไขน้ำเสีย คือ กิเลสที่หมักหมมเน่าเหม็น ก็มีหนทางเดียว ด้วยการเพิ่มน้ำใส คือ กุศลจิตและการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น เรื่องของแต่ละท่าน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่ดีของตัวเองก่อน เพราะเหตุว่า ถ้าเทียบแล้วกุศลจิตน้อยมากเมื่อเทียบกับอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คิดที่จะแก้อกุศล โดยการที่เพิ่มกุศลในทุกๆ ทาง ก็ย่อมไม่มีทางจะดับกิเลสได้

~ ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น แล้วอดทนดีไหม แต่ถ้าอดทนได้ดีไหม? ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น

~ เจริญกุศล (ทำความดี) ทุกประการ เพื่อที่จะขัดเกลาอกุศล ด้วยความจริงใจที่จะละคลายอกุศล ไม่ใช่ต้องการหรือปรารถนาสิ่งอื่น นี่คือผู้เห็นคุณของพระธรรม และเห็นโทษของอกุศล และก็รู้ว่า สิ่งที่ควรเจริญในชาตินี้คือปัญญา เพราะเหตุว่าสิ่งอื่นไม่สามารถจะติดตามไปได้ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ ก็ติดตามไปไม่ได้ แต่ปัญญา ความเข้าใจพระธรรมจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

~ น่ารู้ไหม ที่จะรู้อกุศลของตนเอง ไม่ต้องให้คนอื่นรู้ก็ได้ แต่ว่ารู้อกุศลของตนเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นอกุศลของตนเอง เห็นโทษของอกุศลธรรมนั้นๆ แล้วขวนขวายที่จะดับอกุศลธรรมนั้นๆ ด้วย

~ กิเลสมีมากมายมหาศาล ที่มีการฟังพระธรรมขณะนี้ รู้หรือเปล่าว่า เป็นความอดทนที่จะรู้จักสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรามานานแสนนานที่จะได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง


~ ผู้ที่กำลังฟังพระธรรมทั้งหมด เป็นผู้ที่ต้องการเข้าใจความจริง ซึ่งเป็นความถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องละความไม่รู้และละกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งกล่าวถึงสภาพธรรมโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง

~ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะละคลายกิเลสเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปจริงๆ แม้แต่ในขั้นของความเข้าใจ ถ้าจะตามฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากตอนต้นนี้มาก แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่มีกำหนดรู้ได้ว่า เพิ่มขึ้นมากในตอนไหน แต่จะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปเรื่อยๆ

~ ถึงเป็นคนดีแล้วก็ประมาทไม่ได้เลย เกิดมาเป็นคน เป็นผลของกุศลกรรมแล้วก็สะสมความดีไว้พอสมควร แต่ก็ยังมีอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นคนเลว ไม่ยากเลย เพราะอะไร? เพราะมีอวิชชา
(ความไม่รู้) ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย

~ ขณะใดที่ความดีเกิดขึ้น ไม่ทำร้ายตนเองและไม่ทำร้ายคนอื่น อกุศลเป็นศัตรู แต่คุณความดีเป็นมิตร เรามีความดี คือ ความหวังดี เกื้อกูล อดทนที่จะให้คนอื่นเกิดปัญญา อดทนรอให้เขาเป็นคนดี ไม่ว่าคำพูดของเขาจะร้ายต่อเรา หรือจะทำอะไรต่อเราก็ตาม แต่ความเป็นมิตรที่แท้จริงจะทำให้สามารถอดทนคอยจนกระทั่งพระธรรมทำให้เขาเป็นคนดีได้

~ ทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ไม่ต้องมีใครทำให้เลย เราตกบันไดเองก็ได้ มีดบาดเราเองก็ได้ แต่เวลาที่คนอื่นมาแทงเรา มาฟันเรา เรากับคิดว่าเขาทำเรา ทำไมไม่คิดถึงเวลาที่เขาไม่ทำ แต่มันเป็นไปเองโดยที่ไม่ต้องมีใครทำ อย่างคนที่บ้านพัง เขาทำหรือเปล่า ผู้ร้ายที่ไหนมาทำหรือเปล่า ก็ไม่มีใครทำเลย แต่พังเองตามกรรมที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ถ้าเราไม่เคยทำกรรมอย่างนั้น สิ่งนั้นจะเกิดกับเราไม่ได้ และก็ไม่ใช่คนอื่นทำให้ด้วย กรรมของเราทำ เมื่อถึงคราว ถึงโอกาสที่กรรมจะให้ผล สิ่งนั้นก็ต้องเกิด เปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้

~ ผลดีที่คนหนึ่งๆ ได้รับ ต้องมาจากกรรมดีที่เขาได้ทำแล้วและผลที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือกับใคร ไม่ใช่คนอื่นทำให้ เราทำเอง เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นเรา? เพราะคำตอบ ก็คือ เพราะต้องเป็นเรา ในเมื่อทำกรรมไว้แล้ว อย่างไรก็ต้องเป็นเราที่จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เราจะให้คนอื่นมารับผลของกรรมที่เราทำไว้ ไม่ได้

~ ผู้ใดทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นย่อมติดตามเหมือนเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติ ที่คอยอุปถัมภ์หรือเบียดเบียน กรรมดีก็เหมือนวงศ์ญาติที่ดี กรรมชั่วก็เหมือนวงศ์ญาติชั่ว ความจริงนั้น กรรมเท่านั้นที่เป็นเผ่าพันธ์ุวงศ์ญาติที่แท้จริงของผู้ทำกรรม เพราะเมื่อกรรมใดมีโอกาสให้ผล แม้แต่พ่อแม่พี่น้องหรือผู้ที่รัก ก็ช่วยเหลือแก้ไข หรือเบียดเบียนผลของกรรมนั้นไม่ได้ การได้รับสุข ทุกข์อันเป็นผลของกรรมของแต่ละคนนั้น ย่อมเป็นไปตามกรรมของผู้นั้นเอง ทุกคนจึงมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติที่แท้จริง

~
ถ้าใครเป็นผู้มักโกรธ ขุ่นเคืองใจไม่พอใจบุคคลอื่นง่ายๆ หรือว่าไม่ลืม ความโกรธความขุ่นเคืองนั้น ก็ควรที่จะระลึกรู้ความจริงว่าพบกันเพียงชาตินี้ชาติเดียวจริงๆ แล้วจะไม่พบกันอีกเลย เพราะฉะนั้น ควรจะดีต่อกัน มีเมตตากัน หรือว่า ควรจะโกรธกัน เพราะว่า การเห็นกันครั้งหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า จะเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้ายหรือไม่ เพราะถ้าคิดว่า อาจเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้าย ก็อาจจะทำให้จิตใจอ่อนโยน แล้วมีความเมตตากรุณาต่อกัน

~
ถ้าจะเกิดการรังเกียจหรือหิริ (ความละอายต่ออกุศล) จริงๆ ต้องเป็นความรังเกียจหรือหิริในอกุศลของตนเอง ไม่ใช่รังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะบางคนก็เห็นกายวาจาของคนอื่นที่ไม่ดีงาม ที่น่ารังเกียจ แต่ว่าขณะใดที่คิดรังเกียจอกุศลของคนอื่น ที่จะไม่เกื้อกูล ไม่เมตตา ไม่สงเคราะห์ ไม่กรุณา ขณะนั้นก็ลองพิจารณาดูว่า การรังเกียจอกุศลของคนอื่นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดีหรือไม่ดี?

~ ทุกคนฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจในเหตุในผล อกุศลเป็นอกุศล เป็นโทษ กุศลเป็นกุศล ไม่เป็นโทษ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วก็น้อมไปที่จะละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยังเป็นผู้ที่แข็งกระด้างว่ายาก ไม่ว่าพระธรรมจะว่าอย่างไร แต่ใจยังต้องการที่จะเป็นอกุศลต่อไปอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังพระธรรม

~
การฟังเป็นความดี เพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้ว ประโยชน์คือเริ่มเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน ยิ่งฟังมากก็ยิ่งเข้าใจได้ถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น

~
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ สามารถที่จะให้ผู้พิจารณาขัดเกลากิเลสอกุศลธรรมได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่าชี้ให้เห็นโทษของตนเอง ซึ่งยากที่จะเห็นได้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ เป็นดุจครูอาจารย์ผู้คอยชี้โทษ เป็นกัลยาณมิตร คือ มิตรแท้ คือ ผู้ที่ชี้ให้เห็นโทษของตนเอง

~
มีใครโกรธบุคคลที่ชี้โทษบ้างไหม? หรือว่าโทษของเราก็ต้องเราเห็น ไม่ใช่ให้คนอื่นบอก ความสำคัญตนมีมากมายหลายลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีจิตใคร่ที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลีหรือยัง? ถ้าระลึกถึงผ้าเช็ดธุลี คือ ไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำติ หรือการกระทำทางกายวาจาที่ควรไม่ควรจากบุคคลใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่สามารถจะไม่หวั่นไหวได้ ก็จะถือผู้ที่ชี้โทษให้ว่า เป็นผู้มีคุณ

~
เพื่อนดี มิตรดี สหายดี คือผู้ที่ชักชวนเกื้อกูลกันในกุศลธรรม ที่จะทำให้เจริญมั่นคงขึ้นในกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งใดมาก ก็มักจะคล้อยไปน้อมไปสู่ความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนที่ดี ที่ชักชวนให้ทำกุศลธรรมเนืองๆ ก็จะทำให้เพิ่มพูนมั่นคงในกุศลกรรมยิ่งขึ้น

~
เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะคนอื่น แต่เป็นเพราะกิเลสของท่านเองเท่านั้น

~ ความดีง่ายๆ ทำไม่ยาก ก็คือ ฟังพระธรรม ยากไหม? ฟังดนตรีก็เคยฟัง ฟังอย่างอื่นก็เคยฟัง แต่ความดีที่ไม่ต้องเสียเวลาไปทำให้เหนื่อยยากเลย แค่ฟัง แล้วก็เข้าใจ แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์หรือไม่ได้สะสมมา ก็เป็นการยาก เพราะฉะนั้น จากคนที่ไม่มีศรัทธา แล้วก็ไม่ฟัง ก็ควรที่จะสะสมศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของการฟัง เพื่อที่จะได้ไม่ขาดการฟัง ความดีทำง่ายมาก แค่ฟัง แล้วก็สะสม แล้วเป็นความดีที่ประกอบด้วยปัญญาด้วย

~ กล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป ตลอดไป เพื่อโอกาสของคนที่มีโอกาสจะไตร่ตรองว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร เพราะถ้าไม่รู้ต่อไป ก็ทำสิ่งที่เป็นภัยกับตัวเองและทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๓





...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 27 มิ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kukeart
วันที่ 27 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natthayapinthong339
วันที่ 27 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 27 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jans
วันที่ 27 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 27 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 28 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขอยินดียิ่งในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Wisaka
วันที่ 28 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 28 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pulit
วันที่ 29 มิ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kullawat
วันที่ 3 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
มังกรทอง
วันที่ 20 ก.พ. 2565

เพื่อนดี มิตรดี สหายดี คือผู้ที่ชักชวนเกื้อกูลกันในกุศลธรรม ที่จะทำให้เจริญมั่นคงขึ้นในกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งใดมาก ก็มักจะคล้อยไปน้อมไปสู่ความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนที่ดี ที่ชักชวนให้ทำกุศลธรรมเนืองๆ ก็จะทำให้เพิ่มพูนมั่นคงในกุศลกรรมยิ่งขึ้น

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ