ทานกับสติปัฏฐานเกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือครับ?

 
เริ่มหัดเดิน
วันที่  30 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34526
อ่าน  465

เหมือนจะเคยฟังท่านอาจารย์ท่านเมตตาแสดงไว้ว่า การให้ทานเป็นการเจริญสติปัฏฐาน จึงไม่แน่ใจว่า เพราะอย่างไรในขณะให้ทาน จึงเกิดสติปัฏฐานได้ และตลอดจนถึง ศีล ภาวนา ก็เป็นสติปัฏฐานด้วยไหมครับ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความเข้าใจผิดว่าสติปัฏฐานเป็นส่วนของหมวดภาวนาอย่างเดียว

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาในทุกๆ คำตอบครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความดีที่เป็นกุศล นั้น ยังแบ่งเป็นประเภทใหญ่อีกประเภทคือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กุศลเมื่อแบ่งเป็นระดับของกุศลก็มี กุศลขั้นทาน ศีลและภาวนา สำหรับกุศลขั้นภาวนานั้น ที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอครับ เช่น สมถภาวนาก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าจะอบรมความสงบที่เป็นกุศลจิตอย่างไรให้เกิดได้บ่อยๆ จนตั้งมั่น ส่วนกุศลที่เป็นวิปัสสนาภาวนาก็ต้องมีปัญญาเช่นกัน คือ มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ส่วนกุศลที่เป็นขั้นทานและศีลนั้น ก็มีทั้งกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาครับ

ตามที่กล่าวแล้วนะครับว่ากุศลขั้นทาน มีทั้งที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา ปกติทุกคนก็มีการให้ทาน ซึ่งบางครั้งก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วยและไม่เกิดร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ให้ทานกับขอทาน ก็สงสารจึงให้ ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นถูก คือ ปัญญาอะไรในขณะนั้น เพียงแต่มีจิตอนุเคราะห์เท่านั้นจึงให้ไป ขณะนั้นเป็นกุศลขั้นทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ส่วนปัญญา คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรมว่ามีจริง นี่ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนาก็อย่างหนึ่งครับ

การเจริญสติปัฏฐาน คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฎ ในขณะที่ให้ทาน กุศลจิตเกิดในขั้นทาน ปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของกุศลขั้นทานว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราได้ ครับ นี่คือ ความเกี่ยวข้องของทานและสติปัฏฐาน ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตามไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ขั้นการฟัง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็สามารถที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ทั้งสติปัฏฐาน ทั้งสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งของสติปัฏฐาน ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Witt
วันที่ 3 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เฉลิมพร
วันที่ 9 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เริ่มหัดเดิน
วันที่ 15 ก.ค. 2564

แจ่มแจ้งครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ