พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. มหาราหุโลวาทสูตร ทรงโอวาทพระราหุล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ก.ค. 2564
หมายเลข  34551
อ่าน  1,456

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 278

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

ทรงโอวาทพระราหุล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 278

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

ทรงโอวาทพระราหุล

[๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถี เวลาเช้า แม้ท่านพระราหุลก็ครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรและจีวรตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผินพักตร์ไปรับสั่งกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต เป็นอนาคตและเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้.

พระราหุลทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปเท่านั้นหรือ.

พ. ดูก่อนราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ.

[๑๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาท ด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์แล้วจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า ดังนี้แล้ว กลับจากที่นั้นแล้วนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้ แห่งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 279

บอกกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่าอานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทําให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

ธาตุ ๕

[๑๓๕] ดูก่อนราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็นภายใน. ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้น ก็เป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกําหนัดในปฐวีธาตุ.

[๑๓๖] ดูก่อนราหุล ก็อาโปธาตุเป็นไฉน อาโปธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี ก็อาโปธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็นอาโป มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ดี เสลด

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 280

หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอาโปธาตุเป็นภายใน ก็อาโปธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อาโปธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกําหนัดในอาโปธาตุ.

[๑๓๗] ดูก่อนราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน เตโชธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าเตโชธาตุ เป็นภายใน. ก็เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด เตโชธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุเหมือนกัน เตโชธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อมคลายกําหนัดในเตโชธาตุ.

[๑๓๘] ดูก่อนราหุล วาโยธาตุเป็นไฉน วาโยธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี ก็วาโยธาตุเป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย มีลักษณะพัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ลมพัด

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 281

ขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ํา ลมในท้อง ลมในไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย พัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่า วาโยธาตุ เป็นภายใน ก็วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้น เป็นวาโยธาตุเหมือนกัน วาโยธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลายกําหนัดในวาโยธาตุ.

[๑๓๙] ดูก่อนราหุล ก็อากาศธาตุเป็นไฉน อากาศธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี อากาศธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสําหรับกลืนอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ช่องท้องสําหรับเก็บอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสําหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่าง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะไม่ทึบ เป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอากาศธาตุ เป็นภายใน ก็อากาศธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อากาศธาตุนั้น เป็นอากาศธาตุเหมือนกัน อากาศธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอากาศธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาศธาตุ จิตย่อมคลายกําหนัดในอากาศธาตุ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 282

ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕

[๑๔๐] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนา [อบรมจิต] เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้.

[๑๔๑] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้.

[๑๔๒] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอืดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 283

เจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้.

[๑๔๓] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตของเธอได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้.

[๑๔๔] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงําจิตได้.

การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง

[๑๔๕] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้ เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้ เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 284

เถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้ เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้.

อานาปานสติภาวนา

[๑๔๖] ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร ทําให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่.

ดูก่อนราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้ปีติ หายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้ปีติหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้สุขหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้สุขหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้จิต

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 285

หายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักกําหนดรู้จิตหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักทําจิตให้ร่าเริงหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักทําจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักดํารงจิตมั่นหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักดํารงจิตมั่น หายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิทหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิทหายใจเข้า ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืนหายใจออก ย่อมสําเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืนหายใจเข้า.

ดูก่อนราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทําให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่.

ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทําให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป จะเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปหามิได้ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

จบมหาราหุโลวาทสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 286

๒. อรรถกถามหาราหุโลวาทสูตร

มหาราหุโลราทสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ปิฏฺิโต ปิฏฺิโต อนุพนฺธิ พระราหุลได้ตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ความว่า พระราหุลไม่ละสายตา ตามไปเบื้องพระปฤษฎางค์ไม่ขาดระยะด้วยการตามไปทุกอิริยาบถ.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่างพระบาทไปข้างหน้าด้วยความงดงาม. พระราหุลเถระเดินตามเสด็จพระทศพลไป ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปท่ามกลางป่าไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง ทรงรุ่งเรืองดุจช้างตัวประเสริฐตกมันออกไปเพื่อหยั่งลงสู่สมรภูมิ. พระราหุลภัททะรุ่งเรืองดุจลูกช้างตามไปข้างหลังช้างตัวประเสริฐ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรุ่งเรืองดุจไกรสรสีหราชออกจากถ้ำแก้วไปแสวงหาอาหารในเวลาเย็น. พระราหุลภัททะรุ่งเรืองดุจลูกสีหะออกติดตามสีหมฤคราช. พระผู้มีพระภาคเจ้าดุจพญาเสือโคร่งมีกําลังที่เขี้ยวออกจากไพรสัณฑ์มณีบรรพตอันมีสง่า. พระราหุลภัททะดุจลูกพญาเสือโคร่งติดตามพญาเสือโคร่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าดุจพญาครุฑออกจากสระสิมพลี. พระราหุลภัททะดุจลูกพญาครุฑตามไปข้างหลังพญาครุฑ. พระผู้มีพระภาคเจ้าดุจพญาหงส์ทองบินร่อนไปบนท้องฟ้าจากภูเขาจิตตกูฎ. พระราหุลภัททะดุจลูกหงส์บินร่อนตามพญาหงส์. พระผู้มีพระภาคเจ้าดุจมหานาวาทองเคลื่อนลงสู่สระใหญ่. พระราหุลภัททะดุจเรือลําเล็กผูกติดข้างหลังแล่นตามเรือทอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าดุจพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จไปบนท้องฟ้าด้วยอานุภาพจักรแก้ว. พระราหุลภัททะดุจปริณายกแก้วติดตามพระเจ้าจักรพรรดิ. พระผู้มีพระภาคเจ้าดุจดวงดาวลอยบน

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 287

ท้องฟ้าซึ่งปราศจากฝน. พระราหุลภัททะดุจดาวประกายพรึกบริสุทธิ์ลอยไปตามดาวอธิบดี.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระราหุลภัททะก็ทรงอุบัติในราชวงศ์โอกกากราชสืบเชื้อพระวงศ์จากพระเจ้ามหาสมมต. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระราหุลภัททะก็ทรงอุบัติในตระกูลกษัตริย์มีพระชาติบริสุทธิ์ เช่นกับน้ำนมที่ใส่ไว้ในสังข์. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระราหุลภัททะก็ทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวช. พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ แม้ของพระราหุลภัททะก็เป็นที่น่ารักอย่างยิ่ง ดุจซุ้มประตูแก้วอันตั้งขึ้นในเทพนครและดุจดอกไม้สวรรค์บานแผ่ไปในที่ทั้งปวง.

ด้วยประการฉะนี้ แม้ทั้งสองพระองค์สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร เป็นราชบรรพชิตเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีพระฉวีดุจทองคําสมบูรณ์ด้วยลักษณะ เสด็จดําเนินไปทางเดียวกัน รุ่งเรืองดุจครอบงําสิริ แห่งสิริของจันทมณฑลทั้งสอง สุริยมณฑลทั้งสอง ท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ ท้าวสันตุสิตะ ปรนิมมิตวสวัตดี และมหาพรหมเป็นต้นทั้งสองซึ่งไปตามลําดับ.

ในขณะนั้นท่านพระราหุลเสด็จไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดูพระตถาคตตั้งแต่พื้นพระบาทจนถึงปลายพระเกสา. ท่านพระราหุลนั้นทอดพระเนตรเห็นความงดงามของเพศพระพุทธเจ้าของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงดําริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระสรีระวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการงดงาม ได้เป็นดุจเสด็จไปท่ามกลางผงทองคําอันกระจัดกระจาย เพราะแวดล้อมด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง ดุจกนกบรรพตอันแวดล้อมด้วยสายฟ้า ดุจทองคํามีค่าวิจิตรด้วยรัตนะอันฉุดคร่าด้วยยนต์ แม้ทรงห่มคลุมด้วยผ้าบังสุกุลจีวรสีแดง ก็ทรงงามดุจภูเขาทองอันปกคลุมด้วยผ้ากัมพลแดง ดุจทองคํามีค่าประดับด้วยสายแก้วประพาฬ ดุจเจดีย์ทองคําที่เขาบูชาด้วยผงชาด ดุจเสาทองฉาบด้วยน้ำครั่ง ดุจดวงจันทร์วันเพ็ญโผล่ขึ้นในขณะนั้นไปในระหว่างฝนสีแดง. สิริสมบัติของอัตภาพที่ได้เตรียมไว้

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 288

ด้วยอานุภาพแห่งสมติงสบารมี.

จากนั้นพระราหุลเถระก็ตรวจดูตนบ้าง ทรงดําริว่า แม้เราก็งาม หากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมหาทวีปทั้ง ๔ ได้ทรงประทานตําแหน่งปริณายกแก่เรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาคพื้นชมพูทวีปจักงามยิ่งนัก จึงเกิดฉันทราคะอันอาศัยเรือนเพราะอาศัยอัตภาพ.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดําเนินไปเบื้องหน้าก็ทรงดําริว่า บัดนี้ ราหุลมีร่างกายสมบูรณ์ด้วยผิวเนื้อและโลหิตแล้ว. เป็นเวลาที่จิตฟุ้งซ่านไปในรูปารมณ์เป็นต้นอันน่ากําหนัด. ราหุลยังกาลให้ล่วงไปเพราะเป็นผู้มักมากหรือหนอ. ครั้นแล้วพร้อมกับทรงคํานึงได้ทรงเห็นจิตตุปบาทของราหุลนั้น ดุจเห็นปลาในน้ำใสและดุจเห็นเงาหน้าในพื้นกระจกอันบริสุทธิ์.

ก็ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ทรงทําพระอัธยาศัยว่า ราหุลนี้เป็นโอรสของเรา เดินตามหลังเรา มาเกิดฉันทราคะอันอาศัยเรือนเพราะอาศัยอัตภาพว่า เรางาม ผิวพรรณของเราผ่องใส. ราหุลแล่นไปในที่มิใช่น่าดําเนิน ไปนอกทาง เที่ยวไปในอโคจร ไปยังทิศที่ไม่ควรไปดุจคนเดินทางหลงทิศ.

อนึ่ง กิเลสของราหุลนี้เติบโตขึ้นในภายใน ย่อมไม่เห็นแม้ประโยชน์ตน แม้ประโยชน์ผู้อื่น แม้ประโยชน์ทั้งสองตามความเป็นจริง. จากนั้นจักถือปฏิสนธิในนรกบ้าง ในกําเนิดเดียรัจฉานบ้าง ในปิตติวิสัยบ้าง ในครรภ์มารดาอันคับแคบบ้าง เพราะเหตุนั้นจักตกไปในสังสารวัฏฏ์อันไม่รู้เบื้องต้นที่สุด. เพราะ

ความโลภนี้ยังความพินาศให้เกิด ความโลภยังจิตให้กําเริบ ภัยเกิดแต่ภายใน ชนย่อมไม่รู้สึกถึงภัยนั้น คนโลภย่อมไม่รู้อรรถ คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม ความมืดตื้อย่อมมีในกาลที่ความโลภครอบงําคน.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 289

เราไม่ควรเพิกเฉยราหุลนี้เหมือนอย่างเรือลําใหญ่เต็มไปด้วยรัตนะมากมายบรรจุน้ำไปในระหว่างกระดานแตก นายเรือไม่ควรเพิกเฉยแม้เพียงครู่เดียว ฉะนั้น. เราจักข่มราหุลนั้นตราบเท่าที่กิเลสนี้ยังไม่ทําให้ศีลรัตนะเป็นต้นในภายในของราหุลนั้นพินาศไปเสียก่อน. ในฐานะเห็นปานนี้ เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงเหลียวดูดุจพญาช้าง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประทับยืนหมุนพระวรกายทั้งสิ้น ดุจปฏิมาทองหมุนกลับตรัสเรียกพระราหุลภัททะ.

พระอานนทเถระหมายถึงพระราหุลภัททะนั้น จึงกล่าวคํามีอาทิว่า อถ โข ภควา อวโลเกตฺวา ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผินพระพักตร์ ดังนี้.

ในบทเหล่านั้นบทมีอาทิว่า ยํ กิฺจิ รูปํ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง พิสดารแล้วในขันธนิเทศในวิสุทธิมรรคโดยอาการทั้งปวง.

บทมีอาทิว่า เนตํ มม นั่นไม่ใช่ของเรา ท่านกล่าวไว้แล้วในมหาหัตถิปโทปมสูตร.

เพราะเหตุไร พระราหุลจึงทูลถามว่า รูปเมว นุโข ภควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า รูปเท่านั้นหรือพระเจ้าข้า.

นัยว่าพระราหุลนั้นเกิดนัยขึ้น เพราะสดับว่า รูปทั้งปวงนั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอพึงเห็นรูปทั้งปวงอย่างนี้ด้วยวิปัสสนาปัญญา ในเวทนาเป็นต้นจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ. เพราะฉะนั้นพระราหุลตั้งอยู่ในนัยนั้นจึงทูลถาม.

จริงอยู่ท่านพระราหุลนี้เป็นผู้ฉลาดในนัย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าสิ่งนี้ไม่ควรทํา ย่อมแทงตลอดแม้ตั้งร้อยนัยพันนัยว่า สิ่งนี้ควรทํา สิ่งนี้ไม่ควรทํา. แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สิ่งนี้ควรทําก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 290

จริงอยู่ ท่านพระราหุลนี้เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เกลี่ยทรายประมาณบาตรหนึ่งในบริเวณพระคันธกุฎีแต่เช้าตรู่ด้วยคิดว่า วันนี้เราจะได้รับโอวาทประมาณเท่านี้ ได้การตักเตือนประมาณเท่านี้ จากสํานักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากสํานักของพระอุปัชฌาย์.

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงตั้งพระราหุลไว้ในเอตทัคคะ จึงทรงตั้งให้เป็นผู้เลิศในการศึกษาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษา ราหุลเป็นผู้เลิศของภิกษุเหล่านั้น.

แม้ท่านพระราหุลนั้นก็ได้บันลือสีหนาท ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์อย่างนั้นเหมือนกันว่า

พระธรรมราชาผู้เป็นพระชนกของเรา ทรงตั้งเราไว้ในเอตทัคคะเฉพาะหน้าภิกษุสงฆ์ เพื่อความรู้ยิ่งสิ่งทั้งปวงนี้. พระธรรมราชาทรงยกย่องเราว่าเป็นผู้เลิศของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่การศึกษา และของภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา. พระธรรมราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระสหาย เป็นพระชนกของเรา และพระสารีบุตรผู้รักษาธรรม ผู้มีความอิ่มใจ เป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา ทั้งหมดเป็นคําสอนของพระชินเจ้า.

ลําดับนั้น เพราะไม่พึงเห็นแต่รูปอย่างเดียวเท่านั้น แม้เวทนาเป็นต้น ก็พึงเห็นอย่างนั้น ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่พระราหุลว่า รูปํปิ ราหุล เป็นอาทิ.

บทว่า โกนุชฺช ตัดบทว่า โก นุ อชฺช วันนี้ใครหนอ. นัยว่า พระเถระได้มีปริวิตกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามิได้ตรัสกถาโดย

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 291

ปริยายว่า ชื่อว่าสมณะพึงรู้ฉันทราคะอาศัยอัตภาพแล้วไม่พึงตรึกถึงวิตกเห็นปานนี้. มิได้ทรงส่งทูตไปว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงไป จงบอกราหุลว่า ท่านอย่าตรึกถึงวิตกเห็นปานนี้อีกเลย ตั้งเราไว้เฉพาะหน้าแล้วทรงประทานสุคโตวาทเฉพาะหน้าดุจจับโจรพร้อมด้วยภัณฑะที่จุก. ชื่อว่าสุคโตวาทหาได้ยากโดยอสงไขยกัป. ใครหนอเป็นผู้มีชาติแห่งบัณฑิต วิญูชนได้รับโอวาทเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าเห็นปานนี้แล้ว วันนี้จักเข้าไปยังบ้านเพื่อบิณฑบาต.

ลําดับนั้น ท่านพระราหุลสละอาหารกิจและกลับจากที่อันผู้อยู่ ณ ที่นั่ง ได้รับโอวาทแล้ว นั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงเห็นท่านพระราหุลกลับ ก็มิได้ตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนราหุล เป็นเวลาภิกขาจารของเรา เธออย่ากลับเลย เพราะเหตุไร. นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้มีพระดําริว่า วันนี้ราหุลจงบริโภคอมตโภชนะคือกายคตาสติก่อน.

บทว่า อทฺทสา โข อายสฺมา สารีปุตฺโต ท่านพระสารีบุตรได้เห็นแล้วแล คือเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วท่านพระสารีบุตรไปภายหลังได้เห็นแล้ว.

ได้ยินว่า เมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่รูปเดียว ก็มีวัตรอย่างหนึ่ง. เมื่ออยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีวัตรอย่างหนึ่ง. ในกาลใดพระอัครสาวกทั้งสองอยู่ตามลําพัง ในกาลนั้นท่านทั้งสองกวาดเสนาสนะแต่เช้าตรู่ชําระร่างกาย นั่งเข้าสมาบัติ แล้วไปภิกษาจารตามความชอบใจของตนๆ.

อนึ่ง พระเถระทั้งสอง เมื่ออยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทําอย่างนั้น. ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปภิกษาจารก่อน. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้ว พระเถระออกจากเสนาสนะของตน ดําริว่า ในที่ที่ภิกษุอยู่กันมากๆ ภิกษุทั้งหมดสามารถจะทําให้เลื่อมใส หรือไม่สามารถ จึงไปในที่นั้นๆ แล้วกวาดที่ที่ยังมิได้กวาด. หากว่า หยากเยื่อยังไม่ได้ทิ้ง ก็เอาทิ้งเสีย เมื่อยังไม่

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 292

มีหม้อน้ำดื่ม ในที่ที่ควรตั้งน้ำดื่มไว้ก็ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้. ไปเยี่ยมภิกษุไข้แล้ว ถามว่า อาวุโส ผมจะนําอะไรมาถวายท่าน. ท่านต้องการอะไร. ไปหาภิกษุหนุ่มที่ยังไม่ได้พรรษาแล้วสอนว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอท่านจงยินดียิ่งเถิด. จงอย่าเบื่อหน่ายพระพุทธศาสนาอันมีสาระในการปฏิบัติเลย. ครั้นทําอย่างนี้แล้วก็ไปภิกษาจารภายหลังภิกษุทั้งหมด.

เหมือนอย่างว่า พระเจ้าจักรพรรดิ มีพระประสงค์จะเสด็จไป ณ ที่ไหนๆ ทรงแวดล้อมด้วยเสนาเสด็จไปก่อน. ปริณายกแก้วจัดกองทัพออกไปภายหลัง ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งพระสัทธรรมก็ฉันนั้น ทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จออกไปก่อน พระธรรมเสนาบดีผู้เป็นปริณายกแก้ว ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทํากิจนี้เสร็จแล้วจึงออกไปภายหลังภิกษุทั้งหมด.

พระเถระนั้นออกไปอย่างนี้แล้วในวันนั้นได้เห็นพระราหุลภัททะนั่ง ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปจฺฉา คจฺฉนฺโต อทฺทส ท่านพระสารีบุตรไปภายหลังได้เห็นแล้ว.

เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านพระสารีบุตรจึงชักชวนในอานาปานสติเล่า. เพราะสมควรแก่การนั่ง. ได้ยินว่า พระเถระมิได้นึกถึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรูปกรรมฐานแก่พระราหุลนั้นแล้ว คิดว่า กรรมฐานนี้สมควรแก่การนั่งนี้ของพระราหุลนั้น โดยอาการที่พระราหุลนี้นั่งติดอยู่กับอาสนะอันไม่ไหวติงจึงกล่าวอย่างนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อานาปานสติํ ท่านพระสารีบุตรแสดงว่า ท่านจงกําหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกแล้วยังฌาน หมวด ๔ หมวด ๕ ให้เกิดในอานาปานสตินั้น แล้วเจริญวิปัสสนา ถือเอาพระอรหัต.

บทว่า มหปฺผลา โหติ มีผลมาก. มีผลมากอย่างไร. ภิกษุในศาสนานี้ ขวนขวายอานาปานสติ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 293

นั่งเหนืออาสนะหนึ่ง ยังอาสวะทั้งหมดให้สิ้นไปแล้วบรรลุพระอรหัต.

เมื่อไม่สามารถอย่างนั้นก็เป็น สมสีสี (สิ้นชีวิตพร้อมทั้งสิ้นกิเลส) ในเวลาตาย. เมื่อไม่สามารถอย่างนั้น ก็บังเกิดในเทวโลก ครั้นฟังธรรมของเทพบุตรผู้เป็นธรรมกถึกแล้วได้บรรลุพระอรหัต. พลาดไปจากนั้นเมื่อยังไม่เกิดพุทธุปบาทกาล ย่อมทําให้แจ้งปัจเจกโพธิ.

เมื่อยังไม่ทําให้แจ้งปัจเจกโพธินั้น ย่อมเป็น ขิปปาภิญญา (รู้ได้เร็ว) เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดุจพระพาหิยเถระเป็นต้นฉะนั้น ย่อมมีผลมากด้วยประการฉะนี้.

บทว่า มหานิสํสา เป็นไวพจน์ของบทว่า มหปฺผลา.

แม้ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า

อานาปานสฺสติ ยสฺส ปริปุณฺณา สุภาวิตา อนุปุพฺพปริจีตา ยถา พุทฺเธน เทสิตา โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา.

ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ สะสมไว้โดยลําดับ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมทําโลกให้สว่างไสว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น.

พระเถระ เมื่อเห็นความที่อานาปานสติมีผลมากนี้ จึงได้ชักชวนสัทธิวิหาริกในอานาปานสตินั้น. ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบอกรูปกรรมฐาน พระเถระบอกอานาปานสติ เพราะเหตุนั้น แม้ทั้งสองท่านบอกกรรมฐานแล้วก็ไป.

พระราหุลภัททะเป็นผู้ถูกทิ้งไว้ในวิหารนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงรู้ว่าพระราหุลภัททะถูกทิ้งไว้ ไม่ทรงรับขาทนียะโภชนียะด้วยพระองค์เองแล้วก็มิได้เสด็จไป. มิได้ทรงส่งในมือของพระอานนท์เถระ มิได้ทรงให้สัญญาแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราชและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 294

เพราะชนเหล่านั้นได้เพียงสัญญาก็จะพึงนําของใส่หาบมา. แม้พระสารีบุตรเถระก็มิได้ทําอะไรๆ อย่างเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าฉันนั้น.

พระราหุลเถระอดอาหาร ขาดภัต. แต่ท่านพระราหุลนั้น แม้จิตก็มิได้เกิดขึ้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงทราบว่าเราออกจากวิหาร ทรงรับบิณฑบาตที่พระองค์ได้แล้วด้วยพระองค์เองก็มิได้เสด็จมา. มิได้ทรงส่งไปในมือของผู้อื่น. มิได้ทรงให้สัญญาแก่มนุษย์ทั้งหลาย. แม้พระอุปัชฌาย์ของเราก็รู้ว่าเราถูกทิ้งไว้ ก็มิได้ทําอะไรๆ อย่างนั้นเลย. ความเย่อหยิ่งหรือความดูหมิ่นเพราะการทํานั้นเป็นปัจจัยจักมีแต่ไหน.

อนึ่ง พระราหุลมนสิการเป็นลําดับถึงกรรมฐานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบอก แม้ก่อนภัต แม้ภายหลังภัตว่า รูปไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์แม้อย่างนี้ เป็นอสุภะแม้อย่างนี้ เป็นอนัตตาแม้อย่างนี้ ดุจผู้ปรารถนาอยากได้ไฟในเวลาเย็นจึงคิดว่า พระอุปัชฌาย์บอกเราว่า ท่านจงเจริญอานาปานสติ เราจักเชื่อท่าน. เพราะผู้ไม่เชื่ออาจารย์และอุปัชฌาย์ ชื่อว่าเป็นผู้ว่ายาก. เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า ความบีบคั้นอันหยาบคายกว่าเพราะการเกิดขึ้นแห่งการติเตียนว่า พระราหุลเป็นผู้ว่ายาก ไม่กระทําตามคําของอุปัชฌาย์ ดังนี้ ย่อมไม่มี.

พระราหุลประสงค์จะทูลถามถึงวิธีของภาวนาจึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. เพื่อแสดงความนั้น พระอานนทเถระจึงกล่าวบทมีอาทิว่า อถ โข อายสฺมา ราหุโล ดังนี้.

ในบทเหล่านั้นบทว่า ปฏิสลฺลานา จากที่เร้น คือ จากความเป็นผู้เดียว.

คําว่า ยํ กิฺจิ ราหุล ความว่า เพราะเหตุไร พระราหุลทูลถามถึงอานาปานสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสรูปกรรมฐานเล่า.

ตอบว่า เพื่อละฉันทราคะในรูป.

นัยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดําริว่า ฉันทราคะเกิดขึ้นแก่พระราหุล เพราะอาศัยอัตภาพ.

แม้ในหนหลังพระองค์ก็ได้ตรัสรูปกรรมฐานไว้โดยย่อแก่พระราหุลนั้น, บัดนี้เราจักจําแนกไม่ปรุงแต่งอัตภาพโดยอาการ

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 295

๔๐ แล้วยังฉันทราคะอาศัยอัตภาพนั้นอันยังไม่เกิดเป็นธรรมดาให้เกิดแก่ราหุลนั้น.

เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรจึงทําอากาศธาตุให้พิสดารเล่า.

เพื่อแสดงอุปาทารูป. เพราะท่านกล่าวถึงมหาภูตรูป ๔ ไว้แล้วในหนหลัง. ไม่ได้กล่าวถึงอุปาทารูป. ฉะนั้นเพื่อแสดงอุปาทารูปนั้นโดยมุขนี้ จึงยังอากาศธาตุให้พิสดาร.

อีกอย่างหนึ่งแม้ปริจฉินนรูป (รูปที่กําหนดไว้) ก็มาปรากฏด้วยอากาศภายใน.

เพื่อความปรากฏแจ่มแจ้งของรูปที่กําหนดไว้ด้วยอากาศ เท่าที่ประดับไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นนายก จึงทรงประกาศรูปนั้น.

บทที่ควรกล่าวในธาตุ ๔ ในสูตรนี้และสูตรก่อน ได้กล่าวไว้แล้วในมหาหัตถิปโทปมสูตร.

พึงทราบวินิจฉัยในอากาศธาตุดังต่อไปนี้.

บทว่า อากาสคตํ มีลักษณะว่าง คือ เป็นสภาวธรรม.

บทว่า อุปาทินฺนํ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น ความว่า ยึดมั่นถือมั่นกอดรัดตั้งอยู่ในสรีระ.

บทว่า กณฺณฉิทฺทํ คือ ช่องหู ไม่สัมผัสด้วยเนื้อและเลือด.

แม้ในบทว่า นาสจฺฉิทฺทํ ช่องจมูกเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า เยน จ คือ โดยช่องใด.

บทว่า อชฺโฌหรติ ย่อมกลืนให้เข้าไปภายใน. บทนี้ท่านกล่าวหมายถึงที่ที่เป็นช่อง ๑ คืบ ๔ นิ้วของมนุษย์ทั้งหลายตั้งแต่โคนลิ้นถึงพื้นท้อง.

บทว่า ยตฺถ จ คือ ในโอกาสใด.

บทว่า สํติฏติ คือ ตั้งอยู่. บทนี้ท่านกล่าวหมายถึงพื้นท้องใหญ่ อันเป็นดังผ้ากรองน้ำผืนใหญ่ของมนุษย์ทั้งหลาย.

บทว่า อโธภาคํ นิกฺขมติ คือ ถ่ายออกเบื้องล่าง. บทนี้ท่านกล่าวหมายถึง ไส้ใหญ่ ไส้หนึ่งประมาณ ๓๒ ศอกในที่ ๒๑ แห่ง.

ด้วยบทนี้ว่า ยํ วา ปน อฺํปิ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น ท่าน

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 296

แสดงถึงอากาศอันไปในระหว่างหทัยและเนื้อเป็นต้น และอันตั้งอยู่โดยความเป็นขุมขน.

คําที่เหลือในบทนี้พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปฐวีธาตุเป็นต้น.

บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสบอกถึงลักษณะแห่งความเป็นผู้คงที่แก่พระราหุลนั้น จึงตรัสบทมีอาทิว่า ปวีสมํ เสมอด้วยแผ่นดิน.

บุคคลผู้ไม่กําหนัด ไม่ประทุษร้ายในอารมณ์อันน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ชื่อว่า ตาทีบุคคล (ผู้คงที่).

ในบทว่า มนาปามนาปา นี้พึงทราบความดังต่อไปนี้.

ผัสสะสัมปยุตด้วยจิตสหรคตด้วยโลภะ ๘ ชื่อว่า มนาปา เป็นที่ชอบใจ. ผัสสะสัมปยุตด้วยโทมนัสจิต ๒ ชื่อว่า อมนาปา ไม่เป็นที่ชอบใจ.

บทว่า จิตฺตํ น ปริยาทาย สฺสนฺติ ผัสสะจักไม่ครอบงําจิตตั้งอยู่ได้ ความว่า ผัสสะเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วจักไม่สามารถครอบงําจิตของท่าน ดุจจะทําให้อยู่ในกํามือได้. ฉันทราคะจักไม่เกิดเพราะอาศัยอัตภาพอีกว่า เรางาม ผิวพรรณของเราผ่องใสดังนี้.

คูถนั้นแหละชื่อว่า คูถคตํ ในบทมีอาทิว่า คูถคตํ. ในบททั้งปวงก็อย่างนี้.

บทว่า น กตฺถจิ ปติฎิโต เหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ คือ ไม่ตั้งอยู่แม้ในที่เดียวมีในแผ่นดินภูเขาและต้นไม้เป็นต้น. ผิว่า อากาศพึงตั้งอยู่บนแผ่นดินเมื่อแผ่นดินทําลายก็จะพึงทําลายไปด้วยกัน. เมื่อภูเขาพังก็จะพังไปด้วยกัน. เมื่อต้นไม้หักก็จะหักไปด้วยกันเท่านั้น.

เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภว่า เมตฺตํ ราหุล.

เพื่อแสดงเหตุแห่งความเป็นผู้คงที่. เพราะทรงแสดงเหตุแห่งความเป็นผู้คงที่ไว้แล้วในหนหลัง.

ใครๆ ไม่สามารถเพื่อเจริญ เพราะมิใช่เหตุว่า เราเป็นผู้คงที่. ใครๆ มิใช่ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ด้วยเหตุเหล่านี้ว่า เราเป็นผู้ขวนขวายในตระกูลสูง เป็นพหูสูต เป็นผู้มีลาภ. พระราชามหาอํามาตย์ของพระราชาเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 297

ย่อมคบเรา. เราเป็นผู้คงที่ก็หามิได้. แต่เป็นผู้คงที่ด้วยการเจริญเมตตาเป็นต้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงปรารภเทศนานี้เพื่อแสดงเหตุแห่งความเป็นผู้คงที่.

ในบทเหล่านั้นบทว่า ภาวยโต เจริญ คือ ยิ่งอุปจารภาวนาหรืออัปปนาภาวนาให้ถึง.

บทว่า โย พยาปาโท พยาบาท คือ จักละความโกรธในสัตว์ได้.

บทว่า วิเหสา ความเบียดเบียน คือ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือเป็นต้น.

บทว่า อรติ ความไม่ยินดี คือ ความเป็นผู้เบื่อหน่ายในเสนาสนะเป็นสงัด และในธรรมเป็นอธิกุศล.

บทว่า ปฏิโฆ ความขุ่นเคือง คือ กิเลสเป็นเครื่องให้เดือดร้อนในทุกๆ แห่ง.

บทว่า อสุภํ ไม่งาม คือ เจริญอุปจาระและอัปปนาในซากศพที่พองอืดเป็นต้น.

บทว่า อุทฺธุมาตกา ซากศพพองอืด อสุภภาวนานี้ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.

บทว่า ราโค ได้แก่ ราคะประกอบด้วยกามคุณ ๕.

บทว่า อนิจฺจสฺํ อนิจจสัญญาภาวนา คือ สัญญาอันเกิดพร้อมกับอนิจจานุปัสสนา หรือวิปัสสนานั่นแหละ.

แม้ความไม่มีสัญญาท่านก็กล่าวว่า สัญญา ด้วยหัวข้อแห่งสัญญา.

บทว่า อสฺมินาโน ถือว่าเรามีอยู่ คือ มีมานะว่า เรามีอยู่ในรูปเป็นต้น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะยังปัญหาที่พระเถระถามให้พิสดารจึงกล่าวบท มีอาทิว่า อานาปานสฺสติ ดังนี้.

กรรมฐานนี้ กรรมฐานภาวนา และอรรถแห่งบาลี พร้อมด้วยอานิสงส์กถา ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในอนุสสตินิเทศในวิสุทธิมรรคโดยอาการครบถ้วนทุกประการ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระธรรมเทศนานี้ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้พึงแนะนํานั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถามหาราหุโลวาทสูตรที่ ๒