การยังจิตของตน ให้ผ่องใส
การยังจิตของตนให้ผ่องใส (สจิตฺตปริโยทปนํ) ด้วยการอบรมเจริญปัญญา จนปัญญาดับกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต คือ การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ จึงชื่อว่า จิตผ่องใสจากอกุศลทั้งปวง แต่ในขั้นต้น เริ่มจากการฟัง การศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้รู้ตามเป็นจริงตามลำดับขั้น เพราะขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นจิตปราศจากนิวรณ์ ชื่อว่าผ่องใส เช่นกัน
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 162
พึงทราบในคาถาที่สอง. บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่อกุศลทุกชนิด. บทว่า อกรณํ คือ ไม่ให้เกิดขึ้น. บทว่า กุสลสฺส ได้แก่กุศลอันมีในภูมิ ๔. บทว่า อุปสมฺปทา คือได้เฉพาะ. บทว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือยังจิตของตนให้ผ่องใส. ก็บทนั้นย่อมมีได้โดยความเป็นพระอรหันต์
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 331
การยังจิตของตนให้ผ่องใสจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่า สจิตฺตปริโยทปนํ.
ขณะที่เราฟังธรรมแล้วเข้าใจ สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นจิตผ่องใส ขณะที่จิตสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นก็ผ่องใส
อย่างไร เรียกว่า การยังจิตของตนให้ผ่องใส ขณะที่ไม่มีกิเลส ชื่อว่า จิตผ่องใสมีหลายระดับครับ ผ่องใสชั่วขณะ ที่เป็นกุศล ผ่องใสจนไม่มีอนุสัยกิเลสเลย (พระอรหันต์) ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้น ผ่องใส เพราะปราศจากกิเลส มีข้อน่าคิดที่ว่า คำว่า ยังจิตของตน จะยังจิตของตนยังไงให้ผ่องใส ขณะที่เป็นกุศล ไม่มีใครบังคับให้เป็นกุศล (ยังจิตของตน) แต่เป็นสภาพธัมมะ ที่ทำหน้าที่ให้เป็นกุศลเอง ไม่มีตัวตนที่จะทำให้จิตผ่องใสครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย