อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร
[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 209
อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 15]
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 209
อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร
สัมปสาทนียสูตร มีคําขึ้นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
ในสัมปสาทนียสูตรนั้น มีการพรรณนาบทที่ยังไม่ชัด ดังต่อไปนี้. บทว่า นาฬนฺทายํ ความว่า ใกล้พระนครซึ่งได้นามว่า นาฬันทา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทําเมืองนาลันทานั้น ให้เป็นที่โคจรคาม. บทว่า ปาวาริกมฺพวเน ความว่า ที่สวนมะม่วงของเศรษฐีผู้มีผ้ามีขนอ่อนนุ่ม. ได้ยินว่า สวนมะม่วงนั้นเป็นสวนของเศรษฐีนั้น. เขาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้สร้างวิหาร ซึ่งประดับด้วยกุฏิ ที่พักผ่อนและมณฑปเป็นต้น ในอุทยานนั้น มอบถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า วิหารนั้นได้ถึงการนับว่า ปาวาริกัมพวัน เหมือนชีวกัมพวัน ฉะนั้น. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประทับอยู่ที่ ปาวาริกัมพวันนั้น. ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลคํานี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างนี้. ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงทูลอย่างนี้ ตอบว่า เพื่อประกาศความโสมนัสซึ่งบังเกิดแก่ตน.
ในเรื่องนี้ มีการกล่าวตามลําดับ ดังต่อไปนี้. นัยว่า ในวันนั้น พระเถระชําระร่างกายแต่เช้าตรู่ นุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว ถือบาตรจีวร นํา ความเลื่อมใสมาให้เกิดแก่หมู่เทวดาและมนุษย์ ด้วยอิริยาบถมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น อันน่าเลื่อมใส หวังเพิ่มพูลประโยชน์สุขแก่ชาวเมืองนาลันทา จึงเข้าไปเพื่อบิณฑบาต ในเวลาหลังภัต ก็กลับจากบิณฑบาต ไปวิหาร แล้วแสดงวัตรแด่พระศาสดา เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าพระคันธกุฏีแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กลับไปยังที่พักกลางวันของตน เมื่อสัทธิ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 210
วิหาริกและอันเตวาสิกในที่นั้น พากันแสดงวัตรแล้วหลีกไป พระเถระได้กวาดที่พักกลางวันนั้นแล้ว ปูลาดแผ่นหนัง เอาน้ำจากลักจั่นชุบมือและเท้าให้เย็นแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ๓ ชั้น ทําตามกําหนดเวลาแล้ว จึงเข้าผลสมาบัติ. ท่านออกจากสมาบัติด้วยเวลาตามที่ได้กําหนดไว้แล้ว เริ่มที่จะระลึกถึงคุณของตน. ที่นั้น เมื่อท่านกําลังระลึกถึงคุณอยู่ ศีลก็ได้มาปรากฏ ต่อแต่นั้น สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ปฐมญาน ฯลฯ จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ วิปัสสนาญาณ ฯลฯ ทิพพจักขุญาณ ฯลฯ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ฯลฯ อรหัตตมรรค อรหัตตผล อัตถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา สาวกบารมีญาณ ก็ปรากฏขึ้นตามลําดับ. จําเดิมแต่นั้น เมื่อท่านกําลังระลึกถึงคุณของตน เริ่มต้นแต่อภินิหารที่ได้ทําไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสี หนึ่งอสงไขยกําไรแสนกัลป จนกระทั่งถึงเวลาที่กําลังนั่งคู้บัลลังก์ คุณทั้งหลายก็ได้ปรากฏ. พระเถระระลึกถึงคุณของตนเป็นอันมากอย่างนี้ ก็ไม่อาจเห็นประมาณหรือกําหนดของคุณทั้งหลายได้เลย.
ท่านคิดว่า ประมาณหรือกําหนดแห่งคุณทั้งหลายของพระสาวกผู้ดํารงอยู่ในญาณบางส่วน ย่อมไม่มีแก่เราก่อน แต่เราบวชอุทิศพระศาสดาองค์ใด พระศาสดาพระองค์นั้นมีพระคุณเป็นเช่นไรหนอ ดังนี้แล้วจึงเริ่มระลึกถึงพระคุณของพระทศพล. ท่านได้อาศัยศีล สมาธิ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ สติปัฏฐาน ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อาศัยสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ มรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ โยนิปริจเฉทกญาณ ๔ อริยวงศ์ ๔ ของพระทศพล แล้วเริ่มระลึกถึงพระคุณของพระ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 211
ทศพล. อนึ่ง พระเถระอาศัยองค์ของปธาน ๕ สัมมาสมาธิ มีองค์ ๕ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นิสสรณียธาตุ ๕ วิมุตตายตนะ ๕ ปัญญาเครื่องสั่งสมวิมุตติ ๕ สาราณียธรรม ๖ อนุสสติกัมมัฏฐาน ๖ คารวะ ๖ นิสสรณียธาตุ ๖ สัตตวิหารธรรม ๖ อนุตตริยะ ๖ ปัญญาอันเป็นส่วนแห่งการตรัสรู้ ๖ อภิญญา ๖ อสาธารณญาณ ๖ อปริหานิยธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ โพชฌงค์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ นิชชรวัตถุ (เรื่องของเทวดา) ๗ ปัญญา ๗ ทักขิไณยบุคคล ๗ ขีณาสวพละ ๗ ปัญญาปฏิลาภเหตุ ๘ สมมัตตธรรม ๘ การก้าวล่วงโลกธรรม ๘ อารัพภวัตถุ ๘ อักขณเทสนา ๘ มหาปุริสวิตก ๘ อภิภายตนะ ๘ วิโมกข์ ๘ ธรรมอันเป็นมูลของโยนิโสมนสิการ ๙ องค์แห่งความเพียรอันบริสุทธิ์ ๙ สัตตาวาสเทสนา ๙ อาฆาตปฏิวินัย ๙ ปัญญา ๙ นานัตตธรรม ๙ อนุปุพพวิหาร ๙ นาถกรณธรรม ๑๐ กสิณายตนะ ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ ตถาคตพละ ๑๐ สัมมัตตธรรม ๑๐ อริยวาสธรรม ๑๐ อเสขธรรม ๑๐ อานิสงส์เมตตา ๑๑ ธรรมจักร มีอาการ ๑๒ ธุดงคคุณ ๑๓ พุทธญาณ ๑๔ ธรรมเครื่องอบรมวิมุตติ ๑๕ อานาปานสติ ๑๖ พุทธธรรม ๑๘ ปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ญาณวัตถุ ๔๔ กุศลธรรมเกิน ๕๐ ญาณวัตถุ ๗๗ สมาบัติ ๒๔ แสนโกฏิ สัญจาริตมหาวชิรญาณแล้ว เริ่มระลึกถึงคุณของพระทศพล.
ก็พระสารีบุตรนั่งในที่พักกลางวันนั้นนั่นแล อาศัยธรรมอันเป็นเชื้อสายข้ออื่นอีก ๑๖ ข้อ ซึ่งจักมาต่อไป โดยพระบาลีว่า อปรํ ปน ภนฺเตเอตทานุตฺตริยํ จึงได้เริ่มระลึกถึงพระคุณของพระทศพล. พระสารีบุตรนั้น ระลึกถึงพระคุณของพระทสพลอย่างนี้ว่า พระศาสดาของเราทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในกุศลบัญญัติ ยอดเยี่ยมในอายตนบัญญัติ ยอดเยี่ยมในการก้าวลงสู่พระ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 212
ครรภ์ ยอดเยี่ยมในวิธีแสดงดักใจผู้ฟัง ยอดเยี่ยมในทัสสนสมบัติ ยอดเยี่ยมในบุคคลบัญญัติ ยอดเยี่ยมในปธาน ยอดเยี่ยมในปฏิทา ยอดเยี่ยมในภัสสสมาจาร ยอดเยี่ยมในปุริสสีลสมาจาร ทรงยอดเยี่ยมในอนุสาสนีวิธี ยอดเยี่ยมในปรปุคคลวิมุตติญาณ ยอดเยี่ยมในปุพเพนิวาสญาณ ยอดเยี่ยมในทิพพจักขุญาณ ยอดเยี่ยมในอิทธิวิธี ยอดเยี่ยมด้วยธรรมนี้ ดั่งนี้ ก็ไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นประมาณแห่งพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้. พระเถระไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นประมาณแห่งคุณทั้งหลายของตน ก่อนจักเห็นพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างไร
ก็ ผู้ใดมีปัญญามากและมีญาณแข็งกล้า ผู้นั้นย่อมเชื่อพุทธคุณอย่างมาก โลกิยมหาชน ไอก็ดี จามก็ดี ดํารงอยู่ในอุปนิสัยของตนๆ ย่อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. พระโสดาบันคนเดียว ย่อมเชื่อพระพุทธคุณมากกว่าโลกิยมหาชนทั้งหมด. พระสกทาคามีคนเดียว เชื่อพระพุทธคุณมืากกว่าพระโสดาบันตั้งร้อยตั้งพัน. พระอนาคามีคนเดียว เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสกทาคามีตั้งร้อยตั้งพัน. พระอรหันต์องค์เดียว เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอนาคามีตั้งร้อยตั้งพัน. พระอสีติมหาเถระ เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอรหันต์ที่เหลือ. พระมหาเถระ ๔ รูป เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระอสีติมหาเถระ. พระอัครสาวกทั้งสองรูป เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระมหาเถระทั้ง ๔ รูป บรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น พระสารีบุตรเถระ เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระโมคคัลลานะ. พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียว ก็เชื่อพระพุทธคุณมากกว่าพระสารีบุตรเถระ ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงนั่งเอาชายสังฆาฎิกระทบกับชายสังฆาฏิ ในห้องแห่งจักรวาลทั้งสิ้น แล้วระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระสัพพัญูพุทธเจ้าองค์
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 213
เดียวเท่านั้น เชื่อในพระพุทธคุณมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงเหล่านั้น.
มหาชนฟั่นเชือกทั้งหลาย เพื่อต้องการรู้ว่า มหาสมุทรลึก-ตื้นเท่าไร ดังนี้ บรรดาชนเหล่านั้น บางคนฟั่นได้วาหนึ่ง บางคนฟั่นได้ ๒ วา ฯลฯ บางคน ๑๐ วา บางคน ๒๐ วา บางคน ๓๐ วา บางคน ๔๐ วา บางคน ๕๐ วา บางคน ๑๐๐ วา บางคนได้ ๑๐๐๐ วา บางคนได้ ๘๔,๐๐๐ วา ชนเหล่านั้นพากันลงเรือแล้วดํารงอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร หรือบนภูเขาสูงเป็นต้นแล้ว หย่อนเชือกของตนๆ ลงไป บรรดาชนเหล่านั้น ผู้ใดมีเชือกยาววาหนึ่ง เขาก็รู้น้ำได้ในที่ประมาณวาหนึ่งเท่านั้น ฯลฯ ผู้ใดมีเชือกยาวถึง ๘๔,๐๐๐ วา ผู้นั้นย่อมรู้น้ำได้ในที่ลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ วาเท่านั้น ต่อจากนั้นไป ย่อมไม่รู้ว่าน้ำในมหาสมุทรมีความลึกเท่านี้ ดังนี้ อนึ่ง น้ำในมหาสมุทร มิใช่มีประมาณเพียงเท่านั้น โดยที่แท้ย่อมมีมากหาที่สุดหาประมาณมิได้ เพราะมหาสมุทรมีความลึกถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พึงทราบพระพุทธคุณที่โลกิยมหาชนเห็น เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ด้วยเชือกพึงทราบพระพุทธคุณมีอุปไมยฉันนั้น คือ ตั้งแต่วาหนึ่งจนถึง ๙ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่โลกิยมหาชนเห็น เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ด้วยเชือกตั้งแต่วาหนึ่งจนถึง ๙ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระโสดาบันเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ประมาณ ๑๐ วา ด้วยเชือกยาว ๑๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระสกิทาคามีเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึก ๒๐ วา ด้วยเชือกยาว ๒๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอนาคามีเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึก ๓๐ วา ด้วยเชือกยาว ๓๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอรหันต์เห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๔๐ วา ด้วยเชือกยาว ๔๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระอสีติมหาเถระเห็นได้ เปรียบเสมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๕๐ วา ด้วยเชือกยาว
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 214
๕๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระมหาเถระ ๔ รูปเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ในที่ลึก ๑๐๐ วา ด้วยเชือกยาว ๑๐๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นได้เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษเห็นได้ ในที่ลึก ๑,๐๐๐ วา ด้วยเชือกยาว ๑,๐๐๐ วา พึงทราบพระพุทธคุณที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเห็นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่บุรุษรู้ได้ในที่ลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ วา ด้วยเชือกยาว ๘๔,๐๐๐ วา ในบรรดาชนเหล่านั้น บุรุษคนใดย่อมถือเอาว่า น้ำในมหาสมุทรไม่มีเพียงเท่านี้ ย่อมหาที่สุดหาประมาณมิได้ ฉันใด ท่านพระสารีบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดํารงอยู่ในสาวกบารมีญาณ ระลึกถึงพระคุณของพระทศพลโดยแนวแห่งธรรม คือโดยรู้ตามกันมา อนุมานถือเอาโดยนัย จึงเชื่อว่า พระพุทธคุณไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ดังนี้.
ความจริง เฉพาะพระพุทธคุณที่บุคคลพึงถือเอา โดยแนวธรรม มีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระเห็นแล้ว. ท่านอธิบายว่า เหมือนอะไร. ท่านอธิบายไว้ว่า บุรุษคนหนึ่ง พึงเอาบ่วงเข็มตักเอาน้ำจากแม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกําลังไหลท่วมสถานที่ถึง ๑๘ โยชน์ คือข้างนี้ ๙ โยชน์ ข้างโน้นอีก ๙ โยชน์ น้ำที่บุรุษมิได้ตักไปมีมากกว่าน้ำที่บุรุษเอาห่วงเข็มตักไป ก็หรือบุรุษ พึงเอานิ้วมือจับเอาฝุ่นจากแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าฝุ่นที่บุรุษนั้นเอานิ้วมือจับได้มา ก็หรือบุรุษ พึงชี้นิ้วไปยังมหาสมุทร น้ำที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าน้ำตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป และบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังอากาศ ส่วนอากาศที่เหลือมีมากกว่าอากาศตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป พระพุทธคุณทั้งหลายที่พระเถระไม่เห็นนั้นแล พึงทราบว่ามีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระได้เห็นแล้ว ฉันนั้น สมจริงดังคําที่ท่านกล่าวไว้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 215
มาตรแม้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสคําอื่น พึงพรรณนาเฉพาะพระพุทธคุณตลอดกัลป กัลปพึงสิ้นไปในระหว่างเวลายืดยาวนาน แต่พระคุณของพระตถาคตหาสิ้นไปไม่ ดังนี้.
เมื่อพระเถระระลึกถึงคุณของตน และพระคุณของพระศาสดาอยู่ อย่างนี้ ปีติและโสมนัสท่วมทับที่ในภายใน เหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลท่วมแม่น้ำใหญ่สองสาย ยังสรีระทุกส่วนให้เต็มเปียม เหมือนลมทําให้ถุงลมเต็มเปียม (และ) เหมือนสายน้ำที่ไหลแยกพุ่งขึ้นยังห้วงน้ำใหญ่ให้เต็ม ฉะนั้น ลําดับนั้น พระเถระคิดว่า เราผู้ได้บวชในสํานักของพระศาสดาเช่นนี้ นับว่าได้ตั้งความปรารถนาไว้ดีแล้ว และการบวชเราได้ดีแล้ว. ปีติและโสมนัสอันมีกําลังมาก ได้เกิดแก่พระเถระผู้กําลังคิดอยู่ อย่างนี้.
ทีนั้น พระเถระคิดว่า เราควรบอกปีติและโสมนัสนี้ แก่ใครหนอ ดังนี้ แล้วคิดอีกว่า สมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหมบางคน ไม่สามารถที่จะรับเอาความเสื่อมใสของเรานี้ ทําให้เหมาะสมได้ เราจักกราบทูลความโสมนัสนี้แด่พระศาสดาเท่านั้น
พระศาสดาเท่านั้น ที่จักสามารถรับเอาความโสมนัสของเราได้ ปีติโสมนัสของเรานั้น จงยกไว้ก่อน เมื่อสมณะเช่นเราร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี ประกาศความโสมนัสอยู่ พระศาสดาของเราครองใจคนทั้งปวง ก็ทรงสามารถที่จะรับปีติโสมนัสนั้นได้ เหมือนบึงหรือซอกเขา ไม่สามารถที่จะรับแม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกําลังไหลบ่าท่วมไปถึง ๑๘ โยชน์ได้ มหาสมุทรเท่านั้น ที่จะรับน้ำนั้นได้ แม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคา จงยกไว้ก่อน แม่น้ำเห็นปานนี้ร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี มหาสมุทรย่อมรับไว้ได้หมด ความพร่องหรือความเต็มด้วยน้ำนั้น ของมหาสมุทรนั้น หาปรากฏไม่ ฉันใด พระ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 216
ศาสดาของเราก็ฉันนั้นเหมือนนั้น เมื่อพระสมณะเช่นเราร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี กําลังประกาศปีติโสมนัสอยู่ ทรงครองใจคนทั้งปวง สามารถที่จะรับไว้ได้ สมณะพราหมณ์เป็นต้นที่เหลือ ย่อมไม่สามารถเพื่อจะรับโสมนัสของเราไว้ได้ เหมือนบึงและซอกเขาไม่สามารถที่จะรับแม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคาไว้ได้ ฉะนั้น อย่ากระนั้นเลย เราจะกราบทูลปีติโสมนัสของเราแก่พระศาสดาเท่านั้น ดังนี้แล้ว จึงเลิกนั่งคู้บัลลังก์ สะบัดแผ่นหนัง ถือเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ในเวลาเย็น อันเป็นเวลาที่ดอกไม้หลุดจากขั้วหล่นลงมา เมื่อจะประกาศโสมนัสของตนจึงทูลว่า เอวํ ปสนฺโน อหํภนฺเต ดังนี้ เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า เอวํ ปสนฺโน ความว่า มีความเชื่อเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ อธิบายว่า ข้าพระองค์เชื่ออย่างนี้. บทว่า ภิยฺโยภิฺตโร ความว่า รู้ยิ่งกว่าหรือผู้มีความรู้ยิ่งไปกว่า. อธิบายว่า ผู้มีญาณยิ่งกว่า. บทว่า สมฺโพธิยํ ความว่า ในสัพพัญุตญาณหรือในอรหัตตมรรคญาณ. ด้วยว่า พุทธคุณทั้งหลายมิได้มีส่วนหนึ่งต่างหาก ท่านถือเอาด้วยอรหัตตมรรค นั่นเอง. ความจริง พระอัครสาวกทั้งสอง ย่อมได้เฉพาะสาวกบารมีญาณด้วยอรหัตตมรรคนั่นเอง. พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมได้ปัจเจกโพธิญาณแทน พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมได้ทั้งพระสัพพัญุตญาณและพระพุทธคุณทั้งสิ้น. ความจริง เพราะพระสัพพัญุตญาณเป็นต้นนั้น ย่อมสําเร็จแก่ท่านเหล่านั้นด้วยอรหัตตมรรคนั้นเอง. ฉะนั้น อรหัตตมรรคญาณจึงชื่อว่า สัมโพธิ. บุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอรหัตตมรรคนั้น หามีไม่. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงทูลว่า ภควตา ภิยฺโยภิฺตโร ยทิทํ สมฺโพธิยํ ดังนี้. บทว่า อุฬารา คือประเสริฐ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 217
ความจริง อุฬารศัพท์นี้ มาในอรรถว่า อร่อย ในประโยคเป็นต้นว่า ย่อมเคี้ยวกินของเคี้ยวอันอร่อย. มาในอรรถว่า ประเสริฐ ในประโยคว่า นัยว่าท่านวัจฉายนะ ย่อมสรรเสริญพระสมณโคดม ด้วยคําสรรเสริญอันประเสริฐ. มาในอรรถว่า ไพบูลย์ ในประโยคเป็นต้นว่า รัศมีอันไพบูลย์หาประมาณมิได้ ดังนี้. ในบาลีประเทศนี้ อุฬารศัพท์นั้น มาในอรรถว่า ประเสริฐ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า อุฬารา แปลว่า ประเสริฐ. บทว่า อาสภิ ความว่า เป็นวาจาไม่หวั่นไหว ไม่สั่นคลอน เช่นกับวาจาของผู้องอาจ. บทว่า เอกํโส คหิโต ความว่า ถือเอาส่วนเดียว เหมือนรู้สึกซึ้งด้วยญาณโดยประจักษ์ ไม่กล่าวเพราะฟังตามกันมา เพราะเชื่อตามอาจารย์ เพราะเชื่อข่าวลือ เพราะอ้างตํารา เพราะตรึกตามอาการ เพราะชอบใจว่าถูกต้องกับความเห็นของตน เพราะเหตุแห่งการเดาเอาเอง หรือเพราะเหตุแห่งการคาดคะเน. อธิบายว่า ท่านถือเอาสันนิษฐานกถาอย่างเดียว. บทว่า สีหนาโท คือ การบันลืออย่างประเสริฐ. อธิบายว่า บันลือเสียงสูงเหมือนราชสีห์ มิใช่เปล่งเสียงช้าๆ มิใช่เปล่งเสียงเหมือนเครื่องสูบ.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนานี้ว่า กินฺนุ เต สาริปุตฺต ดังนี้. ตอบว่า เพื่อให้ท่านยอมให้ซักถามได้ เพราะบุคคลบางคนบันลือสีหนาทแล้ว ไม่อาจที่จะตอบคําซักถามได้ในการบันลือของตน ทั้งทนการเสียดสีไม่ได้ ย่อมเป็นเหมือนลิงที่ติดตัง ฉะนั้น. ถ่านเพลิงที่เผาไหม้ สําหรับช่างทองใช้เผาโลหะที่ไม่บริสุทธิ์ ฉันใด บุคคลนั้นก็เป็นเหมือนถ่านเพลิงที่เผาไหม้ ฉันนั้น. บุคคลบางคนเมื่อถูกซักถามในสีหนาท ย่อมสามารถที่จะตอบได้ ทั้งทนต่อการเสียดสีได้ ย่อมงามยิ่งเหมือนทองคําไม่มีโทษ (บริสุทธิ์) ของช่างทอง ฉะนั้น พระเถระเป็นเช่น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 218
นั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบพระเถระนั้นว่า พระสารีบุตรนี้ ควรแก่การซักถามได้ จึงทรงเริ่มเทศนาแม้นี้ เพื่อจะให้ท่านยอมให้ซักถามได้ในการบันลือสีหนาท.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพ เต ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหมดเหล่านั้น เธอกําหนดรู้แล้ว. ในคําเป็นต้นว่า เอวํ สีลา ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามศีลเป็นต้น ด้วยอํานาจศีลทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ. คําเหล่านั้นได้กล่าวพิสดารไว้แล้วในมหาปทาน. ด้วยคําว่า กิํ ปน เต สารีปุตฺต เย เต ภวิสสนฺติ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสถามว่า ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งมีในอดีตดับไปก่อนแล้ว คือถึงความเป็นผู้หาบัญญัติไม่ได้ ได้แก่ ดับไปเหมือนเปลวประทีป ฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าดับไป คือถึงความเป็นผู้หาบัญญัติมิได้อย่างนี้ เธอจักรู้ได้อย่างไร ก็คุณของพระพุทธเจ้าในอนาคต เธอกําหนดรู้ได้ด้วยจิตของตนอย่างไร ดังนี้ จึงตรัสอย่างนี้. ด้วยคําว่า กิํ ปน เต สารีปุตฺต อหํ เอตรหิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงซักถามว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายแม้ยังไม่มาถึง คือยังไม่ประสูติ ยังไม่เกิด ยังไม่อุบัติขึ้น เธอจักรู้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะการรู้พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมเป็นเหมือนการดูรอยเท้าในอากาศ ซึ่งไม่มีรอยเท้าเลย ฉะนั้น. บัดนี้เธออยู่ในวิหารหลังเดียวกันกับเรา เที่ยวภิกขาจารร่วมกัน ในเวลาแสดงธรรม เธอก็นั่งอยู่ที่ข้างเบื้องขวา (ของเรา) ก็คุณทั้งหลายของเรา เธอกําหนดรู้ด้วยใจของตนแล้วหรือ ดังนี้ แล้วจึงตรัสอย่างนี้. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามแล้วๆ พระเถระจึงกราบทูลปฏิเสธว่า ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 219
ถามว่า ก็สิ่งที่พระเถระรู้ก็มีอยู่บ้าง สิ่งที่พระเถระไม่รู้ก็มีอยู่บ้าง พระเถระนั้นย่อมทําการโต้แย้งในที่ๆ ตนรู้ และในที่ๆ ตนไม่รู้อย่างไร. ตอบว่า ในสิ่งที่ตนรู้ พระเถระไม่โต้แย้ง ในสิ่งที่ตนไม่รู้ พระเถระจึงโต้แย้ง. ได้ยินว่า เมื่อเริ่มการการชักถามนั่นแหละ พระเถระได้รู้ว่า นี้ไม่เป็นการซักถามในสาวกบารมีญาณ นี้เป็นการซักถามในพระสัพพัญุตญาณ ดังนี้. พระเถระไม่ทําการโต้แย้งในสาวกบารมีญาณของตน ย่อมทําการโต้แย้งในพระสัพพัญุตญาณ อันเป็นฐานะที่ตนไม่รู้. ด้วยเหตุนี้ พระสารีบุตรจึงแสดงความข้อนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระสัพพัญุตญาณอันสามารถในการรู้เหตุแห่งศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีต อนาคตและปัจจุบันของข้าพระองค์ หามีไม่ ดังนี้. บทว่า เอตฺถ ได้แก่ ในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่แตกต่างกัน มีพระพุทธเจ้าในอดีตเป็นต้น เหล่านั้น. ด้วยบทว่า อถ กิฺจรหิ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อญาณอย่างนี้ไม่มี เพราะเหตุไรเล่า เธอจึงกล่าวคําอย่างนี้ ดังนี้. บทว่า ธมฺมนฺวโย ได้แก่ อนุมานญาณแห่งธรรม คือความรู้โดยประจักษ์แก่ธรรม อันเกิดขึ้นคล้อยตามการซักถาม คือการถือเอาโดยนัยอันข้าพระองค์ทราบแล้ว. เพราะดํารงอยู่ในสาวกบารมีญาณเท่านั้น พระเถระจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทราบโดยอาการนี้เท่านั้น. ความจริง การถือเอานัยของพระเถระหาประมาณมิได้ และหาที่สุดมิได้. ประมาณหรือที่สุดของพระสัพพัญุตญาณไม่มี ฉันใด การถือเอานัยของพระธรรมเสนาบดีก็ไม่มีที่สุด หรือประมาณ ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระเถระย่อมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นอย่างนี้ ด้วยวิธีนี้ เป็นศาสดายอดเยี่ยมโดยวิธีนี้. แท้จริงการถือเอานัยของพระเถระ ก็เป็น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 220
ไปตามแนวแห่งพระสัพพัญุตญาณนั่นเอง. บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงข้ออุปมา เพื่อจะทําการถือเอานัยนั้นให้ปรากฏชัด จึงกราบทูลว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
ในคําว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต นั้น มีวินิจฉัยว่า เชิงเทินและกําแพงอันแข็งแรงเป็นต้น ของพระนครในมัชฌิมประเทศ จะเป็นของมั่นคงก็ตาม ไม่มั่นคงก็ตาม ก็หรือว่าไม่มีโดยประการทั้งปวง ความระแวงภัยจากพวกโจรก็ไม่มี ฉะนั้น พระเถระไม่ถือเอามัชฌิมประเทศนั้น จึงทูลว่า ปจฺจนฺติมํ นครํ ดังนี้. บทว่า ทฬฺหุทฺทาปํ ได้แก่ มีเชิงกําแพงมั่งคง. บทว่า ทฬฺหปาการโตรณํ คือมีกําแพงมั่นคง และมีเสาค่ายต้นหลังมั่นคง. ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวว่า เอกทฺวารํ ดังนี้. ตอบว่า เพราะในพระนครที่มีมากประตู ต้องมีคนรักษาประตูที่ฉลาดมาก ในพระนครที่มีประตูเดียว ก็สมควรมีคนรักษาประตูเพียงคนเดียว อนึ่งไม่มีใครอื่นจะเท่าเทียมปัญญาของพระเถระได้ ฉะนั้น เพื่อจะแสดงคนรักษาประตูคนเดียวเท่านั้น เพื่อเปรียบเทียบความเป็นบัณฑิตของตน พระเถระจึงกล่าวว่า เอกทฺวารํ ดังนี้. บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต. บทว่า พฺยตฺโต คือประกอบด้วยความเฉียบแหลม หรือเป็นผู้มีญาณแก่กล้า. บทว่า เมธาวี คือประกอบด้วยเมธา คือปัญญาที่เกิดขึ้นตามฐานะ. บทว่า อนุปริยายปถํ ได้แก่ทางกําแพงอันได้นามว่าอนุปริยาย (เวียนรอบไปมาได้). บทว่า ปาการสนฺธิํ ได้แก่ที่อันไม่มีอิฐสองก้อนเชื่อมอยู่. บทว่า ปาการวิวรํ คือรอบทะลุของกําแพง.
บทว่า เจตโส อุปกฺกิเลเส ความว่า นิวรณ์ทั้งห้า ย่อมยังจิตให้เศร้าหมอง คือย่อมทําจิตให้หม่นหมอง ให้เร่าร้อน ได้แก่ย่อมเบียดเบียนจิต ฉะนั้น นิวรณ์ห้านั้น ท่านจึงเรียกว่า ความเศร้าหมองแห่งใจ.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 221
บทว่า ปฺาย ทุพฺพลีกรเณ ความว่า นิวรณ์ทั้งหลาย เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ให้เพื่อจะให้ปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไม่ยอมให้ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเจริญได้ ฉะนั้น นิวรณ์เหล่านี้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นเครื่องทําปัญญาให้ทรามกําลัง. บทว่า สุปฏฺิตจตฺตา ความว่า เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นไว้ดีในสติปัฏฐาน ๔. บทว่า สตฺต โพชฺฌงฺเค ยถาภูตํ ความว่า เจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ ตามสภาพ. ด้วย บทว่า อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธิํ พระเถระย่อมแสดงว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแทงตลอดพระอรหัต หรือพระสัพพัญุตญาณ. อีกอย่างหนึ่ง คําว่า สติปัฏฐาน ในที่นี้ได้แก่วิปัสสนา โพชฌงค์ ได้แก่มรรค อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้แก่พระอรหัต. อีกอย่างหนึ่ง คําว่า สติปัฏฐาน ได้แก่วิปัสสนา สัมมาสัมโพธิญาณอันเจือด้วยโพชฌงค์ ได้แก่พระอรหัต นั่นเอง. ก็พระมหาสิวเถระ ผู้กล่าวทีฆนิกาย กล่าวไว้ว่า เมื่อท่านถือเอาสติปัฏฐาน ว่าเป็นวิปัสสนา แล้วถือเอาโพชฌงค์ ว่าเป็นมรรคและเป็นพระสัพพัญุตญาณแล้ว พึงมีปัญหาที่ดี แต่ข้อนี้ท่านมิได้ถือเอาอย่างนี้ ดังนี้. พระเถระได้แสดงความแตกต่างกัน ในท่ามกลาง ในการละนิวรณ์ ในการเจริญสติปัฏฐาน และในสัมโพธิญาณ ของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนแสดงทองและเงินแตกต่างกัน ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้. บัณฑิตดํารงอยู่ในที่นี่ พึงเทียบเคียงอุปมา.
ความจริง ท่านพระสารีบุตรเถระ แสดงปัจจันตนคร ๑ แสดงกําแพง ๑ ทางเดินรอบกําแพง ๑ แสดงประตู ๑ แสดงคนเฝ้าประตู ซึ่งเป็นคนฉลาด ๑ แสดงสัตว์ใหญ่ ซึ่งเข้าออกในพระนคร ๑ แสดงความปรากฏแห่งสัตว์เหล่านั้น แก่นายประตูนั้น ๑ ในข้ออุปมานี้ หากมีคําถามว่า อะไรเหมือนกับอะไร ดังนี้. พึงตอบว่า ก็พระนิพพานเหมือนพระนคร ศีล
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 222
เหมือนกําแพง หิริเหมือนทางเดินรอบกําแพง อริยมรรคเหมือนประตู พระธรรมเสนาบดีเหมือนคนเฝ้าประตูที่ฉลาด พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งอุบัติขึ้นในอดีต อนาคตและปัจจุบัน เหมือนสัตว์ใหญ่ที่เข้าออกในพระนคร ความปรากฏด้วยศีลและสมถะเป็นต้น ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบันแก่พระสารีบุตร เหมือนกับความปรากฏแห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น แก่นายประตูนั้น. ถ้อยคํามีประมาณเท่านี้ เป็นอันพระเถระตอบการซักถามแห่งสีหนาทของตนว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ดํารงอยู่ในสาวกบารมีญาณอย่างนี้ ย่อมรู้ได้โดยอาการอันเป็นแนวธรรม โดยถือเอานัย ดังนี้.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงเริ่มธรรมเทศนานี้ว่า อิธาหํ ภนฺเต เยน ภควา ดังนี้. ตอบว่า เพื่อแสดงความสําเร็จแห่งสาวกบารมีญาณ ก็ในเรื่องนี้ มีอธิบายดังนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เมื่อได้สาวกบารมีญาณ ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แม้บางคนอื่นในบรรดานักบวชนอกศาสนาทั้ง ๙๕ คนแล้ว จึงได้สาวกบารมีญาณ ก็หามิได้ ข้าพระองค์เข้าไปหาพระองค์เท่านั้น เข้าไปนั่งใกล้พระองค์เท่านั้น จึงได้.
ในบรรดาบทเหล่านั้น คําว่า อิธ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า อุปสงฺกมิํ ธมฺมสฺสวนาย ความว่า อีกอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์เมื่อเข้าไปเฝ้าพระองค์นั้น มิได้เข้าไปเฝ้าเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น แต่เข้าไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม ไปเฝ้าอย่างนี้แล้ว จึงได้สาวกบารมีญาณ ถามว่า พระเถระเข้าไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม ในกาลไร จึงได้สาวกบารมีญาณ. ตอบว่า พระเถระเข้าไปเฝ้า ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวทนาปริคหสูตร แก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน ที่ถ้ำสุกรขาตา จึงได้สาวกบารมีญาณ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 223
ในเวลานั้น. ความจริง ในวันนั้น พระเถระถือพัดใบตาลยืนพัดพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังเทศนานั้นแล้ว ได้ทําสาวกบารมีญาณให้ตกอยู่ในเงื้อมมือในที่นั้น นั่นเอง. บทว่า อุตฺตรุตฺตรํ ปณีตปฺปณีตํ ความว่า พระองค์ทรงแสดงอย่างยอดเยี่ยม และอย่างประณีตยิ่งนัก. บทว่า กณฺหสุกฺกํ สปฺปฏิภาคํ ความว่า พระองค์ทรงแสดงทั้งฝ่ายดําและฝ่ายขาว และทรงแสดงธรรมฝ่ายดําและฝ่ายขาวนั้นให้เป็นปฏิภาคต่อกัน คือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน พระองค์ทรงแสดงธรรมฝ่ายดําและฝ่ายขาวให้เป็นปฏิภาคกันอย่างนี้ คือทรงห้ามธรรมฝ่ายดํา แสดงฝ่ายขาว และห้ามฝ่ายขาว แสดงฝ่ายดํา. อีกอย่างหนึ่ง พระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมฝ่ายดํา ก็ทรงแสดงพร้อมกับความอุตสาหะพร้อมกับวิบาก. เมื่อทรงแสดงธรรมฝ่ายขาวก็ทรงแสดงพร้อมกับอุตสาหะพร้อมกับวิบาก.
ในหลายบทนี้ว่า ตสฺมิํ ธมฺเม อภิฺา อิเธกจฺจํ ธมฺมํ ธมฺเมสุ นิฏฺมคมํ ความว่า เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้รู้สาวกบารมีญาณ อันจัดเป็นธรรมบางส่วน ได้ถึงความสําเร็จในธรรมทั้งหลาย. ถามว่า ในธรรมเหล่าไหน. ตอบว่า ในสัจจธรรม ๔ ประการ. ในเรื่องนี้ มีการเจรจาของพระเถระดังต่อไปนี้. พระสุมนเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลวิหาร กล่าวไว้ก่อนว่า บัดนี้ ไม่มีเหตุแห่งการถึงความสําเร็จในสัจจธรรม ๔. ความจริง ในวันที่พบพระอัสสชิมหาเถระนั่นเอง ท่านพระสารีบุตรนั้นได้ถึงความสําเร็จในสัจจธรรม ๔ ด้วยมรรคที่ ๑ (โสดาปัตติมรรค) ในเวลาต่อมา ได้ถึงความสําเร็จในสัจจธรรมทั้ง ๔ ด้วยมรรค ๓ เบื้องสูง ที่ประตูถ้ำสุกรขาตา แต่ในที่นี้ ท่านได้ถึงความสําเร็จในพระพุทธคุณทั้งหลาย ชื่อว่าสําเร็จในธรรมทั้งหลาย. ส่วนพระจูฬสิวเถระผู้อยู่ในโลกันตรวิหาร กล่าวคําทั้งหมด เช่นเดียวกันนั้นเอง แล้วกล่าวอีกว่า ก็
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 224
ในที่นี้ พระเถระได้ถึงความสําเร็จในพระอรหัตต์ ชื่อว่าสําเร็จในธรรมทั้งหลาย. ส่วนพระมหาสิวเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวทีฆนิกาย กล่าวคําตอนต้นเช่นเดียวกันแล้วกล่าวว่า ก็ในที่นี้ พระเถระได้ถึงความสําเร็จในสาวกบารมีญาณ ชื่อว่าสําเร็จในธรรมทั้งหลาย ดังนี้แล้ว กล่าวอีกว่า ก็พระพุทธคุณทั้งหลายมาแล้วโดยนัย ดังนี้.
บทว่า สตฺถริ ปสีทิํ ความว่า ข้าพระองค์นั้นได้ถึงความสําเร็จในธรรม คือสาวกบารมีญาณอย่างนี้แล้ว ได้มีความเลื่อมใสในพระศาสดาโดยประมาณอย่างยิ่งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบหนอ ดังนี้. บทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม คือมรรคอันเป็นนิยานิกธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว คือทรงกล่าวไว้ดีแล้ว ย่อมนําออกไป เพื่อให้บรรลุอริยผล สามารถบรรเทาราคะ โทสะและโมหะได้. สองบทว่า สุปฏิปนฺโน สงฺโฆ คือพระเถระย่อมแสดงว่า ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า แม้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว เพราะปฏิบัติสัมมาปฏิปทา ซึ่งเว้นจากโทษ มีความคดโกงเป็นต้น ดังนี้. บัดนี้ พระเถระนั่งในที่พักกลางวันแล้ว เพื่อจะแสดงธรรมซึ่งเป็นประเพณีข้ออื่นอีก ๑๖ ข้อ ที่ตนบรรลุพร้อมแล้ว จึงได้เริ่มเทศนานี้ว่า อปรํ ปน ภนฺเต เอตทานุตฺตริยํ เป็นต้น.
ในบรรดาคําเหล่านั้น ความเป็นผู้ยอดเยี่ยม ชื่อว่าอนุตตริยะ. ด้วยคําว่า ยถา ภควา ธมฺมํ เทเสติ นี้ พระเถระย่อมทูลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยประการใด คือโดยอาการเช่นไร ด้วยเทศนาเช่นใด เทศนาของพระองค์นั้น จัดเป็นเทศนาที่ยอดเยี่ยม. ด้วยคําว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ พระเถระย่อมแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 225
ยอดเยี่ยม แม้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยเทศนานั้น. อีกอย่างหนึ่ง พระเถระแม้เมื่อจะแสดงภูมิของเทศนานั้น จึงทูลว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ ดังนี้. บทว่า ตตฺรีเม กุสลา ธมฺมา ความว่า ในบทที่กล่าวว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ นั้น พึงทราบธรรมที่จัดเป็นกุศลธรรมเหล่านี้. ในคําว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ นั้น พึงเข้าใจกุศลธรรมโดยส่วน ๕ คือโดยอรรถว่าไม่มีโรค โดยอรรถว่าไม่มีโทษ โดยอรรถว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความฉลาด โดยอรรถว่าหมดความกระวนกระวาย และโดยอรรถว่ามีสุขเป็นผล. ในอรรถเหล่านั้น กุศลควรมีอรรถว่าไม่มีโรค เพราะถือตามแนวชาดก. กุศลควรมีอรรถว่าไม่มีโทษ เพราะถือตามแนวพระสูตร. กุศลควรมีอรรถว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความฉลาด หมดความกระวนกระวาย และมีสุขเป็นผล เพราะถือตามแนวพระอภิธรรม. แต่ในที่นี้ พึงเห็นเป็นกุศล โดยอรรถว่าไม่มีโทษ ตามแนวแห่งพาหิยสูตร.
บทว่า จตฺตาโร สติปฏฺานา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจําแนกออกโดยนัยต่างๆ แล้วทรงแสดง สติปัฏฐาน ๔ ประการ ซึ่งเจือปนกันทั้งฝ่ายโลกิยะและโลกุตตระ ด้วยอํานาจแห่งสมถวิปัสสนาและมรรค อย่างนี้ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดย ๑๔ วิธี เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙ วิธี จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๖ วิธี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๕ วิธี. แต่ในที่นี้ ไม่ประสงค์เอาสติปัฏฐานฝ่ายผล.
บทว่า จตฺตาโร สมฺมปฺปธานา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมัปปธานไว้ ๔ ประการ ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน อรรถว่าเป็นเครื่องประคองจิต มีกิจต่างกันด้วยอํานาจกิจ ซึ่งเจือปนกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอํานาจแห่งสมถวิปัสสนาและมรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมปรารภความเพียรเพื่อความไม่
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 226
เกิดขึ้นแห่งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น. บทว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอิทธิบาท ๔ ซึ่งรวมอยู่หมวดเดียวกัน โดยอรรถว่าเป็นเครื่องสําเร็จ มีสภาวะต่างกันด้วยอํานาจสภาพมีความพอใจเป็นต้น ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอํานาจแห่งสมถวิปัสสนาและมรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท ซึ่งประกอบด้วยความพอใจ ความตั้งใจมั่น ความเพียรและการปรุงแต่ง ดังนี้.
บทว่า ปฺจินฺทฺริยานิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น ซึ่งมีจะลักษณะอย่างเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ มีสภาพต่างกัน ด้วยอํานาจสภาพน้อมใจเชื่อเป็นอาทิ ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยสามารถแห่งสมถวิปัสสนาและมรรค.
บทว่า ปฺจ พลานิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพละไว้ ๕ ประการ มีศรัทธาเป็นต้น ซึ่งรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องอุปถัมภ์ หรือด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหว มีสภาพต่างกัน ตามลักษณะของตน ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยสามารถแห่งสมถวิปัสสนาและมรรค.
บทว่า สตฺต โพชฺฌงฺคา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโพชฌงค์ไว้ ๗ ประการ รวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องนําออก มีสภาพต่างกัน ตามลักษณะของตน มีความปรากฏเป็นต้น ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอํานาจแห่งสมถวิปัสสนาและมรรคนั้นแล.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 227
บทว่า อริโย อฏฺงฺคิโก มคฺโค ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมรรค อันเป็นประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นตัวเหตุ และมีสภาพต่างๆ กัน ตามลักษณะของตน มีการเห็นเป็นอาทิ เจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอํานาจแห่งสมถวิปัสสนาและมรรค นั้นแล.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงเริ่มคํานี้ว่า อิธ ภนฺเต ภิกฺขุ อาสวานํ ขยา ดังนี้. ตอบว่า เพื่อแสดงที่สุดของพระศาสนา. ความจริง ที่สุดของพระศาสนา หามีด้วยมรรคอย่างเดียวเท่านั้นไม่ ย่อมมีแม้ด้วยพระอรหัตตผล ฉะนั้น พึงทราบว่า พระเถระเริ่มคํานี้ ก็เพื่อจะแสดงที่สุดของพระศาสนานั้น.
หลายบทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การแสดงอย่างนี้นั้น จัดเป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย. บทว่า ตํ ภควา คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบชัดเทศนานั้นทั้งสิ้น ไม่มีเหลือ. บทว่า ตํ ภควโต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบชัดเทศนานั้นโดยไม่มีเหลือ. บทว่า อุตฺตริอภิฺเยฺยํ นตฺถิ ความว่า ข้อธรรมที่จะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ หามีไม่ คือคํานี้ว่า ธรรมหรือบุคคลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบนอกจากนี้ ชื่อนี้ ย่อมไม่มี. บทว่า ยทภิชานํ อฺโ สมโณ วา ความว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่นรู้สิ่งที่พระองค์ไม่ทรงรู้ พึงเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่า คือมีปัญญายิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า. คําว่า ยทิทํ ในบทว่า ยทิทํ กุสเลสุ ธมฺเมสุ นี้ เป็นเพียงนิบาต. ในข้อนี้ มีคําอธิบายดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในฝ่ายกุศลธรรมย่อมไม่มี. พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในกุศล
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 228
ธรรมทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ ดังนี้แล้ว ย่อมแสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ ด้วยเหตุแม้นี้ ดังนี้. ในคําว่า อปรํ ปน เป็นต้น นอกจากนี้ เราจะพรรณนาเพียงข้อที่แตกต่างกันเท่านั้น. ส่วนคําที่เหมือนกับวาระข้างต้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วแล.
บทว่า อายตนปณฺณตฺตีสุ คือในการบัญญัติอายตนะ. บัดนี้เมื่อจะแสดงอายตนบัญญัติทั้งหลายเหล่านั้น พระสารีบุตรเถระจึงทูลว่า ฉยิมานิ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น. ก็กถาว่าด้วยอายตนะนี้ ท่านกล่าวไว้อย่างพิสดารในปกรณ์วิเศษชื่อ วิสุทธิมรรค. ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนาอายตนะนั้นให้พิสดาร. เพราะฉะนั้น พึงทราบอายตนกถานั้นอย่างพิสดาร โดยนัยได้กล่าวไว้แล้ว ในวิสุทธิมรรคนั้นเถิด. บท เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต อายตนปณฺณตฺตีสุ คือการแสดงอย่างนี้ด้วยอํานาจการกําหนดเป็นอายตนภายในและภายนอกเป็นต้นนี้ จัดเป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในอายตนบัญญัตินี้. คําที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
บทว่า คพฺภาวกฺกนฺตีสุ คือในการก้าวลงสู่ครรภ์. พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงการก้าวลงสู่ครรภ์เหล่านั้น จึงกราบทูลว่า จตฺสฺโส อิมา ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสมฺปชาโน คือไม่รู้ ได้แก่ หลงพร้อม. บทว่า มาตุ กุจฺฉิํ โอกฺกมติ คือย่อมเข้าไปสู่ครรภ์ ด้วยอํานาจปฏิสนธิ. บทว่า าติ แปลว่า ย่อมอยู่. บทว่า นิกฺขมติ คือแม้เมื่อจะออกก็ไม่รู้ คือหลงพร้อมออกไป (จากครรภ์). บทว่า อยํปมา คือนี้จัดเป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ของเหล่ามนุษย์ชาวโลกตามปกติข้อที่ ๑.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 229
บทว่า สมฺปชาโน หิ โข คือสัตว์เมื่อจะก้าวลง ก็เป็นผู้รู้ ไม่หลงก้าวลงสู่ครรภ์. บทว่า อยํ ทุติยา คือข้อนี้จัดเป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๒ ของหมู่อสีติมหาสาวกทั้งหลาย. ความจริง พระมหาสาวกเหล่านั้น เมื่อจะเข้าไปสู่ครรภ์เท่านั้นย่อมรู้ เมื่ออยู่และเมื่อออกย่อมไม่รู้.
บทว่า อยํ ตติยา ความว่า ข้อนี้จัดเป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๓ ของพระอัครสาวกทั้งสองและของพระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลาย. นัยว่า ท่านเหล่านั้นถูกลมกัมมชวาตพัดให้หันศีรษะลงเบื้องล่าง หันเท้าขึ้นเบื้องบน มาอยู่ที่ปากช่องคลอด เหมือนอยู่ในเหวที่ลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ ออกจากช่องคลอดซึ่งคับแคบ ก็ย่อมประสบทุกข์เป็นอันมาก เปรียบเสมือนช้างที่ออกจากโพรงต้นตาล ย่อมประสบความทุกข์ ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่มีความรู้ว่า เราออกไปแล้ว ดังนี้. ความทุกข์อย่างใหญ่หลวงในฐานะเห็นปานนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์ แม้ผู้บําเพ็ญบารมีมาแล้วแท้อย่างนี้ ฉะนั้น ควรจะเบื่อหน่าย ควรจะคลายกําหนัดในการอยู่ในครรภ์.
บทว่า อยํ จตุตฺถา คือข้อนี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๔ ด้วยอํานาจแห่งพระสัพพัญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย. ความจริง พระสัพพัญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้เมื่อถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาย่อมรู้ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ก็ย่อมรู้. และแม้ในเวลาประสูติจากพระครรภ์ ลมกัมมชวาตทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะพัดพาทําพระสัพพัญูโพธิสัตว์เหล่านั้น ให้มีเท้าอยู่ข้างบน และศีรษะอยู่ข้างล่างได้ พระสัพพัญูโพธิสัตว์เหล่านั้น เหยียดพระหัตถ์ทั้งสองแล้วลืมพระเนตร ประทับยืน เสด็จออกมา. เว้นพระสัพพัญูโพธิสัตว์เสีย สัตว์อื่นในระหว่างอเวจี จนถึง ภวัคคพรหม ที่ชื่อ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 230
ว่า รู้ในระยะเวลาทั้งสาม ย่อมไม่มีเลย. ด้วยเหตุนั้น นั่นแล ในเวลาที่พระสัพพัญูโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ก้าวลงสู่พระครรภ์มารดา และในเวลาประสูติ หมื่นโลกธาตุจึงได้หวั่นไหว. คําที่เหลือ ในเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
บทว่า อาเทสนวิธาสุ คือในส่วนแห่งการแสดงธรรมดักใจคน. บัดนี้ พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงวิธีการแสดงธรรมดักใจคนเหล่านั้น จึงกราบทูลคําว่า จตสฺโส อิมา ดังนี้ เป็นต้น. ด้วยคําว่า นิมิตฺเตน อาทิสติ นี้ พระสารีบุตรย่อมแสดงว่า ชื่อว่าการแสดงธรรมดักใจคนนี้ จักมีได้ด้วยอาคตนิมิตบ้าง ด้วยคตินิมิตบ้าง ด้วยฐิตินิมิตบ้าง. ในข้อนั้น มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์. พระราชาองค์หนึ่ง ทรงถือเอาแก้วมุกดามา ๓ ดวง แล้วตรัสถามปุโรหิตว่า อาจารย์ อะไรอยู่ในมือของเรานี้. ปุโรหิตนั้นจึงมองดูไปข้างโน้นและข้างนี้. ก็โดยสมัยนั้น ตุกแกตัวหนึ่ง วิ่งแล่นออกไปด้วยหมายใจว่า เราจักจับแมลงวันกิน ดังนี้. ในเวลาที่จะจับ แมลงวันบินหนีไปเสีย. ปุโรหิตนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช แก้วมุกดาพระเจ้าข้า ดังนี้ เพราะเหตุที่แมลงวันบินหนีพ้นไปได้. พระราชาจึงตรัสถามอีกว่า แก้วมุกดาจงยกไว้ก่อน (แต่) แก้วมุกดามีกี่ดวง. ปุโรหิตนั้นจึงมองดูนิมิตนั้นอีก. ลําดับนั้น ไก่เปล่งเสียงขันขึ้น ๓ ครั้ง ในที่ไม่ไกล. พราหมณ์จึงกราบทูลว่า ๓ ดวง พระเจ้าข้า ดังนี้. คนบางคนย่อมพูดด้วยนิมิตที่มาปรากฏอย่างนี้. พึงเข้าใจการกล่าวแม้ด้วยคตินิมิตและฐิตินิมิต โดยอุบายนั้น.
บทว่า อมนุสฺสานํ คือหมู่ยักษ์และปีศาจ เป็นต้น. บทว่า เทวตานํ คือเหล่าเทวดาผู้ดํารงอยู่ในชั้นจาตุมมหาราช เป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 231
บทว่า สทฺทํ สุตฺวา ความว่า ฟังเสียงของเหล่าเทวดาและอมนุษย์ ผู้ซึ่งรู้จิตของผู้อื่น แล้วกล่าว.
บทว่า วิตกฺกวิปฺผารสทฺทํ ได้แก่เสียงของหมู่ชนผู้หลับและประมาทแล้วเป็นต้น ผู้เพ้ออยู่ ซึ่งบังเกิดขึ้นมาด้วยการแผ่ซ่านไปแห่งวิตก. บทว่า สุตฺวา คือได้ยินเสียงนั้น. เสียงนั้นเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ผู้ตรึกเรื่องใด เขาย่อมดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ด้วยอํานาจแห่งการตรึกนั้น.
บทว่า มโนสงฺขารา ปณิหิตา คือจิตตสังขารตั้งมั่นด้วยดีแล้ว. บทว่า วิตกฺเกสฺสติ คือเขาย่อมรู้ว่า ผู้นี้จักตรึก คือจักให้ (จิตตสังขาร) เป็นไป. อนึ่ง เขาเมื่อรู้ ย่อมรู้ด้วยการมาของนิมิต ย่อมรู้ด้วยนิมิตอันเป็นส่วนเบื้องต้น ตรวจดูจิตในภายในสมาบัติย่อมรู้ได้. บุคคลย่อมรู้ว่า ในเวลาบริกรรมกสิณนั้นเอง บุคคลนี้เริ่มภาวนากสิณด้วยอาการใดจักยังปฐมฌาน ฯลฯ หรือจตุตถฌาณ หรือสมาบัติ ๘ ให้เกิดได้ บุคคลนี้ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยการมาปรากฏของนิมิต. บุคคลบางคน ย่อมรู้เมื่อเริ่มบําเพ็ญสมถะวิปัสสนา คือรู้ว่าบุคคลนี้ เริ่มบําเพ็ญวิปัสสนาโดยอาการใด จักยังโสดาปัตติมรรคให้เกิด ฯลฯ หรือยังอรหัตตมรรคให้เกิด ผู้นี้ชื่อว่า ย่อมรู้ได้ด้วยนิมิตอันเป็นส่วนเบื้องต้น. บุคคลบางคนย่อมรู้ว่า มโนสังขารของบุคคลนี้ ตั้งมั่นด้วยดีโดยอาการใด เขาจักตรึกถึงวิตกชื่อนี้ เป็นลําดับแห่งจิตชื่อนี้ เมื่อบุคคลนั้นออกจากวิตกนี้ สมาธิอันเป็นฝ่ายเสื่อม หรือเป็นฝ่ายตั้งอยู่ หรือเป็นฝ่ายแห่งความวิเศษขึ้น หรือเป็นฝ่ายทําลายกิเลสจักมีได้ หรือจักยังอภิญญาให้เกิดขึ้น ผู้นี้ชื่อว่า ตรวจดูจิตในภายในสมาบัติแล้วจึงรู้ได้. ในบรรดาชนเหล่านั้น ปุถุชนผู้ได้เจโตปริยญาณ ย่อมรู้จิตของปุถุชนเท่านั้น หารู้จิตของพระอริยทั้งหลายได้ไม่. แม้ในพระอริยทั้งหลาย พระอริยบุคคลผู้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 232
ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องต่ํา ย่อมไม่รู้จิตของพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องสูงได้. ส่วนพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องสูง ย่อมรู้จิตของพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องต่ําได้. ก็ในบรรดาท่านเหล่านั้น พระโสดาบันย่อมเข้าโสดาปัตติผลสมาบัติ พระสกทาคามีย่อมเข้าสกทาคามีผลสมาบัติ พระอนาคามีย่อมเข้าอนาคามีผลสมาบัติ พระอรหันต์ย่อมเข้าอรหัตตผลสมาบัติ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผลเบื้องสูง ย่อมไม่เข้าสมาบัติอันตั้งอยู่ในเบื้องต่ํา. ความจริง สมาบัติเบื้องต่ําของท่านเหล่านั้นก็มีความเป็นไปในสมาบัตินั้นเหมือนกัน. บทว่า ตเถว ตํ โหติ ความว่า เรื่องนี้ย่อมเป็นอย่างนั้นแลโดยส่วนเดียว. ความจริง ขึ้นชื่อว่าความเป็นโดยประการอื่นที่รู้ด้วยอํานาจเจโตปริยญาณย่อมไม่มี. คําที่เหลือ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
คําเป็นต้นว่า อาตปฺปมนฺวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้พิสดารแล้วในพรหมชาลสูตร. ส่วนความสังเขปในที่นี้ ดังต่อไปนี้. ความเพียรชื่อว่า อาตัปปะ. ความเพียรนั้นเอง ชื่อว่า ปธาน เพราะเป็นของอันบุคคลพึงตั้งไว้ ชื่อว่า อนุโยค เพราะเป็นของอันบุคคลพึงประกอบไว้. บทว่า อปฺปมาทํ คือการไม่อยู่ปราศจากสติ. บทว่า สมฺมา มนสิการํ คือการทํามนสิการโดยอุบาย ซึ่งเป็นไปด้วยอํานาจการพิจารณาในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยงเป็นต้น. บทว่า เจโตสมาธิํ ได้แก่ สมาธิในปฐมฌาน. หลายบทว่า อยํ ปมา ทสฺสนสมาปตฺติ ความว่า ปฐมฌานสมาบัติที่พระโยคาวจรพิจารณาอาการ ๓๒ โดยเป็นของปฏิกูลแล้ว ให้เกิดขึ้นด้วยอํานาจการเห็นว่า เป็นของปฏิกูลนี้ ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติที่ ๑ แต่ถ้าพระโยคาวจรทําฌานนั่น ให้เป็นบาทแล้วเป็นพระโสดาบัน นี้ก็จัดเป็น ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑ โดยตรงนั่นเอง
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 233
บทว่า อติกฺกมฺม จ คือก้าวล่วง. บทว่า ฉวิมํ สโลหิตํ คือผิวหนัง เนื้อและโลหิต. บทว่า อฏฺฐิํ ปจฺจเวกฺขติ คือย่อมพิจารณาว่า กระดูก กระดูก ดังนี้. บทว่า อฏฺิ อฏฺิ ความว่า ฌานสมาบัติซึ่งมีทิพพจักขุเป็นบาท มีกระดูกเป็นอารมณ์ ที่พระโยคาวจรพิจารณาแล้วให้เกิดขึ้น ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติที่ ๒. แต่ถ้า พระโยคาวจรกระทําฌานนั้นให้เป็นบาทแล้ว ย่อมให้สกทาคามิมรรคบังเกิดขึ้นได้. ข้อนี้ก็จัดว่าเป็น ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒ โดยทางตรง. ส่วนพระสุมนเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลวิหารกล่าวว่า ย่อมควรตั้งแต่มรรคที่ ๓.
วิญญาณนั้นเองชื่อ วิญญาณโสตะ. บทว่า อุภยโต อพฺโพจฺฉินฺนํ ความว่า กระแสวิญญาณนั้น ท่านตัดขาดได้แล้วด้วยส่วนแม้ทั้งสอง. บทว่า อิธ โลเก ปติฏฺิตฺจ คือ อันตั้งอยู่แล้วในโลกนี้ ด้วยอํานาจฉันทราคะ. แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน. อีกอย่างหนึ่ง กระแสวิญญาณเมื่อเข้าถึงกรรมโดยกรรม ชื่อว่า ตั้งอยู่เฉพาะแล้วในโลกนี้. กระแสวิญญาณเมื่อคร่ามาได้ซึ่งกรรมภพ ชื่อว่า ตั้งอยู่เฉพาะในปรโลก. ถามว่า ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวอะไรไว้. ตอบว่า ท่านกล่าวเจโตปริยญาณของเสขปุถุชนทั้งหลายไว้. ความจริง เจโตปริยญาณของเสขปุถุชนทั้งหลาย ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๓.
บทว่า อิธ โลเก อปฺปติฏฺิตฺจ คือ ดํารงอยู่ไม่ได้ในโลกนี้ เพราะมีความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจออกแล้ว. แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้. อีกอย่างหนึ่ง กระแสวิญญาณไม่เข้าถึงกรรมโดยกรรม ชื่อว่า ดํารงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้. เมื่อคร่ากรรมภพมาไม่ได้ ชื่อว่า ดํารงอยู่ในปรโลกไม่ได้. ถามว่า ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวอะไรไว้. ตอบว่า ท่านกล่าว
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 234
เจโตปริยญาณของพระขีณาสพไว้. ความจริง เจโตปริยญาณของพระขีณาสพ ชื่อว่าในทัสสนสมาบัติข้อที่ ๔.
อีกอย่างหนึ่ง แม้วิปัสสนาที่พระโยคาวจรปรารภอาการ ๓๒ ก็จัดเป็น ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑. วิปัสสนาที่พระโยคาวจรปรารภกัมมัฏฐาน ซึ่งมีกระดูกเป็นอารมณ์ จัดเป็น ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒. บททั้งสองนี้ว่า เจโตปริยญาณของเสขปุถุชน เจโตปริยญาณของพระขีณาสพ ดังนี้ ไม่หวั่นไหวเลย. อีกนัยหนึ่ง. ปฐมฌาน ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑. ทุติยฌาน ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒. ตติยฌาน ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติ ข้อที่ ๓. จตุตถฌาน ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๔. อนึ่ง ปฐมมรรค ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑. มรรคที่ ๒ ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒. มรรคที่ ๓ ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๓. มรรคที่ ๔ ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๔. คําที่เหลือในบทนี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
บทว่า ปุคฺคลปณฺณตฺตีสุ คือ ในโลกบัญญัติที่บุคคลพึงบัญญัติอย่างนี้ว่า สัตตะ ปุคคละ นระ โปสะ ดังนี้ ตามโวหารทางโลก. ความจริง กถาทั้งสองคือ สมมติกถา ปรมัตถกถา ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านให้พิสดารแล้วในโปฏฐปาทสูตร ในบรรดากถาทั้งสองนั้น กถานี้ว่า ในบุคคลบัญญัติทั้งหลาย ดังนี้ชื่อ สมมติกถา. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงบัญญัติบุคคลเหล่าใด ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในบุคคลบัญญัติทั้งหลาย บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงบุคคลเหล่านั้น จึงทูลคําเป็นต้นว่า สตฺตีเม ภนฺเต ปุคฺคลา อุภโตภาควิมุตฺโต ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต ความว่า บุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว โดยส่วนสอง คือผู้หลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ หลุดพ้นจากนามกายด้วยมรรค. บุคคลนั้น ออกจากบรรดาอรูปสมาบัติทั้ง ๔
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 235
อย่างหนึ่งๆ แล้ว พิจารณาสังขารแล้วย่อมเป็นบุคคล ๕ จําพวก ด้วยอํานาจแห่งบุคคล คือ พระอริยบุคคล ๔ ผู้บรรลุพระอรหัต และพระอนาคามีผู้ออกจากนิโรธแล้วบรรลุพระอรหัต. ก็พระบาลี ในที่นี้ว่า ก็บุคคลผู้หลุดพ้นโดยส่วนสอง เป็นไฉน คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ทั้ง ๘ ด้วยกายอยู่ และอาสวะทั้งหลายของท่านก็สิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ผู้หลุดพ้นแล้วโดยส่วนสอง. พระบาลีนี้มาแล้วด้วยอํานาจแห่งท่านผู้ได้วิโมกข์ ๘ อย่างนี้.
บทว่า ปฺาวิมุตฺโต แปลว่า หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญา. บุคคลผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญานั้นมี ๕ จําพวก ด้วยอํานาจแห่งบุคคลแหล่านี้ คือสุกขวิปัสสกบุคคล ๑ และบุคคลผู้ออกจากฌานทั้ง ๔ แล้วบรรลุพระอรหัต ๔ พวก ๑. ก็พระบาลีในที่นี้ มาแล้วด้วยอํานาจธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิโมกข์ ๘ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลไม่ถูกต้องวิโมกข์ทั้ง ๘ ด้วยกายอยู่เลย และเพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะของเขาจึงเป็นอันสิ้นรอบแล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา.
บุคคลย่อมกระทําให้แจ้งซึ่งกายที่ถูกต้องอยู่ ฉะนั้นจึงชื่อว่า กายสักขิ. บุคคลนั้นย่อมถูกต้องฌานก่อน จึงทําให้แจ้งซึ่งนิโรธ คือนิพพาน ในภายหลัง. กายสักขินั้น พึงทราบว่ามี ๖ จําพวก เริ่มต้นแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จนถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ทั้ง ๘ ด้วยกายอยู่ และเพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะบางเหล่าของเขา เป็นอันสิ้นรอบไปบุคคลนี้ เรียกว่า กายสักขิ.
บุคคลบรรลุถึงที่สุดของทิฏฐิ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้บรรลุทิฏฐิ. ในข้อนั้นมีลักษณะโดยสังเขป ดังต่อไปนี้. อันบุคคลนั้น ได้รู้ ได้เห็น ได้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 236
ทราบ ได้ทําให้แจ้ง ได้ถูกต้องด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ความดับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข ดังนี้ ฉะนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่าผู้บรรลุทิฏฐิ. ก็บุคคลผู้บรรลุทิฏฐิแม้นี้ ก็มี ๖ จําพวกโดยพิสดาร เหมือนกายสักขิบุคคล. ด้วยเหตุนั้น นั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นธรรมอันเธอเห็นแล้วด้วยปัญญา ประพฤติแล้วด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้บรรลุทิฏฐิ ดังนี้.
บทว่า สทฺธาวิมุตฺโต คือบุคคลผู้พ้นแล้วด้วยศรัทธา. แม้บุคคลผู้พ้นด้วยศรัทธานั้น ก็มี ๖ จําพวกโดยนัยก่อนนั้นแล. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ ฯลฯ นี้ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นอันเธอเห็นแจ้งแล้วด้วยปัญญา และประพฤติแล้วด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้หลุดพ้นแล้วด้วยศรัทธา หาใช่ว่า ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงเหมือนการรู้ชัดของบุคคลผู้บรรลุทิฏฐิไม่. ก็ในบุคคลสองประเภทนี้ การสิ้นกิเลสของบุคคลผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธาเหมือนกับเชื่อ ปลงใจเชื่อ และน้อมใจเชื่อ ในขณะแห่งมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น. ญาณอันเป็นเครื่องตัดกิเลสของบุคคลผู้บรรลุทิฏฐิ เป็นญาณไม่เฉื่อยชา เป็นญาณที่คมกริบ และแกล้วกล้า ย่อมนําไปในขณะแห่งมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น เพราะฉะนั้น จึงเหมือนเมื่อบุคคลเอาดาบที่ไม่คมตัดต้นกล้วย ที่ที่บุคคลตัดก็ไม่เกลี้ยง ทั้งดาบก็ไม่ผ่านไปได้โดยเร็ว บุคคลย่อมได้ยินเสียง บุคคลต้องทำความพยายามด้วยกำลังมากกว่า ฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของบุคคลผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธาเห็นปานนั้น ก็พึงทราบ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 237
ฉันนั้น. อนึ่งเหมือน เมื่อบุคคลเอาดาบที่ลับดีแล้วตัดต้นกล้วย ที่ที่เขาตัดก็เกลี้ยง ทั้งดาบก็ผ่านไปได้เร็ว บุคคลก็ไม่ได้ยินเสียง กิจ คือความพยายามด้วยกําลังมากก็ไม่มี ฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของบุคคลผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาเห็นปานนั้น ก็พึงทราบ ฉันนั้น.
บุคคลย่อมตามระลึกถึงธรรม ฉะนั้น จึงชื่อว่า ธัมมานุสารี. ปัญญา ชื่อว่า ธรรม อธิบายว่า บุคคลย่อมเจริญมรรคอันมีปัญญาเป็นเบื้องต้น. แม้ในสัทธานุสารีบุคคล ก็นัยนี้เหมือนกัน. บุคคลทั้งสองแม้เหล่านั้น คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคนั่นเอง. สมจริงดังพระดํารัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปัญญินทรีย์ของบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อกระทําให้แจ้งโสดาปัตติผล เป็นปัญญาที่มีประมาณอันยิ่ง บุคคลผู้ขวนขวายเพื่อได้มาซึ่งศรัทธา ย่อมเจริญอริยมรรคอันมีศรัทธาเป็นเบื้องต้น บุคคลนี้เรียกว่า สัทธานุสารีบุคคล. อนึ่ง สัทธินทรีย์ของบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทําให้แจ้งโสดาปัตติผล ย่อมมีประมาณมากยิ่งนัก บุคคลผู้ขวนขวายเพื่อได้มาซึ่งศรัทธา ย่อมเจริญอริยมรรคอันมีศรัทธาเป็นเบื้องต้น บุคคลนี้เรียกว่า สัทธานุสารีบุคคล. ความสังเขปในเรื่องนี้ เพียงเท่านี้. ส่วนกถาว่าด้วย อุภโตภาควิมุตติเป็นต้นนี้ ท่านกล่าวไว้แล้ว ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์พิเศษชื่อ วิสุทธิมรรคโดยพิสดาร. ฉะนั้น พึงทราบวิตถารกถา โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นแล. คําที่เหลือ แม้ในที่นี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
โพชฌงค์ ๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปธาน ด้วยอํานาจการเริ่มตั้งความเพียร ในบทนี้ว่า ปธาเนสุ ดังนี้. กถาโดยพิสดารของโพชฌงค์ ๗ เหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในมหาสติปัฏฐาน. คําที่เหลือ แม้ในที่นี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล. ในคําว่า ทุกฺขาปฏิปทา เป็นต้น มีนัยโดยพิสดาร ดังต่อไปนี้.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 238
ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาทั้งปฏิบัติลําบาก ทั้งรู้ได้ช้า เป็นอย่างไร คือปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ธรรมวิจัย สัมมาทิฏฐิ อันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยยากลําบาก ทั้งรู้ฐานะนั้นช้า นี้เรียกว่าปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติลําบาก ทั้งรู้ได้ช้า.
ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาอันปฏิบัติลําบาก แต่รู้ได้เร็ว เป็นอย่างไร คือปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ อันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยยากลําบาก แต่รู้ฐานะนั้นได้โดยฉันพลัน นี้เรียกว่า ปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติลําบาก แต่รู้ได้เร็ว.
ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาอันปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า เป็นอย่างไร คือปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ อันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยไม่ยากไม่ลําบาก แต่รู้ฐานะนั้นได้อย่างช้า นี้เรียกว่า ปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า.
ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาอันปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว เป็นอย่างไร คือปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ อันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยไม่ยากไม่ลําบาก ทั้งรู้ชัดฐานะนั้นอย่างเร็วพลัน นี้เรียกว่า ปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.
ความสังเขปในที่นี้ เท่านี้. ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. คําที่เหลือ แม้ในที่นี้ พึงประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
บทว่า น เจว มุสาวาทูปสฺหิตํ ความว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ดํารงอยู่ในภัสสสมาจาร (มารยาทเกี่ยวกับการพูด) บ้าง ไม่เข้าไปตัดกถามรรคกล่าวบ้าง ย่อมไม่กล่าววาจาอันประกอบด้วยมุสาวาทเลย เว้นโวหารอันไม่ประเสริฐ ๘ อย่างเสีย กล่าววาจาอันประกอบด้วยโวหารอันประเสริฐ ๘ อย่างเท่านั้น. บทว่า น จ เวภูติยํ ความว่า ภิกษุบางรูป
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 239
ในศาสนานี้ แม้ดํารงในภัสสสมาจาร ย่อมไม่กล่าววาจา อันทําความแตกร้าวกัน. คําว่า เปสุณิยํ นั้นเป็นไวพจน์ของคําว่า เวภูติยํ นั้น. ความจริง วาจาอันทําความแตกร้าวกัน ท่านเรียกว่า เปสุณิยํ เพราะทําความเป็นที่รักกันให้สูญหาย. พระมหาสิวเถระกล่าวว่า คําว่า เปสุณิยํ นั้นเป็นชื่อของวาจานั้น. บทว่า น จ สารมฺภชํ ความว่า วาจาใดเกิด เพราะการแข่งดี ภิกษุย่อมไม่กล่าววาจานั้น เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทุศีล หรือว่า ท่านทุศีล อาจารย์ของท่านก็ทุศีล หรือเมื่อเขากล่าวว่า ท่านต้องอาบัติ ย่อมไม่กล่าววาจา ที่เป็นไปด้วยการกล่าวซัดไปภายนอก หรือวาจา ที่ยิ่งกว่าการกระทํา โดยนัยเป็นต้นว่า เราไปเที่ยวบิณฑบาตจนถึงเมืองปาฏลีบุตรดังนี้. บทว่า ชยาเปกฺโข คือเป็นผู้มุ่งต่อชัยชนะ. อธิบายว่า ภิกษุผู้เพ่งถึงชัยชนะ คือหวังชัยชนะเป็นเบื้องหน้า ย่อมไม่กล่าว เหมือนหัตถกศากยบุตรกล่าววาจาจริงเละเหลาะแหละอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ธรรมดาพวกเดียรถีย์บุคคลพึงชนะ ด้วยธรรมบ้าง ด้วยอธรรมบ้าง ดังนี้. ปัญญา ท่านเรียกว่า มันตา ในคําว่า มนฺตา มนฺตา จ วาจํ ภาสติ นี้. กล่าววาจาด้วยปัญญา ชื่อว่า มันตา. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มนฺตา คือใคร่ครวญแล้ว. มีคําอธิบายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุในศาสนานี้ ดํารงอยู่ในภัสสสมาจาร เมื่อกล่าวตลอดทั้งวัน ก็ใคร่ครวญด้วยปัญญา กล่าวเฉพาะถ้อยคําอันสมควรเท่านั้น. บทว่า นิธานวติํ คือควรเพื่อจะฝังไว้ แม้ในใจ. บทว่า กาเลน คือตามกาลอันควรแล้วและถึงแล้ว. ความจริง วาจาอันบุคคลกล่าวแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นวาจาที่ไม่เท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่หยาบ ไม่โอ้อวด ไม่เพ้อเจ้อ. ก็วาจาเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า วาจาอิงอาศัยสัจจะ ๔ บ้าง วาจาอิงอาศัยไตรสิกขาบ้าง วาจาอิงอาศัยกถาวัตถุ ๑๐ บ้าง วาจาอิงอาศัยธุดงคคุณ ๑๓ บ้าง วาจาอิงอาศัยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการบ้าง วาจาอิงอาศัยมรรคบ้าง.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 240
ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต ภสฺสสมาจาเร ดังนี้. คํานั้น พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
หลายบทว่า สจฺโจ จสฺส สทฺโธ จ ความว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ ผู้ตั้งอยู่ในสีลาจาร พึงเป็นผู้จริง กล่าววาจาจริง พึงเป็นผู้มีศรัทธา และถึงพร้อมด้วยศรัทธา. ถามว่า สัจจะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลังแล้ว มิใช่หรือ เพราะเหตุไร ในที่นี้พระองค์จึงตรัสไว้อีกเล่า. ตอบว่า วาจาสัจ พระองค์ตรัสไว้แล้วในหนหลัง. ในที่นี้ พระองค์ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่า ก็ภิกษุดํารงอยู่ในลีลาจารแล้ว ย่อมไม่กล่าวมุสาวาท โดยที่สุด แม้ด้วยการกล่าวให้หัวเราะกัน. บัดนี้ พระเถระเพื่อจะแสดงว่า ภิกษุนั้นย่อมสําเร็จการเป็นอยู่ โดยธรรมสม่ําเสมอ ดังนี้ จึงกล่าวคําเป็นต้นว่า น จ กุหโก ดังนี้ เป็นต้น. บรรดาคําเหล่านั้น คําว่า กุหโก เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายพิสดารแล้ว ในพรหมชาลสูตร. หลายบทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร โภชเน มตฺตฺู ความว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารดีแล้ว ในอินทรีย์ทั้ง ๖ ทั้งเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ. บทว่า สมการี คือผู้มีปกติสม่ําเสมอ. อธิบายว่า ภิกษุ ในพระศาสนานี้ เว้นเหตุมีการคดทางกายเป็นต้น ประพฤติสม่ําเสมอทางกาย วาจาและใจ. บทว่า ชาคริยานุโยคมนุยุตฺโต ความว่า ภิกษุย่อมขวนขวาย ประกอบความเป็นผู้ตื่นอยู่ โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุพึงแบ่งกลางวันและกลางคืน ออกเป็น ๖ ส่วน แล้วพึงประกอบความเพียรในกลางวัน ด้วยการจงกรมและนั่ง. บทว่า อตนฺทิโต คือ ได้แก่ ไม่เกียจคร้าน คือเว้นจากการเกียจคร้านทางกาย. บทว่า อารทฺธวีริโย ความว่า เป็นผู้เริ่มความเพียร แม้ด้วยความเพียรทางกาย บรรเทาความเกี่ยวข้องด้วยหมู่เสีย แล้วอยู่แต่ผู้เดียว ด้วยอํานาจอารัพภวัตถุ ๘ ในอิริยาบถทั้ง ๔. เป็นผู้เริ่มความเพียร แม้ด้วยความเพียรทางใจ บรรเทาความเกี่ยวข้องด้วยกิเลสเสีย อยู่แต่
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 241
ผู้เดียว ด้วยอํานาจสมาบัติ ๘. อีกอย่างหนึ่ง ห้ามการเกิดขึ้นแห่งกิเลสเสียแล้ว โดยประการใดประการหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นผู้เริ่มความเพียร ด้วยความเพียรทางใจ เหมือนกัน. บทว่า ฌายี คือเป็นผู้เพ่งด้วยอารัมมณูปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน. บทว่า สติมา คือประกอบด้วยสติ อันสามารถระลึกถึงกิจ ที่ทําไว้นานแล้วได้เป็นต้น. บทว่า กลฺยาณปฏิภาโณ คือสมบูรณ์ด้วยการพูดดี และสมบูรณ์ด้วยปฏิภาณ. ก็บุคคลนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยปฏิภาณ มิใช่เป็นผู้ขาดปฏิภาณ. จริงอยู่ ภิกษุดํารงอยู่ในสีลสมาจาร หาได้ขาดปฏิภาณไม่. อนึ่ง ภิกษุผู้ประกอบด้วยปฏิภาณ ย่อมเป็นเหมือนพระวังคีสเถระ ฉะนั้น. บทว่า คติมา คือประกอบด้วยปัญญา อันสามารถในการดําเนินไป. บทว่า ธิติมา คือประกอบด้วยปัญญา อันสามารถในการทรงจําไว้. ก็คําว่า มติ ในคําว่า มติมา นี้ เป็นชื่อของ ปัญญาแท้ ฉะนั้น อธิบายว่า ผู้มีปัญญา. ปัญญานั้นเอง ท่านกล่าวไว้ด้วยบทแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ ดังพรรณนามา ฉะนี้ ในบาลีประเทศนั้น ความเพียร เป็นเครื่องทําสมณธรรม ท่านกล่าวไว้ในหนหลัง. ในที่นี้ ท่านกล่าวความเพียร เป็นเครื่องเล่าเรียนพระพุทธพจน์. อนึ่ง วิปัสสนาปัญญา ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง ในที่นี้ท่านกล่าวถึงปัญญา เป็นเครื่องเล่าเรียนพระพุทธพจน์. หลายบทว่า น จ กาเมสุ คิทฺโธ คือเป็นผู้ไม่ติดในวัตถุกาม และกิเลสกาม. หลายบทว่า สโต จ นิปโก จเร ความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยสติ และด้วยญาณ ในฐานทั้ง ๗ มีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น เที่ยวไป. ปัญญาชื่อ เนปักกะ ภิกษุ ท่านกล่าวว่ามีปัญญา ดังนี้ เพราะประกอบด้วยปัญญานั้น คําที่เหลือ ในที่นี้ พึงประกอบเข้าด้วยนัยก่อนนั้นแล.
บทว่า ปจฺจตฺตํ โยนิโสมนสิการา คือด้วยการทําไว้ในใจ โดยอุบายของพระองค์. บทว่า ยถานุสิฏฺํ ตถาปฏิปชฺชมาโน คือเป็นผู้ปฏิบัติตามที่เราได้ให้อนุศาสน์พร่ําสอนไว้. คําเป็นต้นว่า ติณฺณํ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 242
สฺโณชนานํ ปริกฺขยา มีเนื้อความดังกล่าวแล้ว. คําที่เหลือ แม้ในที่นี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
บทว่า ปรปุคฺคลวิมุตฺติาเณ คือในญาณเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสด้วยมรรคนั้นๆ ของบุคคลอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น. คําที่เหลือ ในที่นี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
บทว่า อมุตฺราสิํ เอวํนาโม ความว่า บุคคลหนึ่งเมื่อระลึกบุพเพนิวาส ย่อมกําหนดชื่อและโคตรไปได้. บุคคลหนึ่งระลึกได้แต่ขันธ์ล้วนๆ เท่านั้น. คนหนึ่งสามารถระลึกได้ คนหนึ่งไม่สามารถ. ในที่นั้น มิได้ถือเอาด้วยอํานาจแห่งผู้สามารถ ได้ถือเอาด้วยอํานาจแห่งผู้ไม่สามารถ ก็ผู้ไม่สามารถจะทําอะไรได้. บุคคลนั้นระลึกเฉพาะแต่ขันธ์ล้วนๆ ไป ดํารงอยู่ในที่สุดหลายแสนชาติ หยั่งญาณลงกําหนดนามและโคตร. พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงนามและโคตรนั้น จึงกล่าวคําเป็นต้นว่า เอวํนาโม ดังนี้. บทว่า โส เอวมาห คือบุคคลผู้ถือทิฏฐินั้น ได้กล่าวอย่างนี้. ในบาลีประเทศนั้น เมื่อบุคคลนั้นกล่าวว่าเที่ยง แล้วกล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นย่อมท่องเที่ยวไป ดังนี้ คําพูดย่อมมีเบื้องต้นและเบื้องปลายขัดแย้งกันก็จริง. แต่บุคคลนั้นกําหนดคํานั้นไม่ได้เพราะเป็นผู้ยึดถือทิฏฐิ. ความจริง ฐานะหรือการกําหนดของผู้ยึดถือทิฏฐิ ย่อมไม่มี. คํานั้น ท่านให้พิสดารแล้วในพรหมชาลสูตรว่า บุคคลนั้นถือเอาสิ่งนี้ แล้วก็ปล่อยสิ่งนี้ ครั้นปล่อยสิ่งนี้แล้ว ก็ยึดถือเอาสิ่งนี้ ดังนี้. ด้วยคําว่า อยํ ตติโย สสฺสตวาโท นี้ พระเถระกล่าวบุคคลผู้เป็นสัสสตวาทะไว้ ๓ ประเภท ด้วยอํานาจแห่งฌานลาภีบุคคลเท่านั้น. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบุคคล ๔ ประเภท ไว้ในพรหมชาลสูตร เพราะรวมเอาแม้บุคคลที่เป็นตักกีวาทะ เข้าไว้ด้วย. ก็คํากล่าวพิสดารของบุคคลผู้มีวาทะ ๓ ประเภทนั้น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 243
พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในพรหมชาลสูตร คําที่เหลือ แม้ในที่นี้ พึงให้พิสดารโดยนัยที่กล่าวแล้วในก่อน
บทว่า คณนาย วา คือด้วยการนับเป็นหมวด. บทว่า สงฺขาเนน คือด้วยการนับด้วยใจ โดยไม่ให้ขาดสาย โดยสองวิธีนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเฉพาะการนับเป็นหมวด มีคําอธิบายที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ใครไม่สามารถที่จะทําเป็นหมวดด้วยอํานาจ ร้อย พัน แสนโกฏิแห่งปีทั้งหลาย แล้วนับว่าร้อยปีเท่านั้น ดังนี้ หรือว่า ฯลฯ โกฏิปีเท่านี้. พระเถระย่อมแสดงว่า เพราะพระองค์ทรงบําเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ เพราะพระองค์ทรงบรรลุสัพพัญุตญาณ เพราะพระอนาวรญาณของพระองค์ดําเนินไปแก่กล้า พระองค์จึงทรงมีความฉลาดในเทศนาญาณเป็นเบื้องหน้า ทําให้มีที่สุดด้วยการนับปี แม้ด้วยการนับกัป ก็กําหนดแสดงว่ามีประมาณเท่านี้ได้. เนื้อความในบาลี มีนัยกล่าวแล้วในบาลีนี้. คําที่เหลือ แม้ในที่นี้ ก็พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล. ด้วยหลายบทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต สตฺตานํ จุตูปปาตญาเณ พระเถรย่อมแสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ญาณเทสนา ด้วยอํานาจจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายนี้ใด มีอยู่ ญาณเทสนานั้น จัดเป็นยอดเยี่ยมของพระองค์ แม้พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย ก็ทรงแสดงอย่างนี้ เหมือนกัน. แม้พระพุทธเจ้าในอนาคต ก็จักทรงแสดงอย่างนี้ เหมือนกัน. พระองค์ทรงเทียบเคียงด้วยพระญาณของพระพุทธเจ้า ทั้งในอดีตและในอนาคตเหล่านั้น แล้วทรงแสดง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุแม้นี้ ข้าพระองค์มีความเสื่อมใสพระมีพระภาคเจ้า อย่างนี้. ก็เนื้อความของพระบาลี ในที่นี้ ท่านก็ให้พิสดารแล้วเหมือนกัน.
สองบทว่า สาสวา สอุปธิกา คือฤทธิ์ที่มีโทษ คือมีข้อติเตียน. หลายบทว่า โน อริยาติ วุจฺจติ ความว่า ฤทธิ์เช่นนั้น ไม่เรียกว่าฤทธิ์อันเป็น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 244
อริยะ. สองบทว่า อนาสวา อนุปธิกา คืไม่มีโทษ ได้แก่ ไม่มีข้อน่าติเตียน. สองบทว่า อริยาติ วุจฺจติ คือฤทธิ์เช่นนี้เรียกว่า ฤทธิ์อันเป็นอริยะ. หลายบทว่า อปฺปฏิกูลสฺี ตตฺถ วิหรติ ความว่า ภิกษุย่อมมีความสําคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ อย่างไร คือเธอย่อมแผ่เมตตาไปในสัตว์ที่ปฏิกูล คือรวมความสําคัญว่าเป็นธาตุลงในสังขาร. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเป็นผู้มีความสําคัญในสิ่งปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลนั้นอย่างไร คือเธอย่อมแผ่เมตตาไปในวัตถุอันไม่น่าปรารถนา หรือรวมลงโดยเป็นธาตุ ดังนี้. หลายบทว่า ปฏิกูลสฺี ตตฺถ วิหรติ ความว่า ภิกษุย่อมแผ่อสุภสัญญาไปในสัตว์ซึ่งไม่ปฏิกูล คือรวมอนิจจสัญญาลงในสังขาร เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเป็นผู้มีความสําคัญในสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าปฏิกูลอยู่อย่างไร คือเธอย่อมแผ่ไปด้วยอสุภสัญญาในวัตถุที่น่าปรารถนาหรือรวมลง โดยเป็นของไม่เที่ยง ดังนี้. พึงทราบเนื้อความ แม้ในบทที่เหลืออย่างนี้. หลายบทว่า อุเปกฺขโก ตตฺถ วิหรติ ความว่า ภิกษุไม่กําหนัดในอารมณ์ที่น่าปรารถนา และไม่ชังในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ทั้งไม่ให้โมหะเกิดขึ้น เหมือนชนเหล่าอื่นให้โมหะเกิดขึ้น ด้วยการเพ่งอารมณ์อันไม่มีส่วนเสมอ เป็นผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้ง ๖ ด้วยอุเบกขา มีองค์ ๖ อยู่. หลายบทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต อิทฺธิวิธาสุ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้จัดว่าเป็นเทศนาอันยอดเยี่ยมอย่างนี้ ในฝ่ายฤทธิ์ทั้งสอง.
บทว่า ตํ ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ยิ่งซึ่งเทศนานั้นทั้งสิ้น ไม่เหลือเลย. สองบทว่า ตํ ภควโต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ยิ่งซึ่งเทศนานั้นโดยไม่เหลือ. หลายบทว่า อุตฺตริ อภิฺเยฺยํ นตฺถิ ความว่า ธรรมที่จะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ย่อมไม่มี คือคํานี้ว่า ธรรมหรือบุคคลอื่นจากนี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบ ดังนี้ ย่อมไม่มีเลย.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 245
หลายบทว่า ยทภิชานํ อฺโ สมโณ วา ความว่า สิ่งใดที่พระองค์ไม่รู้ สมณะหรือพราหมณ์อื่นจะรู้สิ่งนั้น เป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่า คือมีปัญญามากกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า. คําว่า ยทิทํ ในคําว่า ยทิทํ อิทฺธิวิธาสุ เป็นเพียงนิบาต. บุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในฝ่ายอิทธิวิธี ย่อมไม่มีเลย. ความจริง แม้พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายก็ทรงแสดงฤทธิ์ ๒ อย่างเหล่านี้. แม้พระพุทธเจ้าในอนาคตก็จักแสดงฤทธิ์ทั้ง ๒ เหล่านี้. แม้พระองค์ ทรงเทียบเคียงด้วยญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงแสดงฤทธิ์เหล่านี้แหละ. พระเถระเมื่อจะแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ทรงยอดเยี่ยมในฝ่ายอิทธิวิธี ดังพรรณนามาฉะนี้ ดังนี้ จึงแสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงมีความเสื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ด้วยคํามีประมาณเท่านี้ พระธรรมเสนาบดีนั่งในที่พักกลางวัน แล้วพิจารณาธรรมอื่นต่อไป ๑๖ อย่างเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นเป็นอันท่านแสดงแล้ว. บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการแม้อื่นอีก จึงทูลคําเป็นต้นว่า ยนฺตํ ภนฺเต ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า สทฺเธน กุลปุตฺเตน ความว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งมีในอดีต อนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา. เพราะฉะนั้น จึงมีคําอธิบายว่า สิ่งใดที่พระสัพพัญูโพธิสัตว์พึงบรรลุ. ถามว่า ก็อะไรที่พระสัพพัญูโพธิสัตว์พึงบรรลุ. ตอบว่า โลกุตตรธรรม ๙ อันพระสัพพัญูโพธิสัตว์นั้นพึงบรรลุ. คําทั้งหมดเป็นต้นว่า วิริยํ ถาโม ในบทว่า อารทฺธวิริเยน เป็นต้นนี้ เป็นไวพจน์ของความเพียร. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธวิริเยน คือผู้ประคองความเพียร. บทว่า ถามวตา คือสมบูรณ์ด้วยกําลัง คือมีความเพียรแข็งแรง. บทว่า ปุริสถาเมน อธิบายว่า สิ่งใดที่พระสัพพัญูโพธิสัตว์ผู้มีเรี่ยวแรงนั้น พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 246
บุรุษ. ในสองบทที่ถัดไป ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน บทว่า ปุริสโธเรยฺเหน คือมหาบุรุษผู้สามารถเพื่อจะนําธุระที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีธุระหาผู้เสมอไม่ได้ พึงนําไป. ด้วยสองบทว่า อนุปฺปตฺตํ ตํ ภควตา พระเถระย่อมแสดงว่าสิ่งนั้นทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต พึงบรรลุ สิ่งนั้นทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตามบรรลุได้แล้ว แม้คุณอย่างหนึ่งจะพร่องไป ก็หามีไม่ ดังนี้.
สองบทว่า กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยคํ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงตามประกอบกามสุขในฝ่ายวัตถุกาม. พระเถระย่อมแสดงว่า สมณพราหมณ์เหล่าอื่นมี เกณิยชฎิลเป็นต้น คิดกันว่า ใครจะรู้ปรโลก การที่นางปริพาชิกานี้เอาแขนที่มีขนอ่อนนุ่มมาสัมผัสเป็นความสุข ดังนี้ จึงปรนเปรอด้วยพวกนางปริพาชิกาซึ่งผูกมวยผมเป็น ๓ หย่อม พวกเขาพากันเสวยอารมณ์มี รูปเป็นต้น ที่สมบูรณ์อย่างยิ่ง ตามประกอบความสุขในกาม ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าหาทรงประกอบเช่นนั้นไม่. บทว่า หีนํ คือเลวทราม.บทว่า คมฺมํ คือเป็นธรรมของชาวบ้าน. บทว่า โปถุชฺชนิกํ คืออันปุถุชนควรเสพ. บทว่า อนริยํ คือจะไม่มีโทษก็หามิได้ หรืออันพระอริยะทั้งหลายไม่ควรเสพ. บทว่า อนตฺถสฺหิตํ คือไม่ประกอบด้วยประโยชน์. บทว่า อตฺตกิลมถานุโยคํ คือการตามประกอบความเพียรอันทําตนให้เดือดร้อนและเร่าร้อน. บทว่า ทุกฺขํ คือประกอบด้วยทุกข์ หรือทนได้ยาก. สมณพราหมณ์บางเหล่า คิดกันว่า พวกเราจักงดเว้นซึ่งความประกอบความสุขทางกาม ดังนี้ จึงพากันแล่นไปสู่ความลําบากทางกาย ต่อแต่นั้น ก็คิดว่า เราจักพ้นจากความลําบากนั้น ดังนี้ จึงพากันแล่นไปสู่ความสุขทางกาย ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าหาเป็นเช่นนั้นไม่. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเว้นที่สุด ๒ อย่างเหล่านั้นแล้ว ทรงปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบ ที่พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 247
ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทา ที่พระตถาคตรู้ยิ่งแล้ว กระทําให้แจ้งด้วยจักษุ มีอยู่ ดังนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า น จ อตฺตกิลมถานุโยคํ ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า อภิเจตสิกานํ คือเกิดขึ้นในอภิจิต อธิบายว่า ล่วงกามาวจรจิตแล้วดํารงอยู่. บทว่า ทิฏฺธมฺมสุขวิหารานํ คืออันให้อยู่อย่างสบายในอัตภาพนี้นั้นเอง. ความจริง ทุติยฌานผลสมาบัติพร้อมด้วยปีติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโปฏฐปาทสูตร. ฌานซึ่งเป็นบาทแห่งวิปัสสนาพร้อมด้วยมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปาสาทิกสูตร. ผลสมาบัติอันนับเนื่องในจตุตถฌาน พระองค์ตรัสไว้ในทสุตตรสูตร. ในสัมปสาทนียสูตรนี้ ได้ตรัสฌานอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน. บทว่า นิกามลาภี คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้ฌานตามความปรารถนา. บทว่า อกิจฺฉลาภี คือทรงได้โดยไม่ยากลําบาก. บทว่า อกสิรลาภี คือทรงได้อย่างไพบูลย์.
บทว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา คือในหมื่นโลกธาตุ. ความจริง เขตแดนมี ๓ อย่างคือ ชาติเขต อาณาเขต วิสัยเขต. ในบรรดาเขตทั้ง๓ นั้น หมื่นโลกธาตุ ชื่อ ชาติเขต. ก็ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จก้าวลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา ในเวลาเสด็จออกจากพระครรภ์ ในเวลาตรัสรู้ ในเวลาประกาศพระธรรมจักร ในเวลาปลงพระชนมายุสังขาร และในคราวปรินิพพาน โลกธาตุนั้นย่อมหวั่นไหว. ส่วนแสนโกฏิจักรวาล ชื่อว่า อาณาเขต. แท้จริง อาณาของอาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร และรัตนปริตรเป็นต้น ย่อมเป็นไปในแสนโกฏิจักรวาล. ส่วนวิสัยเขต ไม่มีปริมาณเลย. ความจริง ชื่อว่า สิ่งอันมิใช่วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มี เพราะพระบาลีว่า ญาณมีเท่าใด สิ่งที่พระองค์พึงรู้ ก็มีเพียงนั้น สิ่งที่พระองค์พึงรู้ มีเท่าใด ญาณก็มีเพียงนั้น สิ่งที่พระองค์พึงรู้ มีญาณเป็นที่สุด ญาณก็มีสิ่งที่พระองค์พึงรู้เป็นที่สุด ดังนี้. พระสูตรว่า ก็ใน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 248
เขตทั้ง ๓ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงอุบัติขึ้นในจักรวาลอื่น เว้นจักรวาลนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มี แต่พระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น ดังนี้ มีอยู่. ปิฎกมี ๓ คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก. การสังคายนามี ๓ ครั้ง คือการสังคายนาที่พระมหากัสสปะกระทํา ๑ สังคายนาที่พระยสเถระกระทํา ๑ สังคายนาที่พระโมคคัลลีบุตรเถระกระทํา ๑. ในพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคายนาทั้ง ๓ ครั้ง เหล่านี้ ก็ไม่มีพระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอุบัติในจักรวาลอื่น นอกจักรวาลนี้ แต่พระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น ดังนี้ มีอยู่.
บทว่า อปุพฺพํ อจริมํ ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง มีคําอธิบายว่า ย่อมทรงอุบัติขึ้นกาลก่อน หรือในภายหลัง. ระยะเวลานับตั้งแต่ พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ โพธิบัลลังก์นั้น ด้วยตั้งใจว่า เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณแล้ว จักไม่ลุกขึ้น จนกระทั่ง ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา ไม่ควรเข้าใจว่า เป็นเวลาก่อน เพราะได้ทําการกําหนดเขตไว้แล้ว ด้วยการหวั่นไหวแห่งหมื่นจักรวาล ในขณะที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ แม้การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น เป็นอันห้ามแล้ว. อนึ่งระยะเวลานับแต่ ปรินิพพานจนกระทั่งพระธาตุทั้งหลายแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังดํารงอยู่ ก็ไม่พึงเข้าใจว่า เป็นเวลาภายหลัง เพราะเมื่อพระธาตุทั้งหลายยังดํารงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ยังดํารงอยู่ทีเดียว. เพราะฉะนั้น การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ในระหว่างนี้ จึงเป็นอันห้ามแล้ว. แต่เมื่อ การปรินิพพานของพระธาตุเกิดขึ้น การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น เป็นอันไม่ห้ามแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 249
จริงอยู่ อันตรธานมี ๓ อย่าง คือปริยัตติอันตรธาน ๑ ปฏิเวธอันตรธาน ๑ ปฏิปัตติอันตรธาน ๑. ในอันตรธานเหล่านั้น พระไตรปิฎก ชื่อว่า ปริยัติ. การแทงตลอดสัจจะ ชื่อว่า ปฏิเวธ. ข้อปฏิบัติ ชื่อว่า ปฏิบัติ. ใน ๓ อย่างนั้น ปฏิเวธและปฏิบัติ ย่อมมีบ้าง ย่อมไม่มีบ้าง. ก็ในกาลหนึ่ง หมู่ภิกษุผู้ทรงปฏิเวธมีมาก ภิกษุนั้นพึงถูกชี้นิ้วแสดงว่าภิกษุรูปนี้เป็นปุถุชน. ในทวีปเดียวเท่านั้น ขึ้นชื่อว่า ภิกษุผู้เป็นปุถุชนคราวเดียวกัน หามีไม่. เหล่าภิกษุ แม้ผู้บําเพ็ญข้อปฏิบัติ ในกาลบางครั้งมีมาก ในกาลบางครั้งมีน้อย. ปฏิเวธและการปฏิบัติย่อมมีบ้าง ย่อมไม่มีบ้าง ด้วยประการฉะนี้. แต่ว่าปริยัติ ย่อมเป็นประมาณของการดํารงอยู่ได้ของพระศาสนา เพราะบัณฑิตทั้งหลายได้ฟังพระไตรปิฎกแล้ว ย่อมบําเพ็ญได้ทั้งปฏิบัติและปฏิเวธทั้งสอง. พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย ให้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ บังเกิดขึ้นในสํานักของอาฬารดาบสแล้ว ตรัสถามบริกรรมของเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อาฬารดาบสทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ทราบ ดังนี้ ต่อแต่นั้น พระโพธิสัตว์นั้น จึงเสด็จไปสู่สํานักของอุทกดาบส แล้วทรงเทียบเคียงคุณวิเศษ ที่พระองค์บรรลุแล้ว ตรัสถามการบริกรรมของเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อุทกดาบสนั้น ก็ทูลแจ้งให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์ก็ทรงให้ฌานนั้นเกิดขึ้น ในลําดับแห่งถ้อยคําของอุทกดาบสนั้น ฉันใด ภิกษุผู้ปัญญา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ฟังปริยัติธรรมแล้ว ก็ย่อมบําเพ็ญทั้งปฏิบัติและปฏิเวธทั้งสองได้. เพราะฉะนั้น เมื่อพระปริยัติดํารงอยู่ได้ ศาสนาก็เป็นอันตั้งอยู่ได้. แต่ในกาลใด ปริยัตินั้นอันตรธานไป ในกาลนั้น อภิธรรมปิฎกย่อมเสื่อมไปก่อน ในอภิธรรมนั้น พระปัฏฐานย่อมอันตรธานไปก่อนกว่าอย่างอื่นทั้งหมด ธรรมสังคหะย่อมเสื่อมในภายหลัง ตามลําดับ เมื่ออภิธรรมปิฎกนั้นเสื่อมไป แม้เมื่อปิฎกทั้งสองนอกนี้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 250
ยังดํารงอยู่ ศาสนาก็ย่อมเป็นอันตั้งอยู่ ได้แท้. ในปิฎกเหล่านั้น เมื่อพระสุตตันตปิฎกอันตรธาน อังคุตตรนิกายย่อมเสื่อมไปก่อน ตั้งแต่หมวดที่ ๑๑ จนถึงหมวด ๑. ในลําดับนั้น สังยุตตนิกายก็เสื่อมไป เริ่มแต่จักกเปยยาล จนถึงโอฆตรณสูตร. ในลําดับนั้น มัชฌิมนิกายก็อันตรธาน เริ่มตั้งแต่อินทรียภาวนาจนถึงมูลปริยายสูตร. ในลําดับนั้น ทีฆนิกายก็อันตรธาน เริ่มแต่ทสุตตรสูตรจนถึงพรหมชาลสูตร. คําถามของคาถาหนึ่งก็ดี สองคาถาก็ดี ย่อมอยู่ไปนาน ย่อมไม่สามารถดํารงศาสนาไว้ได้ เช่นสภิยปุจฉาและอาฬวกปุจฉา. ได้ยินว่า ระหว่างกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้าหนึ่งไม่สามารถจะดํารงศาสนาไว้ได้. ก็เมื่อปิฎกทั้งสอง ถึงจะอันตรธานไป เมื่ออุภโตวิภังค์ยังดํารงอยู่ ศาสนาก็เป็นอันตั้งอยู่ ได้แท้. เมื่ออุภโตวิภังค์อันตรธานไป แม้เมื่อมาติกายังดํารงอยู่ ศาสนาก็เป็นอันตั้งอยู่ ได้แท้. เมื่อมาติกาอันตรธานไป เมื่อปาฏิโมกข์ บรรพชา และอุปสมบท ยังดํารงอยู่ ศาสนาก็ย่อมดํารงอยู่ได้. เพศยังเป็นไปอยู่ได้นาน. แต่วงศ์ของสมณะผู้นุ่งผ้าขาว ไม่สามารถจะดํารงศาสนาไว้ได้ ตั้งแต่กาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ. ศาสนาดํารงอยู่ได้ตลอดพันปี ด้วยภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ดํารงอยู่ได้พันปีด้วยภิกษุผู้ทรงอภิญญา ๖ ดํารงอยู่ได้พันปีด้วยภิกษุผู้ทรงวิชชา ๓ ดํารงอยู่ได้พันปีด้วยภิกษุผู้เป็นสุกขวิปัสสกะ ดํารงอยู่ได้พันปีด้วยเหล่าภิกษุผู้ทรงปาฏิโมกข์. ก็ศาสนาย่อมมีอันทรุดลง ตั้งแต่การแทงตลอดสัจจะของภิกษุรูปหลังๆ และ แต่การทําลายศีลของภิกษุรูปหลังๆ. จําเดิมแต่นั้นไป การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ท่านมิได้ห้ามไว้.
ขึ้นชื่อว่า ปรินิพพานมี ๓ อย่าง คือกิเลสปรินิพพาน ๑ ขันธ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 251
ปรินิพพาน ๑ ธาตุปรินิพพาน ๑. ในปรินิพพานทั้ง ๓ อย่างนั้น การดับรอบแห่งกิเลส ได้มีแล้วที่โพธิบัลลังก์ การดับรอบแห่งขันธ์ ได้มีที่เมืองกุสินารา การดับแห่งธาตุ จักมีในอนาคต. ได้ยินว่า ในเวลาที่ศาสนาทรุดลง พระธาตุทั้งหลายก็จักไปรวมกันอยู่ในมหาเจดีย์ ในเกาะตามพปัณณิทวีป (ศรีลังกา) นี้ ต่อจากมหาเจดีย์ ก็จักไปรวมกันอยู่ที่ราชายตนเจดีย์ ในนาคทวีป ต่อแต่นั้น ก็จักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์. พระธาตุทั้งหลายจากภพแห่งนาคก็ดี จากพรหมโลกก็ดี จักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์ทีเดียว. พระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ก็จักไม่อันตรธานไปเลย. พระธาตุทั้งหมด ก็จะรวมกันเป็นกองอยู่ในมหาโพธิบัลลังก์ รวมกันอยู่แน่นเหมือนกองทองคํา ฉะนั้น เปล่งฉัพพัณณรังสีออกมา. พระธาตุเหล่านั้นจักแผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ. ต่อแต่นั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลก็ประชุมพร้อมกันแล้ว กล่าวกันว่า พระศาสดาย่อมปรินิพพานไปในวันนี้ ศาสนาก็ย่อมทรุดโทรมไปในวันนี้ นี้เป็นการได้เห็นครั้งสุดท้ายของเราทั้งหลายในบัดนี้ ดังนี้แล้ว จักพากันกระทําความกรุณาอันยิ่งใหญ่ กว่าวันที่พระทศพลปรินิพพาน. เว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพเสีย ภิกษุที่เหลือก็จักไม่สามารถดํารงอยู่ได้โดยภาวะของตน. เตโชธาตุในบรรดาธาตุทั้งหลาย ก็จักลุกพุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก เมื่อมีพระธาตุแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดอยู่ ก็จักลุกเป็นเปลวเดียวกัน เมื่อธาตุทั้งหลายถึงความหมดแล้ว เตโชธาตุก็จักดับหายไป. เมื่อพระธาตุทั้งหลายได้แสดงอานุภาพอันใหญ่หลวงอย่างนี้แล้วหายไป ศาสนาก็เป็นอันชื่อว่า อันตรธานไป. ศาสนายังไม่อันตรธานอย่างนี้ ตราบใด ศาสนาจัดว่ายังไม่สุดท้าย ตราบนั้น. ข้อที่พระศาสดาพึงเกิดขึ้น ไม่ก่อนไม่หลังอย่างนี้ ย่อมเป็นฐานะที่จะมี ไม่ได้.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 252
ไม่ก่อนไม่หลัง ดังนี้. ตอบว่า เพราะความเป็นสิ่งที่ไม่น่าอัศจรรย์. ความจริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นมนุษย์ผู้อัศจรรย์. เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอก เมื่อจะอุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเป็นมนุษย์อัศจรรย์ บุคคลเป็นเอก อย่างไร คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ก็ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเสด็จอุบัติขึ้นคราวเดียวกัน ๒ พระองค์บ้าง ๔ พระองค์บ้าง ๘ พระองค์บ้าง ๑๖ พระองค์บ้างไซร้ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็พึงเป็นผู้ที่ไม่น่าอัศจรรย์. แม้พระเจดีย์สองแห่งในวัดเดียวกัน ลาภสักการะก็ไม่มาก ทั้งภิกษุทั้งหลาย ก็ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะข้อที่มีอยู่มาก ฉันใด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็พึงเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงไม่ทรงเสด็จอุบัติขึ้นอย่างนี้. อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน ก็เพราะความที่เทศนา ไม่แตกต่างกัน. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงแสดงธรรมแตกต่างกัน มีสติปัฏฐานเป็นต้นอันใด พระธรรมนั้น นั่นแหละ พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นซึ่งทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็พึงแสดง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็จะเป็นผู้ไม่น่าอัศจรรย์. แต่เมื่อ พระพุทธเจ้าองค์เดียวแสดงธรรม แม้พระเทศนาก็เป็นของที่น่าอัศจรรย์. อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน เพราะไม่มีการวิวาทกัน. ความจริง เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก เสด็จอุบัติขึ้น ภิกษุทั้งหลายพึงวิวาทกันว่า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายน่าเลื่อมใส พระพุทธเจ้าของพวกเรา มีพระสุรเสียงไพเราะ มีลาภ และมีบุญ ดังนี้ เหมือนอันเตวาสิกของอาจารย์มากองค์. เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ทรงอุบัติขึ้นอย่างนี้.
อีกอย่างหนึ่ง เหตุข้อนี้ พระนาคเสนเถระถูกพระยามิลินท์ตรัสถาม ก็ได้ทูลตอบไว้ อย่างพิสดาร. ความจริง ในมิลินทปัญหานั้น พระยามิลินท์ตรัสไว้ว่า ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงภาษิตไว้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 253
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส คือข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ พึงอุบัติขึ้นไม่ก่อนไม่หลังในโลกธาตุนี้ นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ดังนี้ ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ พระตถาคตทั้งหมด เมื่อจะทรงแสดงธรรม ย่อมทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และเมื่อจะตรัส ก็ย่อมตรัสอริยสัจจธรรม ๔ และเมื่อจะทรงให้ศึกษา ย่อมทรงให้ศึกษาในไตรสิกขา เมื่อจะทรงพร่ําสอน ก็ทรงพร่ําสอนข้อปฏิบัติ คือความไม่ประมาท ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ ถ้าพระตถาคตทั้งหมด มีอุทเทศอย่างเดียวกัน มีกถาอย่างเดียวกัน มีสิกขาบทอย่างเดียวกัน มีอนุสนธิอย่างเดียวกัน เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์ จึงไม่ทรงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน โลกนี้เกิดมีแสงสว่างด้วยการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า องค์เดียวก่อน ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่สองพึงมีขึ้น โลกนี้พึงมีแสงสว่างขึ้นมามีประมาณยิ่ง ด้วยพระรัศมีของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ และพระตถาคตทั้งสองพระองค์ เมื่อจะทรงโอวาท ก็พึงโอวาทอย่างสบาย เมื่อจะทรงพร่ําสอน ก็พึงพร่ําสอนอย่างสบาย ขอท่านจงแสดงเหตุในข้อนั้น ให้โยมหายสงสัยเถิด. พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้ ธารไว้ได้ซึ่งพระพุทธเจ้า เพียงพระองค์เดียว ธารไว้ได้ซึ่งพระคุณ ของพระตถาคตองค์เดียว เหมือนกัน ถ้าองค์ที่สอง พึงเสด็จอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ ก็พึงธารไว้ไม่ได้ พึงหวั่นไหว สั่นคลอน น้อมไป โอนไป เอียงไป เรี่ยราย กระจัดกระจาย พินาศไป ไม่พึงเข้าถึงการตั้งอยู่ได้ มหาบพิตร เปรียบเสมือนเรือที่รับบุรุษไว้ได้คนเดียว เมื่อบุรุษคนหนึ่งขึ้นไป เรือพึงตั้งอยู่ได้พอดี ถ้าบุรุษคนที่สอง ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันโดยอายุ โดยสี โดยวัย โดยประมาณ โดยอ้วนและผอม โดยอวัยวะน้อยใหญ่เท่ากัน และบุรุษนั้นพึงขึ้นสู่เรือลํานั้น มหาบพิตร เรือนั้นจะพึงธารบุรุษทั้งสองนั้น ไว้ได้หรือหนอ. พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า ท่านผู้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 254
เจริญ เรือนั้น พึงธารไว้ไม่ได้ พึงหวั่นไหว สั่นคลอน น้อมไป โอนไป เอียงไป เรี่ยราย กระจัดกระจายไป พินาศไป ไม่พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ได้เลย เรือนั้นพึงจมลงไปในน้ำแท้ ดังนี้. พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนี้ ก็มีอุปมาฉันนั้น เหมือนกัน หมื่นโลกธาตุนี้ ธารพระพุทธเจ้าไว้ได้พระองค์เดียว ทั้งทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้พระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง พึงอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ก็ธารไว้ไม่ได้ ฯลฯ ไม่พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ได้ มหาบพิตร อีกนัยหนึ่ง เปรียบเสมือนบุรุษผู้มีความสุข พึงบริโภคโภชนะตามความต้องการ คือเมื่อหิว ก็บริโภคเต็มแค่คอ (เต็มอิ่ม) บุรุษนั้น ก็เอิบอิ่มแน่นท้อง อึดอัด ง่วงเหงา เกิดตัวแข็งทื่อ ก้มไม่ลงจากการบริโภคนั้น ในวันรุ่งขึ้น ก็บริโภคโภชนะเพียงเท่านั้น มหาบพิตร บุรุษนั้น จัดว่าเป็นผู้มีความสุขได้หรือไม่ ดังนี้. พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า ท่านผู้เจริญ บุรุษนั้นบริโภคคราวเดียวไม่พึงตายได้ ดังนี้. พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล หมื่นโลกธาตุนี้ ธารพระพุทธเจ้าไว้ได้พระองค์เดียว ฯลฯ ไม่พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ได้เลย ดังนี้. พระยามิลินท์ตรัสว่า พระนาคเสนผู้เจริญ แผ่นดินย่อมไหวด้วยธรรมที่หนักยิ่ง อย่างไรหนอ. พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ในโลกนี้ เกวียน ๒ เล่ม บรรจุด้วยรัตนะจนเต็ม จนเสมอปาก คนทั้งหลายก็พากันขนเอารัตนะของเกวียนเล่มหนึ่ง มาเกลี่ยไว้ในเกวียนอีกเล่มหนึ่ง มหาบพิตรเกวียนเล่มนั้น จะพึงธารรัตนะของเกวียนทั้งสองเล่มนั้น ไว้ได้หรือไม่ ดังนี้. พระยามิลินท์ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ เกวียนนั้น ย่อมธารไว้ไม่ได้แน่ ดุมของเกวียนนั้นพึงไหวบ้าง กําของเกวียนนั้นพึงหักไปบ้าง เพลาของเกวียนนั้นพึงหักไปบ้าง ดังนี้. พระนาคเสนทูลถามว่า เกวียนย่อมหักไปด้วย
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 255
การขนรัตนะที่มากเกินไป ใช่หรือไม่. พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า ใช่แล้ว ท่านผู้เจริญ ดังนี้. พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น เหมือนกันแล แผ่นดินย่อมหวั่นไหวด้วยธรรมะที่หนักยิ่ง. อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร เหตุนี้เป็นอันรวมลงในการแสดงพระกําลังของพระพุทธเจ้า ขอพระองค์โปรดสดับเหตุอันสมควรอย่างอื่น ในการแสดงกําลังของพระพุทธเจ้านั้น เพราะเหตุอันใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จึงไม่ทรงอุบัติขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ พึงเสด็จอุบัติขึ้น ในขณะเดียวกันไซร้ การทะเลาะวิวาทแม้ของบริษัท พึงบังเกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ มหาบพิตร เปรียบเสมือนบริษัทของอํามาตย์ผู้มีกําลังสองคน พึงเกิดการวิวาทกัน คนเหล่านั้น ก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยกล่าวว่า อํามาตย์ของพวกท่าน อํามาตย์ของพวกเรา ดังนี้ ฉันใด มหาบพิตร ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าหากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ พึงเสด็จอุบัติขึ้น ในขณะเดียวกันไซร้ ความวิวาทของบริษัทพึงบังเกิดขึ้นได้ และมนุษย์ทั้งหลายก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ ขอพระองค์โปรดได้สดับเหตุข้อที่ ๑ นี้ ด้วยเหตุอันใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จึงไม่ทรงอุบัติขึ้น ในขณะเดียวกัน ขอพระองค์โปรดสดับเหตุ อันยิ่งแม้อย่างอื่น ด้วยเหตุอันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ ไม่ทรงอุบัติขึ้น ในขณะเดียวกัน มหาบพิตร ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ พึงอุบัติขึ้น ในขณะเดียวกัน คําว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศ ก็ย่อมเป็นคําผิด คําว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุด คําว่า พระพุทธเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 256
เป็นผู้ประเสริฐที่สุด คําว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้วิเศษที่สุด คําว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สูงสุด คําว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ คําว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เสมอ คําว่า พระพุทธเจ้าหาผู้เสมอเหมือนมิได้ คําว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เสมอเหมือน คําว่า พระพุทธเจ้าหาบุคคลเปรียบมิได้ คําว่า พระพุทธเจ้าไม่มีบุคคลเปรียบ ดังนี้ พึงเป็นคําผิด มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดทรงยอมรับเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ ไม่ทรงอุบัติ ในขณะเดียวกัน โดยผล (ที่นํามาถวายวิสัชนาแล้ว) อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร ข้อที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวย่อมทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นสภาพตามปกติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะคุณของพระสัพพัญูพุทธเจ้าทั้งหลายมีเหตุใหญ่ มหาบพิตร คุณอันประเสริฐอย่างใหญ่หลวงอื่นนั้น ก็มีข้อเดียวเท่านั้น มหาบพิตร แผ่นดินใหญ่นั้น มีผืนเดียวเท่านั้น สาครใหญ่ มีสายเดียวเท่านั้น ภูเขาสิเนรุยอดแห่งภูเขาใหญ่ประเสริฐที่สุด ก็มีลูกเดียวเท่านั้น อากาศใหญ่ มีแห่งเดียวเท่านั้น ท้าวสักกะผู้ใหญ่ มีองค์เดียวเท่านั้น พระพรหมผู้ใหญ่ มีองค์เดียวเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมพุทธเจ้าผู้ใหญ่ ก็มีพระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นในที่ใด ในที่นั้น ก็ไม่มีโอกาสแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายองค์อื่น ฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ย่อมอุบัติขึ้นในโลก ดังนี้. พระยามิลินท์ได้ตรัสว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ พระคุณเจ้าได้กล่าวแก้ปัญหาแจ่มแจ้งดีแล้ว ด้วยอุปมาอุปไมยทั้งหลาย.
สองบทว่า ธมฺมสฺส จ อนุธมฺมํ ความว่า ปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น อันเป็นธรรมสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ อย่าง บทว่า สหธมฺมิโก คือการโต้ตอบซึ่งมีเหตุ.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 257
บทว่า อายสฺมา อุทายิ ความว่า พระเถระชื่ออุทายี มี ๓ องค์ คือ พระโลฬฺทายี ๑ กาฬุทายี ๑ มหาอุทายี ๑ ในที่นี้ประสงค์เอา มหาอุทายี. ได้ยินว่า เมื่อท่านพระมหาอุทายีนั้น ฟังพระสูตรนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ปีติมีวรรณะ ๕ เกิดขึ้นในภายใน ย่อมแผ่ไปตั้งแต่หลังเท้าขึ้นไปสู่กระหม่อม ตั้งแต่กระหม่อมแผ่ลงมายังหลังเท้า แต่ข้างทั้งสองมารวมลงในท่ามกลาง ตั้งแต่ท่ามกลางก็แผ่ไปโดยข้างทั้งสอง. พระมหาอุทายีนั้น อันปีติถูกต้องทั่วสรีระ เมื่อจะกล่าวคุณของพระทศพลด้วยโสมนัสอันมีกําลัง จึงกล่าวคําเป็นต้นว่า อจฺฉริยํ ภนฺเต ดังนี้ เป็นต้น. ความเป็นผู้หมดตัณหา ชื่อว่า ความเป็นผู้มักน้อย. ความพอใจด้วยอาการ ๓ อย่าง ในปัจจัย ๔ ชื่อว่า ความเป็นผู้สันโดษ. ความขัดเกลากิเลสทุกอย่าง ชื่อว่า ความเป็นผู้ขัดเกลา. บทว่า ยตฺร หิ นาม คือ โย หิ นาม. บทว่า น อตฺตานํ ปาตุกริสฺสติความว่า ไม่ทรงกระทําคุณของพระองค์ให้ปรากฏ. บทว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่า ใครเป็นผู้เช่นเดียวกันกับเรามีไหม ดังนี้ ก็ยกธงแผ่นผ้าขึ้น เที่ยวไปยังเมืองนาลันทา. ด้วยหลายบทว่า ปสฺส โข ตฺวํ อุทายิ ตถาคตสฺส อปฺปิจฺฉตา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรับคําของพระเถระว่า ดูก่อนอุทายี เธอจงดู ตถาคตมีความมักน้อยเช่นใด. หากมีคําถามว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงไม่ทรงกระทําพระองค์ให้ปรากฏ ทั้งไม่ตรัสคุณของพระองค์. พึงตอบว่าไม่ตรัสก็หาไม่ พระองค์ไม่ตรัสคําที่ควรตรัส ด้วยคุณมีความเป็นผู้ปรารถนาน้อยเป็นต้น เพราะเหตุแห่งลาภมีจีวรเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสคําเป็นต้นว่า ดูก่อนอุทายี เธอจงดูความปรารถนาน้อยของตถาคต. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยสัตว์ผู้ที่จะตรัสรู้ จึงตรัสไว้ด้วยอํานาจเวไนยสัตว์. เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 258
อาจารย์ของเราไม่มี บุคคลผู้เช่นกับเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบด้วยเราย่อมไม่มี ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
คาถาก็ดี พระสูตรก็ดี เป็นอันมาก ที่เป็นเครื่องแสดงพระคุณของพระตถาคต ก็ควรให้พิสดาร อย่างนี้.
บทว่า อภิกฺขณํ ภาเสยฺยาสิ คือเธอพึงกล่าวบ่อยๆ อธิบายว่า อย่าได้กล่าวในเวลาเที่ยงเป็นต้น เพราะคิดว่า เราได้กล่าวในเวลาเช้าแล้ว หรืออย่าได้กล่าวในวันมะรืนนี้เป็นต้น เพราะคิดว่า เราได้กล่าวในวันนี้แล้ว.
บทว่า ปเวเทสิ คือกล่าวแล้ว. สองบทว่า อิมสฺส เวยฺยากรณสฺส ความว่า พระสูตรนี้ ท่านกล่าวว่า ไวยากรณ์ เพราะไม่มีคาถา. คําว่า อธิวจนํ คือ ชื่อ. ก็คํานี้ พระสังคีติกาจารย์ตั้งบทไว้ตั้งแต่ คําว่า อิติ หิทํ คําที่เหลือในทุกๆ บท มีเนื้อความชัดเจนแล้วแท้ ฉะนี้แล.
จบ พรรณนาความของสัมปสาทนียสูตร ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อว่า สุมังคลวิลาสินี ด้วยประการฉะนี้.
จบ อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร ที่ ๕