เพลิดเพลินในทุกข์
* เมื่อเรามีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ (ทุกข์กาย ทุกข์ใจ) ก็ต้องการจะให้พ้นจากความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้น และอยากได้ความรู้สึกที่เป็นสุข (สุขกาย สุขใจ) ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทั่วไปที่คิดอย่างนั้น
* แต่ความเป็นจริงแล้ว ที่ต้องประสบทุกข์ ก็เพราะความสุขที่ปรารถนานั้น แปรปรวนไป เช่น ความจริงในเบื้องต้นว่า ถ้ามีความสุขในสิ่งที่รักที่พอใจ เมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากไป ความรู้สึกสุขนั้นก็หมดไป และเกิดความทุกข์ในความสุขที่แปรปรวนไป
ดังนั้น การปรารถนาสุข ก็คือปรารถนาทุกข์นั่นเอง
* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นจริงอย่างถึงที่สุดว่า ความรู้สึกทุกอย่าง ทั้งความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ล้วนไม่เที่ยง เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป จึงไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน
* แต่เป็นการยากยิ่งที่จะรู้ตามความเป็นจริงเช่นนั้นได้ เพราะต้องเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับตั้งแต่ขั้นการฟังพระธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้
* ส่วนท่านผู้ที่สะสมปัญญาในอดีตมามาก เช่น ท่านพระอัสสชิ แม้ท่านจะมีอาพาธหนัก แต่เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมในพระสูตรนี้ ท่านก็สามารถเจริญปัญญารู้ชัดในสภาพความรู้สึกที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะเป็นความรู้สึกทุกข์ที่มีกำลังกล้าสักเพียงใดก็ตาม และเมื่อจบพระธรรมเทศนานี้ ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม