พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. กุรุธรรมจริยา ว่าด้วยจริยาวัตรของพระเจ้าธนญชัย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ก.ค. 2564
หมายเลข  34731
อ่าน  513

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 69

๓. กุรุธรรมจริยา

ว่าด้วยจริยาวัตรของพระเจ้าธนญชัย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 74]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 69

๓. กุรุธรรมจริยา

ว่าด้วยจริยาวัตรของพระเจ้าธนญชัย

[๓] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราเป็นพระราชามีนามว่าธนญชัย อยู่ในอินทปัตถบุรีอันอุดม ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ในกาลนั้น พวกพราหมณ์ชาวกาลิงครัฐ ได้มาหาเรา ขอพระยาคชสารทรงอันประกอบด้วยมงคลหัตถีกะเราว่า ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัย อดอยากอาหารมาก ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระยาคชสารตัวประเสริฐ มีสีกายเขียวชื่ออัญชนะเถิด เราคิดว่า การห้ามยาจกทั้งหลายที่มาถึงแล้ว ไม่สมควรแก่เราเลย กุศลสมาทานของเราอย่าทำลายเสียเลย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ เราได้จับงวงพระยาคชสารวางลงบนมือพราหมณ์ แล้วจึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือได้ให้พระยาคชสารแก่พราหมณ์ เมื่อเราได้ให้พระยาคชสารแล้ว พวกอำมาตย์ได้กล่าวดังนี้ว่า เหตุไรหนอ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 70

พระองค์จึงพระราชทานพระยาคชสารตัวประเสริฐ อันประกอบด้วยธัญญลักษณ์ สมบูรณ์ด้วยมงคล ชนะในสงครามอันสูงสุดแก่ยาจก เมื่อพระองค์ทรงพระราชทานคชสารแล้ว พระองค์จักเสวยราชสมบัติได้อย่างไร (เราได้ตอบว่า) แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็พึงให้ ถึงสรีระของตนเราก็พึงให้ เพราะสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงได้ให้พระยาคชสาร ดังนี้แล.

จบ กุรุธรรมจริยาที่ ๓

อรรถกถากุรุธรรมจริยาที่ ๓

พึงทราบวินิจฉัยในกุรุธรรมจริยาที่ ๓ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อินฺทปตฺเถ ปุรุตฺตเม คือเมืองอุดม เมืองประเสริฐ แห่งแคว้นกุรุ ชื่อว่า อินทปัตถะ.

บทว่า ราชา ชื่อว่า ราชา คือยังบริษัทให้ยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ โดยธรรม โดยเสมอ.

บทว่า กุสเล ทสหุปาคโม คือ ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ หรือด้วยบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีทานมัยเป็นต้น.

บทว่า กาลิงฺครฏฺวิสยา คือพวกพราหมณ์ชาวกาลิงครัฐ.

บทว่า พฺราหฺมณา อุปคญฺฉุ มํ คือพราหมณ์ ๘ คน อันพระเจ้ากาลิงคะ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 71

ส่งมาได้มาหาเรา. ก็และครั้นเข้าไปหาแล้วได้ขอพระยาคชสารกะเรา.

บทว่า ธญฺํ คือพระยาคชสารสมบูรณ์ด้วยลักษณะอันสิริโสภาคย์สมควรเป็นคชสารทรง.

บทว่า มงฺคลสมฺมตํ คืออันชนทั้งหลายเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นมงคลหัตถี เป็นเหตุแห่งความเจริญยิ่งด้วยลักษณะสมบัตินั้นนั่นแล.

บทว่า อวุฏฺิโก คือปราศจากฝน.

บทว่า ทุพฺภิกฺโข คือหาอาหารได้ยาก.

บทว่า ฉาตโก มหา อดอยากมาก คือเกิดความเจ็บป่วยเพราะความหิวมาก.

บทว่า ททาหิ คือขอทรงพระราชทาน.

บทว่า นีลํ คือมีสีเขียว.

บทว่า อญฺชนสวฺหยํ คือมีชื่อว่าอัญชนะ. ท่านอธิบายบทนี้ไว้ว่า แคว้นกาลิงคะของข้าพระพุทธเจ้า ฝนไม่ตก. ด้วยเหตุนั้น บัดนี้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ฉาตกภัยใหญ่ในแคว้นนั้น. เพื่อสงบภัยนั้น ขอพระองค์จงทรงพระราชทานมงคลหัตถี ชื่อว่า อัญชนะของพระองค์คล้ายอัญชนคิรีนี้เถิด. เพราะว่าเมื่อนำพระยาคชสารนี้ไป ณ แคว้นนั้นแล้วฝนก็จะตก. สรรพภัยนั้นจักสงบไปด้วยพระยาคชสารนั้นเป็นแน่. พึงทราบกถาเป็นลำดับในเรื่องนั้นดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ในนครอินทปัตถะแคว้นกุรุ พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากุรุราช ถึงความเจริญวัยโดยลำดับ ไปยังเมืองตักกสิลา เรียนศิลปศาสตร์อันเป็นประโยชน์ในการปกครอง และวิชาหลัก ครั้นเรียนจบกลับพระนครพระชนกให้ดำรงตำแหน่งอุปราช. ครั้นต่อมาเมื่อพระชนกสวรรคต ได้รับราชสมบัติยังทศพิธ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 72

ราชธรรมไม่ให้กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรมมีพระนามว่า ธนญชัย พระเจ้าธนญชัยทรงให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง กลางพระนคร ๑ แห่ง ประตูราชนิเวศน์ ๑ แห่ง ทรงสละทรัพย์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ ทุกวัน ทรงกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้เจริญรุ่งเรืองแล้วทรงบริจาคทาน. เพราะพระองค์มีพระอัธยาศัยในการทรงบริจาค ความยินดีในทานแผ่ไปทั่วชมพูทวีป.

ในกาลนั้น แคว้นกาลิงคะเกิดภัย ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขภัย ฉาตกภัย โรคภัย. ชาวแคว้นทั้งสิ้นพากันไปทันตบุรี กราบทูลร้องเรียนส่งเสียงอึงคะนึงที่ประตูพระราชวังว่า. ข้าแต่เทวะ ขอพระองค์จงทรงให้ฝนตกเถิดพระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า พวกประชาชนร้องเรียนเรื่องอะไรกัน. พวกอำมาตย์กราบทูลความนั้นแด่พระราชา. พระราชามีพระดำรัสถามว่า พระราชาแต่ก่อนเมื่อฝนไม่ตก ทรงทำอย่างไร. กราบทูลว่า ทรงให้ทาน ทรงอธิษฐานอุโบสถ ทรงสมาทานศีล เสด็จเข้าห้องสิริบรรทมตลอด ๗ วัน ณ พระที่ทรงธรรม ขอให้ฝนตก พระราชาสดับดังนั้นก็ได้ทรงกระทำอย่างนั้น. ฝนก็ไม่ตก. พระราชาตรัสว่า เราได้กระทำกิจที่ควรทำแล้ว ฝนก็ไม่ตก เราจะทำอย่างไรต่อไป. กราบทูลว่า ขอเดชะ เมื่อนำพระยาคชสารมงคลหัตถีของพระเจ้าธนญชัย กุรุราชในอินทปัตถนครมา ฝนจึงจักตก พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า พระราชาพระองค์นั้นมีพลพาหนะเข้มแข็ง ปราบปรามได้ยาก เราจักนำ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 73

พระยาคชสารของพระองค์มาได้อย่างไรเล่า. กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า มิได้มีการรบพุ่งกับพระราชานั้นเลย พระเจ้าข้า. พระราชาพระองค์นั้นมีพระอัธยาศัยในการบริจาค ทรงยินดีในทาน เมื่อมีผู้ทูลขอแล้ว แม้พระเศียรที่ตกแต่งแล้วก็ตัดให้ได้ แม้พระเนตรที่มีประสาทบริบูรณ์ ก็ทรงควักให้ได้ แม้ราชสมบัติทั้งสิ้นก็ทรงมอบให้ได้ ไม่ต้องพูดถึงพระยาคชสารเลย เมื่อทูลขอแล้วจักพระราชทานเป็นแน่แท้ พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า ก็ใครจะเป็นผู้สามารถทูลขอได้เล่า. กราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่มหาราช พราหมณ์ พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนเข้าเฝ้า ทำสักการะสัมมานะแล้ว ทรงให้เสบียงส่งไปเพื่อขอพระยาคชสาร. พราหมณ์เหล่านั้นรีบไปคืนเดียว บริโภคอาหารที่โรงทานใกล้ประตูพระนคร อยู่ชั่วเวลาเล็กน้อย ครั้นอิ่มหนำสำราญแล้วก็ยืนอยู่ที่ประตูด้านตะวันออกรอเวลาพระราชาเสด็จมายังโรงทาน.

แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงสรงสนานแต่เช้าตรู่ ทรงประดับด้วยเครื่องสรรพาลังการเสร็จขึ้นคอพระยาคชสารตัวประเสริฐที่ตกแต่งแล้ว เสด็จไปยังโรงทานด้วยราชานุภาพอันใหญ่หลวง เสด็จลงพระราชทานแก่ชน ๗ - ๘ คน ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ แล้วตรัสว่า พวกท่านจงให้ทำนองนี้แหละ เสด็จขึ้นสู่พระยาคชสารแล้วเสด็จไปทางประตูด้านทิศใต้. พวกพราหมณ์ไม่ได้โอกาส เพราะทางทิศตะวันออกจัดอารักขาเข้มแข็งมาก จึงไปประตูด้านทิศใต้ คอยดูพระราชาเสด็จมา ยืนอยู่ในที่เนินไม่ไกลจากประตู

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 74

เมื่อพระราชาเสด็จมาถึง ต่างก็ยกมือถวายชัยมงคล. พระราชาทรงบังคับช้างให้กลับด้วยพระขอเพชรเสด็จไปหาพราหมณ์เหล่านั้น ตรัสถามพวกพราหมณ์ว่า พวกท่านต้องการอะไร. พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ขอเดชะแคว้นกาลิงคะถูกทุพภิกขภัย ฉาตกภัยและโรคภัยรบกวน. ความรบกวนนั้นจักสงบลงได้ เมื่อนำพระยามงคลหัตถีของพระองค์เชือกนี้ไป. เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงโปรดพระราชทานพระยาคชสารสีดอกอัญชันเชือกนี้เถิด พระเจ้าข้า. พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า กาลิงฺครฏฺวิสยา ฯลฯ อญฺชนสวฺหยํ พวกพราหมณ์ชาวกาลิงครัฐได้มาหาเรา ขอพระยาคชสารทรง ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระยาคชสารตัวประเสริฐมีสีกายเขียวชื่ออัญชนะเถิด.

บทนั้นท่านอธิบายไว้ดังต่อไปนี้ :-

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงตรัสว่า การที่เราจะทำลายความต้องการของยาจกทั้งหลายไม่เป็นการสมควรแก่เรา และจะพึงเป็นการทำลายกุสลสมาทานของเราอีกด้วย จึงเสด็จลงจากคอคชสารมีพระดำรัสว่า หากที่มิได้ตกแต่งไว้มีอยู่เราจักตกแต่งแล้วจักให้ จึงทรงตรวจดูรอบๆ มิได้ทรงเห็นที่มิได้ตกแต่ง จึงทรงจับพระยาคชสารที่งวงแล้ววางไว้บนมือของพราหมณ์ ทรงหลั่งน้ำที่อบด้วยดอกไม้และของหอมด้วยพระเต้าทอง แล้วพระราชทานแก่พราหมณ์. ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 75

การห้ามยาจกทั้งหลายที่มาถึงแล้ว ไม่สมควรแก่เราเลย กุสลสมาทานของเราอย่าทำลายเสียเลย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ เราได้จับงวงคชสารวางบนมือพราหมณ์แล้ว จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือ ได้ให้พระยาคชสารแก่พราหมณ์.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ยาจกมนุปฺปตฺเต คือยาจกทั้งหลายที่มาถึงแล้ว.

บทว่า อนุจฺฉโว คือเหมาะสม สมควร.

บทว่า มา เม ภิชฺชิ สมาทานํ กุสลสมาทานของเราอย่าทำลายเสียเลย คือกุสลสมาทานอันใดของเราที่ตั้งไว้ว่า เราจะให้สิ่งทั้งปวงที่ไม่มีโทษซึ่งยาจกทั้งปวงต้องการ จักบำเพ็ญทานบารมี เพื่อต้องการพระสัพพัญญุตญาณ กุสลสมาทานอันนั้นอย่าทำลายเสียเลย. เพราะฉะนั้น เราจักให้พระยาคชสารตัวประเสริฐอันเป็นมงคลหัตถีนี้.

บทว่า อทํ คือได้ให้แล้ว.

เมื่อพระราชทานพระยาคชสารแล้ว พวกอำมาตย์พากันกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เพราะเหตุไรพระองค์จึงพระราชทานมงคลหัตถี ควรพระราชทานช้างเชือกอื่นมิใช่หรือ. มงคลหัตถีฝึกไว้สำหรับเป็นช้างทรงเห็นปานนี้ อันพระราชาผู้ทรงหวังความเป็นใหญ่และชัยชนะ ไม่ควรพระราชทานเลย พระเจ้าข้า. พระมหาสัตว์ตรัสว่า เราจะให้

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 76

สิ่งที่ยาจกทั้งหลายขอกะเรา. หากขอราชสมบัติกะเรา เราก็จะให้ราชสมบัติแก่พวกเขา. พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นที่รักยิ่งแม้กว่าราชสมบัติ แม้กว่าชีวิตของเรา. เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้คชสารนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ตสฺส นาเค ปทินฺนมฺหิ เมื่อพระองค์พระราชทานพระยาคชสารแล้ว.

บทว่า มงฺคลสมฺปนฺนํ สมบูรณ์ด้วยมงคล คือประกอบด้วยคุณอันเป็นมงคล.

บทว่า สงฺคามวิชยุตฺตมํ ชนะในสงครามอันสูงสุด คือสูงสุดเพราะชนะในสงคราม หรือพระยาคชสารสูงสุด เป็นประธานอันประเสริฐในการชนะสงคราม.

บทว่า กึ เต รชฺชํ กริสฺสติ พระองค์จักเสวยราชสมบัติได้อย่างไร. เมื่อพระะยาคชสารไปเสียแล้ว พระองค์จักครองราชสมบัติได้อย่างไร. ท่านแสดงว่า จักไม่ทำราชกิจ แม้ราชสมบัติก็หมดไป.

บทว่า รชฺชมฺปิ เม ทเท สพฺพํ แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็พึงให้ คือ พระยาคชสารเป็นสัตว์เดียรัจฉานยกไว้เถิด แม้แคว้นกุรุทั้งหมดนี้ เราก็พึงให้แก่ผู้ขอทั้งหลาย.

บทว่า สรีรํ ทชฺชมตฺตโน ถึงสรีระของตน เราก็พึงให้ คือ จะพูดไปทำไมถึงราชสมบัติ แม้สรีระของตน เราก็พึงให้แก่ผู้ขอทั้งหลาย. แม้สิ่งครอบครองทั้งภายในภายนอกทั้งหมดของเรา เราก็สละให้ได้เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก. ท่านแสดงว่าเพราะพระสัพพัญญุตญาณ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 77

และความเป็นพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา อันผู้ไม่บำเพ็ญบารมีทั้งปวงมีทานบารมีเป็นต้นไม่สามารถจะให้ได้ ฉะนั้นเราจึงได้ให้พระยาคชสาร.

แม้เมื่อนำพระยาคชสารมาในแคว้นกาลิงคะ ฝนก็ยังไม่ตกอยู่นั่นเอง. พระเจ้ากาลิงคะตรัสถามว่า แม้บัดนี้ฝนก็ยังไม่ตก อะไรหนอเป็นเหตุ ทรงทราบว่า พระเจ้ากุรุทรงรักษาครุธรรม ด้วยเหตุนั้นในแคว้นของพระองค์ฝนจึงตกทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน ตามลำดับ นั้นเป็นคุณานุภาพของพระราชา มิใช่อานุภาพของสัตว์เดียรัจฉานนี้ จึงทรงส่งอำมาตย์ไปด้วยมีพระดำรัสว่า เราจักรักษาครุธรรมด้วยตนเอง พวกท่านจงไปเขียนครุธรรมเหล่านั้นในราชสำนักของพระเจ้าธนญชัยโกรพยะลงในสุพรรณบัฏแล้วนำมา. ท่านเรียกศีล ๕ ว่า ครุธรรม. พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีล ๕ เหล่านั้นกระทำให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี. อนึ่ง พระมารดา พระอัครมเหสี พระกนิษฐา อุปราช ปุโรหิต พราหมณ์ พนักงานรังวัด อำมาตย์ สารถี เศรษฐี พนักงานเก็บภาษีอากร คนเฝ้าประตู นครโสเภณี วรรณทาสีก็รักษาครุธรรมเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า :-

คน ๑๑ คน คือ พระราชา ๑ พระชนนี ๑ พระมเหสี ๑ อุปราช ๑ ปุโรหิต ๑ พนักงานรังวัด ๑ สารถี ๑ เศรษฐี ๑

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 78

พนักงานเก็บภาษีอากร ๑ คนเฝ้าประตู ๑ หญิงงามเมือง ๑ ตั้งอยู่ในครุธรรม.

พวกอำมาตย์เหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระโพธิสัตว์ ถวายบังคมแล้วกราบทูลความนั้น. พระมหาสัตว์ตรัสว่า เรายังมีความเคลือบแคลงในครุธรรมอยู่, แต่พระชนนีของเรารักษาไว้เป็นอย่างดีแล้ว พวกท่านจงรับในสำนักของพระชนนีนั้นเถิด. พวกอำมาตย์ทูลวิงวอนว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ชื่อว่าความเคลือบแคลงย่อมมีแก่ผู้ยังต้องการอาหาร มีความประพฤติขัดเกลากิเลส ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า. แล้วรับสั่งให้เขียนลงในสุพรรณบัฏว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์ ๑ ไม่ควรลักทรัพย์ ๑ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ๑ ไม่ควรพูดปด ๑ ไม่ควรดื่มน้ำเมา ๑ แล้วตรัสว่า พวกท่านจงไปรับในสำนักของพระชนนีเถิด.

พวกทูตถวายบังคมพระราชาแล้วไปยังสำนักของพระชนนีนั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ได้ยินว่า พระนางเจ้าทรงรักษาครุธรรม ขอพระนางเจ้าทรงโปรดพระราชทานครุธรรมนั้นแก่พวกข้าพระพุทธเจ้าเถิด. แม้พระชนนีของพระโพธิสัตว์ก็ทรงทราบว่าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อพวกพราหมณ์วิงวอนขอก็ได้พระราชทานให้. แม้พระมเหสีเป็นต้นก็เหมือนกัน. พวกพราหมณ์ได้เขียนครุธรรมลงในสุพรรณบัฏในสำนักของชนทั้งหมด แล้วกลับทันตบุรี ถวายแด่พระเจ้ากาลิงคะ แล้วกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ. พระราชาทรงปฏิบัติในธรรม

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 79

นั้นทรงบำเพ็ญศีล ๕ ให้บริบูรณ์. แต่นั้นฝนก็ตกทั่วแคว้นกาลิงคะ. ภัย ๓ ประการก็สงบ. แคว้นก็ได้เป็นแดนเกษม หาภิกษาได้ง่าย. พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ตลอดพระชนมายุ พร้อมด้วยบริษัทก็ไปอุบัติในเมืองสวรรค์.

หญิงงามเมืองเป็นต้นในครั้งนั้น ได้เป็นอุบลวรรณาเป็นต้นในครั้งนี้. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

หญิงงามเมือง คือ อุบลวรรณา คนเฝ้าประตู คือ ปุณณะ พนักงานรังวัด คือ กัจจานะ พนักงานภาษีอากร คือ โกลิตะ เศรษฐี คือ สารีบุตร สารถี คือ อนุรุทธะ พราหมณ์ คือ กัสสปเถระ อุปราช คือ นันทบัณฑิต พระมเหสี คือ มารดาพระราหุล พระชนนี คือ พระมหามายาเทวี พระโพธิสัตว์ผู้เป็นราชาในแคว้นกุรุ คือเราตถาคต พวกท่านจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้.

แม้ในที่นี้ ธรรมที่เหลือมีเนกขัมมบารมีเป็นต้น พึงเจาะจงลงไป โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.

จบ อรรถกถากุรุธรรมจริยาที่ ๓