พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. มาตังคจริยา ว่าด้วยจริยาวัตรของมาตังคชฏิล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ก.ค. 2564
หมายเลข  34746
อ่าน  583

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 314

๗. มาตังคจริยา

ว่าด้วยจริยาวัตรของมาตังคชฏิล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 74]


Tag  ชฎิล  
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 314

๗. มาตังคจริยา

ว่าด้วยจริยาวัตรของมาตังคชฏิล

[๑๗] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นชฏิล มีความเพียรอันแรงกล้า มีนามชื่อว่ามาตังคะ เป็นผู้มีศีล มีจิตมั่นคงดี เราและพราหมณ์คนหนึ่งอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เราอยู่ข้างเหนือ พราหมณ์อยู่ข้างใต้ พราหมณ์เที่ยวไปตามริมฝั่ง ได้เห็นอาศรมของเราข้างเหนือน้ำ บริภาษเราในที่นั้น แล้วแช่งให้เราศีรษะแตก ถ้าเราพึงโกรธต่อพราหมณ์นั้น ถ้าเราไม่คุ้มครองศีล เราแลดูพราหมณ์นั้นแล้ว พึงทำให้เป็นดังเถ้าได้ ครั้งนั้นพราหมณ์นั้นโกรธเคืองมีใจประทุษร้าย แช่งเรามุ่งหมายจะให้ศีรษะแตก คำแช่งนั้นจะตกลงบนศีรษะของเขาเอง เราช่วยเปลื้องเขาให้พ้นโดยควร เราตามรักษาศีลของเรา มิใช่เรารักษาชีวิตของเรา เพราะในกาลนั้นเราเป็นผู้มีศีลเพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง ฉะนี้แล.

จบ มาตังคจริยาที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 315

อรรถกถามาตังคจริยาที่ ๗

พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถามาตังคจริยาที่ ๗ ดังต่อไปนี้.

บทว่า ชฏิโล คือมีชฎา อธิบายว่ามีผมมุ่นเป็นชฎา.

บทว่า อุคฺคตาปโน มีความเพียรแรงกล้า เพราะมีความเพียรคือตบะแรงกล้า เพราะเผาคือข่มอินทรีย์ ๖ อันเป็นจุดสำคัญของร่างกาย อธิบายว่ามีตบะแรงกล้า มีอินทรีย์มั่นคงอย่างยิ่ง. อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า อุคฺคตาปโน เพราะเผากิเลสหยาบ เพราะทำลายสิ่งไม่เป็นประโยชน์อันมีในปัจจุบันเป็นต้นหลายๆ อย่าง เพราะทิ้งไว้ในภายนอก หรือเพราะเผากิเลสที่ชื่อว่า อุคฺคา ด้วยอรรถว่า น่าเกรงกลัวอย่างร้ายกาจ ด้วยตบะคือความเพียร.

บทว่า มาตงฺโค นาม นาเมน คือ มีนามชื่อว่ามาตังคะ. เพราะชื่อนี้ของชฏิลนั้นมาแล้วโดยชาติ ซึ่งเกิดในตระกูลมาตังคะ.

บทว่า สีลวา คือถึงพร้อมด้วยศีล มีศีลบริสุทธิ์.

บทว่า สุสมาหิโต คือมีจิตตั้งมั่นด้วยดี ด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ. อธิบายว่า เป็นผู้ได้ฌานสมาบัติ.

ก็ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล มีรูปร่างน่าเกลียด อยู่ในบ้านคนจัณฑาลนอกพระนคร. มีชื่อตามประกาศว่า มาตังคบัณฑิต. อยู่มาวันหนึ่ง ในพระนคร เมื่อประกาศเล่นนักขัตฤกษ์ ชาวเมืองโดยมากก็พากันไปเล่นนักขัตฤกษ์. หญิงสาวของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง มีอายุ ๑๕ - ๑๖ ปี มีรูปสวยน่าดูน่าเลื่อมใสดุจเทพกัญญา คิดว่าเราจักเล่นนักขัตฤกษ์ตามสมควรแก่สมบัติของตน จึงบรรทุกของเคี้ยวของบริโภคเป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 316

อันมากลงในเกวียน ขึ้นรถเทียมด้วยแม่ม้าขาวตลอด พร้อมด้วยบริวารใหญ่ ไปที่พื้นอุทยาน. หญิงสาวนี้ชื่อว่า ทิฏฐมังคลิกา. ได้ยินว่านางไม่ปรารถนาจะเห็นรูปที่มีทรงชั่วเป็นอวมงคล. ด้วยเหตุนั้นนางจึงมีชื่อว่า ทิฏฐมังคลิกา.

ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ตื่นขึ้นแต่เช้ามืด นุ่งห่มผ้าเก่าๆ ถือไม้เท้าไม้ไผ่ ทำเป็นรูปนกเป็ดน้ำ ถือภาชนะเข้าไปยังพระนครเห็นพวกมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นออกไปให้ห่าง จึงเอาไม้เท้านั้นทำสัญญา. ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกาอันบุรุษทั้งหลายของตนที่นำไปทำเสียงเอะอะว่า พวกท่านจงออกไปๆ นางเห็นมาตังคบัณฑิตในท่ามกลางประตูพระนคร จึงถามว่า นั่นใคร? เมื่อบุรุษเหล่านั้นตอบว่า มาตังคจัณฑาลจ้ะแม่ จึงสั่งให้ยานกลับ ด้วยคิดว่า เห็นคนเช่นนี้แล้ว จะหาความเจริญได้แต่ไหน. พวกมนุษย์พากันโกรธว่า พวกเราไปสวนหวังจะได้ของเคี้ยวของบริโภคเป็นต้นมากมาย. มาตังคะทำอันตรายแก่พวกเราเสียแล้ว จึงพูดว่า พวกท่านจงจับคนจัณฑาล แล้วเอาก้อนดินขว้างจนมาตังคบัณฑิตสลบแล้วก็พากันกลับไป.

ไม่ช้ามาตังคบัณฑิตก็ได้สติลุกขึ้นถามพวกมนุษย์ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดาประตูเป็นของทั่วไปแก่ทุกคนหรือ หรือว่าทำไว้ให้แก่พวกพราหมณ์เท่านั้น? พวกมนุษย์ตอบว่า ทั่วไปแก่ทุกคน. มาตังคบัณฑิตคิดว่า พวกมนุษย์ทำเราผู้ไม่หลีกออกไปยังสวนข้างหนึ่งในประตูที่เป็นสาธารณ์แก่ชนทั้งปวง ให้ถึงความพินาศย่อยยับเพราะนางทิฏฐมังคลิกา จึงบอกแก่พวกมนุษย์ที่ถนนแล้วคิดว่า เอาเถิดเราจักทำลายมานะของนางทิฏฐ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 317

มังคลิกานี้ จึงไปยังประตูบ้านของนาง แล้วก็นอนด้วยตั้งใจว่า เราไม่ได้นางทิฏฐมังคลิกาแล้วจะไม่ลุกขึ้น. บิดาของนางทิฏฐมังคลิกาได้ยินว่า มาตังคะมานอนอยู่ที่ประตูเรือน จึงกล่าวว่า พวกท่านจงให้กากณึกหนึ่งแก่มาตังคะ. มาตังคะเอาน้ำมันลูบไล้สรีระแล้วจงไปเถิด. มาตังคบัณฑิตกล่าวอยู่อย่างเดียวว่า เราไม่ได้นางทิฏฐมังคลิกาแล้วก็จักไม่ลุกขึ้น. ลำดับนั้น แม้พราหมณ์จะพูดว่า พวกท่านจงให้สองกากณึก มาสกหนึ่ง บาทหนึ่ง กหาปณะหนึ่ง สองสามกหาปณะ จนกระทั่งร้อยกหาปณะ พันกหาปณะ มาตังคบัณฑิตก็ไม่รับท่าเดียว. เมื่อชนทั้งหลายปรึกษากันอยู่อย่างนั้น พระอาทิตย์ก็ตก.

ลำดับนั้น มารดาของนางทิฏฐมังคลิกาลงจากปราสาทให้วงกำแพงม่านไปหามาตังคดาบส แม้เมื่อนางกล่าวว่า พ่อคุณพ่อมาตังคะ จงยกโทษแก่นางทิฏฐมังคลิกาเถิด. ท่านจงเอาทรัพย์ ๒,๐๐๐ จนถึง ๑๐๐,๐๐๐ มาตังคบัณฑิตก็ไม่รับ. คงนอนอยู่นั่นเอง. เมื่อมาตังคบัณฑิตนอนอยู่อย่างนั้นล่วงไป ๖ วัน ครั้นถึงวันที่ ๗ พวกมนุษย์ที่อยู่เรือนใกล้เคียงและผู้คุ้นเคยกันพากันลุกฮือ กล่าวว่า พวกท่านจงให้มาตังคะลุกขึ้น. หรือจงให้ลูกสาวไปเถิด. อย่าให้พวกเราต้องพินาศไปด้วยเลย. นัยว่าในครั้งนั้นมีธรรมเนียมในท้องถิ่นนั้นว่า คนจัณฑาลนอนตายอยู่ที่ประตูเรือนของผู้ใด ผู้ที่อยู่ในเรือน ๗ ชั่วตระกูลต้องเป็นคนจัณฑาลไปพร้อมกับเรือนนั้น.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 318

ลำดับนั้น มารดาบิดาของนางทิฏฐมังคลิกา จึงให้นางทิฏฐมังคลิกานุ่งห่มผ้าเก่าๆ ให้ของใช้อันจำเป็นของคนจัณฑาลแล้วนำนางซึ่งร้องคร่ำครวญอยู่ไปหามาตังคะกล่าวว่า เชิญท่านลุกขึ้นรับทาริกาในบัดนี้เถิด แล้วก็ยกให้. ส่วนนางทิฏฐมังคลิกายืนอยู่ข้างๆ กล่าวว่า ลุกขึ้นเถิด. มาตังคบัณฑิตกล่าวว่า เราเมื่อยเหลือเกิน เจ้าจับมือให้เราลุกขึ้นเถิด. นางได้กระทำอย่างนั้น. มาตังคบัณฑิตกล่าวว่า เราจะอยู่ภายในพระนครไม่ได้. เจ้าจงมาเถิด. เราจักไปบ้านคนจัณฑาลนอกพระนคร ได้ไปยังเรือนของตน เพื่อหลบหลีกผู้คน. อาจารย์ผู้แต่งชาดกกล่าวว่า ขี่หลังนางไป.

ก็ครั้นไปถึงเรือนแล้ว มาตังคบัณฑิตมิได้กระทำการล่วงเกินเพราะการแบ่งชาติ อยู่ในเรือนได้ ๒ - ๓ วัน จึงรวบรวมกำลัง คิดว่า เราจะให้หญิงสาวของพราหมณ์มหาศาลนี้อยู่ในเรือนคนจัณฑาลของเรา. เอาเถิด บัดนี้เราจักทำนางให้เป็นหญิงเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศ. มาตังคบัณฑิตจึงเข้าป่าบวช ยังสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ ให้เกิด ในภายใน ๗ วันนั่นเอง แล้วหยั่งลงที่ประตูบ้านของคนจัณฑาลด้วยฤทธิ์ ยืนอยู่ที่ประตูเรือน เรียกนางทิฏฐมังคลิกาซึ่งคร่ำครวญอยู่ว่า สามีเจ้าขา เพราะเหตุไรท่านจึงทำให้ดิฉันไร้ที่พึ่งแล้วไปบวชเสียเล่า มาตังคบัณฑิตกล่าวว่า น้องหญิง เจ้าอย่าคิดมากไปเลย. บัดนี้เราจะเพิ่มยศให้ใหญ่กว่ายศเก่าของเจ้า. แต่เจ้าพึงกล่าวในชุมชนว่า สามีของเราเป็นท้าวมหาพรหม. มิใช่มาตังคะดอก. สามีของเราไปพรหม

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 319

โลก. ต่อนี้ไป ๗ วัน ในวันเพ็ญ สามีจักแหวกจันทรมณฑลกลับมาดังนี้แล้ว กลับไปหิมวันตประเทศตามเดิม.

แม้นางทิฏฐมังคลิกาก็ได้กล่าวอย่างนั้นในที่เหล่านั้นๆ ท่ามกลางมหาชนในกรุงพาราณสี. จึงในวันเพ็ญ พระโพธิสัตว์ในเวลาที่ยืนอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าแห่งจันทรมณฑล เนรมิตอัตภาพเป็นพรหมแหวกจันทรมณฑล ทำกรุงพาราณสี ๑๒ โยชน์ และแคว้นกาสีทั้งสิ้นให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน แล้วลงจากอากาศ วนอยู่เบื้องบนกรุงพาราณสี ๓ ครั้ง มหาชนบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น บ่ายหน้าไปยังบ้านคนจัณฑาล. พวกพรหมภัต (พวกนับถือพระพรหม) ประชุมกันไปบ้านคนจัณฑาลนั้นตกแต่งเรือนของนางทิฏฐมังคลิกาด้วยผ้าขาว ของหอมและดอกไม้เป็นต้น ดุจเทพวิมาน. ในครั้งนั้นนางทิฏฐมังคลิกามีระดู. พระมหาสัตว์ไป ณ ที่นั้น เอานิ้วมือลูบคลำนางทิฏฐมังคลิกาที่ท้องน้อย แล้วกล่าวว่า นางผู้เจริญ นางตั้งครรภ์แล้ว. จักคลอดบุตร. ทั้งเจ้า ทั้งบุตรจักเป็นผู้เลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศ น้ำล้างศีรษะของเจ้าจักเป็นน้ำอภิเษกพระราชาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป. น้ำอาบของเจ้าจักเป็นน้ำอมฤต. ผู้ใดรดน้ำที่ศีรษะผู้นั้นจักพ้นจากโรคทั้งมวล. และจักพ้นจากกาลกิณี. คนทั้งหลายวางศีรษะบนหลังเท้าของเจ้าแล้วไหว้ จักได้ทรัพย์ ๑,๐๐๐. ยืนไหว้ในที่ฟังคำพูด จักได้ทรัพย์ ๑๐๐. ยืนไหว้ในคลองจักษุ จักได้คนละ ๑ กหาปณะ. เจ้าจงอย่าประมาท. พระมหาสัตว์ให้โอวาทนางแล้วออกจากเรือน เมื่อมหาชนมองดูอยู่ได้เข้าไปยังจันทรมณฑล.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 320

พวกพรหมภัตประชุมกัน เชิญนางทิฏฐมังคลิกาเข้าพระนครด้วยสักการะใหญ่ ให้นางอยู่ในพระนครนั้นด้วยความงดงามอันเป็นสิริมงคลอย่างใหญ่. ได้สร้างที่อยู่ให้นางเช่นกับเทพวิมาน. น้อมนำลาภสักการะมากมายไปให้นาง ณ ที่อยู่นั้น. ลาภทั้งปวงมีการได้บุตรเป็นต้น เป็นเช่นกับที่พระโพธิสัตว์กล่าวไว้ทุกประการ. พราหมณ์ ๑๖,๐๐๐ บริโภคร่วมกับบุตรของนางทิฏฐมังคลิกาเป็นเนืองนิจ. พราหมณ์ประมาณ ๑,๐๐๐ แวดล้อมกุมารนั้น. กุมารให้ทานแก่พราหมณ์ ๑,๐๐๐. ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ดำริว่า บุตรนี้เลื่อมใสผิดที่เสียแล้ว. ช่างเถิด เราจักให้บุตรรู้จักทักขิไณยบุคคล จึงเที่ยวภิกขาจารไปถึงเรือนของนางทิฏฐมังคลิกานั้น สนทนากับบุตรนั้นแล้วกลับไป.

ลำดับนั้นกุมารกล่าวคาถาว่า :-

ท่านผู้อยู่ป่าดงคนเข็ญใจ คล้ายปีศาจ สกปรกสวมผ้าขี้ริ้วที่ได้จากกองหยากเยื่อที่คอคนร้าย ท่านเป็นใคร ไม่ใช่ทักขิไณยบุคคล.

ทวยเทพอดกลั้นด้วยคำอนาจารที่กุมารนั้นกล่าวไม่ได้ จึงบิดหน้าพราหมณ์ ๑๖,๐๐๐ เหล่านั้นของกุมารนั้น. นางทิฏฐมังคลิกาเห็นดังนั้น จึงเข้าไปหาพระมหาสัตว์แจ้งความนั้นให้ทราบ. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ทวยเทพอดกลั้นคำอนาจารของกุมารนั้นไม่ได้ จึงทำให้ผิดปกติไป. ก็แต่

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 321

ว่าเจ้าจงเอาก้อนข้าวที่เป็นเดนนี้ใส่ลงในปากของพราหมณ์เหล่านั้น แล้วความผิดปกตินั้นก็จะหายไป. นางก็ได้ทำอย่างนั้น ความผิดปกติก็หายไป. นางทิฏฐมังคลิกาจึงกล่าวกะบุตรว่า นี่แน่ะลูก ในโลกนี้ขึ้นชื่อว่าทักขิไณยบุคคลย่อมเป็นเช่นกับมาตังคบัณฑิต. พราหมณ์เหล่านี้มิใช่ทักขิไณยบุคคลดอก เป็นผู้มีความกระด้างด้วยมานะ โดยเหตุเพียงชาติดุจพราหมณ์ทั้งหลาย หรือโดยเหตุเพียงสาธยายมนต์. ลูกจงทำความเลื่อมใสให้เกิดแก่ผู้ที่ประกอบด้วยคุณวิเศษมีศีลเป็นต้น ผู้ได้ฌานสมาบัติและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในที่นั้นเถิด.

ในกาลนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อชาติมันตะในเมืองเวตตวดี แม้บวชแล้วก็ยังอาศัยชาติ ได้มีมานะจัด. พระมหาสัตว์คิดว่า เราจักทำลายมานะของพราหมณ์นั้นให้ได้ จึงไปยังที่นั้นอาศัยอยู่เหนือกระแสน้ำใกล้พราหมณ์นั้น. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

เราและพราหมณ์คนหนึ่ง อยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เราอยู่ข้างเหนือ พราหมณ์อยู่ข้างใต้.

ลำดับนั้น วันหนึ่งพระมหาสัตว์เคี้ยวไม้สีฟันแล้วบ้วนลงในแม่น้ำ อธิษฐานว่า ไม้สีฟันนี้จงไปติดที่ชฎาของชาติมันตะเถิด. ไม้สีฟันนั้นติดที่ชฎาของชาติมันตะผู้กำลังอาบน้ำ. ชาติมันตะเห็นไม้สีฟันนั้น จึงด่าว่า คนระยำ แล้วไปเหนือกระแสน้ำด้วยคิดว่าคนกาลกิณีนี้มาจากไหน เราจักไป

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 322

ค้นหาคนกาลกิณีนั้น ครั้นเห็นพระมหาสัตว์ จึงถามว่า ท่านเป็นชาติอะไร? พระมหาสัตว์ตอบว่า เราเป็นคนจัณฑาล. ถามว่า ท่านบ้วนไม้สีฟันลงในแม่น้ำหรือ. ตอบว่า ใช่แล้ว เราบ้วนลงไปเอง. กล่าวว่า คนระยำ. คนจัณฑาล คนกาลกิณี ท่านอย่าอยู่ที่นี้เลย. จงอยู่ใต้กระแสน้ำเถิด. แม้เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ใต้กระแสน้ำบ้วนไม้สีฟันลงไป ก็ทวนกระแสน้ำมาติดที่ชฎาอีก. ชาติมันตะจึงกล่าวว่า คนระยำ. หากท่านอยู่ ณ ที่นี้. ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจักแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

พราหมณ์เที่ยวไปตามริมฝั่ง ได้เห็นอาศรมของเราข้างเหนือ บริภาษเราในที่นั้น แล้วแช่งให้เราศีรษะแตก. ถ้าเราพึงโกรธต่อพราหมณ์นั้น ถ้าเราไม่คุ้มครองศีล เราดูพราหมณ์นั้นแล้ว พึงทำให้เป็นเถ้าได้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า วิจรนฺโต อนุกูลมฺหิ คือ เมื่อไม้สีฟันที่ใช้แล้วติดที่ชฎาของตน พราหมณ์จึงเที่ยวไปตามริมฝั่งแม่น้ำเพื่อค้นหาที่มาของไม้สีฟันนั้น.

บทว่า อุทฺธํ เม อสฺสมทฺทส คือได้เห็นบรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราอยู่เหนือกระแสน้ำจากที่อยู่ของตน.

บทว่า ตตฺถ มํ ปริภาเสตฺวา บริภาษเราในที่นั้น คือ พราหมณ์นั้นมายังอาศรมของเรา ฟังเรื่องชาติ แล้วถอยออกไปยืนอยู่ในที่พอได้ยิน กล่าวคำมีอาทิว่า คนระยำ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 323

คนจัณฑาล คนกาลกิณี ท่านอย่าอยู่ที่นี่เลย แล้วขู่ให้กลัว.

บทว่า อภิสปิ มุทฺธผาลนํ แช่งให้เราศีรษะแตก คือพราหมณ์นั้นกล่าวว่า หากท่านประสงค์จะมีชีวิตอยู่. จงรีบหนีไปเสียจากที่นี้ทีเดียว แล้วแช่งเราว่า หากท่านไม่หลีกไป. จากนี้ไป ๗ วัน ศีรษะของท่านจักแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง.

ก็ศีรษะจะแตกตามคำแช่งของพราหมณ์หรือไม่แตกดอก. พราหมณ์นั้นโกหก. พราหมณ์กล่าวอย่างนั้นเพื่อให้หวาดสะดุ้ง ด้วยสำคัญว่า พระมหาสัตว์จะกลัวมรณภัย แล้วก็จักหลีกไปเสียให้ไกลแสนไกล ด้วยประการฉะนี้

บทว่า ยทิหํ ตสฺส ปกุปฺเปยฺยํ คือ หากเราพึงโกรธต่อชฎิลโกง ผู้กระด้างด้วยมานะนั้น.

บทว่า ยทิ สีลํ น โคปเย ถ้าเราไม่คุ้มครองศีล อธิบายว่า ผิว่าเราไม่พึงคิดว่า ชื่อว่า ศีลนี้พึงรักษาไว้โดยชอบ ไม่คำนึงถึงชีวิต

บทว่า โอโลเกตฺวานหํ ตสฺส, กเรยฺยํ ฉาริกํ วิย เราแลดูพราหมณ์นั้นแล้ว พึงทำให้เป็นดังเถ้าได้ ความว่า หากว่าในกาลนั้นเรามิได้ยินดีต่อพราหมณ์นั้น. ถ้าเทวดาผู้เลื่อมใสรู้ความคิดของเราโดยขณะนั้นเอง พึงกำจัดพราหมณ์นั้นเสียให้เป็นเถ้าถ่านฉะนั้น. ก็ในกาลนั้นเมื่อความไม่พอใจของพระองค์มีอยู่ ทวยเทพทำความพินาศให้แก่พราหมณ์นั้น พระศาสดาทรงกระทำดุจทำด้วยพระองค์เอง จึงตรัสว่า กเรยฺยํ ฉาริกํ วิย พึงทำให้เป็นเถ้าได้.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 324

แต่พวกนอกแบบนอกแผนกล่าวว่า พระโพธิสัตว์นั่นแหละปรารถนาจะพึงทำชฏิลนั้นให้เป็นเถ้าถ่านด้วยฤทธิ์. ก็เมื่อเป็นอย่างนั้นความแห่งบาลีนี้ก็เป็นอันถูกต้องทีเดียว. ควรจะกล่าวว่า ท่านพูดถึงการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยฤทธิ์. ชื่อว่า ฤทธิ์นี้มี ๑๐ อย่าง คือ ฤทธิ์สำเร็จด้วยความตั้งใจ. สำเร็จด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างมหัศจรรย์. สำเร็จด้วยใจ. สำเร็จด้วยความแผ่ไปแห่งญาณ. สำเร็จด้วยความแผ่ไปแห่งสมาธิ. เป็นฤทธิ์อันประเสริฐ. เป็นฤทธิ์อันเกิดแต่ผลของกรรม. เป็นฤทธิ์ของผู้มีบุญ. สำเร็จด้วยวิทยา. ชื่อว่า อิทธิ เพราะอรรถว่าให้สำเร็จปัจจัยเครื่องประกอบโดยชอบในที่นั้นๆ. ใน ฤทธิ์ ๑๐ อย่างนั้น ท่านกล่าวถึงฤทธิ์อย่างไหน. กล่าวถึงฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนา. ก็การเบียดเบียนผู้อื่นย่อมมีได้ด้วยฤทธิ์ สำเร็จด้วยภาวนาหรือ. แน่นอนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า มีได้ครั้งเดียว. เหมือนอย่างว่า ผู้ประสงค์จะประหารผู้อื่น ขว้างหม้อที่เต็มด้วยน้ำไป. ผู้อื่นก็ถูกประหาร. หม้อก็แตก. ฉันใด. การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนาย่อมมีได้ครั้งเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน. ต่อแต่นั้นฤทธิ์นั้นก็เสื่อม.

ลำดับนั้น พวกนอกแบบนอกแผนนั้นกล่าวว่า การเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนามิใช่ครั้งเดียว มิใช่สองครั้ง ควรจะถามว่า ฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนาเป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่า ฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนาเป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต สัมปยุตด้วยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มีวิตกวิจาร ไม่มีวิตกแต่มีวิจาร ไม่มีทั้งวิตกวิจาร เป็นกามาวจร รูปาวจร

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 325

อรูปาวจร จักกล่าวฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนาเป็นกุศล อัพยากฤต ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เป็นรูปาวจร. ควรกล่าวกะเขาว่า เจตนาฆ่าสัตว์ย่อมได้ส่วนไหนในบรรดากุศลเป็นต้น. เมื่อรู้อยู่ จักกล่าวว่า เจตนาฆ่าสัตว์เป็นอกุศลแท้ เป็นทุกขเวทนาแท้ มีวิตกวิจารแท้ เป็นกามาวจรแท้. เมื่อเป็นอย่างนั้น ปัญหาของท่านควรแสดงให้รู้ถึงความผิดพลาดในบาลีว่า ไม่สมด้วยกุสลัตติกะ เวทนาติกะ วิตักกติกะ ภูมันตระ. ก็ถ้าเขาพึงยกกุลุมปสูตรซึ่งยังมิได้ยกขึ้นสู่สังคีติว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้มีฤทธิ์ ถึงความเชี่ยวชาญทางจิต มีใจลามก เข้าไปเพ่งเล็งถึงสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ของหญิงอื่นว่า โอ สัตว์นี้ไม่ควรเข้าไปในครรภ์โดยสวัสดีเลยดังนี้. แม้อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเข้าไปเบียดเบียนของกุลุมปะยังมีอยู่ดังนี้. ควรให้เขารู้ว่า ท่านยังไม่รู้ความแม้ของสูตรนั้น. เพราะในบทนี้ว่า อิทฺธิมา เจโตวสิปฺปตฺโต ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเชี่ยวชาญทางจิต มิได้ทรงประสงค์ถึงฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนา ทรงประสงค์ฤทธิ์ที่เป็นอาถรรพนะ คือวิชาเสกเป่าป้องกัน. ด้วยว่าฤทธิ์เมื่อจะได้ ย่อมได้ในอาถรรพนะนี้ เพราะเหตุนั้นการเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่นด้วยฤทธิ์ จึงมิได้เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์สำเร็จด้วยภาวนา. หากว่ายังไม่รู้ก็ควรขวนขวายทำกรรมดีไว้. เพราะฉะนั้น พึงทราบความแห่งคาถาในบทนี้โดยนัยดังได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.

อนึ่ง พระมหาสัตว์ถูกพราหมณ์นั้นแช่ง จึงคิดว่า หากเราโกรธ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 326

พราหมณ์นี้. ศีลของเราก็จะไม่เป็นอันรักษา. เราจักทำลายมานะของพราหมณ์ด้วยอุบาย. ก็จักเป็นอันรักษาพราหมณ์นั้นด้วย. ในวันที่ ๗ จึงห้ามดวงอาทิตย์ขึ้น. พวกมนุษย์พากันวุ่นวายเพราะดวงอาทิตย์ไม่ขึ้น จึงเข้าไปหาดาบสชาติมันตะ ถามว่า ข้าแต่พระคุณท่าน พระคุณท่านไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือ. ดาบสนั้นกล่าวว่า นั่นไม่ใช่เราทำดอก. แต่ว่าที่ริมฝั่งแม่น้ำมีดาบสจัณฑาลอยู่องค์หนึ่ง. คงจะเป็นดาบสนั้นทำกระมัง. พวกมนุษย์จึงพากันไปหาพระมหาสัตว์ ถามว่า พระคุณท่านไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือ. ตอบว่า ถูกแล้ว. ถามว่า เพราะอะไร? ตอบว่า ดาบสที่เป็นกุลูปกะของพวกท่านได้แช่งเราผู้ไม่มีความผิด. เมื่อดาบสนั้นมาหมอบลงแทบเท้าของเราเพื่อขอขมา เราจึงจักปล่อยพระอาทิตย์. พวกมนุษย์พากันไปฉุดดาบสนั้นนำมาให้หมอบลงแทบเท้าของพระมหาสัตว์ ให้ขอขมาแล้วกล่าวว่า ขอพระคุณท่านจงปล่อยดวงอาทิตย์เถิด. พระมหาสัตว์กล่าวว่า เราไม่อาจปล่อยได้. หากเราปล่อย. ศีรษะของดาบสนี้จักแตก ๗ เสี่ยง. ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น พระคุณท่านจะทำอย่างไรเล่า? พระมหาสัตว์กล่าวว่า พวกท่านจงเอาก้อนดินเหนียวมา ครั้นมนุษย์นำมาแล้ว จึงกล่าวว่า พวกท่านจงวางดินเหนียวนี้ไว้บนศีรษะของดาบส แล้วให้ดาบสลงไปอยู่ในน้ำ. ดาบสจงดำลงในน้ำ ในเมื่อดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว จึงปล่อยดวงอาทิตย์. ก้อนดินเหนียว พอรัศมีของดวงอาทิตย์สัมผัสเท่านั้นก็แตกออกเป็น ๗ เสี่ยง. ดาบสดำลงไปในน้ำ. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 327

ครั้งนั้นพราหมณ์นั้นโกรธเคืองมีใจประทุษร้าย แช่งเรามุ่งหมายจะให้ศีรษะแตก คำแช่งนั้นจะตกลงบนศีรษะของเขาเอง เราเปลื้องเขาให้พ้นโดยควร.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํ โส ตทา มํ อภิสปิ คือ ชฏิลชาติมันตะนั้นแช่งเราหมายจะให้ศีรษะแตก.

บทว่า ตสฺเสว มตฺถเก นิปติ คำแช่งนั้นจะตกบนศีรษะของเขาเอง คือ คำแช่งนั้นเขาปรารถนาจะให้ตกบนศีรษะเรา แต่กลับตกบนศีรษะเขา คือ ได้ตั้งอยู่โดยความเป็นของตกลงมา. ข้อนี้เป็นเหมือนอย่างที่ว่า ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ฯลฯ ย่อมเป็น เหมือนลูกศรที่ซัดไปทวนลมฉะนั้น.

บทว่า โยเคน ตํ ปโมจยึ เราช่วยเปลื้องเขาให้พ้นโดยควร คือ เราช่วยเปลื้องเขาให้พ้นจากศีรษะแตกโดยอุบาย. หรือว่าช่วยเปลื้องชฏิลนั้นให้พ้นจากศีรษะแตก อธิบายว่า ได้ทำโดยอุบายที่จะมิให้ศีรษะแตก.

จริงอยู่คำหยาบอันเป็นคำสาปแช่ง ซึ่งเป็นอริยูปวาทใด ซึ่งดาบสได้สาปแช่งพระมหาสัตว์ ผู้ตั้งอยู่ในมหากรุณา อันเป็นสันดานที่ได้อบรมมาแล้วเป็นอย่างดี ด้วยสีลสัมปทาและทิฏฐิอันเต็มเปี่ยมด้วยสมาบัติวิหารธรรมนานาประการสำเร็จด้วยการอบรมบารมี. หากดาบสนั้นมิให้พระมหา

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 328

สัตว์ยกโทษคำหยาบนั้นอันเป็นผลให้ได้เสวยธรรมในปัจจุบัน เพราะพระมหาสัตว์เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ และเพราะคำหยาบเป็นอัธยาศัยของดาบสนั้น. ในวันที่ ๗ จะเกิดสภาพสุกงอมคือให้ผลแรง แต่เมื่อพระมหาสัตว์ยกโทษให้ การห้ามด้วยปโยคสมบัติก็จะถึงความไม่มีวิบากเป็นธรรมดา เพราะเป็นอโหสิกรรม. นี่เป็นธรรมดาของบาปอันเกิดจากอริยุปวาทซึ่งจะให้ผลในปัจจุบัน. การที่พระโพธิสัตว์ห้ามดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ ๗ นั้น เป็นอุบายที่ท่านประสงค์ในบทว่า โยโค นี้. ด้วยเหตุนั้น พวกมนุษย์จึงวุ่นวายพากันนำดาบสไปหาพระโพธิสัตว์ให้ยกโทษ. พึงทราบว่า แม้ดาบสนั้นก็รู้คุณของพระมหาสัตว์ ยังจิตให้เลื่อมใสในพระมหาสัตว์นั้น. การที่เอาก้อนดินเหนียววางบนศีรษะของดาบสนั้น และการที่พระมหาสัตว์ทำก้อนดินเหนียวนั้นให้แตก ๗ เสี่ยง ก็เพื่อเอาใจพวกมนุษย์. เพราะแม้บรรพชิตเหล่านี้ก็ย่อมเป็นไปในอำนาจของจิตโดยประการอื่น. แต่ไม่ทำจิตให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ เพราะเหตุนั้นพวกมนุษย์จึงยึดถือ แม้พระมหาสัตว์ทำให้เป็นเช่นกับดาบสนั้น. การทำของดาบสนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่มนุษย์เหล่านั้น ตลอดกาลนาน.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงประโยชน์ที่พระมหาสัตว์ไม่ทำจิตให้ประทุษร้ายในดาบสนั้น แล้วรักษาศีลให้บริสุทธิ์เท่านั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า อนุรกฺขึ มม สีลํ เราตามรักษาศีลของเรา เป็นอาทิ. บทนั้นมีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 329

มัณฑัพยะในครั้งนั้น ได้เป็นพระเจ้าอุเทนในครั้งนี้. มาตังคบัณฑิต คือพระโลกนาถ.

แม้ในมาตังคจริยานี้ก็พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมีที่เหลือ. อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพของพระมหาสัตว์มีอาทิอย่างนี้ คือ การข่มมานะของนางทิฏฐมังคลิกาได้ตามความประสงค์ของมาตังคบัณฑิตผู้มีชาติตระกูลต่ำ. การบวชแล้วมีจิตเกิดขึ้นว่า เราจักเป็นที่พึ่งของนางทิฏฐมังคลิกา ไปป่าบวช ยังฌานและอภิญญาให้เกิดตามความประสงค์ภายใน ๗ วันนั่นเอง. การกลับจากป่านั้นยังอุบายให้สำเร็จ ด้วยการให้นางทิฏฐมังคลิกาเลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศ. การข่มมานะของมัณฑัพยกุมาร. การข่มมานะของดาบสชาติมันตะ. การช่วยชีวิตดาบสผู้ไม่รู้จัก. การไม่โกรธดาบสผู้มีความผิดใหญ่หลวง แล้วตามรักษาศีลของตน. การทำปาฏิหาริย์น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี.

จบ อรรถกถามาตังคจริยาที่ ๗