พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. กัณหทีปายนจริยา ว่าด้วยจริยาวัตรของกัณหทีปายนะดาบส

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ก.ค. 2564
หมายเลข  34760
อ่าน  539

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 492

๑๑. กัณหทีปายนจริยา

ว่าด้วยจริยาวัตรของกัณหทีปายนะดาบส


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 74]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 492

๑๑. กัณหทีปายนจริยา

ว่าด้วยจริยาวัตรของกัณหทีปายนะดาบส

[๓๑] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นฤาษีชื่อว่า กัณหทีปายนะ เราไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ยิ่งกว่า ๕๐ ปี ใครๆ จะรู้ใจที่ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ของเรานั้นหามิได้ แม้เราก็ไม่บอกแก่ใครๆ ว่า ความไม่ยินดีมีในใจของเรา สหายเพื่อนพรหมจรรย์ของเรา ชื่อมัณฑัพยะ เป็นฤาษีมีอานุภาพมาก ประกอบด้วยบุรพกรรม คือกรรมเก่าให้ผล ถูกเสียบด้วยหลาวทั้งเป็น เราทำการพยาบาลมัณฑัพยะดาบสนั่นให้หายโรค แล้วได้อำลามาสู่บรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราเอง พราหมณ์ผู้เป็นสหายของเรา ได้พาภริยาและบุตร ต่างถือสักการะสำหรับต้อนรับแขก รวมสามคนมาหาเรา เรานั่งเจรจาปราศัยกับสหายและภริยาของเขาอยู่ในอาศรมของตน เด็กโยนลูกข่างเล่นอยู่ ทำงูเห่าให้โกรธแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 493

ทีนั้น เด็กนั้นเอามือควานหาลูกข่างไปตามปล่องจอมปลวก ควานไปถูกเอาศีรษะงูเข้า พอมือไปถูกศีรษะของมัน งูก็โกรธ อาศัยกำลังพิษ เคืองจนเหลือจะอดกลั้นได้กัดเด็กในทันที พร้อมกับถูกงูกัด เด็กล้มลงที่พื้นดิน ด้วยกำลังพิษกล้า เหตุนั้น เราเป็นผู้ได้รับทุกข์ หรือว่าเรามีความรักจึงเป็นทุกข์ เราได้ปลอบารดาบิดาของทารกนั้น ผู้มีทุกข์เศร้าโศก ให้สร่างแล้ว ได้ทำสัจจกิริยาอันประเสริฐสุดก่อนว่า.

เราผู้ต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์ มีจิตเลื่อมใสอยู่ ๗ วันเท่านั้น ต่อแต่นั้นมา การประพฤติของเราไม่เลื่อมใส ๕๐ ปีเศษ เราไม่ปรารถนาจะประพฤติเสียเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้เถิด พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 494

พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา มาณพหวั่นไหวด้วยกำลังพิษไม่รู้สึกตัว ได้ฟื้นกาย หายโรค ลุกขึ้นได้ ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล.

จบ กัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑

อรรถกถากัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑

พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถากัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้.

บทว่า กณฺหทีปายโน อิสิ คือดาบสมีชื่อว่า กัณหทีปายนะ.

ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ในกาลนั้นชื่อว่า ทีปายนะเข้าไปหาดาบส มัณฑัพยะผู้เป็นสหายของตนถูกเสียบหลาว ไม่ทอดทิ้งดาบสนั้นด้วยศีลคุณของเขา ได้ยืนพิงอยู่กับหลาวตลอด ๓ ยาม จึงได้ปรากฏชื่อว่า กัณหทีปายนะ เพราะร่างกายมีสีดำด้วยหยาดเลือดแห้งที่ไหลจากร่างกายของดาบสนั้นแล้วลงมาใส่.

บทว่า ปโรปญฺาสวสฺสานิ คือยิ่งกว่า ๕๐ ปี.

บทว่า อนภิรโต จรึ อหํ คือเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่ยินดีในเสนาสนะสงัดและในธรรมอันเป็นอธิกุศล. ครั้นบวชแล้วพระมหาสัตว์ยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ๗ วันเท่านั้น. ต่อจากนั้นก็อยู่อย่างไม่ยินดี.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 495

ก็เพราะเหตุไร พระมหาบุรุษในอัตภาพหลายแสนมีอัธยาศัยในเนกขัมมะยินดีอยู่พรหมจรรย์ แต่ในจริยานี้ไม่ยินดีพรหมจรรย์นั้น. เพราะความหวั่นไหวแห่งความเป็นปุถุชน. ก็เพราะเหตุไรจึงไม่ครองเรือนใหม่เล่า เพราะครั้งแรกเห็นโทษในกามทั้งหลาย ด้วยมีอัธยาศัยในเนกขัมมะจึงบวช เมื่อเป็นดังนั้นพระมหาบุรุษจึงเกิดความไม่ยินดีด้วยมิได้ใส่ใจโดยแยบคาย. พระมหาบุรุษแม้เมื่อไม่สามารถบรรเทาความไม่ยินดีนั้นได้ จึงเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ละสมบัติใหญ่ออกจากเรือน ละสมบัติใด ก็กลับไปเพื่อสมบัตินั้นอีก. รังเกียจคำติเตียนนี้ว่า กัณหทีปายนะนี้บ้าน้ำลาย กลับกลอกจริงหนอ เพราะเกรงหิริโอตตัปปะของตนจะแตก. อนึ่งชื่อว่าบุญในการบรรพชานี้ ท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว. และก็ดำรงอยู่มิได้. เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษแม้ร้องไห้น้ำตานองหน้า ด้วยความทุกข์โทมนัส ก็ยังอยู่ประพฤติพรหมจรรย์. ไม่สละพรหมจรรย์นั้น. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

กัณหทีปายนะนั้นออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว ก็กลับมาอีก เขารังเกียจคำพูดนี้ว่า กัณหทีปายนะนี้บ้าน้ำลายกลับกลอกหนอ เราไม่ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์เสียเลย อนึ่ง ฐานะของสัตบุรุษอันผู้รู้สรรเสริญแล้ว เราจะเป็นผู้ทำบุญอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 496

บทว่า น โกจิ เอตํ ชานาติ ความว่า ใครๆ ที่เป็นมนุษย์ย่อมไม่รู้ใจที่ไม่ยินดีของเรานั้น คือใจที่ปราศจากความยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์. เพราะเหตุไร? เพราะเราไม่บอกแก่ใครๆ ว่า ความไม่ยินดีเป็นไปในใจของเรา. ฉะนั้นใครๆ ที่เป็นมนุษย์จึงไม่รู้ใจนั้น.

บทว่า พฺรหฺมจารี คือชื่อพรหมจารี เพราะเป็นผู้ศึกษาเสมอด้วยการบรรพชาเป็นดาบส. มณฺฑพฺย คือมีชื่อว่ามัณฑัพยะ

บทว่า สหาโย คือเป็นสหายที่รัก เพราะเป็นมิตรแท้ทั้งในเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาเป็นบรรพชิต.

บทว่า มหาอิสิ คือเป็นฤาษีมีอานุภาพมาก.

บทว่า ปุพฺพกมฺมสมายุตฺโต สูลมาโรปนํ ลภิ ความว่า ประกอบด้วยบุรพกรรมของตนถูกเสียบด้วยหลาวทั้งเป็น.

ในบทนี้มีเรื่องราวเป็นลำดับดังต่อไปนี้. ในอดีตกาลพระราชาพระนามว่า โกสัมพิกะครองราชสมบัติอยู่ในกรุงโกสัมพี แคว้นวังสะ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในนิคมแห่งหนึ่ง พราหมณ์กุมารได้มีสหายที่รักของเขาชื่อมัณฑัพยะ. ต่อมา เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรม ทั้งสองเห็นโทษในกาม จึงบริจาคมหาทาน ละกาม เมื่อญาติมิตรบริวารชนร้องไห้คร่ำครวญได้ออกไปสร้างอาศรม ณ หิมวันตประเทศ แล้วบวชเลี้ยงชีพด้วยอาหารอันเป็นรากไม้และผลไม้ในป่า ด้วยการเที่ยวขออยู่เกิน ๕๐ ปี. ทั้งสองไม่สามารถข่มกามฉันทะได้. แม้เพียงฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้. สองดาบสเที่ยวจาริกไปยังชนบท เพื่อเสพอาหารมีรส

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 497

เค็มและเปรี้ยว.ถึงแคว้นกาสี. ณ แคว้นกาสีนั้น ในนิคมหนึ่ง สหายครั้งเป็นคฤหัสถ์ของทีปายนะชื่อว่า มัณฑัพยะอาศัยอยู่. ทั้งสองจึงเข้าไปหามัณฑัพยะนั้น. มัณฑัพยะเห็นดาบสทั้งสองก็ดีใจสร้างบรรณศาลา บำรุงด้วยปัจจัย ๔ ดาบสทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้นได้ ๓ - ๔ ปี ก็ลามัณฑัพยะนั้นเที่ยวจาริกไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เต็มไปด้วยไม้เต็งใกล้กรุงพาราณสี. ที่นั้นทีปายนะอยู่ตามความพอใจ แล้วไปหามัณฑัพยะสหายของตนในนิคมนั้นอีก. มัณฑัพยดาบสคงอยู่ ณ ที่นั้นเอง.

อยู่มาวันหนึ่ง โจรคนหนึ่งกระทำโจรกรรมภายในเมืองลักทรัพย์หนี ถูกพวกเจ้าของเรือน และพวกมนุษย์ที่รักษานครติดตามออกไปทางท่อน้ำ รีบเข้าป่าช้า ทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของดาบสแล้วหนีไป. พวกมนุษย์เห็นห่อทรัพย์จึงคุกคามว่า เจ้าชฎิลชั่ว คนร้ายทำโจรกรรมในกลางคืน กลางวันเที่ยวไปโดยเพศของดาบส แล้วช่วยกันทุบตีพาดาบสนั้นไปแสดงแด่พระราชา. พระราชามิได้ทรงสอบสวนมีพระบัญชาให้เสียบบนหลาว. พวกมนุษย์นำดาบสนั้นไปยังป่าช้า เสียบบนหลาวไม้ตะเคียน. หลาวมิได้เข้าไปในร่างกายของดาบส. แต่นั้นจึงนำหลาวไม้สะเดามา. แม้หลาวนั้นก็มิได้เข้า. จึงนำหลาวเหล็กมา. หลาวเหล็กก็ไม่เข้า. ดาบสคิดว่า เป็นกรรมเก่าของเรากระมังหนอ. ดาบสระลึกชาติได้. ได้เห็นกรรมเก่าด้วยเหตุนั้น. นัยว่า ดาบสนั้นในอัตภาพก่อนเป็นบุตรของนายช่าง ไปยังที่ที่บิดาถากไม้จับแมลงวันตัวหนึ่งจึงเอาเสี้ยนไม้ทองหลางเสียบดุจหลาว. บาปของเขาได้โอกาสที่นี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 498

ดาบสรู้ว่าไม่อาจพ้นจากบาปนี้ไปได้ จึงกล่าวกะพวกราชบุรุษว่า หากพวกท่านประสงค์จะเสียบเราที่หลาว. พวกท่านจงนำหลาวไม้ทองหลางมาเถิด พวกราชบุรุษได้ทำตามนั้นแล้วเสียบดาบสที่หลาว จัดอารักขาแล้วหนีไป.

ในกาลนั้น กัณหทีปายนดาบสคิดว่า เราไม่ได้เห็นสหายมานานแล้ว จึงมาหามัณฑัพยดาบส ฟังเรื่องราวนั้นแล้วจึงไปยังที่นั้นยืนอยู่ข้างหนึ่งถามว่า สหายท่านทำอะไร เมื่อดาบสบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไร? กัณหทีปายนะถามว่า ท่านสามารถรักษาความประทุษร้ายทางใจได้หรือไม่ได้. มัณฑัพยดาบสตอบว่า เราไม่มีความประทุษร้ายทางใจต่อพวกราชบุรุษและพระราชาที่จับเรา. กัณหทีปายนดาบสกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่าน เป็นความสุขของเรา แล้วนั่งพิงหลาวอยู่ พวกบุรุษที่ดูแลกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา. พระราชาทรงดำริว่า เราไม่ได้สอบสวนทำลงไป จึงรีบเสด็จไป ณ ที่นั้น ตรัสถามทีปายนดาบสว่า เพราะเหตุไร พระคุณท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่เล่า? ดาบสทูลว่า อาตมาภาพนั่งคอยรักษาดาบสนี้ มหาราช. พระราชาตรัสถามว่า พระคุณท่านทราบความที่ดาบสนี้ทำแล้วหรือจึงได้ทำอย่างนี้? ทีปายนดาบสทูลถึงกรรมที่ไม่บริสุทธิ์.

ลำดับนั้นทีปายนดาบสกล่าวคำมีอาทิว่า :-

ธรรมดาพระราชาควรเป็นผู้ใคร่ครวญก่อนทำ คฤหัสถ์เกียจคร้าน บริโภคกามไม่ดี.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 499

บรรพชิตไม่สำรวมก็ไม่ดี. พระราชาไม่ใคร่ครวญก่อนทำก็ไม่ดี. บัณฑิตมักโกรธก็ไม่ดี.

แล้วแสดงธรรมแก่พระราชา.

พระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยดาบสไม่ผิด จึงรับสั่งให้นำหลาวออก. พวกราชบุรุษดึงหลาวแต่ไม่สามารถนำออกได้. มัณฑัพยะกล่าวว่า ข้าแต่มหาราช อาตมาภาพได้รับโทษเห็นปานนี้ ก็เพราะโทษของกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน. ใครๆ ก็ไม่อาจดึงหลาวออกจากร่างกายของอาตมาภาพได้. หากพระองค์มีพระประสงค์จะทรงให้ชีวิตแก่อาตมาภาพ ก็ขอได้รับสั่งให้ทำหลาวนี้เสมอกับผิวหนังแล้วเอาเลื่อยตัดเถิด. พระราชาทรงให้ทำอย่างนั้น. หลาวได้อยู่ภายในนั่นเอง. ไม่เกิดเดือดร้อนอย่างไร. นัยว่าในครั้งนั้นทีปายนดาบสเอาเสี้ยนอย่างเล็กเสียบเข้าไปทางผิวหนังของแมลงวัน. เสี้ยนนั้นยังอยู่ในร่างของแมลงวันนั่นเอง. แมลงวันมิได้ตายด้วยเหตุนั้น แต่ตายด้วยสิ้นอายุของมันเอง. เพราะฉะนั้นแม้มัณฑัพยดาบสนี้จึงยังไม่ตาย. พระราชาทรงไหว้ดาบสแล้วทรงขอขมา ทรงให้ดาบสทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานนั่นเอง ทรงบำรุง. ตั้งแต่นั้นดาบสนั้นจึงมีชื่อว่า อาณิมัณทัพยะ. ดาบสนั้นอาศัยพระราชาอยู่ ณ พระราชอุทยานนั่นเอง. ส่วนทีปายนดาบสชำระแผลของมัณฑัพยดาบสจนหายดีแล้ว จึงไปยังบรรณศาลาที่มัณฑัพยะผู้เป็นสหายของตนครั้งเป็นคฤหัสถ์สร้างให้. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 500

สหายเพื่อนพรหมจรรย์ของเราชื่อว่า มัณฑัพยะเป็นฤาษีมีอานุภาพมาก ประกอบด้วยบุรพกรรมถูกเสียบด้วยหลาวทั้งปวง. เราพยาบาลมัณฑัพยดาบสนั้นให้หายโรคแล้ว ได้อำลามาสู่บรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราเอง.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อาปุจฺฉิตฺวาน คืออำลามัณฑัพยดาบสผู้เป็นสหายของเรา.

บทว่า ยํ มยฺหํ สกมสฺสมํ คือเข้าไปอยู่ยังบรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราเอง ซึ่งมัณฑัพยพราหมณ์ผู้เป็นสหายของเรา เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์สร้างให้.

พวกพราหมณ์เห็นทีปายนดาบสนั้นเข้าไปยังบรรณศาลา จึงบอกแก่สหาย. สหายนั้นฟังแล้วดีใจ จึงพร้อมด้วยบุตรภรรยาถือเอาของหอมดอกไม้ และน้ำผึ้งเป็นต้นเป็นอันมากไปยังบรรณศาลา ไหว้ทีปายนดาบส ล้างเท้า ให้ดื่มน้ำ นั่งฟังเรื่องราวของอาณิมัณฑัพยดาบส. ลำดับนั้นบุตรของมัณฑัพยะพราหมณ์ชื่อว่ายัญญทัตตกุมาร เล่นลูกข่างอยู่ที่ท้ายที่จงกรม. ณ ที่นั้นงูเห่าอาศัยอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง. ลูกข่างที่เด็กโยนลงไปบนพื้นได้ไปตกลงบนหัวของงูเห่าในปล่องจอมปลวก. เด็กไม่รู้จึงล้วงมือลงไปในปล่อง. งูโกรธเด็กจึงกัดเข้าที่มือ. เด็กล้มลง ณ ที่นั้นด้วยกำลังของพิษงู. มารดาบิดารู้ว่า เด็กถูกงูกัดจึงอุ้มเด็กให้เข้าไปนอนลงแทบเท้าของดาบส กล่าวว่า ข้าแต่ท่าน

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 501

ผู้เจริญ ขอพระคุณท่านได้โปรดใช้ยาหรือมนต์ทำบุตรของกระผมให้หายโรคเถิด. ทีปายนดาบสกล่าวว่า เราไม่รู้จักยา. เราไม่ใช่หมอ. เราเป็นนักบวช. มารดาบิดาของเด็กกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระคุณท่านได้โปรดแผ่เมตตาในกุมารนี้ แล้วทำสัจจกิริยาเถิด. ดาบสกล่าวว่า ดีแล้ว เราจักทำสัจจกิริยา จึงวางมือไว้บนศีรษะของยัญญทัตตะ ได้ทำสัจจกิริยา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

พราหมณ์ผู้เป็นสหายของเราได้พาภรรยาและบุตรต่างถือสักการะสำหรับต้อนรับแขก รวม ๓ คนมาหาเรา เรานั่งเจรจาปราศัยกับสหายและภรรยาของเขาอยู่ในอาศรมของตน. เด็กโยนลูกข่างเล่นอยู่ ทำงูเห่าให้โกรธแล้ว ทีนั้นเด็กนั้นเอามือควานหาลูกข่างไปตามปล่องจอมปลวก ควานไปถูกเอาหัวงูเห่าเข้า พอมือไปถูกหัวของมัน งูก็โกรธอาศัยกำลังพิษ เคืองจนเหลือจะอดกลั้น ได้กัดเด็กในทันที พร้อมกับถูกงูกัด เด็กล้มลงที่พื้นดิน ด้วยกำลังพิษกล้า เหตุนั้น เราเป็นผู้ได้รับทุกข์ หรือเรามีความรักจึงเป็นทุกข์ เราได้ปลอบมารดาบิดา

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 502

ของเด็กนั้นผู้มีทุกข์เศร้าโศกให้สร่างแล้ว ได้ทำสัจจกิริยาอันประเสริฐสุด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อาคจฺฉุํ ปาหุนาคตํ คือเข้าไปหาพร้อมด้วยสักการะต้อนรับแขก.

บทว่า วฏฺฏมนุกฺขิปํ คือขว้างลูกข่างที่มีชื่อว่า วัฏฏะ เพราะหยุดหมุนขณะขว้างลงไป อธิบายว่า เล่นลูกข่าง.

บทว่า อาสีวิสมโกปยิ ความว่า เด็กขว้างลูกข่างไปบนพื้นดิน ลูกข่างเข้าไปในปล่องจอมปลวก กระทบหัวงูเห่าซึ่งอยู่ในจอมปลวกนั้นทำให้งูโกรธ.

บทว่า วฏฺฏคตํ มคฺคํ อเนฺวสนฺโต คือควานไปยังทางที่ลูกข่างนั้นไป.

บทว่า อาสีวิสสฺส หตฺเถน, อุตฺตมงฺคํ ปรามสิ คือเด็กเอามือของตนซึ่งล้วงเข้าไปยังปล่องจอมปลวกถูกหัวงูเห่าเข้า.

บทว่า วิสพลสฺสิโต อาศัยกำลังพิษ คืองูเกิดเพราะอาศัยกำลังพิษของตน.

บทว่า อฑํสิ ทารกํ ขเณ คืองูได้กัดพราหมณ์กุมารนั้น ในขณะที่ลูบคลำนั่นเอง. บทว่า สห ทฏฺโ คือ พร้อมกับถูกงูกัดนั่นเอง.

บทว่า อติวิยเสน (๑) คือพิษร้าย. บทว่า เตน ความว่าเราเป็นผู้ได้รับทุกข์ เพราะเด็กล้มลงบนพื้นดินด้วยกำลังพิษ.

บทว่า มม วา หสิ ตํ ทุกฺขํ เรามีความรักจึงเป็นทุกข์ คือทุกข์ของเด็กและของมารดาบิดานำมาไว้ที่เรา. นำมาด้วยความกรุณาของเราดุจในสรีระของเรา.


๑. ม. อาสิวิเสน.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 503

บทว่า ตฺยาหํ คือเราปลอบมารดาบิดาของเด็กนั้นโดยนัยมีอาทิว่า อย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลย.

บทว่า โสกสลฺลิเน (๑) คือมีลูกศรคือความโศก.

บทว่า อคฺคํ คือแต่นั้นเราได้ทำสัจจกิริยาอันประเสริฐสูงสุด.

บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงสัจจกิริยาโดยสรุป จึงตรัสคาถาว่า :-

เราต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์ มีจิตเลื่อมใสอยู่ ๗ วันเท่านั้น. ต่อแต่นั้นมา การประพฤติของเราไม่เลื่อมใส ๕๐ ปีเศษ. เราไม่ปรารถนาจะประพฤติเสียเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้เถิด พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สตฺตาหเมว คือ ๗ วันตั้งแต่วันที่เราบวช.

บทว่า ปสนฺนจิตฺโต คือมีจิตเลื่อมใสเพราะเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม.

บทว่า ปุญฺตฺถิโก คือผู้ต้องการบุญ, ได้แก่ ผู้ประกอบแล้วด้วยความพอใจในธรรม.

บทว่า อถาปรํ ยํ จริตํ คือ เพราะฉะนั้นการประพฤติพรหมจรรย์ของเราเกิน ๗ วัน.

บทว่า อกามโกวาหิ คือเราไม่ปรารถนาบรรพชา


๑. ม. โสกสลฺลิเต.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 504

เสียเลย.

บทว่า เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี คือหากว่าความที่เราผู้อยู่อย่างไม่ยินดีตลอด ๕๐ ปีเศษไม่มีใครรู้ เป็นความสัตย์. ด้วยความสัตย์นั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ยัญญทัตตกุมารเถิด. ขอยัญญทัตตกุมารจงได้คืนชีวิตเถิด. ก็เมื่อพระมหาสัตว์ทำสัจจกิริยาอย่างนี้แล้ว พิษตกจากสรีระของยัญญทัตตะลงไปสู่แผ่นดิน. กุมารลืมตาแลดูมารดาบิดา แล้วลุกขึ้นเรียก แม่จ๋า พ่อจ๋า. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา เด็กหวั่นไหวด้วยกำลังพิษไม่รู้สึกตัวได้ฟื้นกายหายโรค ลุกขึ้นได้.

บทนี้มีเนื้อความดังต่อไปนี้ พร้อมกับการทำสัจจะของเรา แต่นั้นเด็กหวั่นไหวด้วยกำลังพิษในกาลก่อน ไม่รู้สึกตัวเพราะสลบ ได้ฟื้นขึ้นเพราะปราศจากพิษลุกขึ้นทันที. กุมารนั้นได้หายโรคเพราะไม่มีกำลังพิษ.

บัดนั้นพระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงถึงความที่สัจจกิริยาของพระองค์นั้น เป็นปรมัตถบารมี จึงกล่าวว่า สจฺเจน เม สโม นตฺถิ,เอสา เม สจฺจปารมี มีคำแปลดังได้แปลไว้แล้ว. แต่มาในอรรถกถาชาดกว่าด้วยสัจจกิริยาของพระมหาสัตว์ พิษได้ตกจากเบื้องบนถันของกุมารแล้วไหลไป. ด้วยสัจจกิริยาของบิดา พิษตกจากบนสะเอวของเด็ก. ด้วยสัจจกิริยาของ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 505

มารดาพิษตกจากร่างกายที่เหลือของเด็กแล้วไหลไป. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-

บางครั้งเราเห็นแขกมาเรือนก็ไม่ยินดีจะให้. อนึ่ง สมณพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูตร ก็ไม่รู้ความที่เราไม่รัก เราไม่ปรารถนาจะให้ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เจ้า พิษจงระงับ ขอยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด.

ดูก่อนพ่อยัญญทัตตะ อสรพิษมีพิษร้ายออกจากปล่องได้เห็นเจ้า วันนี้ความพิเศษไรๆ ไม่มีแก่เรา เพราะความไม่รักในอสรพิษนั้นและในบิดาของเจ้า ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เจ้า พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า วาสกาเล คือในเวลามาเรือนเพื่อต้องการอยู่.

บทว่า น จาปิ เม อปฺปิยตํ อเวทุํ คือ สมณพราหมณ์ทั้งหลายแม้เป็นพหูสูตก็ไม่รู้ความที่เราไม่รักนี้ว่า มัญฑัพยพราหมณ์นี้ไม่ยินดีการให้. ไม่ยินดีเราดังนี้. ท่านแสดงว่า เพราะเราแลดูสมณพราหมณ์เหล่านั้นด้วยตาอันน่ารักเท่านั้น.

บทว่า เอเตน สจฺเจน ความว่า หากเราแม้ให้ก็ไม่เชื่อผล

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 506

ให้เพราะความไม่ปรารถนาของตน. อนึ่งชนเหล่าอื่นไม่รู้ความที่เราไม่ปรารถนา. อธิบายว่า ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีเถิด.

บทว่า ปหูตเตโช คือมีพิษร้ายแรง.

บทว่า ปตรา คือปล่อง.

บทว่า อุทิจฺจ คือ โผล่ขึ้น อธิบายว่า ขึ้นจากปล่องจอมปลวก. ท่านอธิบายไว้ว่า ดูก่อนพ่อยัญญทัตตะ ความพิเศษไรๆ ย่อมไม่มีแก่เรา เพราะความไม่รักในอสรพิษนั้นและในบิดาของเจ้า. อนึ่งเว้นความไม่เป็นที่รักนั้น วันนี้เราไม่เคยรู้จักความพิเศษไรๆ. หากข้อนี้เป็นความจริง ด้วยคำสัตย์นั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่เจ้าเถิด ด้วยประการฉะนี้.

พระโพธิสัตว์เมื่อเด็กหายจากโรคแล้ว จึงให้บิดาของเด็กนั้นตั้งอยู่ในความเชื่อกรรมและผลของกรรมว่า ชื่อว่าผู้ให้ทานควรเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม แล้วพึงให้ดังนี้ ตนเองบรรเทาความไม่ยินดี แล้วยังฌานและอภิญญาให้เกิด ครั้นสิ้นอายุก็ไปเกิดในพรหมโลก. มัณฑัพยะในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์เถระในครั้งนี้. ภริยาของมัณฑัพยะนั้นคือ นางวิสาขา. บุตรคือพระราหุลเถระ. อาณิมัณฑัพยะ คือ พระสารีบุตรเถระ. กัณหทีปายนะ คือพระโลกนาถ.

ในจริยานี้ พึงเจาะจงกล่าวถึงสัจจบารมีและบารมีที่เหลือของพระมหาสัตว์นั้น ซึ่งท่านยกขึ้นไว้ในบาลีโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง. อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพมีการบริจาคมหาโภคสมบัติจนหมดสิ้น. ด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถากัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑